แง้ม 8 เล่ม รอบสุดท้าย ‘รางวัลชมนาด’ หลากหลาย บูลลี่ก็มี ซึมเศร้าก็มา เข้มข้น สมการรอคอย

แง้ม 8 เล่ม รอบสุดท้าย ‘รางวัลชมนาด’ หลากหลาย บูลลี่ก็มี ซึมเศร้าก็มา เข้มข้น สมการรอคอย

เพิ่งจะหมดเขตการส่งผลงานเข้าชิงชัยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปีนี้โครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (FICTION) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด ที่บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 39 เล่ม แม้จะมีเวลาในการพิจารณา 2-3 เดือน แต่คณะกรรมการยอมรับว่า “หนักใจ” เพราะแต่ละเล่มมีความโดดเด่นแตกต่างกัน

ที่น่าสนใจคือ ปีนี้มีผลงานที่หลากหลาย เข้มข้น สดใหม่ และสมกับการรอคอย!

สำหรับผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลชมนาด ครั้งที่ 9 มีด้วยกัน 8 เล่ม คือ คำสาปบริสุทธิ์, ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง, อาณาจักรที่แสงอาทิตย์ไม่เคยส่องถึง, หากค่ำคืนนี้หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน, รอยบาศ, ไผ่ลายหยก, ดินแดนที่ไร้รอยน้ำตา และ ดอกไม้ใต้แสงตะวัน

นรีภพ จิระโพธิรัตน์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย ประธานกรรมการรอบคัดเลือกการประกวดวรรณกรรมรางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) ครั้งที่ 9 บอกว่า ปีนี้สนุกทุกเล่ม แนวชีวิตจะเข้มข้น ตัดสินยากมาก บางเรื่องตัวละครมีรอยตำหนิ ผู้เขียนเฆี่ยนตีตัวละครจนเราสงสารตัวละคร แต่การดำเนินเรื่องทำให้ต้องติดตามเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง บางเรื่องแม้ไม่เห็นโครงเรื่องชัด แต่บรรยายตัวละครได้ดี

Advertisement
แง้ม 8 เล่ม รอบสุดท้าย ‘รางวัลชมนาด’ หลากหลาย บูลลี่ก็มี ซึมเศร้าก็มา เข้มข้น สมการรอคอย
นรีภพ จิระโพธิรัตน์

เกณฑ์ของการพิจารณานอกจากจะต้องชูบทบาทของสตรี มีน้ำเสียงของผู้หญิง ต้องมีความเป็นนวนิยายอย่างสมบูรณ์ ตัวละครต้องชัดเจน มีความสมจริง

“ความเป็นนวนิยายคือ ต้องสร้างความขัดแย้ง อยู่ที่ว่าผู้เขียนจะสร้างกี่ปม เช่น นักเขียนรุ่นใหญ่อาจจะสร้าง 3 ปมขัดแย้งเพื่อให้นวนิยายมีความเข้มข้นและน่าติดตาม แต่จะไม่บอกรายละเอียดหมด ให้ผู้อ่านคาดเดาเอง และก่อนจบเรื่องต้องเก็บตัวละครให้ครบทุกตัว”

ตัวอย่างเช่น “ดอกไม้ใต้แสงตะวัน” เนื้อหาเป็นเรื่องของตัวละครหญิงที่เป็นนักโทษคดียาเสพติดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากสามี มารู้ตัวว่าท้องเมื่ออยู่ในคุกและคลอดลูกในคุก ผู้เขียนสร้างตัวละครให้มีตำหนิ แต่เราก็เอาใจช่วยตัวเอกของเรื่อง เพราะความมีคุณธรรมอยู่ในใจ สู้ชีวิต

Advertisement

“เรื่องนี้แสดงถึงพลังของการต่อสู้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง แม้ว่าจะพบเจอกับชะตากรรมใดก็ตาม แต่ก็สู้ชีวิตด้วยการมีสติ ผู้เขียนเล่าเรื่องได้ละเอียด โครงเรื่องชัด ตัวละครชัดเจน และมีทุกภาวะอารมณ์ปรากฏอยู่ในเรื่อง สะเทือนใจผู้อ่านมาก”

ผลงานเข้าประกวด 39 เรื่อง


“ไผ่ลายหยก”
เป็นอีกเล่มที่นรีภพบอกว่ามีความโดดเด่นไม่แพ้กัน เสนอเรื่องราวสังคมของบาบ๋าย่าหยา เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง (ปี 2498) ทำให้เราเห็นฉากการดำเนินชีวิตของคนในช่วงนั้น วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของคนทางภาคใต้ ให้คติสอนชีวิตและให้ข้อคิดแก่ส่วนรวมได้ดี ตัวละครมีมิติ สมจริง และบทสนทนาของตัวละครมีชีวิตชีวา ผู้เขียนให้จังหวะหนักเบา มีความเป็นนวนิยายได้สมบูรณ์

