‘แรงงานหลุดนิยาม’ ความท้าทายของ ‘รัฐ’ ความ ‘เปราะบาง’ ของสังคม

ต้องยอมรับว่า “ไวรัสโควิด” ส่งผลกระทบมหาศาลด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ หลายคนมองเห็นช่องทางจึงคว้าโอกาสนี้และฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้น แต่สำหรับมดงานตัวเล็กๆ ที่ดันฟันเฟืองให้ขับเคลื่อนเครื่องจักรเศรษฐกิจของประเทศอย่าง “แรงงาน” จะปรับตัวอย่างไรในจังหวะที่เทคโนโลยีมีบทบาท แต่ขาดซึ่งต้นทุนในชีวิตและโอกาส บ้างไม่เคยถูกบรรจุอยู่ในนิยามที่รัฐไทยได้เขียนไว้

ล่าสุด ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาระดมความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ในประเด็น ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 : การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของการทำงานแบบกิ๊กในยุคหลังโควิด-19 โดยมี อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
นักวิจัยศูนย์เอเชียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CU-CoLLaR เป็นผู้ประสานการสนทนา

ความซับซ้อนของ ‘สัมพันธ์การจ้างงาน’
สิทธิที่หาย เพราะเป็นได้แค่ ‘กิ๊ก’

หลายคนอาจสงสัยว่างานแบบ “กิ๊ก” คืออะไร ?

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ หนึ่งในนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันทำงานอยู่กับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งเป็นงานแบบกิ๊ก (Gig Worker) ประเภทหนึ่ง จึงขอปูพื้นฐานให้เข้าใจบริบทของการงานรูปแบบนี้ในสังคมไทย ที่ดูค่อนข้างแฟชั่น ทว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่

Advertisement

“กิ๊ก คือ รูปแบบการจ้างงานนอกระบบ แต่ภายใต้คำนี้สามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ ในมุมสากลจะเจาะจงเฉพาะแรงงานนอกระบบที่อยู่บนแพลตฟอร์มเป็นส่วนใหญ่ เป็นการจ้างงานแบบจบเป็นครั้ง จับคู่กัน (Matching) ผ่านดิจิทัลแฟลตฟอร์ม แต่ปัจจุบันกว้างกว่านั้น ไม่ผ่านแพลตฟอร์มก็นับรวมเป็นงานแบบกิ๊กเช่นเดียวกัน แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน และจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต คือ การจ้างงานที่ไม่สัมพันธ์กับรูปแบบที่มีในนิยามŽ

เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา มีอีกคำที่โผล่ขึ้นให้ได้ยินบ่อยครั้ง อย่าง งานในอนาคต (Future of Work) ซึ่ง อรรคณัฐอธิบายว่า อนาคตงานจะมี 3 รูปแบบ คือ

1.งานรูปแบบเก่า ที่ต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่งานแบบนี้จะยังคงอยู่ เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ช่างเย็บผ้า ช่างซ่อมรองเท้า ฯลฯ

2.งานรูปแบบเก่าบนความสัมพันธ์การจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ แกร็บฟู้ด ฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน

“แต่คำถามคืองานในสภาวะนี้ ใครกันแน่ที่เป็นลูกจ้างและนายจ้าง ลูกค้าเป็นนายจ้าง หรือแพลตฟอร์มกันแน่ที่เป็นนายจ้าง ฟังดูไม่ใช่ปัญหาสำคัญ แต่สำคัญหากระบุได้ เพราะจะส่งผลอย่างมากต่อการคุ้มครองตัวแรงงานเอง”


3.งานรูปแบบใหม่ มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ
เช่น ในอดีตก่อนจะมีวิทยุ เราไม่มีอาชีพดีเจ ก่อนจะมียูทูบ เราไม่มีอาชีพยูทูบเบอร์

“ในอนาคตเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย หากคาดเดาถูกจะพบว่าทักษะประเภทใดที่จำเป็นและต้องพัฒนา เพื่อให้มีโอกาสทำงานต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้ ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญเกิดจาก “การนิยามการจ้างงานเพียง 2 รูปแบบ” คือ แรงงานในระบบ และ แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกหลังโควิด-19

