12 วัน ตามหา ‘วันเฉลิม’ จาก #แฮชแท็ก ถึงโบขาว ปรากฏการณ์ทวงสิทธิ ‘ไม่มีใครควรถูกอุ้ม’

เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้วนับแต่การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยการเมืองที่ถูกกลุ่มบุคคลอุ้มหายจากหน้าอาคารที่พักในกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

ก่อเกิดปรากฏการณ์มากมาย ไม่เพียงแฮชแท็ก #savewanchalearm และร่วมตามหาผ่านช่องทางต่างๆ ตั้งแต่โซเชียลเน็ตเวิร์ก จนถึงป้ายข้างทาง อีกทั้ง ‘ผูกโบขาว’ จนต้องขึ้นโรงพัก หากแต่สร้างการถกเถียง ขบคิด ร่วมกันย้อนอดีตประวัติศาสตร์การอุ้มหาย ปักหมุดหารือสถานการณ์ปัจจุบัน กระทั่งมองถึงวันพรุ่งนี้ด้วยความวาดหวังไม่ให้เกิดซ้ำ

จี้สถานทูตไทยเปิดเนื้อ ‘จดหมาย’ ถึงกัมพูชา

เริ่มด้วยข้อคิดเห็นน่าสนใจจากวงเสวนา ตามหาวันเฉลิม : ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน) จัดโดย กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กร

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิม เปรียบว่า วันเฉลิมเป็นดั่งต้นกล้าในการพัฒนาสังคมตั้งแต่สมัยเยาวชน และแม้เขาจะเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมาไปบ้าง แต่ไม่มีทางที่เขาจะทำร้ายใคร ชยุตม์ย้ำว่าประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่อง วันเฉลิม เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ ไม่ใช่เรื่องจริง เพียงแต่วันเฉลิมไม่มีสิทธิที่จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เลย

Advertisement

ชยุตม์ทิ้งท้ายว่า ‘ไม่มีใครสมควรถูกอุ้มหายไปทั้งนั้น ถึงแม้เขาจะมีความคิดและแสดงออกแตกต่างแค่ไหนก็ตาม ถ้าหากผิดก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐบาลควรติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เพราะอย่างน้อยเขายังเป็นคนไทยคนหนึ่ง’

ด้าน สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย แต่มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงตอนนี้ สหประชาชาติ หรือ UN รายงานว่า มีนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยถูกอุ้มหายไปแล้วทั้งหมด 82 คน โดย 9 คนถูกอุ้มหาย ขณะที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

กรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง และไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยหรือไม่ ในฐานะที่เขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง รัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครอง นอกจากนี้ ประเทศกัมพูชาในฐานะประเทศภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ ควรต้องให้ความร่วมมือในการสอบสวนการหายไปของวันเฉลิมเช่นกัน

Advertisement

“ควรมีการเปิดเผยหนังสือของสถานทูตไทยที่ส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า มีการใช้ถ้อยคำและเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากข้อความในหนังสือยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ควรผลักดันให้มีการออกเอกสารฉบับใหม่ รวมถึงเรียกทูตกัมพูชามาติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง”    สุณัยกล่าว

‘แอมเนสตี้’ เชื่อสังคมอยู่ข้างวันเฉลิม
‘อังคณา’ เปิดใจในม่านหมอกของความคลุมเครือ

ในขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของทนาย สมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2547 กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอุ้มหายโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียม ทุกๆ ครั้งที่ตนและครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายคนอื่นพยายามให้ภาครัฐช่วยเหลือในการตามตัวผู้สูญหาย ไม่มีสักครั้งที่มีความคืบหน้า และไม่มีสักครั้งที่รู้สึกว่ามีความหวังเพิ่มขึ้น และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ครอบครัวของผู้สูญหายจะรับมือกับความรู้สึก ‘เหมือนอยู่ในม่านหมอกของความคลุมเครือตลอดเวลา’ เช่นนี้ นอกจากนี้ ความพยายามลดทอนคุณค่าของผู้ที่ถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจากทางไหนก็ตาม ยิ่งเป็นการซ้ำเติมครอบครัวให้สิ้นหวังมากขึ้น

“นอกจากกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย ทางการไทยควรมีการเยียวยาไม่ใช่แค่ในเรื่องเงินทอง แต่รวมถึงด้านความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ เธอเสนอว่าครอบครัวของผู้สูญหายควรมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ตลอดจนเป็นคณะกรรมการวิสามัญติดตามกรณีที่เกิดขึ้น”

มาถึง ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยที่เรียกร้องให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย ดังนั้น การออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหายเป็นหลักประกันขั้นแรกสุดของประชาชน ที่อย่างน้อยสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายกับประชาชน

