เมื่อถึงคราว แม่เสือสาวต้องขูดหินปูน ความใส่ใจ สุขภาพสัตว์ป่า (ในกรงเลี้ยง)

ช่องปากของเสือโคร่งมีความสำคัญไม่ต่างจากของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ มีแผล มีการอักเสบของเหงือก ก็จะเป็นเหตุให้พวกมันใช้ชีวิตอย่างลำบาก

ขึ้นชื่อว่าสัตว์ป่า พวกมันต้องอยู่ในป่า เกิด เติบโต ใช้ชีวิต และจบชีวิตในพื้นที่ที่ถือว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของมัน มีธรรมชาติดูแล ประคับประคองให้เป็นไปตามวิถี

แต่เมื่อถึงคราวที่สัตว์ป่าเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากบ้านตัวเองอันมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบซื้อขาย พื้นที่อยู่อาศัยถูกรุกราน เมื่อสัตว์ป่าเหล่านั้นมาอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งมีสถานที่เลี้ยงดูสัตว์ป่าเหล่านี้อยู่ทั่วประเทศ แม้จะยากนักที่จะทำให้พวกมันมีความสุขที่สุดเหมือนกับการได้อยู่ในป่า แต่ภายใต้การดูแลดังกล่าวต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การตรวจสุขภาพสัตว์ป่าที่อยู่ในกรงเลี้ยงเป็นสิ่งที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องทำกันเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ต้องคอยดูแลตรวจสอบทั้งอาการภายนอกและภายใน

ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจัดให้มีการตรวจสุขภาพสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงประจำปี ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จ.ราชบุรี โดยมีการตรวจสุขภาพครั้งใหญ่ของเสือโคร่งทั้งหมด 39 ตัว ซึ่งเสือโคร่งทั้งหมดที่ทางศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 หรือ ชื่อเดิมคือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ดูแลอยู่นี้ เป็นเสือโคร่งของกลางที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และเสือโคร่งที่เอกชนสิ้นสุดใบอนุญาตครอบครองแล้ว

Advertisement
ปะทิวและชุมพร 2 เสือโคร่งอารมณ์ดี


นายตรศักดิ์ นิภานันท์
หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าแห่งที่ 3 กล่าวว่า ทุกๆ ปีทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้ามาตรวจสุขภาพเสือโคร่ง โดยจะทำการชั่งน้ำหนัก เก็บตัวอย่างเลือด หาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด วัดค่าตับ ไต รวมไปถึงการขูดคราบหินปูน ซึ่งโดยภาพรวมเสือโคร่งในศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าแห่งนี้ไม่ได้มีสุขภาพแข็งแรงมากแบบ 100% แต่ก็ไม่ถึงกับอ่อนแอมากนัก หลังจากเก็บตัวอย่างเลือดเสร็จเรียบร้อย เลือดจะถูกส่งไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก และที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไฮไลต์ของการตรวจสุขภาพบรรดาเสือโคร่งทั้ง 39 ตัวในครั้งนี้อยู่ที่การขูดหินปูน ชุมพร และปะทิว 2 เสือสาว วัย 8 ปี เสือของกลางที่เจ้าหน้าที่จับมาได้จากรีสอร์ตแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร

ชุมพร กับ ปะทิว เป็นเสือโคร่งอารมณ์ดี พวกมันค่อนข้างคุ้นเคยกับคน เพราะเจ้าหน้าที่จัดให้อยู่ในส่วนของส่วนแสดงสัตว์ ให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้

Advertisement

สัตวแพทย์หญิง (สพญ.) สุนิตา วิงวอน สัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่เป็นคนทำหน้าที่เจาะเลือดเสือโคร่ง และขูดหินปูนเจ้าชุมพร กล่าวว่า ประเมินจากสายตาเบื้องต้น ทั้งชุมพรและปะทิวมีสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง ไม่มีอาการเครียดหรือกังวลใดๆ แต่ดูจากภายนอกก็คงจะบอกอะไรไม่ได้มากนัก ต้องตรวจเลือดเพื่อดูค่าตับ ค่าไต ตรวจระบบการหายใจ ตรวจภายในช่องปาก ดูฟัน ดูเหงือก ดูลิ้น

ช่องปากของเสือโคร่งมีความสำคัญไม่ต่างจากของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ มีแผล มีการอักเสบของเหงือก ก็จะเป็นเหตุให้พวกมันใช้ชีวิตอย่างลำบาก และถ้าการอักเสบนั้นลุกลามไปมากๆ เข้าก็เป็นสาเหตุหนึ่งให้มันตายได้ การขูดหินปูนประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์จะต้องทำให้กับเสือในกรงเลี้ยงที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลอยู่

นาทีระทึกมาถึง เมื่อทีมสัตวแพทย์แผนกเป่าลูกดอกยาสลบปักไปยังร่างของเจ้าชุมพร

มันค่อยๆ โงนเงน แล้วหลับสนิทในที่สุด

“สังเกตตรงหูว่ามันหลับสนิทหรือยัง ถ้าหูยังกระดิกอยู่ แสดงว่ามันยังไม่หลับ” คุณหมออธิบาย

