สุจิตต์-ขรรค์ชัย ยกวง ‘ไล่ห่า’ จากโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลก ถึง ‘นิวนอร์มอล’ ยุคอยุธยา

สุจิตต์-ขรรค์ชัย ยกวง ‘ไล่ห่า’ จากโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลก ถึง ‘นิวนอร์มอล’ ยุคอยุธยา : โดย พรรณราย เรือนอินทร์

ใส่เฟซชิลด์อย่างชิลๆ ทว่า ไม่ประมาท ในยุคโรคระบาด “โควิด-19” สำหรับรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอนล่าสุด ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน ขอเว้นระยะห่างทางกายภาพกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือตามมาตรการสกัดไวรัส แต่ไม่สกัดความรู้ที่ต้องเดินหน้าไม่หยุดยั้ง

“ห่าระบาด ประวัติศาสตร์อยุธยา ในประวัติศาสตร์โลก” จึงเป็นตอนที่คงความเข้มข้นควบคู่สุนทรียะ โดย 2 ผู้อาวุโส “เล่นใหญ่” ยกวง “แพร้ว” จัดเต็มดนตรีไทยผสานความเป็นสากลอย่างลงตัว นำโดย นพพร เพริศแพร้ว ศิลปินเสียงดี อดีตงานเคยชุกก่อนเจอโควิดสะกิดแรงๆ จนอยู่อย่างเหงาๆ แต่งเพลง “กักตัวรอรัก” ซึ่งนำมาเปิดรายการเรียกยอดไลค์ผู้ชมตั้งแต่ต้นคลิป งดงามพลิ้วไหวด้วยโมเดิร์นแดนซ์เพลินตาหน้าร้านหนังสือลายแทง โถงชั้น 1 อาคารสำนักงาน “มติชน” ก่อนที่ สุจิตต์ จะเริ่มบรรเลงเนื้อหาแน่นแต่ไม่หนักเกินทำความเข้าใจอย่างเรื่อง “โรคห่า”

“ห่า เป็นคำสามัญทั่วไป อะไรที่มันเกิดเหตุมากๆ ทำให้คนตายมาก เรียกว่าห่า แม้กระทั่งฝนตกก็เรียกว่า ห่า เรียกฝนตกหนึ่งห่า ตกมาก เรียกฝนแสนห่า”

เปิดประเด็นด้วยคำสำคัญแล้ว ไม่รอช้า ตามมาติดๆ ด้วยปมปริศนา “พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่า” มาสร้างกรุงศรีอยุธยาตามคำบอกเล่าในนิทาน

Advertisement


“เรื่องพระเจ้าอู่ทองพาไพร่พลหนีโรคห่า จากเมืองอู่ทองที่สุพรรณฯ มาสร้างกรุงศรีอยุธยา คำว่าห่าระบาด คนรับรู้ว่าเป็นอหิวาตกโรค ขอย้ำนะครับ ที่บอกว่าโรคห่า มันอยู่ในนิทาน นิทานคือคำบอกเล่า เชื่อถือเป็นความจริงไม่ได้จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ไม่มีหลักฐานว่าพระเจ้าอู่ทองหนีอหิวาต์ แต่ใช้คำว่าโรคห่า นิทานเรื่องห่าระบาด มีทั่วไปหมด ตั้งแต่อยุธยา ลงไปถึงนครศรีธรรมราชโน่น ถึงพม่า รามัญ มอญเขมร ไม่มีใครบอกว่าเป็นอหิวาต์ จึงเกิดคำถามที่ 2 ว่าโรคห่าคืออะไร ไม่มีใครรู้ เราจึงต้องศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ทั้งโลก ซึ่งสมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างอยุธยา ตามพงศาวดารคือ พ.ศ.1893 ตอนนั้นโลกมี Black Death หรือกาฬโรคระบาด ผมไม่รู้เรื่องเลย จนกระทั่งคุณไมเคิล ไรท์ มาเล่าให้ฟังตอนทำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผมถึงบอก อ้าว! ฉิบหายแล้ว โง่มาตั้งนาน”
กล่าวพลางหัวเราะผ่านเฟซชิลด์ เช่นเดียวกับ ขรรค์ชัย ที่เมื่อได้ย้อนฟังเรื่องเก่าๆ ก็อมยิ้มตาม

ถามว่า แล้วโรคห่ามาจากไหน?