แอมเนสตี้ยืนยันว่า วันเฉลิมเป็นบุคคลหนึ่งที่ใช้สิทธิ เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย และยินดีที่ได้เห็น แฮชแท็ก และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าสังคมส่วนหนึ่งยังคงยืนอยู่ข้างวันเฉลิม


กระทรวงยุติธรรมยัน ประสานคืบหน้า ‘ก้าวไกล’
เตรียมคุย กมธ. ดัน พ.ร.บ.ปราบบังคับสูญหาย

ด้าน นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (กฎหมาย) ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ไปยังสถานทูตไทย ในกัมพูชา เพื่อติดตามกรณีดังกล่าว

ทางด้านความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย กำลังคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เธอยังไม่ได้รับปากว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อไหร่
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐไทยยังติดอยู่กับการใช้เลนส์แบบเก่าสมัยสงครามเย็นมองประชาชนว่าเป็นศัตรู ชัยธวัชมองว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายป้องกันการอุ้มหายจะเกิดขึ้นโดยง่ายในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมือง ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้น ได้ร่างกฎหมายฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านที่ประชุมมติพรรคแล้ว ในลำดับถัดไปจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปพูดคุยใน กมธ. อีกรอบ ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยเป็นอีกแรงที่ผลักดันเรื่องนี้

‘การเมือง’ เรื่อง ‘ความเป็นมนุษย์’

อีกเสวนาหมาดๆ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ในหัวข้อ ‘อุ้มหาย….แล้วไง?’ โดยกลุ่มคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

งานนี้ ผู้จัดจงใจซื้อน้ำดื่ม ‘อควาฟิน่า’ มาเสิร์ฟ เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ มารีญา พูลเลิศลาภ เป็นพรีเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ ยังฮือฮาอย่างยิ่งในจังหวะไม่กี่วินาทีของการยกมือไหว้ ‘ขอโทษ’ คนเสื้อแดงของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียน นักสร้างสารคดี หลังกล่าวถึงประเด็นวันเฉลิมว่า

เมื่อทราบข่าว รู้สึกใจหาย เพราะรู้จักเป็นการส่วนตัว ก่อนหน้านี้เมื่อทราบข่าวคนหาย บางทีรู้สึกโกรธ แต่เมื่อเป็นคนที่เรารู้จัก ก็ใจหาย แม้แต่คนที่ไม่รู้จักนายวันเฉลิมก็รู้สึกมีส่วนร่วม เพราะเป็นเรื่องหลักการ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความอยุติธรรม โดยเห็นมาหลายรอบแล้วว่าเดี๋ยวเรื่องก็หายไป ยอมรับว่าไม่ได้ตื่นตัวในทุกคดีของการถูกอุ้ม แต่ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้

“ผมเองก็เพิ่งเป็นประเด็นเมื่อไม่นานนี้ ถ้ามีพี่น้องเสื้อแดงอยู่ตรงนี้ก็ต้องขอโทษด้วยหากกระทำการละเมิดใดๆ ไปจากการกระทำในตอนนั้น อะไรที่เราทำในตอนไหนก็ตามแต่ มันไม่ได้หายไปจากประวัติศาสตร์ เดี๋ยวมันก็ถูกยกกลับมาในบริบทปัจจุบันได้เสมอ ส่วนเรื่องของคุณวันเฉลิม ก็เช่นกัน คงไม่จบในเดือนนี้ ปีนี้ เดี๋ยวก็จะถูกยกกลับมาเรื่อยๆ ตอนนี้กระแสสังคมค่อนข้างเปลี่ยนไปเยอะ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ มีคนหันมาสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น” วรรณสิงห์กล่าว พร้อมยก 2 มือกระพุ่มไหว้ได้ใจคนเสื้อแดง

วรรณสิงห์ยังบอกว่า ประเด็นของวันเฉลิม สำคัญมากตรงที่เป็นหนึ่งในซีรีส์ของความคับแค้นและความอยุติธรรม ประสบการณ์ของตนด้านความเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจไม่เท่าใครหลายคนในที่นี้ แต่สิ่งที่ตนสัมผัสมาเยอะคือสงครามนอกประเทศ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แอฟริกาและอีกหลายประเทศที่ถึงระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งมาจากความอยุติธรรมในสังคมที่ถูกหมักหมมในประวัติศาสตร์ เก็บไว้เป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะระเบิดออก ถ้าจะคลายระเบิดต้องเกิดกระบวนการที่อนุญาตให้มีการคลี่คลายบางคดีบ้าง มีกระบวนการให้บางเรื่องจบในสภา ไปสู่จุดจบที่สังคมพอใจจนไม่จำเป็นต้องจับอาวุธ แต่ตอนนี้เหมือนทางตันเหล่านั้นเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าสนใจว่าวันเฉลิมคือใคร ปลูกกัญชาหรือเปล่า อยู่ฝั่งนู้น ฝั่งนี้ มันก็จะกลายเป็นเรื่องการเมืองไปโดยปริยาย แต่ถ้าเราแค่สนใจว่าวันเฉลิมเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการปกป้อง มีสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน สมควรไม่ถูกอุ้ม ไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม”