“ก่อนหน้ามีสถานการณ์เช่นนี้อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันมากขึ้นทุกที ซึ่งการนิยามนี้ส่งผลต่อปัญหาสวัสดิภาพ สวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานจากกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานนิยามการจ้างงานเพียง 2 แบบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ‘งานรูปแบบเก่าในความสัมพันธ์ของการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ไม่ชัดเจน’ ซึ่งกฎหมายยังไม่ได้เข้าไประบุนิยามของแรงงานกลุ่มนี้ เกิดสุญญากาศของการกำกับดูแล ตัวแพลตฟอร์มไม่ได้มองเป็นลูกจ้าง เกิดสภาพที่ไม่ดูแลสิทธิของแรงงาน โดยแรงงานก็ไม่รู้ว่าตนควรจะได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง การคุ้มครองสิทธิของแรงงานจึงไม่ได้รับการหยิบขึ้นมาถกเถียง เพราะไม่อยู่ในนิยาม” อรรคณัฐกล่าวพร้อมชี้แนะด้วยว่า

“การจ้างงานรูปแบบใหม่” จะต้องมีการ “ขยายนิยาม” ให้ครอบคลุม ก่อนไปสู่เรื่อง “การสร้างหลักประกันทางสังคม” ให้กับแรงงานนอกระบบอย่างครบถ้วนทุกกลุ่ม

เสียงของแรงงาน ภาค ‘บันเทิง’ เมื่อ ‘ศิลปะ’ เปลี่ยนวิถี

สำหรับงานในภาค อุตสาหกรรมบันเทิง ทั้ง รูปแบบใหม่ และรูปแบบเก่าล้วนได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งสิ้น แต่จะสาหัสอย่างไร

ในมุมผู้คลุกคลีกับวงการดนตรีมายาวนาน นพพร เพริศแพร้ว ผู้เป็นทั้งอาจารย์และยูทูบเบอร์ แต่ปัจจุบันเป็นศิลปินนักดนตรีที่ประสบปัญหาในฐานะคนทำงานแบบ “กิ๊ก” จึงขอร่วมแชร์ผลกระทบ และโจทย์ที่ควรจะต้องมีในประเทศนี้

นพพรเล่าว่า ปกติมีอาชีพเป็นนักร้อง นักแสดง และมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง มีงานแสดงร่วมกับคนอื่นบ้าง มีงานสอนบ้าง โดยภาพรวมคือมีอาชีพ ศิลปินอิสระ ยอมรับว่า ผลกระทบก่อนโควิดมีอยู่ แต่ไม่มากเท่าตอนโควิด

“เรายอมรับอยู่แล้ว เพราะอาชีพแบบกิ๊กเป็นการทำงานแบบครั้งคราว เสร็จแล้วไป ยอมรับว่าเป็นศิลปินอิสระจะต้องมีสวัสดิการน้อยกว่าคนอื่น รายได้ไม่ประจำ ขยันมากมีเงินมาก ถ้าขี้เกียจไม่พัฒนางานก็จะน้องลงหรือไม่มีคนมาจ้าง แต่เมื่อมีโควิดเข้ามางานที่เคยมีทั้งหมดโดนคืน หรือเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด เพราะรัฐบาลห้ามไม่ให้มีการสังสรรค์บันเทิง งานสอนก็ต้องห่างไป ครูสอนนาฏศิลป์หรือดนตรีไทยหลายคนกระทบมาก เพราะการสอนจะต้องใช้จังหวะ ซึ่งบางครั้งออนไลน์มีความดีเลย์ ตีฉิ่งไปแล้ว เด็กเพิ่งได้ยิน จึงทำได้ยากมากผ่านออนไลน์