สุจิตต์ บอกว่า ไม่รู้! แต่ที่แน่ๆ มี “หมัดหนู” เป็นพาหะ

“มาจากไหนไม่รู้ หลายแนวคิด บางทีว่ามาจากตะวันออกกลาง บางทีว่าจากจีน อินเดีย เอาเป็นว่ามันวนเวียนอยู่แถวนี้ แล้วแพร่กระจายถึงยุโรป ตายเป็นล้าน ทั้งโลก ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รู้กันทั้งโลก แต่เราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ในประวัติศาสตร์ไทย อย่างน้อยที่สุดผมไม่ได้ยิน”

จากนั้น ไม่พลาดช็อตขายของ โชว์หนังสือดีมีความเข้าธีม อย่าง “จากปีศาจสู่เชื้อโรค ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย” ผลงาน ดร.ชาติชาย มุกสง และ “Black Death ห่าลง จีนถึงไทยตายทั้งโลก” โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังโชว์แผนที่อยุธยา เล่าเรื่องย่าน “ตะแลงแกง” ซึ่งปรากฏในเอกสารฮอลันดา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองราว พ.ศ.2000 กว่าๆ ที่บันทึกคำบอกเล่าจากขุนนางว่าอยุธยาเกิดขึ้นตอนมี “มังกรพ่นน้ำลายพิษ” ทำให้คนตายทั้งเมือง

“ในเขมรก็มีโรคระบาด นครศรีธรรมราชก็เช่นกัน ในรุ่นเดียวกันหมด เกิดความปั่นป่วนทั้งโลก เพราะฉะนั้นโรคห่า สำหรับผมเชื่อว่าคือกาฬโรคไม่ใช่อหิวาต์”

ว่าแล้ว ไม่ลืมเข้าเพลง “ความตายสีดำ” ที่ร้องบรรเลงสดๆ กึกก้องห้องโถง ไพเราะราวต้องมนต์สะกด ผลงาน สุจิตต์ วงษ์เทศ เช่นเคย

เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า

“ความตายสีดำลอยน้ำมา วายชีวาประดุจใบไม้ร่วง สะอื้นเสียงโศกเศร้าถึงดาวดวง ดังฟ้าร้องก้องห้วงมหรรณพ”

(อดีต) สองกุมารสยามยังเล่าว่า หลังจากพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว โปรดให้ไปขุดศพเจ้าแก้ว เจ้าไท ซึ่งสิ้นพระชนม์เพราะโรคห่าที่วัดใหญ่ชัยมงคลขึ้นมา จากนั้น ไปสู่ประเด็นใหญ่อย่างความเปลี่ยนแปลงหลังโรคระบาดใหญ่ จนเกิด “นิว นอร์มอล” ในห้วงเวลานั้น นั่นคือการขึ้นมามีอำนาจของ “ภาษาไทย”

“กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเกิดโรคระบาด ชนชั้นสูงในวังตายเรียบ เพราะแออัด ชาวนาคนรากหญ้ามาทดแทนทำให้ภาษาอังกฤษแบบชาวนามาแทนที่ภาษาเดิมของชนชั้นสูง อยุธยาก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน อยุธยาพัฒนาจากละโว้ คนพูดหลากหลายทั้งเขมร ไต-ไท แต่คนพูดภาษาเขมรเป็นชนชั้นปกครอง

