พรุ่งนี้ของโลก วันนี้ของ ‘นัก (เรียน) กฎหมาย’ 48 ปี นิติศาสตร์ จุฬาฯ ก้าวต่อไปในยุคนิว นอร์มอล

โดย สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

“นิว นอร์มอลในโลกสงครามการค้า ในโลกโลกาภิวัตน์ ในโลกที่พหุภาคีลดลง ความมั่นคงทางอาหาร ทางการแพทย์สำคัญมากขึ้น อนุภูมิภาคหลากหลายและจำนวนมากขึ้น เราจะผสานโลกก่อนและหลังโควิดอย่างไร”

คือคำกล่าวของ ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านหน้าจอในปาฐกถาประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ “โลกใหม่หลังโควิด” เนื่องในวาระ 48 ปีแห่งการสถาปนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 มิถุนายน ซึ่งในปีนี้ปรับเปลี่ยนจากปาฐกถาในห้องบรรยายมาอยู่ในโลกออนไลน์ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสร้ายนาม “โควิด-19”

โลกหลังโควิด
(อ)ปกติใหม่ ท้าทาย ‘พหุภาคี’

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เริ่มต้นด้วยการให้ภาพกว้างของโลกยุคก่อนโควิดซึ่งแนวโน้มใหญ่มีหลายอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือสังคมผู้สูงอายุที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจ กล่าวคือ ธุรกิจด้านสุขภาพ ประกันชีวิต บริการทางการแพทย์มีความสำคัญและเติบโตมากขึ้น ส่วนการศึกษา จำนวนนักเรียน นักศึกษาลดลง โรงเรียนหลายแห่งปิดตัว ทิศทางที่จะเกิดขึ้นคือการควบรวมสถานศึกษาซึ่งจะได้เห็นในภาคเอกชนก่อนภาครัฐ แนวโน้มใหญ่ตั้งแต่ก่อนโควิดและดำเนินมาถึงตอนนี้

“2 เดือนที่แล้ว หลายประเทศปิดประเทศ ราคาน้ำมันตกลงมาก สหรัฐต้องขายต่ำกว่าทุนทั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี CPTPP เป็นประเด็นร้อน มีการชวนไทยไปเป็นสมาชิกให้ร่วมเจรจา ซึ่งมีคนค้านมากมายจากประเด็นเรื่องสินค้าเกษตรและสิทธิบัตรยา ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้การค้าไทยจะเติบโตขึ้น ในช่วงก่อนเกิดโควิด เอเชียผงาด มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ มีระบบการลงทุนใหม่ๆ แต่โควิดได้ผลักความร่วมมือระหว่างประเทศออกไป ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เครื่องช่วยหายใจ เพราะต้องการดูแลประเทศตัวเองก่อน อย่างไรก็ตาม โรคระบาดไม่รู้จักพรมแดน แต่กลับแก้ปัญหาในพรมแดนเท่านั้น ซึ่งน่ากังวลในเรื่องวัคซีนว่าความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีอยู่ไหม วัคซีนจะเป็นสินค้าสาธารณะหรือไม่ หรือจะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิขายตามราคาที่ตนกำหนด”

Advertisement

ปิดท้ายด้วยคำถามน่าสนใจ ก่อนไปต่อที่ประเด็นสำคัญอย่างระบบ “พหุภาคี” ซึ่ง ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์มองว่า ในยุคหลังโควิดจะถูก “ท้าทาย” มากขึ้น โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าพาณิชย์ออนไลน์เติบโตขึ้น 300-400 เปอร์เซ็นต์ ในขณะธุรกิจหลายภาคส่วนปิดตัว

