‘ปันสุข’ ต้องไม่ทุกข์ เรื่องเล่าหลังภาพ กับพรุ่งนี้ของคนยากไร้

ป้าขายของจากตู้ปันสุข ถูกตำหนิหนักหน่วง เจ้าตัวเผย ‘ช่วยซื้อ’ จากคนไร้บ้าน

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เมื่อมีภาพหญิงวัยกลางคนนั่งขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ถูกระบุว่าได้มาจาก “ตู้ปันสุข” สร้างความขุ่นเคืองอารมณ์ให้ผู้ใจบุญอย่างยิ่ง เพราะเกรงคนลำบากไม่จริงจะนำข้าวของมาขายต่อเอากำไร บิดเบือนวัตถุประสงค์อันจริงแท้ที่ต้องการแก้ความอดอยากหิวโหย กระทั่งหญิงคนดังกล่าวถูกห้ามนำของไปขายที่ตลาดแห่งหนึ่งอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีสื่อลงพื้นที่ติดตาม จนได้ข้อมูลจากหญิงรายนั้นว่าไม่ได้ไปหยิบของจากตู้ปันสุขโดยตรงมาขาย หากแต่ช่วยซื้อจากคนเร่ร่อนที่ไปหยิบจากตู้ปันสุขอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากคนเหล่านั้นไม่สามารถปรุงอาหารจากวัตถุดิบได้ พูดง่ายๆ ว่า อย่าว่าแต่ครัว แค่บ้านยังไม่มี

เรื่องเล่านี้ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ แต่ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดด้วยซ้ำไป การรับแจกของจากผู้บริจาคแล้วนำมารับประทานหรือ “ขายต่อ” เพื่อนำเงินมาซื้อหาสิ่งจำเป็นอื่นๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่รู้กันมานานแล้ว

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาและโอกาสของการทำความเข้าใจ “คนไร้บ้าน” ในสถานการณ์อันยากลำบากที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องพบเจอและต่อสู้อย่างสาหัสเนื่องด้วยความขาดแคลนในทรัพยากร

Advertisement

‘พอดี’ ตีความกว้าง
วงจรปิด ‘จับผิด’ ทำไร้สุข

นอกจากประเด็นดังในโลกออนไลน์ ย้อนไปในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีผู้ตั้งใจทำความดีรู้สึกท้อแท้จนประกาศ “ปิด” ตู้ปันสุข อย่างกรณี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้ทุนส่วนตัวประเดิมจัดซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นมอบให้ชาวบ้าน ทว่า 9 วันต่อมาเมื่อส่องกล้องวงจรปิด พบว่ามีแต่คนหน้าเดิมๆ ขี่รถจักรยานยนต์วนมารับสิ่งของครั้งละจำนวนมาก และหลายๆ ครั้ง จึงตัดสินใจประกาศปิดตู้ กระทั่งยายวัย 70 มารับข้าวสารเขียนจดหมายมีข้อความ “สำนึกในบุญคุณ”

ขณะที่ทางภาคอีสาน เกิดดราม่าหน้าตู้ปันสุข เมื่อมีคนโพสต์ข้อความพร้อมภาพหลักฐานว่า พ่อและลูกชายหอบข้าวของในตู้ปันสุขไปจนหมด เมื่อมีคนเห็นและถามว่า ไม่แบ่งคนอื่นเลยเหรอ ผู้เป็นพ่อก็ขี่รถจักรยานยนต์หนี ส่วนลูกตอบว่า

“คนอื่นเอาเยอะกว่าผมอีก”

ประเด็นนี้ มีผู้แสดงความเห็นหลากหลาย โดยส่วนหนึ่งมองว่า ในเมื่อเป็นตู้ปันสุข คนที่อยากได้ก็มาเอาไป ถึงแม้ของจะหมด แต่เดี๋ยวก็จะมีคนมาเติมให้ และบางคนมองว่า เหตุที่ครอบครัวนี้ทำ อาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น คนที่บริจาคไปแล้ว ก็ไม่ต้องคิดมาก เมื่อคิดจะบริจาคแล้ว ใครจะมาเอาไปมากน้อย ก็ไม่ต้องใส่ใจ ส่วนฝ่ายเห็นค้านมองว่า ต่อให้มีเป็นรถสิบล้อ ก็ไม่มีเหลือ ถ้ามีคนประเภทนี้อยู่

