7 ปีในนากุ้ง 1,200 ปีในประวัติศาสตร์ ‘เรือโบราณพนมสุรินทร์’ กรมศิลป์ถึงเวลา ‘เอาจริง’

นักโบราณคดีวัดขนาดและจดบันทึกขนาดไม้เสากระโดงเรือและกระดูกงูเรือที่ขุดพบเมื่อ พ.ศ.2556 อย่างแม่นยำอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้มีการคำนวณจากไม้ทับกระดูงูสันนิษฐานว่าลำเรือกว้าง

หายไปนานจนเกือบลืมแต่ก็ลืมไม่ได้

สำหรับแหล่งเรือโบราณ “พนมสุรินทร์” อายุราว 1,200 ปี ซึ่งถูกค้นพบกลางนากุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีดีงาม ใน ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ พ.ศ.2556 นำไปสู่การดำเนินงานทางโบราณคดีตามหลักวิชาการ กระทั่งจัดนิทรรศการ งานเสวนา และตีพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ ทว่า ต่อมาเงียบหาย จวบจน ประทีป เพ็งตะโก ขึ้นนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศิลปากรคนใหม่ โครงการขุดค้นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทวารวดีเมื่อกว่าพันปีมาแล้วจึงกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ผู้รับผิดชอบหลัก เปิดเผยความคืบหน้าว่าพบ “ชิ้นส่วนไม้” จำนวนหนึ่ง ขณะขุดค้นหลุมตรวจสอบทางด้านทิศใต้ของตัวเรือซึ่งคาดว่าเป็นส่วนหัวเรือ นักโบราณคดีได้บันทึกตำแหน่งที่พบและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด

เพียงเท่านี้ก็กลายเป็นข่าวที่คนไทยโดยเฉพาะผู้สนใจประวัติศาสตร์ร่วมกันติดตาม เช่นเดียวกับเมื่อ พ.ศ.2557 ซึ่งเคยเป็นที่ฮือฮากับโบราณวัตถุแปลกตาอันนำมาซึ่งข้อสันนิษฐานต่างๆ ที่น่าสนใจยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ้วยแบบ “ตอร์ปิโด จาร์” อักษรจารึก จนถึงผลหมากรากไม้ที่หลงเหลือตกค้างโดยรอบ ที่สำคัญคือร่องรอยการเย็บเรือแบบ “อาหรับ” โดยนับเป็นเรือในเทคนิคนี้ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement
สภาพพื้นที่ก่อนดำเนินงานทางโบราณคดี ซึ่งศาริสา จินดาวงษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ลงตรวจสอบ

ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ถึงแผนงานขุดค้นแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ว่า เบื้องต้นมีการทำเขื่อน หรือคันดินกันน้ำสำหรับควบคุมน้ำ เพื่อให้สามารถทำงานวิชาการโบราณคดีต่อได้ เพราะพื้นที่โดยรอบเป็นนากุ้ง จากนั้นจึงมีการขุดเพิ่ม นอกจากนี้ หากพบโบราณวัตถุจะทำการอนุรักษ์ควบคู่กันไป

“เรื่องสำคัญคือการทำงานวิชาการและงานอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะแช่อยู่ในน้ำกร่อย น้ำเค็ม เมื่อได้หลักฐานทั้งหมดแล้วคงต้องประเมินอีกครั้งหนึ่ง ต้องนำขึ้นมาอนุรักษ์ ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นจะเสื่อมสลายหมด ทั้งอินทรีย์วัตถุและโบราณวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อย”

แน่นอนว่าโครงการนี้ขาดผู้เชี่ยวชาญอย่างอดีตผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำ นาม เอิบเปรม วัชรางกูร ไม่ได้ โดยครั้งนี้เจ้าตัวได้รับเชิญมาเป็นปรึกษาโครงการ

Advertisement

เอิบปราบ บอกว่า เรื่องการขุดค้นไม่น่าห่วง แต่ที่ห่วงคือ “การอนุรักษ์” ซึ่งไม่ใช่งานง่าย เพราะหากนำขึ้นมาโดยไม่เตรียมการ โบราณวัตถุที่แช่น้ำมานานย่อมเสี่ยงพังพินาศอย่างไม่ต้องสงสัย

“ในส่วนงานโบราณคดีไม่ค่อยเป็นห่วง แต่สิ่งที่ห่วงคือ เมื่อขุดตัวเรือขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรต่อ ของที่ขุดได้ต้องเตรียมแล็บไว้รอ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กำลังเตรียมการ และเป็นผู้กำหนดความพร้อม ถ้ายังไม่พร้อม ก็ยังนำของขึ้นมาไม่ได้”

พบกลุ่มไม้จากการดำเนินงานครั้งล่าสุด หลังโครงการสะดุดมานานหลายปี โดยก่อนหน้าเคยพบไหทรงตอร์ปิโด เครื่องถ้วย และพืชหลายชนิด กำหนดอายุตัวเรือราว 1,200 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับเรือเบลิตุง ซึ่งพบในอินโดนีเซีย ตรงกับยุคทวารวดี