“รายได้บางครั้งแทบไม่มี น้อยมากที่จะมีคนมาจ้างร้องเพลงออนไลน์หน้ามือถือเพื่อให้คนอื่นได้ดู แล้วมีเงิน สื่อบันเทิงอยู่บนออนไลน์ไม่ได้ตลอดเวลา ยิ่งการแสดงพื้นบ้าน ลิเก หมอลำ ลำตัด หลายคนจึงกลับไปทำนาเหมือนเดิม หรือทำน้ำพริก ซึ่งก็ขายเต็มไปหมด ความสามารถที่มีควรจะได้มี ได้ชมด้วยการโดนจ้าง เมื่อมีการกำกับว่าห้ามรื่นเริง หรือจัดงานรวมตัวกันมากๆ แล้วจะทำอย่างไร ต้องขอความสนับสนุนกับผู้ใหญ่ให้ยังคงได้รับค่าจ้างและมีงานศิลปะ เพราะเราไม่ได้เห็นสายตาผู้ชมที่มอบกลับคืน การเล่นผ่านกล้องไม่ได้ความสดใหม่ หรือฟีดแบ๊กจากคนดู”

นพพรยังเล่าอีกว่า ที่ผ่านมาไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยา แต่กว่าจะได้ 5,000 บาท ก็หืดขึ้นคอเพราะนานพอสมควร แม้ส่วนตัวจะเสียภาษีนักแสดงทุกปี แต่ก็ไร้ซึ่งการติดต่อสอบถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง ได้รับเงินเยียวยาหรือไม่

“ศิลปินกลางคืนยิ่งหนัก หลายคนในวงเล่นดนตรีเป็นอาชีพหลัก ได้เงินวันต่อวัน ก็ไม่มีรายได้ หลายคนพยายามขายของ แต่เหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่นานก็หายไป นักดนตรีศิลปินท้องถิ่นเคยมีงาน เช่น ลิเก 1 วง ประกอบด้วยหลากหลาย นางรำ ตัวโกง พระเอก นางเอก นักดนตรี และหลังฉากอีกมากมาย บางคนไม่สามารถหารายได้นอกจากจะได้เล่นหน้าเวทีŽ”

ทั้งนี้ นพพรมองว่า การปรับตัวของงานด้านการบันเทิง อย่างแรกคือต้องดูว่าเราสามารถทำอะไรที่บ้านได้ ที่ทำแล้วคนเข้ามาดูแล้วได้เงิน หรือถ้าวัดจัดงานวัด แล้วกำหนดจำนวนคนเข้ามาดูได้หรือไม่ ที่เหลือใช้วิธีดูผ่านโซเชียล

“ยายไม่ต้องมาที่วัด ยายนอนอยู่บ้าน แต่ก็เหมือนการดูทีวี อารมณ์ต่างกันกับการที่ยายมานั่งขำจนหมากกระเด็น มันต้องเปลี่ยนอย่างนั้นเลยหรือ แล้วศิลปะที่เราพยายามสร้างมาจะค่อยๆ ถดถอยไปหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าถดถอยเพราะไม่ได้สร้างสรรค์Ž นพพรกล่าว ก่อนจะขับเสภาด้วยบทกลอนที่กลั่นจากใจเป็นการทิ้งท้าย”

“เคยร้องรำ ทำเพลง บรรเลงศิลป์
ให้ผู้คน ยลยิน ชินห่วงหา
ส่งความสุข สนุกสนาน ผสานสายตา
สัมผัสเสียง และทีท่า หน้าเวที
แต่บัดนี้ เวทีมี ดนตรีที่เล่น
ไม่เหมือนเช่น วันวาน ต้องห่างหนี
ลมหายใจ ศิลปิน โรยรินเต็มที
เพราะศิลปะ เปลี่ยนวิถี แต่ชีวีเดินทาง”

‘รุนแรง’ และ ‘ไม่แน่นอน’
งานแห่งอนาคต กับ การเปลี่ยนแปลงรอบด้าน

ด้าน อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อาจารย์และนักวิจัยประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ภาพแนวโน้มการทำงานในอนาคต ว่าโควิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง งานแบบ “กิ๊ก” ที่รับเป็นจ๊อบจะอยู่ต่ออย่างไร อยู่ส่วนใดของงานในอนาคต