ขบวนแห่ของพวกแฟลกเจลแลนท์ ในยุคที่ความตายสีดำเข้ามาเยี่ยมเยือน พ.ศ.1891 (ภาพประกอบในหนังสือพงศาวดารของกิลเลส ลิ มุยสิส์) ผู้เข้าร่วมในขบวนแห่จะต้องเปลือยกายท่อนบน เดินเรียงแถวเป็นคู่ พร้อมกับขับร้องเพลงที่ชื่อว่า “ไกส์สเลอร์ไลเดอร์” (Geisslerleider) วิงวอนต่อพระเจ้าให้ไถ่ถอนบาป และยุติการแพร่ระบาดของกาฬโรค (ภาพจาก: https://ru.wikipedia.org/wiki/%D0%A4%D0%B0)

หลังโรคห่าเกิดนิว นอร์มอล คือ ภาษาไต-ไท มีอำนาจเหนือภาษาเขมร เราพบว่าวรรณคดีไทยเพิ่งมีเป็นเรื่องเป็นราวจาก พ.ศ.1900-2000 กลุ่มกษัตริย์สุพรรณฯ ซึ่งพูดภาษาไทย ทำให้กฎหมายออกมาเป็นภาษาไทย เกิดอักษรไทย มีการแต่งโองการแช่งน้ำ”

ยิ่งไปกว่านั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์ บอกว่า ความเป็นคนไทยเกิดขึ้นหลัง Black Death ซึ่งทำให้คนพูดภาษาไทยเป็นหลัก และเรียกตัวเองว่าคนไทย

“The Black Death” ภาพจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับเมืองทอกเกนเบิร์ก (Toggenburg Bible) เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1954 แสดงภาพผู้ป่วยเป็นกาฬโรค และความพยายามในการรักษาผู้ป่วยตามความเชื่อทางศาสนาในยุโรปยุคกลาง (ภาพจาก : https://www.dkfindout.com/us/history/black-death/symptoms-and-treatment)

จากนั้น ถึงคิวพักฟังเพลง “รำวงอยุธยา” เล่าถึงการเกิดอยุธยาซึ่งเกี่ยวพันกับ “ห่าระบาด”

เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า

“อยุธยาห่าลงระบาด ดังฟ้าฟาด นองหาวตายห่า โลกเก่าพังเพเวทนา สร้างโลกใหม่มา การค้าภาษาไทย”

แล้วมาถึงไฮไลต์อย่างเพลง “ไล่ห่า” ซึ่ง สุจิตต์ ตั้งใจแต่งขึ้นเพื่อเผยแพร่ครั้งแรกในรายการโดยเฉพาะ

เนื้อหาเข้มข้นร้อนแรงไม่ทิ้งลายศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ที่ไม่รับทั้งตำแหน่งและเงินเดือน

ความตอนหนึ่งว่า

“โควิดมา ห่าลงเมือง ห่ากินบ้านเมือง กินผู้คน ไปให้พ้น ห่ามหากาฬ
….

สุขภาพกับเสรีภาพ ทับทาบอยู่พร้อมกันได้ โควิดมาห่าลงจงใจ ไล่ห่าโควิดพร้อมกัน”

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการถามว่า เพลงนี้มีลิขสิทธิ์หรือไม่ เจ้าตัวตอบทันทีว่า

“ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่อย่ามาจับก็แล้วกัน”

เรียกเสียงฮาครืนก่อนปิดรายการด้วย “เสภา” ซึ่งทั้งแต่งทั้งขับโดยนพพร เพริศแพร้ว เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์

ความท่อนหนึ่งว่า

“เหน็ดเหนื่อยหนอนักรบชุดสีขาว มีเสื้อกาวน์เป็นชุดเกราะกล้าเหลือหลาย ศัตรูนั้นคือโรคร้าย จะท้อแท้แพ้พ่ายมิได้เลย”

เป็นอีกหนึ่งตอนคุณภาพของรายการดีๆ ภายใต้เครือ “มติชน”


<style=”text-align: center;”>

‘วงแพร้ว’ เปิดทำนองชีวิต ศิลปินยุค ‘โควิด’

ยกวงจัดเต็ม 7 ศิลปินร่วมรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” สำหรับ “วงแพร้ว” ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักร้อง นักดนตรี นักเต้น ผสานความเป็นไทยและสากลไว้ด้วยกัน นำโดย