โควิดทำให้ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีซึ่งมีมาก่อนแล้วมาถึงเร็วขึ้น อนาคตมาเร็วขึ้น ความไม่แน่นอนมากขึ้น การต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต้านพหุภาคีนิยม สงครามเย็นยุคใหม่ที่มาจากสงครามเทคโนโลยี การที่สังคมอเมริกันและยุโรปเริ่มโทษจีน มีความคิดในแง่ลบกับจีน ลามไปถึงการต่อต้านเอเชียเกิดขึ้น ตลาดทุนมีความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางโลกาภิวัตน์ที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว สินค้าบางอย่างยังมีความเป็นเสรีที่จะผลิตจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ตลาดหุ้นกับเศรษฐกิจจริงเริ่มไม่เดินไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ในขณะที่เศรษฐกิจยังแย่ แต่อยู่ดีๆ กิจการบางอย่างอยู่ๆ หุ้นก็ขึ้น

“หลังโควิดจะเกิดการพึ่งพาตนเองมากขึ้น การเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหารจะเสริมด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพ เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบใหม่ การออกกำลังกายเป็นที่นิยม โลกยุคใหม่ ประเทศต่างๆ จะพึ่งพาตนเอง ยืนบนขาตัวเอง จะเกิดเศรษฐกิจของความน่าเชื่อถือซึ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรณีที่มีเครื่องมือแพทย์ผลิตออกมาจำนวนมาก ทั้งที่คุณภาพดีและไม่ดี ระบบการตรวจสอบที่ปลอมแปลงไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ โรงงานที่ยังพอมีทุน จะมีการใช้หุ่นยนต์มาช่วยผลิต เนื่องจากถ้าเกิดโรคระบาดอีกก็ไม่ต้องปิดโรงงาน เพราะให้หุ่นยนต์ทำได้ ภาคธุรกิจเกิดการควบรวมกิจการ ฟื้นฟูกิจการ เศรษฐกิจโลกฝืดเคือง”

Advertisement

ไม่ลืมประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับวงการกฎหมาย

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์แนะว่า ในส่วนของการทำงานด้านกฎหมาย นักกฎหมายต้องปรับตัว เมื่อเกิดโควิด มีการ Work from Home ซึ่งทำให้เห็นว่าสำนักงานกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ลูกความพร้อมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เข้าถึงทนายอาวุโสได้โดยตรง นี่จะเป็นมิติใหม่ที่ตัดขั้นตอนการทำงานต่างๆ ไปมาก

“เรื่องการศึกษาฝากคณบดีปฏิรูป ต้องเน้นหลักสูตรข้ามสาขา ต้องยืดหยุ่น และข้ามคณะได้ด้วย ต้องบริหารแบบสรรพศาสตร์ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่อยากได้ อาจารย์ก็ต้องพันธุ์ใหม่ด้วย ทัศนคติต้องเปลี่ยน นักกฎหมายต้องเปลี่ยนผ่าน มีความรู้ในดิจิทัล ศึกษาเรียนรู้ทุกอย่างตลอดชีวิต ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา บอกว่า คนอยู่รอดไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด เราเห็นชัดถึงสัจธรรมที่ว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน นี่คือสิ่งที่นักกฎหมายต้องน้อมนำและพร้อมปรับตัว”

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ปิดท้าย ก่อนฝากไว้ให้คิดว่า แท้จริงแล้วขณะนี้เรายังไปไม่ถึง “นิว นอร์มอล” อย่างที่พูดกัน แต่ยังเป็นช่วง “อปกติ” มากกว่า โดยเชื่อว่าความปกติใหม่จะมาถึงได้ก็ต่อเมื่อมี “วัคซีน” แล้วนั่นเอง

ล้มละลาย ฟื้นกิจการ ข้อพิพาท
หลังโควิด ‘เหตุสุดวิสัย’ ที่ต้องตีความ

จากนั้นเข้าสู่ช่วงเสวนาออนไลน์จากหลากหลายวิทยากรทรงคุณวุฒิในหัวข้อ “ภาคธุรกิจและนักกฎหมายจะรับมืออย่างไร”

ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

เริ่มที่ ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่เล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ในวันนี้ Law firm หรือบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย เปลี่ยนไปจริงๆ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ได้เห็นภาพการประกอบธุรกิจกฎหมายเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หลายสำนักงานใช้ออฟฟิศน้อยลง แต่ระยะกลางมองว่าต้องปรับตัวเรื่องการประชุม ซึ่งอาจเป็นการประชุมออนไลน์มากขึ้น ส่วนประเด็นคดีความจากผลกระทบของวิกฤตโควิดคือข้อพิพาททางธุรกิจซึ่งความรู้เดิมอาจใช้ไม่ได้เสมอไป

“สิ่งที่กำลังจะมาคือการล้มละลายของคนประกอบธุรกิจ ข้อพิพาทหลังจากนี้จะมาเยอะ นักกฎหมายใช้ความรู้เดิมๆ ได้ไหม อาจจะไม่ได้ การสู้คดีประเด็นสุดวิสัยและการปรับโครงสร้างธุรกิจ การฟื้นฟูกิจการ ต้องดูว่ากฎหมายปัจจุบันพอไหม ทันสมัยหรือไม่ กฎหมายไทยรองรับหรือไม่

“ศาลอาจมีกระบวนการชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นวางไกด์ไลน์ประเด็นจำเลยว่าผิดสัญญาหรือไม่ เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ถ้าดูกฎหมายตามตัวอักษร วันนี้จะมีประเด็นอีกมากมาย การก่อสร้างล่าช้าแล้วปรับได้ไหม ในเวลานี้การช่วยผู้รับเหมาทำอย่างไร วิกฤตโควิดทำให้เราคิดในหลายเรื่อง” ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์กล่าว

ก่อนย้ำว่า นักกฎหมายต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปหลักสูตรต้องทำโดยเร่งด่วน ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถดึงผู้ชำนาญการหลายแขนงมาได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ต้องไม่ใช่การสอนในห้องอย่างเดียว แต่การเทรนนิ่งคือสิ่งสำคัญ

ผันผวน คลุมเครือ ไม่ชัดเจน
คือความท้าทายของนักกฎหมาย

จากนั้น ถึงคิว รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งเปิดเผยว่า โควิดมาทำให้เกิดความไม่แน่นอน ตลาดทุนไทยก่อนโควิดมีขนาดใหญ่กว่าจีดีพีประเทศ ตั้งแต่โควิดมา ได้เห็นดัชนีลดลง 13.36 เปอร์เซ็นต์ เกิดความผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะไทย หากแต่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนช่วงโควิดต้องทำ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

รื่นวดี สุวรรณมงคล

1.รักษาความต่อเนื่อง

2.ลดความเสี่ยงต่อระบบ

3.สร้างความยืดหยุ่น

4.รักษาความเชื่อมั่น

“โควิดเร่งให้ดิจิทัลเกิดเร็ว ก.ล.ต.ต้องปรับแผนหน้ามือเป็นหลังมือ เราเน้นการใช้ดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินการลงทุนได้ง่าย เรื่องความผันผวนคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนเป็นความท้าทายของผู้บริหารและนักกฎหมาย เราได้บทเรียน เป็นโอกาสให้ทบทวนว่าต้องทำอะไร ต้องสร้างฐานข้อมูลตลาดทุนให้เฉียบคม ต้องให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุน วันนี้พันธบัตรสีเขียวเพื่อความยั่งยืนคือสิ่งที่เดินหน้าอย่างเต็มที่”

รื่นฤดีเล่า พร้อมปิดท้ายว่า ก.ล.ต.ยังเน้นเรื่องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมฟังและถ่ายทอดโดยมีการจัดสัมมนาต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และยังวางแผนจัดสตูดิโอเล็กๆ ในสำนักงานเพื่อถ่ายทอดความรู้อีกด้วย

เชียร์ ‘สิงคโปร์โมเดล’ กฎหมายกลางยุคโควิด
‘เรามาพูดเรื่องสัญญาทีละบรรทัดไม่ได้’