นรีภพบอกว่า วรรณกรรมเยาวชนก็มี อาจจะเบาไปหน่อย ถ้ามาสู้กับนวนิยายชีวิต แต่ภาษาสวย เชิดชูเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีนวนิยายที่เขียนเพื่อเยียวยาตนเอง เป็นเรื่องของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า บรรยายผ่าน “ฉัน” ให้รายละเอียดของจิตใจ พฤติกรรมมนุษย์ได้ดี

“นักเขียนไทยไปได้ไกลในเรื่องของความคิดที่ลึกซึ้ง มีความคิดต่าง มีรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างผลงานที่ใช้บทสนทนาล้วนๆ เป็นตัวเล่าเรื่อง ซึ่งตัวบทสนทนานั้นต้องได้อรรถรสจริงๆ ทุกประโยคที่ออกไปต้องเอาอยู่”


การผูกเรื่องต้องดี ถ้าคนไม่อ่านก็จบ

ทางด้าน จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของนามปากกา “รอมแพง” นักเขียนนวนิยายที่กลายเป็นบทละครแห่งยุค “บุพเพสันนิวาส” ให้ทรรศนะว่า ผลงานโดยรวมเมื่อเทียบปีที่แล้ว เขียนได้สนุก เขียนได้ดี ตัดสินใจยากพอสมควร มีความดีงามไล่ๆ กัน จึงต้องเลือกเรื่องที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด

แง้ม 8 เล่ม รอบสุดท้าย ‘รางวัลชมนาด’ หลากหลาย บูลลี่ก็มี ซึมเศร้าก็มา เข้มข้น สมการรอคอย
จันทร์ยวีร์ สมปรีดา

เรื่องที่ประทับใจคือ “รอยบาศ” เป็นเรื่องการกลับชาติมาเกิด การวนเวียนผูกพันกัน เป็นการใช้ไทม์ไลน์ที่แปลก พูดถึงเรื่องเวรกรรม และการถูกกระทำของผู้หญิง การใช้ชีวิตและการตัดสินใจของผู้หญิงที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา ขณะที่ “ระการาหุล” แม้จะไม่ได้เข้ารอบ แต่มีความน่าสนใจ ใช้ไก่เป็นตัวเอก สำนวนน่าติดตามและอ่านสนุก

จันทร์ยวีร์บอกว่า ประเด็นหนึ่งที่ให้สำคัญในการพิจารณาคือ สำนวนภาษาและการเล่าเรื่อง เพราะต่อให้แนวคิดของเรื่องดี ถ้าการผูกเรื่องหรือสำนวนไม่ดีจะไม่ชวนให้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าคนไม่อ่านก็คือจบแล้วสำหรับนิยาย ฉะนั้นจึงให้ความสำคัญกับการสอดคล้องของเนื้อหากับสำนวนเป็นพิเศษ

“ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้มีหลากหลายแนวมาก ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม สะท้อนสังคม มีเรื่องของการบูลลี่ เรื่องของสืบสวนสอบสวน เป็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนที่หยิบมาเขียนเป็นนิยายที่น่าสนใจได้ และให้ความสำคัญกับตัวเอกที่เป็นผู้หญิงได้ดี มีแตกต่างในเรื่องของความคิด รู้สึกถึงความสดใหม่ของนักเขียน”


โรคซึมเศร้าก็มา

ดึงปมปัญหาสังคมเข้ามาพูดถึงในนวนิยายมากขึ้น

ขณะที่ จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร นักเขียนเรื่องสั้น เจ้าของนามปากกา “สมุด ทีทรรศน์” และนักวิจารณ์วรรณกรรม ได้บอกว่า “ผมชอบ ไผ่ลายหยก” ได้ตามเกณฑ์ที่คิดไว้ คือนำเสนอประเด็นปัญหาของลูกผู้หญิงคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อครอบครัวคนจีน พูดถึงความสัมพันธ์ของแม่กับลูกสาว พี่สาวกับน้องสาว และความโดดเด่นอีกเรื่องคือ นำเสนอขนบธรรมเนียมของครอบครัวคนจีนในช่วง 2498-2510 ผู้เขียนใช้ข้อมูลทางยุคสมัย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็นพื้นเรื่องทำให้สีสันของเรื่องสมจริงขึ้น และองค์ประกอบของนวนิยายสมบูรณ์ คือมีความเด่นชัดที่สุดใน 39 เรื่องที่อ่าน

อีกเรื่องคือ “หากค่ำคืนนี้หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” มีความเป็นเอกภาพของความเป็นนวนิยาย ใช้ศูนย์กลางของเรื่องเป็นชุมชนหนึ่งที่หาดใหญ่ นอกจากวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้การร้อยตัวละครที่อยู่ต่างที่เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน

แง้ม 8 เล่ม รอบสุดท้าย ‘รางวัลชมนาด’ หลากหลาย บูลลี่ก็มี ซึมเศร้าก็มา เข้มข้น สมการรอคอย