นพพร เพริศแพร้ว ศิลปิน และอาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง รับหน้าที่ร้องนำและขับเสภา ร่วมด้วยนักดนตรีมากฝีมือ มารุต มากเจริญ ข้าราชการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร, ปฐวี นุชลออ, ภูมิ์ธนพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์, ภูริทัต ปิยสัตย์ตันติ ครูสอนดนตรีสถาบันดัง, ณัฏฐ์ทิตา วุฒิสุวรรณโภคิน นักเต้น Modern Dance และ พัชราภรณ์ สัตตรัตนำพร นักร้องนำหญิง

ไหนๆ ก็มาเล่นเพลงแนวโรคระบาด ไม่ถามไม่ได้ว่าชีวิตและการงานในวิกฤตนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

“อาชีพนักร้อง โดนเต็มๆ 100 เปอร์เซ็นต์ งานโดนยกเลิกทั้งหมด อย่างช่วงเดือนเมษาฯ 30 กว่างาน ยกเลิกเกลี้ยง ไม่เหลือเลย ส่วนงานสอนร้องเพลง ถือว่ามีผลกระทบบ้าง แต่ยังสอนออนไลนได้นิดๆ หน่อยๆ” คือคำตอบของพัชราภรณ์ นักร้องนำเสียงใสที่เดินทางมาจากบ้านเกิดในจังหวัดปราจีนบุรี เพื่องานนี้โดยเฉพาะ

ด้านนพพร เพริศแพร้ว แกนนำ (วง) ก็เปิดใจว่า

“รายได้บางครั้งแทบไม่มี ส่วนออนไลน์น้อยมากที่จะมีคนมาจ้างร้องเพลงออนไลน์หน้ามือถือเพื่อให้คนอื่นได้ดูแล้วมีเงิน สื่อบันเทิงอยู่บนออนไลน์ไม่ได้ตลอดเวลา ยิ่งการแสดงพื้นบ้าน ลิเก หมอลำ ลำตัด หลายคนจึงกลับไปทำนาเหมือนเดิม หรือทำน้ำพริกซึ่งก็ขายเต็มไปหมด”

นพพรบอกว่า แม้มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีแอพพลิเคชั่นล้ำสมัย แต่การที่ไม่ได้เห็นสายตาผู้ชมที่มอบกลับคืนนั้น ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง

“การเล่นผ่านกล้องไม่ได้ความสดใหม่ หรือฟีดแบ๊กจากคนดู”

การปรับตัวของงานด้านการบันเทิงในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างแรกคือ ต้องดูว่าเราสามารถทำอะไรที่บ้านได้หรือไม่ ที่ทำแล้วคนเข้ามาดูแล้วได้เงิน หรือถ้าวัดจัดงานวัด แล้วกำหนดจำนวนคนเข้ามาดูได้หรือไม่ ที่เหลือใช้วิธีดูผ่านโซเชียล

“ยายไม่ต้องมาที่วัด ยายนอนอยู่บ้าน แต่ก็เหมือนการดูทีวี อารมณ์ต่างกันกับการที่ยายมานั่งขำจนหมากกระเด็น มันต้องเปลี่ยนอย่างนั้นเลยหรือ แล้วศิลปะที่เราพยายามสร้างมาจะค่อยๆ ถดถอยไปหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าถดถอยเพราะไม่ได้สร้างสรรค์”

“ศิลปินกลางคืนยิ่งหนัก หลายคนในวงเล่นดนตรีเป็นอาชีพหลัก ได้เงินวันต่อวัน ก็ไม่มีรายได้ หลายคนพยายามขายของ แต่เหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่นานก็หายไป นักดนตรีศิลปินท้องถิ่นเคยมีงาน เช่น ลิเก 1 วง ประกอบด้วยหลากหลาย นางรำ ตัวโกง พระเอก นางเอก นักดนตรี และหลังฉากอีกมากมาย บางคนไม่สามารถหารายได้ นอกจากจะได้เล่นหน้าเวที”

คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทยต้องร่วมกรำศึกเพื่อผ่านพ้นไปด้วยกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image