พ่อลูกหยิบของในตู้ปันสุขจำนวนมาก จนเกิดกระแสวิจารณ์ในมุมมองที่แตกต่างกัน

ความโกลาหลในสถานการณ์โควิดกับพิษเศรษฐกิจนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร แห่งวัดสร้อยทอง มีความเห็นว่า คำว่า “พอดี” มันตีความได้กว้างสำหรับบางคน พอดีของฉันคืออาหารหมดทั้งตู้เลยแบบนี้ก็มี ถ้าใครจะทำตู้ปันสุข อาตมาแนะนำว่า ให้เขียนให้ชัดไปเลยนะว่า “คนละชิ้นสองชิ้นเท่านั้นพอ” นอกจากนี้ ยังพิมพ์ข้อความอย่างทีเล่นทีจริงทำนองว่าให้แปะป้าย “ตู้นี้มีกล้องวงจรปิด” อันนี้อาจช่วยได้มาก (หัวเราะ)

ในขณะที่นักแต่งเพลงผู้ถนัดในการมอบความสุขให้ผู้คน อย่าง “ศุ บุญเลี้ยง” เผยแพร่ข้อคิดข้อเขียนผ่าน “LINE” สะกิดใจว่า หลังจากปรากฏการณ์แบ่งปันผ่านตู้ปันสุข ปลื้มใจกันได้ไม่กี่วัน ก็เกิดความไม่พึงใจกันเมื่อเห็นคนหยิบของมาก “เกินทำใจ” จากคนโอบอ้อมอารี กลายเป็นการเอาภาพจากกล้องวงจรปิดมา “ประณามหยามเหยียด” กัน

นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังระบุว่า ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาไม่ได้คิดต่อต้านการมีน้ำใจ และไม่ใช่ก่นด่าคนที่มาขนของไป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ “หากคุณคิดจะแบ่งปัน จงอย่ามองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุจนไม่กล้าแสดงน้ำใจ แต่ก็โปรดอย่าได้มองโลกสวยจนเกินไป” ถ้าบอกว่าหยิบเอาแค่รู้จักพอ บางคนเขาพอแบบนั้น และที่เราว่าคนอื่นได้ว่าไม่รู้จักพอ อาจเพราะเราไม่ได้มีปัญหาชีวิตแบบเขา เราไม่ได้มีทัศนคติต่อชีวิตแบบเขา สิ่งที่ต้องทำคือกำหนดกติกา การจัดการกับการจำกัดและกำจัด เป็นสิ่งคู่กัน

‘ผู้รับ’ เยอะ ‘ผู้ให้’ เยอะกว่า ในสังคมเอื้ออาทร

แม้ภาพบางแง่มุมของตู้ปันสุขที่มีคนโกยข้าวของไปมากมาย แต่ข้อมูลอีกด้านระบุว่าสังคมไทยในช่วงเวลานี้มี “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้รับ” ดังเช่นบรรยากาศที่ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีการตั้ง “ตู้ปันสุขสุรินทร์” นำร่องตั้งตู้บริการ 2 แห่งในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ มีผู้นำเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป ข้าวสาร ไข่ น้ำดื่ม ขนม มาเติมตลอดทั้งวัน กลุ่มคนที่มาหยิบของในตู้ ส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อาทิ คนขับสามล้อ จักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ด้อยโอกาส และคนที่ตกงานจากพิษโควิด โดยมีผู้ใจบุญซื้อของนำมาบริจาคเข้าตู้ไว้อย่างต่อเนื่องไม่มีขาด

เช่นเดียวกับที่ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งกลุ่มประชาชนคนพิษณุโลก รวมตัวกันทางโซเชียลผุดโครงการ “ตู้ส่งต่อ-ตู้ปันน้ำใจ” โดยใช้ตู้กับข้าวตั้งไว้หน้าร้านค้า หน้าสำนักงาน มีการนำเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นการต่อการดำรงชีพ ทั้งปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป ข้าวสาร ไข่ น้ำดื่ม ขนม พร้อมกับเขียนป้ายให้ผู้รับ “หยิบไปแต่พอดี เหลือมาแบ่งปัน” เหลือเผื่อให้บุคคลอื่นที่ขัดสนสามารถมารับของได้ตลอดทั้งวัน โดยมีผู้มารับไม่ขาดสาย แต่ไม่ทันไรก็มีผู้นำของมาเติมใส่ตู้จนเต็มอยู่เกือบตลอด