‘โบขาว’ ทวงความยุติธรรม ‘จะส่งเสียงแทนวันเฉลิม’

ต่อด้วยปากคำจาก พชร ธรรมมล หรือ ฟลุค เดอะสตาร์ ที่มองว่า กรณีวันเฉลิม เราได้เห็นคนตื่นตัวต่างจากผู้ถูกอุ้ม 8 คนที่ผ่านมา ซึ่งตนก็ติดตามข่าว สังคมมีการพูดถึง แต่อยู่ในวงแคบ อาจเพราะวันเฉลิมยังนับว่าอายุน้อยถ้าเทียบกับคนอื่น เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้โจมตีใครในลักษณะหยาบคาย แต่นำเสนอข้อเท็จจริง

สำหรับประเด็นคนวงการบันเทิงแสดงความเห็นทางการเมือง นายพชรกล่าวว่า เมื่อครั้งตนแสดงความเห็นทางการเมืองจนเกิดกระแสข่าว ทำให้งานร้องเพลงและอีเวนต์ต่างๆ โดนยกเลิกทั้งหมด นอกจากนี้สื่อที่เลือกฝั่ง ยังนำเรื่องส่วนตัวออกเผยแพร่ เชื่อว่าเป็นการลดความสำคัญของประเด็นที่ตนต้องการนำเสนอ สุดท้ายต้องไปหางานอื่นทำ อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกคนควรพูดสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ เพราะสุดท้ายทุกความเชื่อมีทั้งข้อดีข้อเสีย ทั้งผิดและถูก แต่ถ้าได้แลกเปลี่ยนถกเถียง จะได้มาร่วมพิจารณาว่าแนวทางใดนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

“ศิลปินอยู่ได้ด้วยการสนับสนุน จากการซื้อ จากคน จากสังคม แต่สุดท้าย พอเรื่องที่จะพูดไปขัดใจรัฐหรือสปอนเซอร์กลับเลือกบอกว่าเป็นกลาง ซับซ้อน อ่อนไหว เหมือนจะเอาอย่างเดียว ไม่ให้อะไรกลับคืนสังคม ขอชื่นชมคนที่กล้าทำให้เห็นว่าใครมีจิตสำนึก มีความกล้าหาญต่างจากคนอื่น คิดว่าสังคมจะมีกระแสตอบกลับไปต่อคนที่เลือกเงียบหรือเลือกพูดเอง” ฟลุค เดอะสตาร์กล่าว

ปิดท้ายด้วย จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หลานเตียง ศิริขันธ์ เสรีไทย เจ้าของฉายาขุนพลภูพานที่เปิดใจว่า ส่วนตัวด้วยครอบครัวมีความรู้สึกร่วมโดยตรง เพราะเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นปู่ทวดโดนอุ้มฆ่าจากทางการ แต่ต้องยอมรับว่าครอบครัวแทบไม่พูดเรื่องนี้เลย เพราะไม่อยากให้ตนกลัว จึงพยายามเลี่ยงที่จะพูดถึง ตัวเองก็ไม่รู้เรื่องกระทั่งมาอ่านหนังสือถึงรู้ นอกจากนี้ ยังถูกห้ามยุ่งเรื่องการเมือง เพราะเป็นห่วง นามสกุลก็พ่วงอยู่ อาจเป็นเป้าได้ ที่ผ่านมาเคยพยายามสอบถาม แต่ไม่เคยได้รับข้อมูลจากใคร

“กรณีเซฟวันเฉลิม ไม่ใช่การเลือกข้างทางการเมือง แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงได้รับความสนใจจากสังคม และเหตุการณ์หลายอย่างในบ้านเมืองเราก็ส่งผลให้คนออกมาแสดงความเห็นและมีส่วนร่วม วันก่อนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ผูกโบขาวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดน พ.ร.บ.ความสะอาด และเกือบโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตกใจมากเพราะอัตราโทษสูง แต่ไม่ได้กลัวการนอนคุก แค่อยากสร้างบรรทัดฐานสังคมว่าการแสดงออกสามารถทำได้ และอย่างน้อยพวกเรายังส่งเสียงได้ ในขณะที่พี่วันเฉลิมทำไม่ได้จึงอยากส่งเสียงแทน”

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นท่ามกลางปรากฏการณ์ที่ต้องจับตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image