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ เมื่อเป็นชุมชนหรือชนบท นวนิยายส่วนมากจะพูดเกี่ยวกับความสวยงาม เป็นที่ที่คนจะกลับไปพึ่งพิงอาศัย แต่เรื่องนี้กลับเสนอปัญหาของชนบทที่มีความกระอักกระอ่วนใจบางอย่าง เช่น ผลประโยชน์ของชุมชน เรื่องของอิทธิพลมืดที่ตัวละครเจ้าของร้านนวด ซึ่งเป็นคนที่นำรายได้มาหล่อเลี้ยงชุมชน แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับมาจากธุรกิจสีเทา มันมีความลึกซึ้งและซับซ้อนที่เราไม่สามารถไปตัดสินใจได้ว่ามันดีหรือเลว

“นักเขียนไทยในปัจจุบันมีความพยายามดึงปัญหาร่วมสมัยที่ใหม่ๆ ขึ้นมานำเสนอในนวนิยายมากขึ้น เช่น เรื่องของโรคซึมเศร้า เรื่องของปัญหาจิตเวชที่ได้รับผลกระทบจากสภาพสังคมปัจจุบัน แต่บังเอิญว่ามีข้อด้อยบางอย่าง อาจจะหาข้อมูลมาไม่ดีพอ หรือการนำมาย่อยในรูปแบบของนวนิยายอาจจะยังไม่ได้ถึงนัก แต่ทำให้เห็นพัฒนาการ”


ต้องตีหัวเข้าบ้านได้ตั้งแต่ 5 บทแรก

พักบทบาทนักเขียนนวนิยายและบทละครโทรทัศน์ มาเป็นกรรมการรางวัลชมนาดเป็นปีแรก อุมาพร ภูชฎาภิรมย์ (อุมาริการ์) บอกว่า ใน 8 ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายมีเล่มที่น่าสนใจหลายเล่ม อาทิ “ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง” ที่แม้จะไม่ได้เชิดชูสิทธิสตรีเท่าไหร่ แต่ชอบกลวิธีในการเล่าเรื่องที่ให้ตัวละครต่างๆ มาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายใน 1 คืน คล้ายคลึงกับการเล่าเรื่องของ “หลายชีวิต” ผลงาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สนุกและทำให้ลุ้นตามว่าอะไรคือ เสือแค้น

หรือเรื่อง “อาณาจักรที่แสงอาทิตย์ไม่เคยส่องถึง” ตัวละครเอกอยู่ในสังคมมุสลิมทั้งหมด ซึ่งห่างไกลจากชีวิตเรา เมื่อนำไปผูกกับการฆาตกรรม การตามหาความจริง โดยที่ลักษณะการเล่าเรื่องของตัวละครแต่ละตัว ผู้เขียนทำได้ดีไม่หลุดประเด็น

แง้ม 8 เล่ม รอบสุดท้าย ‘รางวัลชมนาด’ หลากหลาย บูลลี่ก็มี ซึมเศร้าก็มา เข้มข้น สมการรอคอย

ถามว่าการเขียนงานที่ขายดีจำเป็นต้องสร้างสรรค์มั้ย ไม่จำเป็น แต่ถ้าสร้างสรรค์ได้ก็ดี ถ้าไปดูรายชื่อหนังสือที่ขายดี 10 อันดับของแต่ละสำนักพิมพ์ หนังสือที่ขายดีหลายๆ เล่มไม่ใช่หนังสือที่สร้างสรรค์ แต่ก็ต้องถามต่อว่า “หนังสือสร้างสรรค์” สร้างสรรค์ในแง่ไหน แง่การเล่าเรื่อง พล็อต หรือแง่ตัวละคร

“ต้องยอมรับว่าการเขียนเป็นศิลปะ แต่เป็นศิลปะที่ต้องยืนหยัดอยู่กับคนอ่าน ต่อให้เขียนดี แต่ถ้าไม่สนุกก็ขายไม่ได้”

อุมาพรบอกอีกว่า การให้คะแนนเธอแบ่งเป็น 5 ประเด็น การสะกดคำ การใช้คำ การใช้ประโยคคำพูด เขียนผิดมากไหม รูปแบบการจัดหน้าต้องถูก ต่อมาคือเรื่องของ “5 บทแรก” อย่างละคร ถ้าเราไม่สามารถตีหัวเข้าบ้านตั้งแต่ 2-4 ตอนแรก เจ๊ง นิยายก็เหมือนกัน

“5 บทแรก” จึงสำคัญมาก ถ้า 5 บทแรกทำให้เราสนใจได้ เราจะอยากไปต่อ แต่ถ้า 5 บทแรก ไม่ชวนติดตาม ต่อให้เนื้อเรื่องดีก็ไม่ ฉะนั้น ทำอย่างไรให้เรื่องของเขาน่าสนใจตั้งแต่ 5 บทแรก แล้วต่อไปก็คือ การดำเนินเรื่อง บางทีเล่าเรื่องข้ามไปข้ามมาก็มี สุดท้ายคือ “ความสนุก”

เพราะสนุกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขียนแล้วไม่ได้สนุกขนาดนั้นสำหรับเรา แต่อย่างอื่นเป๊ะหมด เขาก็ควรจะได้โอกาสนั้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image