อ.ว่านบอกว่า จากการศึกษาพบว่า มี 3 ประเด็นร้อยเรียงกันอยู่ คือ

1.ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป งานหลายอย่างมีแค่คน แต่ไม่มีความต้องการแรงงานเท่าเดิม ซึ่งในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากขึ้น แรงงานกระจัดกระจาย คนหลากหลายเชื้อชาติอายุและทักษะ และตลาดแรงงานจะมีลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด

อีกด้านคือ 2.คุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนตาม หากแรงงานไม่อยู่ในส่วนความต้องการของการตลาด จะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา การจ้างงานที่ต้องยืดหยุ่น จึงมีแนวโน้มจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาหรือระยะ
สั้นมากขึ้น รวมถึงการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม ด้วยยุคนี้สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนได้ทั่วโลก แม้จะเป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็กระทบต่อความมั่นคง ซึ่งโยงไปถึงความเป็นธรรมของแรงงาน และการที่หน่วยงานรัฐเข้ามารักษาคุณภาพชีวิต แม้ตลาดแรงงานหรือปัจจัยอื่นๆ จะเปลี่ยนหรือไม่ก็ตาม

3.พื้นที่ทำงาน มีผลในแง่เป็นตัวรองรับคุณภาพการทำงาน จะเป็นการทำงานที่ไร้พรมแดนมากขึ้น และคนนิยมใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซ มากขึ้นอีกด้วย

“งานในอนาคตหากพิจารณาจาก 3 ปัจจัย จะพบว่าหลักๆ มีเรื่อง หุ่นยนต์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดขึ้น มีบล็อกเชน และฟินเทค (financial technology) การจ่ายเงินที่เปลี่ยนเป็นการโอน ซึ่งในอนาคตอาจจะมีส่วนช่วยให้หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานกลางติดตามการจ้างงานได้มากขึ้น เพราะทุกการสัมผัสในโลกออนไลน์คือ ข้อมูล (Data) ที่สามารถเก็บไปใช้ได้ แต่ก็มีด้านตรงข้ามที่ต้องระวัง”

อย่างไรก็ดี อ.ว่านมองว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและไม่แน่นอนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตนี้ กลุ่มที่ดูยืดหยุ่น และมั่นคงมากที่สุดจะเปลี่ยนไป อาจเป็นคนรับรายได้จากหลายทาง หรืองานแบบกิ๊ก ซึ่งเป็นอีกทางช่วยสำหรับผู้ที่รายได้หายไป


“เดิมที่เชื่อว่า ‘มั่นคง’ หากทำงานในบริษัทที่ดูเสถียร ไม่น่าจะล้มง่ายๆ แต่ปัจจุบันที่อะไรก็คาดเดาไม่ได้ ความมั่นคงจะกลายเป็น ‘ความพร้อม’ ต่อการเปลี่ยนแปลง”

แต่การเปลี่ยนแปลงมีช่องว่างระหว่าง มนุษย์ กับ เทคโนโลยี สิ่งที่เราทำได้ในมุมมองของ อ.ว่าน คือ 1.เรียนรู้ให้เร็วขึ้น เพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ 2.ปกครองอย่างฉลาดขึ้น เพื่อพร้อมอัพเกรดตัวเองให้ทันกับเทคโนโลยี

ซึ่งโยงกลับมาสู่ 3 ประเด็นข้างต้น ที่ต้องเริ่มจาก “พัฒนาฐาน” อย่างตลาดแรงงานและพื้นที่ทำงาน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แกร่งขึ้น สร้างโอกาสให้แรงงานชายขอบ และพัฒนาสวัสดิการเพื่อรองรับแรงงานอิสระ

ด้าน “พัฒนาเทคโนโลยี” ด้วยการหาสมดุลระหว่างหุ่นยนต์ และแรงงาน

ในส่วนการ “พัฒนาเมือง” ด้วยการสร้างพื้นที่ชีวิตและโอกาสให้แก่คนเมือง อาทิ จัดที่นั่งให้วินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย

สำคัญคือ ต้องเห็นว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง อ.ว่านกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image