พลังโซเชียลเพชรบุรี ตั้งตู้ช่วยผู้ขาดแคลน

นอกจากนี้ บริษัทใหญ่หลายแห่งก็ร่วมใจช่วยสังคม ทั้งการตั้งตู้ปันสุข รวมถึงแจกจ่ายอาหารกล่องพร้อมรับประทานตามชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มบริษัทบีทีเอส ซึ่ง “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ ได้เห็นถึงปัญหา และเข้าใจถึงความทุกข์ยากของวิกฤตครั้งนี้ จัดโครงการ “ข้าวกล่อง บรรเทาทุกข์ ส่งความสุข” ทำอาหารกล่องจากภัตตาคารเชฟแมน (Chef Man) ในกลุ่มบริษัทบีทีเอส แจกแก่ชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ อาทิ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลู ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา 1,200 กล่อง และครั้งที่สองจำนวน 500 กล่อง เพื่อเข้าช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในชุมชนแออัด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและคำขอบคุณจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ดังนั้น กลุ่มบริษัทจึงได้จัดทำโครงการ “ข้าวกล่อง บรรเทาทุกข์ ส่งความสุข” อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 นำข้าวกล่องวันละ 500 กล่อง จากภัตตาคารเชฟแมน (Chef Man) พร้อมน้ำดื่ม ออกแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ตลอดเดือนพฤษภาคม

มองไปที่อีกเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ก็มี “บ้านเตื่อมฝัน” เป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือคนไร้บ้าน โดยมีผู้บริจาค “วัตถุดิบ” สำหรับทำอาหารแจกจ่ายคนไร้บ้านในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีอาสาสมัครเข้ามาสนับสนุนแนวทางการปลูกผัก เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

‘บีทีเอส’ แจกข้าวกล่องช่วยชุมชนต่างๆ นับพันกล่อง บรรเทาความยากลำบากในห้วงวิกฤต

โรคระบาดหาย ‘คนไร้บ้าน’ เพิ่ม แนะรัฐ ‘รอบคอบ’

จากภาพในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเริ่มผ่อนมาตรการ ส่วนรัฐบาลไทยก็ค่อยๆ “คลายล็อก” ในระยะที่ 2 แล้ว ทว่าห้วงเวลาหลังจากโรคระบาดจางหาย ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะต่อคนที่ยากจนเป็นทุนเดิม คือเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง

“นลินี มาลีญากุล” หยิบยกข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดความเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน และตัวชี้วัดความพร้อมในการตั้งหลักชีวิตเพื่อกลับสู่สังคมของคนไร้บ้าน โดย ผศ.ดร.พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ เผยแพร่ผ่านบทความ “ถ้ารัฐไม่รอบคอบ โรคระบาดหาย คนอาจไร้บ้านกันมากขึ้น” ในเว็บไซต์ Penguin Homeless โดยแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ระบุว่า เมื่อจำลองสถานการณ์ว่าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540 อีก จะเกิดผลกระทบอะไรต่อคนไร้บ้านบ้าง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์พบว่า หากเทียบกับสถิติคนไร้บ้านในกรุงเทพฯที่มีอยู่ประมาณ 1,484 คน ในปี 2558 และเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรลดลงประมาณ 20% ก็อาจจะทำให้มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นถึง 69% จากตัวเลขเดิม หรือพูดแบบหยาบที่สุดคือถ้ารายได้ลดลงมาเพียง 1% ก็อาจทำให้สถิติคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นมาได้ถึง 3%

แม้ว่าแบบจำลองนี้จะไม่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังประเมินค่าความเสียทางเศรษฐกิจอย่างแน่ชัดไม่ได้ แต่ก็พอจะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่าหากทุกอย่างยังคงย่ำแย่ จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาได้บ้าง

บทความดังกล่าว ยังอ้างอิงความเห็นของ ผศ.ดร.ธีระ เจ้าของงานวิจัยซึ่งระบุว่า การกลายเป็นคนไร้บ้านคือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง การที่คนคนหนึ่งจะต้องไม่มีที่อยู่อาศัย แสดงว่าเขามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะไปหาที่อยู่อาศัย แม้จะเป็นที่อยู่อาศัยราคาถูกมากก็ตาม บางคนไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีที่ให้พึ่งพิง ไหนจะต้องแบ่งเงินมายังชีพในด้านอื่นอีก การเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านก็อาจชี้วัดความยากจนและความล้มเหลวของการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้

ทั้งหมดนั้นกระทบต่อระบบสังคมโดยรวมแน่นอน

ผอ.โรงเรียนที่ประจวบคีรีขันธ์ ยกเลิกการปิดตู้ปันสุข เมื่อได้รับจดหมายขอบคุณจากยายวัย 70
พระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศมีบทบาทช่วยฆราวาสยากไร้โดยนำของที่ได้รับบิณบาตใส่ในตู้ให้หยิบฟรี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image