เครื่องมือการขูดหินปูนเสือโคร่งก็เป็นเครื่องมือชนิดเดียวกับที่ใช้ขูดหินปูนให้คน มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

ทีมงานให้ยาสลบตามขนาดน้ำหนักของชุมพร ซึ่งใช้เวลาราวๆ 40-45 นาที หลังจากเห็นว่าชุมพรหูไม่กระดิก ที่แสดงว่าหลับสนิทดีแล้ว ทีมงานรีบเข้าไปยกตัวใส่เปลเพื่อเอาออกมาจากกรง ต้องใช้คนหนุ่มร่างกำยำถึง 6 คนด้วยกัน ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเมื่อเอาไปชั่งน้ำหนักพบว่า ชุมพรหนักถึง 153 กิโลกรัม

หลังจากชุมพรหลับ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่ต้องอยู่ประชิดติดร่างกับสัตว์ป่าดุร้ายหมายเลข 1 แห่งป่าอย่างเสือโคร่ง 153 กิโลกรัมตัวนี้

ร่างของชุมพรถูกยกไปไว้บนเตียง ทีมงานนำผ้าชุบน้ำลูบตามตัวเพื่อลดอุณหภูมิ ใช้ผ้าขนหนูปิดตา รวมทั้งคอยหยอดขี้ผึ้งป้องกันตาแห้งเป็นระยะ เก็บตัวอย่างเลือด และตรวจช่องปาก ตั้งแต่ฟัน ลิ้น เหงือก และลำคอ

คุณหมอบอกว่า ช่องปากของชุมพรค่อนข้างดี เหงือกไม่อักเสบ แต่ก็ยังมีหินปูนเกาะเล็กน้อย ซึ่งวันนี้ต้องเอาออกให้หมด ขั้นตอนการขูดหินปูนเสือโคร่งไม่ได้แตกต่างจากขูดหินปูนของคนมากนัก เพียงแต่ขั้นตอนอาจจะยากลำบากกว่า ต้องขูดตอนที่เสือหลับ ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ สำหรับรั้งปากเสือเอาไว้เพื่อให้มือหมอล้วงเข้าไปในปากเสือถนัด

สพญ.สุนิตา วิงวอน


คนที่คอยมองหมอกำลังล้วงมือและเครื่องมือเข้าไปในปากเสือโคร่งตัวใหญ่มองอย่างเคร่งเครียด และลุ้นตลอดเวลา แอบคิดว่า ถ้าพี่ชุมพรตื่นขึ้นมาตอนนี้จะเป็นอย่างไรหนอ ตรงกันข้ามกับคุณหมอที่กำลังนั่งทำงานที่กลับมีอิริยาบถสบายๆ ไม่เคร่งเครียด แต่มีสมาธิมุ่งมั่น

สพญ.สุนิตา หรือหมอนก เล่าว่า รับหน้าที่ขูดหินปูนให้กับเสือโคร่งทุกครั้งที่ต้องไปตรวจสุขภาพเสือโคร่งประจำปีในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการขูดหินปูนให้เสือโคร่งมาหลายตัวแล้ว ไม่ได้เครียด หรือเป็นกังวล เครื่องมือการขูดหินปูนเสือโคร่งก็เป็นเครื่องมือชนิดเดียวกับที่ใช้ขูดหินปูนให้คน มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่นเดียวกัน

“สำหรับการตรวจสุขภาพสัตว์โดยเฉพาะเสือโคร่งนั้นเราต้องวางยาสลบเขาก่อน ซึ่งปริมาณยาสลบต้องเหมาะสมกับเวลาที่หมอต้องทำงาน ทั้งการชั่งน้ำหนัก เก็บตัวอย่างเลือด รวมถึงการขูดหินปูนด้วย ซึ่งอย่างหลังใช้เวลามากกว่า 2 อย่างแรก หมอจะต้องประเมินระบบในช่องปากทั้งหมด ตรวจเหงือก ตรวจลิ้น สำคัญเพราะเสือในกรงเลี้ยงนั้นเราไม่ค่อยให้แทะกระดูกท่อนใหญ่เหมือนเสือในป่า ที่เวลาล่าเหยื่อแล้วเขาจะต้องกินเหยื่อทั้งตัว ซึ่งมีทั้งกระดูกท่อนเล็กและท่อนใหญ่ การได้แทะกระดูกเหมือนเป็นการช่วยขัดฟันให้เขาด้วย เสือในป่าธรรมชาติจึงไม่ค่อยมีหินปูนมากนัก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเหงือกอักเสบ แต่เสือในกรงเลี้ยงเราต้องคอยดูแลสุขภาพในช่องปากให้เขาด้วย การขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะถ้าเขามีเหงือกอักเสบก็จะทรมานและมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาด้วย” สพญ.สุนิตากล่าว

