1 นาที ‘ความเป็นไทย’ สร้างสรรค์ ท้าทาย ในหลากนิยาม

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ ที่ไม่สามารถ “ใช้ชีวิต” และ “คิด” ได้ดังเดิม ส่งผลให้ภาคธุรกิจ พ่อค้าแม่ขายต่างดิ้นรนปรับตัวเพื่อไม่ให้กิจการล้มตาย หลายคนใช้ความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ หลายที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับ ในขณะที่หลายต่อหลายชีวิตยังติดอยู่กับปัญหา คิดอย่างไรก็ไม่สามารถหาหนทางไปต่อได้

“คนมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยรูปร่าง หน้าตา เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วิธีคิด หรือวิถีเติบโตในแต่ละด้าน เราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวทุกคน เพียงแต่การแสดงออกแตกต่างกันไป หากเอาพลังของแต่ละคนที่มี ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘ความหลากหลาย’ มารวมกันให้เป็นเรื่อง ก็น่าจะมีแรงที่ช่วยกระตุ้น ไม่เพียงกระตุ้นตัวเอง แต่กระตุ้นภาพรวมของความหลากหลาย ผ่านการเล่าอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของบ้านเราว่ามีอะไรบ้าง อย่างไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจได้”

คือคำกล่าวหนักแน่นของ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ในฐานะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) หรือ CEA องค์กรส่งเสริมการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ที่ต้องการทำให้เห็นว่า ชิ้นส่วนจิ๊กซอว์เล็กๆ อันแตกต่าง เมื่อนำมาต่อรวมกันจะเห็นเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยพลัง

เพราะอาหารไทยอยู่แนวหน้าของโลก การท่องเที่ยวโดดเด่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนต่อปี กวาดรายได้มหาศาลด้วยอัธยาศัยของผู้คนและสมบัติทางธรรมชาติ ไปจนถึงวิธีการแก้ปัญหาของแบบไทยๆ ที่ทั่วโลกต้อง “งงใจ” ไม่ว่าจะจ่าเฉย วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่แก้ปัญหารถติดในอดีต จนทุกวันนี้กลายเป็นขนส่งสาธารณะในเมืองกรุง กระทั่งช่วงโควิดก็จะเห็นท่าทางแปลกๆ ในการกดลิฟต์ เหล่านี้คือการแก้ปัญหาของคนไทยที่สะท้อนให้เห็นอยู่รายรอบตัว

Advertisement

วิกฤตครั้งนี้ CEA จึงขอทำหน้าที่เสมือน “แพลตฟอร์ม” หนุนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ พัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านโครงการ “One Second Thailand : วินาทีสร้างสรรค์” ชวนส่งวิดีโอความยาว 1 วินาที ที่เลือกครีเอตได้อย่างไม่จำกัดจำนวนชิ้น ใน 3 หมวด ไม่ว่าจะ

วิเดียวกินแบบไทย เล่าเรื่องการกินของคนไทย ที่สร้างสรรค์และพลิกแพลงภายใต้ข้อจำกัดให้เข้ากับวิถีชีวิต กระทั่งสามารถต่อยอดเป็นกิจการระดับครัวเรือน หรือธุรกิจขนาดใหญ่

วิเดียวเที่ยวไทย เล่าเรื่องการท่องเที่ยวไทย สุดครีเอต ไม่ว่าจะสถานที่ วิถี ประเพณีชุมชน ของที่ระลึก หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงการออกแบบธุรกิจท่องเที่ยวสไตล์คนไทย

Advertisement

วิเดียวไทยสไตล์ เล่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ คิดค้น ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบไทยๆ ได้อย่างน่าทึ่ง และมีเอกลักษณ์ก่อนจะนำมาร้อยเรียงเล่าเรื่องใหม่ในรูปแบบหนังสั้น “ONE MINUTE THAILAND : สู่นาทีสร้างสรรค์” ความยาว 1 นาที 3 เรื่อง ผ่านมือ 3 ผู้กำกับชื่อดังแห่งยุค ก็น่าจะเป็นเสียงที่ดังพอจะบอกสังคมไทยและชาวโลกให้รู้ว่า “ฉันมีของดี”

ไอเดียเล็กๆ นี้ อาจจุดกระแส ต่อยอด หรือขับเคลื่อนพลังใจ ให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อได้ในยุคหลังโควิดนี้

หลังแบ่งหัวข้อด้วยวิธีมาตรฐานโลกอย่างการ “จับสลาก” ผู้กำกับทั้ง 3 ในฐานะคนใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแก่นในการเดินหน้าอาชีพ ร่วมให้ความเห็นในประเด็นที่ว่า

1 วินาที จะทำอะไรได้ขนาดนั้นเชียวหรือ จะขายอะไรได้ ?