ปรียานุช จุมพรม
นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี หัวหน้าทีมขุดค้น ขยาย “ความยาก” ของโครงการนี้ว่า นี่คือพื้นที่พิเศษ ไม่ได้อยู่บนบก ในทะเล หรือแม่น้ำอย่างที่เคยเจอมา แต่อยู่ในนากุ้ง ซึ่งเป็นดินเลนหรือโคลน ทำให้ยากกว่าพื้นที่อื่น อย่างที่เคยเห็นกันมา

“นี่คือโบราณคดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งซึ่งในไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคย เราไม่ค่อยมีนักโบราณคดีที่มีความสามารถด้านนี้สักเท่าไหร่ เป็นแหล่งบุกเบิกที่มีการทำงานในแนวนี้ ระหว่างขุดค้น เราไม่สามารถให้ตัวเรือที่ทำจากไม้และโบราณวัตถุอื่นแห้งได้ เพราะจะเสื่อมสลายได้เร็วกว่าปกติ การแก้ปัญหาคือ ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้ อย่างเบื้องต้น ส่วนใหญ่ให้แช่น้ำตลอดเวลา ถ้ามีการดำเนินงาน จะพ่นสเปรย์น้ำให้ความชุ่มชื่น พอดำเนินงานเสร็จ ก็ปล่อยน้ำให้กลับไปท่วมเหมือนเดิม”

นักโบราณคดีท่านนี้ยังบอกถึงความสำคัญของหลักฐานที่พบในแหล่งนี้ว่า โบราณวัตถุที่พบบริเวณแหล่งเรือพนมสุรินทร์ เป็นหลักฐานอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พบจากแหล่งเรือจม เพราะที่นี่มีลักษณะพิเศษ คือต่อเรือโดยการใช้เชือกเย็บร้อยตัวเรือเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบอินทรีย์วัตถุเป็นจำนวนมาก รวมถึงเครื่องถ้วยจากดินแดนต่างๆ อีกด้วย

“มีโบราณวัตถุที่มาจากหลายพื้นที่ ทั้งตอร์ปิโด จาร์ จากตะวันออกกลาง เครื่องถ้วยจีน ภาชนะมีสันที่เป็นภาชนะพื้นถิ่นในภาคกลางของไทย และของป่าหลายอย่าง แสดงว่ามีการเข้ามาเอาของป่าในบริเวณภาคกลางของไทย โดยส่วนใหญ่จากบันทึกของจีน จะพูดถึงการแวะพักแถวเวียดนาม ลาว ข้ามไปแถวไชยา สุราษฎร์ แถวนี้ไม่ค่อยมีการพูดถึงสักเท่าไหร่ นี่อาจจะเป็นหลักฐานสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่อาจบอกถึงการติดต่อของคนในภูมิภาคนี้โดยใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา พบแต่รูปปั้นประดับศาสนสถาน ที่แสดงการติดต่อระหว่างพื้นที่ภาคกลางของไทยกับภูมิภาคอื่น แต่ไม่เคยพบพาหนะที่มีการกล่าวถึงในพงศาวดาร บันทึกของจีน อาหรับ นี่ถือเป็นเรือลำแรกที่พบในอายุร่วมสมัยที่มีการบันทึกไว้”

สภาพหลุมซึ่งขุดลึกจากผิวดินราว 2 เมตรในทิศทางที่นักโบราณคดีคาดว่าเป็นฝั่งหัวเรือซึ่งสร้างด้วยไม้ท้องถิ่น ได้แก่ ตะเคียน ยางนา รวมถึงเส้นใยพืชตระกูลปาล์ม แต่ใช้เทคนิคการต่อแบบอาหรับ ซึ่งเป็นการ ‘เย็บ’ ชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน


อีกคำถามที่ไม่ถามไม่ได้ ไม่ใช่ประเด็นความสำคัญหรือหลักฐานอื่นใดในแหล่งโบราณคดีนี้ หากแต่เป็นการดำเนินงานนับจากนี้ ว่ามี “แผนงาน” ในระยะใกล้และไกลอย่างไรบ้าง มีแวว “สะดุด” หยุดแตะเบรกอย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่

ปรียานุช บอกว่า การดำเนินงานภายใต้งบประมาณปี 2563 นี้เริ่มต้นด้วยงานขุดค้นทางทิศใต้คือฝั่งหัวเรือ เพื่อดูขอบเขตการกระจายตัวของตัวเรือและโบราณวัตถุ หลังจากเสร็จแล้วจะมีการจัดการด้านสาธาณูปโภคและด้านกายภาพของแหล่งเรือ คือการก่อสร้างเขื่อนล้อมรอบพื้นที่ 4 ไร่ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคตเหมือนในรอบหลายปีที่ผ่านมาอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินงานใดๆได้ ต่อจากนั้น จะปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก คือ อาคารสำหรับใช้ปฏิบัติการภาคสนาม และอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น

ถัดจากนั้น ยังมีแผนระหว่าง พ.ศ.2564-2566 โดยในปีหน้า คาดว่าจะขุดศึกษาในพื้นที่ทางทิศเหนือของเรือ โดยมีการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน

ชิ้นส่วนไม้บริเวณทางผนังหลุมขุดด้านทิศตะวันออก


“จากที่เคยดำเนินงานมาจะพบว่าตรงนั้นพบโบราณวัตถุและชิ้นส่วนองค์ประกอบของเรือกระจายตัวอย่างหนาแน่น โบราณวัตถุบางชิ้นยังไม่ได้นำขึ้นมา เพราะตอนนั้นยังมีปัญหาเรื่องการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ปัจจุบันมีการวางแผน เตรียมความพร้อมเรื่องการอนุรักษ์ให้สามารถรับมือและดำเนินงานไปพร้อมกันได้ โดยในปี 2564 หรือ 2565 จะขุดค้นในตัวเรือ และจะพยายามให้แล้วสร็จใน 2-3 ปีตามแผนที่วางไว้”

ปิดท้ายด้วยประเด็นความคาดหวังในการพบโบราณวัตถุ “ชิ้นพิเศษ” ที่นักโบราณคดีอยากเจอ

“หลักฐานที่คาดว่าถ้าพบในเรือแล้วจะทำให้ข้อมูล ข้อสันนิษฐานชัดเจนมากขึ้น คือถ้าเจอเหรียญที่บอกอายุสมัยและผู้สร้าง ไม่ว่าจะเป็นเหรียญจากจีน หรืออาหรับ ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจช่วยบอกอายุที่ชัดเจน ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่นอกจากอายุทางการเปรียบเทียบรูปแบบโบราณวัตถุและทางวิทยาศาสตร์ที่เคยส่งตรวจ นี่อาจจะเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่มาช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ”

นี่คือความคืบหน้าล่าสุดในรอบหลายปีที่ต้องจ้องปากหลุมแบบไม่กะพริบตา


 

การดำเนินงานทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2557

เปิดไทม์ไลน์ 7 ปี พบเรือ ‘พนมสุรินทร์’

-กันยายน 2556 สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี รับแจ้งการพบชิ้นส่วนเรือโบราณที่นากุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีดีงาม ในตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีการดำเนินงานเบื้องต้นเพื่อรักษาสภาพแหล่ง และอนุรักษ์โบราณวัตถุที่พบ

-พฤษภาคม 2557 กรมศิลปากรจัดเสวนาประชาคม เรื่อง ‘เรือโบราณพนมสุรินทร์’ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย โดย เอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น นำลงพื้นที่ด้วยตนเอง

-พฤษภาคม 2560 ดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรีในขณะนั้น เผยแผนบูรณะเรือพนมสุรินทร์ หลังชาวบ้านร้องเรียนผ่านสื่อว่าถูกปล่อยทิ้ง โดยระบุว่าตั้งงบประมาณรวม 29 ล้าน เตรียมดำเนินงานในปี 2562-2564 แต่สุดท้ายยังไม่มีเดินหน้า

-สิงหาคม 2560 กรมศิลป์เผยแพร่หนังสือ “แหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์”

-มิถุนายน 2561 นิทรรศการพิเศษ จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จัดแสดงโบราณวัตถุและข้อมูลจากแหล่งเรือพนมสุรินทร์

ไหทรงตอร์ปิโด พบจากแหล่งเรือพนมสุรินทร์ จัดแสดงในนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เมื่อ พ.ศ.2561


-มิถุนายน 2562
อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น พร้อมด้วย ดร.วิกกี้ เลวาน่า ริชาร์ด นักอนุรักษ์ แผนกโบราณคดีทางทะเล และแผนอนุรักษ์โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ด้านการวิจัย การขุดค้น การอนุรักษ์ และการจัดการ แหล่งเรือจมพนม-สุรินทร์ และแหล่งเรือจมอื่นๆ ในประเทศไทย

-มีนาคม 2563 ศาริสา จินดาวงษ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ตรวจเยี่ยมพื้นที่และร่วมพูดคุยกับนางพนม และนายสุรินทร์ ศรีงามดี เจ้าของพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งรอบบริเวณแหล่งเรือโบราณ เพื่อเจรจาหาแนวทางการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์เรือโบราณและจัดแสดงนิทรรศการเส้นทางการค้าทางทะเล

-เมษายน 2563 ปรียานุช จุมพรม นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี และทีมงาน เตรียมการขุดตรวจทางโบราณคดี บริเวณด้านทิศใต้ของแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์

-พฤษภาคม 2563 ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์สื่อยืนยันเดินหน้าโครงการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ โดยเริ่มดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีพร้อมวางแผนงานถึง พ.ศ.2566

บันทึกตำแหน่งไม้ที่พบ และเก็บบันทึกข้อมูลโดยละเอียด
ลักษณะชั้นดินเบื้องต้นจากผนังหลุม ซึ่งภาพรวมดำเนินงานขุดตรวจสอบเสร็จสิ้นราว 80%
นิทรรศการเกี่ยวกับแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ ติดตั้งในพื้นที่เพื่อให้ความรู้
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image