ถามว่า นอกจากเสือแล้ว สัตว์อื่นๆ ในกรงเลี้ยงจะต้องขูดหินปูนด้วยหรือไม่ สพญ.สุนิตาบอกว่า สัตว์ใหญ่ๆ อย่าง หมี ก็ต้องขูดหินปูนด้วยเช่นเดียวกัน แต่หมีจะมีปัญหาสุขภาพในช่องปากน้อยกว่าเสือ เมื่อถามอีกว่ากลัวหรือไม่ขณะที่ต้องเอามือล้วงเข้าไปในปากเสือโคร่ง สพญ.สุนิตากล่าวว่า ไม่กลัว เพราะมีทีมงานที่ทำงานด้วยคอยตรวจสอบมอนิเตอร์ทุกอย่างร่วมกัน ทั้งเรื่องปริมาณของยาสลบกับระยะเวลาที่เสือสลบ ซึ่งหลังจากที่ทำงานเสร็จแล้วก็จะฉีดยาให้เสือฟื้นขึ้นมา หลังจากนั้นก็จะใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งนอกจากขูดหินปูนแล้วก็จะมีการ ตัดเล็บ ในส่วนของเล็บที่เหมือนเป็น เล็บขบ ที่จะทิ่มนิ้วซึ่งจะทำให้เสือเจ็บด้วย ทั้งนี้ ระหว่างเสือสลบก็ต้องคอยรักษาอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงเกินไป หมอจะเอาผ้าชุบน้ำมาคลุมตัวเอาไว้ รวมทั้งเอาผ้าขนหนูมาปิดตาเพื่อไม่ให้แสงเข้าตาด้วย คือทุกขั้นตอนจะต้องทำอย่างละเอียดอ่อนและทำให้ดีที่สุด

ตรวจฟัน ตรวจคอ ตรวจเหงือก ตรวจลิ้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณหมอบอกว่า ช่องปากและลำคอของชุมพรเรียบร้อยดี ถือว่าเป็นแม่เสือสาวที่ค่อนข้างแข็งแรงตัวหนึ่งทีเดียว

 

ตัดเล็บในส่วนที่เหมือนเป็น ‘เล็บขบ’

เหลือเวลาอีกราวๆ 5 นาที ชุมพรก็จะตื่นขึ้นมา ตามระยะเวลาของยาสลบที่ทีมสัตวแพทย์คำนวณเอาไว้ แต่ก่อนที่มันจะฟื้น เจ้าหน้าที่หนุ่ม 6 คนที่ช่วยกันหามชุมพรใส่เปลออกมาจากกรงก่อนหน้านี้ก็ต้องช่วยกันหามร่าง 153 กิโลกรัม กลับเข้าไปอยู่ในกรงเหมือนเดิม สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตื่นขึ้นมา มันจะสบายตัว สบายปากมากขึ้น เพราะหินปูนถูกขูดออกไปหมด และเล็บที่ขบนิ้วก็ถูกตัดทิ้งไปแล้วเช่นกัน

คิวต่อไป ถึงคราวของ “ปะทิว” ที่นอนรออยู่ในกรงเรียบร้อยแล้ว…

 


 

ธัญญา เนติธรรมกุล

ธัญญา เนติธรรมกุล
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ

“เราให้ความสำคัญกับสัตว์ในกรงเลี้ยงที่กรมอุทยานดูแลอยู่ทุกตัว ทุกชนิด สัตว์พวกนี้น่าสงสาร มันควรจะอยู่ในป่า แต่เมื่อมีเหตุอันไม่สมควรที่ต้องออกมานอกป่าแล้ว และเมื่อเราต้องดูแล เราก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด กรมอุทยานมีทีมสัตวแพทย์สัตว์ป่าประจำที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งส่วนกลางในกรมอุทยานเองที่คอยรับเรื่อง รับดูแลสัตว์ป่าบาดเจ็บ สัตว์ป่าที่ถูกลักลอบซื้อขาย ล่าสุดมีไฟไหม้ป่าในหลายพื้นที่ก็มีสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบ สัตว์ป่าบาดเจ็บจำนวนมาก เราให้สัตวแพทย์ดูแลสัตว์เหล่านี้ให้ดีที่สุด ท่านรัฐมนตรี ทส.ซึ่งท่านก็มีความสนใจเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ป่าเป็นกรณีพิเศษ ก็สั่งการมาตลอดว่าต้องดูแลเอาใจใส่สัตว์ป่า รวมถึงสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงในความรับผิดชอบให้ดีที่สุด”

“นอกเหนือไปจากนี้ กรมอุทยานก็ให้ความสำคัญและพยายามส่งเสริมให้สัตวแพทย์ที่ทำงานอยู่ตรงนี้ได้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ด้วย เรายกระดับการทำงานของสัตวแพทย์ให้สูงขึ้นทั้งระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ ให้มีกำลังใจในการทำงาน เพราะคนที่จะทำงานกับสัตว์ป่าได้ต้องเป็นคนที่มีใจรัก มีความกล้าหาญ อดทน เพราะทำงานกับสัตว์ สัตว์เขาพูดกับเราไม่ได้ ยิ่งเป็นสัตว์ป่า ที่ไม่เหมือนสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของควบคุมอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำงานแบบนี้ได้”

 

ทีมสัตวแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image