ในมุมของ กิตติภัค ทองอ่วม หรือ เติ้ล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ตุ๊ดซี่แอนด์เดอะเฟค” บอกว่า ในแง่คนทำหนัง วินาทีเดียวมีผลสำคัญอย่างมากหากขยับสักนิด ให้เร็วหรือช้าขึ้น เพราะหน่วยของเวลาที่เล็กที่สุดคือ วินาที ผู้กำกับจะรู้ดีว่า 1 วินาที ในแง่การเล่าเรื่องสำคัญทุกเฟรม ทุกช็อต

“วินาทีเดียวที่คนส่งเข้ามา แม้จะมีหมวดครอบอยู่ แต่หลากหลายมาก เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนจะส่งอะไรกันมา แต่ละคลิปก็มีความตั้งใจที่จะส่งสารเฉพาะตัว การเอามารวมกันให้ได้ 60 ต้องใช้ 1+1+1+ 1+… รวมกันให้เกิดประโยชน์ที่สุด ให้เล่าเรื่องได้มากที่สุด เรื่องเวลามีผลให้ท้าทายมาก หนึ่งนาทีเราคิดออกแบบนี้ แต่ถ้าเราตัดสินใจเลือกอีกทางตัวคลิปอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้”

สำหรับ เติ้ล ที่รับกำกับในหมวด วิเดียวเที่ยวไทย เจ้าตัวยอมรับว่าหนักใจ แต่เห็นช่องทาง ยกมุมโควิด ที่ทำให้เห็นว่าไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งปี

“แม้ว่ากายหยาบจะอยู่ในบ้าน แต่กายละเอียดเราออกไปนอกประตู เที่ยวแบบวิถีใหม่ด้วยการดีไซน์ โควิดทำให้เราเห็นว่า การเที่ยวแบบนิว นอร์มอลเป็นอย่างไร จริงๆ คนไทยเป็นคนครีเอทีฟมาก มีความบันเทิงได้อย่างรุนแรงในช่วงที่ทั่วโลกอยู่ในภาวะวิกฤต รู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย รอที่จะได้เห็นคลิปที่ทุกคนส่งมา 1 วิ ในหมวดต่างๆ ว่าสุดท้ายจะนำมาตัดแปะเรียงร้อยใหม่ได้ขนาดไหน แต่เชื่อว่าน่าจะมีอะไรตื่นตาตื่นใจ เพราะคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ” กิตติภัคกล่าวทิ้งท้าย

ก่อนที่ “ไก่” ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 2215 “เชื่อ กล้า บ้า ก้าว” จะเผยบ้างว่า

“ตอนที่ได้รับโจทย์ครั้งแรกและเล่าให้คนอื่นฟัง ทุกคนเข้าใจว่าผมพูดผิด 1 นาทีหรือเปล่า ? เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่วินาทีเดียวของผมคล้ายกับหนัง 1 หรือ 2 ชั่วโมงที่ต้องหาคอนเซ็ปต์และเขียนบทขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน เพียงแต่เฟรมภาพสั้นมาก 1 วินาทีเท่านั้น

“เรามักมองว่าความยาวเท่านั้นเท่านี้ แต่ความจริงการสร้างงานขึ้นมาสักงานไม่ว่าจะยาวแค่ไหน ล้วนใช้ต้นทุนที่เราสะสมมาตลอดทั้งชีวิต สิ่งที่เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก วัฒนธรรมที่มีมา ความผิดพลาดในชีวิต ความดีใจ เสียใจ อะไรก็ตาม ที่ก่อรูปร่างมาเป็นความสนใจของเรา

“ผมว่ามันเป็นงานที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานสร้างสรรค์ก็ตาม แค่มีเครื่องมือถ่ายภาพเคลื่อนไหว ใช้สมาร์ทโฟนที่ตัวเองมี และการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วถ่ายทอดออกมาใน 1 วิ”

สำหรับ ไก่ ณฐพล ถือโจทย์ วิเดียวไทยสไตล์

“หมวดที่ท้าทายสุดดันมาตกที่ผม (หัวเราะ) เดาไม่ออกเลยว่าจะมาแนวทางไหนบ้าง ‘ไทยสไตล์’ มันคือการเอาตัวรอดแบบไทยๆ ในแง่เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นไม้ตบยุง จ่าเฉย หลากหลายจนกลายเป็นความท้าทายสำหรับผมที่จะต้องร้อยเรียงสิ่งนี้ออกมาเป็น 1 ก้อน

“ผมนั่งคิดว่าถ้าส่งประกวดจะถ่ายอะไรบ้าง 1 วินาที ถ้ามองว่าสั้นก็สั้น แต่ถ้ามองว่าคือ ‘การประกวดภาพถ่าย’ ก็ไม่ต่างกัน เปิดวิธีการคิดแบบใหม่ว่าถ้าเป็นภาพนิ่งเราจะถ่ายอะไร แค่ถ่ายเป็นวิดีโอ หรืออาจใช้ ‘ไทม์แลปส์’ ตั้งกล้องถ่ายพระอาทิตย์ตก ไม่ว่าจะ ‘บูมเมอแรง’ เอาเทคนิคเหล่านี้ไปถ่ายสิ่งต่างๆ ได้ ต้นไม้ ฝนตก ถั่วงอกตาย มากมายมหาศาล อย่าไปมองว่า 1 วินาทีคือขอบจำกัด เราสามารถถ่ายสิ่งที่ยาวกว่านั้นมาหด หรือทำอย่างอื่นได้อีกมาก เป็นโจทย์ที่เปิดกว้างที่สุดเท่าที่เกิดมาแล้วเคยเจอในการประกวด เพราะไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการ” ณฐพลเผย

ด้าน ณัฐวุฒิ พูนพิริยะ หรือ บาส ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง “ฉลาด เกมส์ โกง” บอกว่า ตั้งแต่รับโจทย์มา คำถามเกิดขึ้นหลายอย่างมาก

“ปกติผมไม่เคยรับงานลักษณะนี้ แบบเอาคลิปที่ถ่ายโดยคนอื่นมาตัดต่อ ส่วนมากจะถ่ายเอง คิดเอง วางช็อตเอง ตัดต่อเอง จะอยู่มือมากว่า แต่ในเวลาเดียวกัน ความคาดเดาไม่ได้เป็นความท้าทายที่น่าสนใจ จากประสบการณ์ส่วนตัว บางครั้งความคิดสร้างสรรค์มาจากการมีข้อจำกัด อย่าง 1 วินาทีที่ได้คือช่วงเวลาในการเล่าที่สั้นมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำให้ดีไม่ได้ ความน้อย ความเล็ก ทำให้เราเห็นความสำคัญของมันมากขึ้น มองอย่างตั้งใจมากขึ้น รอบด้านมากขึ้น ทำ 1 วิ ให้คุ้มค่าและดีที่สุด”

ในฐานะที่รับโจทย์ วิเดียวกินแบบไทย บาสบอกว่า ช่วงโควิดจะเห็นคนไทยครีเอทเรื่องการกินมากขึ้น เรากล้าที่จะลอง กล้าที่จะชิม หลายคนฝึกทำอาหาร ผสมกับสูตรเดิมที่มี เกิดเป็นรสชาติที่หลากหลาย เชื่อว่าจะได้เห็นอะไรที่น่าสนใจอย่างแน่นอน


“สำหรับผม เราไม่ใช่ผู้กำกับ แต่เป็นเหมือนคนตัดต่อ หวังเราจะสามารถนำ 1 วิ ของทุกคนมาคิดและต่อยอดให้กลายเป็นคลิปที่น่าสนใจได้ หวังว่าความตั้งใจนี้ สุดท้ายจะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่มีคุณภาพและสามารถกระตุ้นได้หลายด้าน ทั้งความคิด เชิงการขาย หรืออาจจะมีมิติชักจูงให้คนมากินอาหารร้านนี้ โลเกชั่นนี้ที่เราไปถ่าย แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำหนัง ขายผัดไทย ตัดเสื้อผ้า หรือทำอะไร เราต้องรักในสิ่งที่ทำ”
ณัฐวุฒิระบุ

ก่อนที่ ผอ. CEA จะกล่าวส่งท้าย

“อาจไม่ถึงขั้นเป็นกอบเป็นกำ แต่มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ต้องถึงขั้นสร้างแรงบันดาลใจ แต่ว่า ขอให้ภาคภูมิใจในสิ่งที่เรามี ส่วนจะสร้างผลโดยตรงกับเศรษฐกิจหรือไม่ อาจไม่ใช่ทางตรงว่าทำแล้ววงการภาพยนตร์จะดีขึ้น มีคนมาถ่ายหนัง ลงทุนมากขึ้น คนมาประกอบกิจการร้านอาหารมากขึ้น แต่จะทำให้คนได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง เชื่อว่ามุมมองจากประชาชนจะมีอีกหลายแง่ให้ค้นหา ไม่ว่าจะอาชีพใหม่ๆ ที่จะช่วยให้คนหลายคนที่รู้สึกท้อแท้ มีอะไรทำ เป็นแรงให้คนหลายคนลุกขึ้นมาทำอะไรเหมือนกัน”



ผู้สนใจสามารถส่งผลงานประกวดพร้อมคำอธิบายสั้นๆ ด้วยการอัพโหลดคลิปวิดีโอ 1 วินาทีสร้างสรรค์ ได้ 4 ช่องทาง ดังนี้

1.เว็บไซต์ www.onesecondthailand.com

2.LINE official “OneSecondThailand”

3.เฟซบุ๊กเพจ Thailand Creative & Design Center (TCDC)

4.อินสตราแกรมส่วนตัว โดยตั้งค่าสาธารณะ พร้อมติด #OneSecondThailand ตามด้วยหมวด #วิเดียวกินแบบไทย, #วิเดียวเที่ยวไทย, #วิเดียวไทยสไตล์

ส่งผลงานได้ถึง 4 กรกฎาคม 2563 ประกาศรายชื่อ ผลงานและคลิปวิดีโอที่ได้รับเลือก 11 สิงหาคมนี้

คลิปวิดีโอที่โดนใจคณะกรรมการมากที่สุด จำนวน 60 คลิปต่อหมวด จะได้รับเงินสดรางวัลละ 3,000 บาท รวม 540,000 บาท โดย CEA จะนำสื่อไปต่อยอดร่วมกับโครงการอื่นในอนาคตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image