เพียงพนอ บุญกล่

มาถึง เพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ด้วยความเป็นบริษัทพลังงานได้เจอวิกฤตมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน โดยถึงขั้น “ติดลบ” ไหนจะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน อีกทั้งภัยแล้งและเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องเผชิญ ดังนั้น ปตท.ปรับตัวมานานแล้ว เมื่อเกิดโควิดก็ปรับระดับยกขึ้นอีก โดยมีศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่ตั้งขึ้นมาดูแลปัญหาต่างๆ

“เรื่องพลังงานต้องไม่ขาดแคลน จะปล่อยให้ประเทศเสี่ยงไม่ได้” เพียงพนอย้ำ

ส่วนประเด็นด้านกฎหมายในสถานการณ์โควิด เจ้าตัวยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการออกกฎหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด

“ตอนนี้เรามาพูดเรื่องสัญญาทีละบรรทัดไม่ได้ แต่พูดเรื่องที่เป็นธรรม มีการกำหนดประเภทสัญญาว่าหยุดพักการชำระหนี้ ห้ามปรับ ห้ามเลิก เช่น สัญญาเช่า สัญญาก่อสร้าง ในขณะที่เราต้องตีความเรื่องเหตุสุดวิสัยว่าเข้าข่ายหรือไม่ อยากเชียร์ให้รัฐบาลมีการออกกฎหมายกลางแบบสิงคโปร์ เพราะกฎหมายปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย”

เพียงพนอยังตั้งคำถามที่มีคำตอบในตัวเองว่า เราเดาได้หรือไม่ว่าอนาคตของโลกจะเป็นอย่างไร เมื่อทำนายไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือจินตนาการในสิ่งที่ไม่เคยมี ต้องคิดให้ครบ ทุกวิกฤตมีโอกาส นี่คือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้อย่างมหัศจรรย์ของนักกฎหมาย

“ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง เวลาเจอเรื่องที่ไม่อยู่ในตำรา เราจะเรียนรู้มาก ไม่เคยนึกมาก่อนว่าต้องกลับมาใช้ประมวลแพ่งไปจนถึงพินัยกรรมมรดก นักกฎหมายต้องปรับตัว รู้เฉพาะกฎหมายไม่พอ”

 

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์

นิติศาสตร์ จุฬาฯ ‘สร้างนักกฎหมาย สร้างคน’
กับโจทย์ใหญ่ใน ‘เจน’ ใหม่

ปิดท้ายที่ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งบอกเล่าถึงบทบาทในการสร้างคน สร้างนักกฎหมายในยุคนิว นอร์มอล ที่มีความรู้ใหม่ มีทักษะใหม่ มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ตามทันเทคโนโลยีซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดว่าหากไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่รอด แต่ปรากฏว่าสิ่งที่มาดิสรัปต์แบบปัจจุบันทันด่วนคือ “โควิด”

“วันนี้มหาวิทยาลัยสอนออนไลน์ ทำงานออนไลน์ ส่วนระบบศาล อี-คอร์ต (e-Court) จำเป็นต้องเกิดแล้ว บริษัทเทคโนโลยีเองก็ยังต้องปรับตัว เราคือตัวเชื่อมตัวระหว่างผู้เรียนกับผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งสมัยก่อนเรานึกถึงภาคราชการ อัยการ ศาล ตำรวจ ทนาย บริษัท สะท้อนแนวคิดแบบเก่าว่าต้องมีนายจ้าง แต่ปัจจุบันธรรมชาติของเจเนอเรชั่นนี้ โดยเฉพาะหลังเกิดโควิด คนมีความอิสระ เป็นตัวเองเยอะ ต่อไปอาจต้องอิสระเพื่อความอยู่รอด คนที่มาเรียนเป็นเจนฟรี เป็นคนอีกแบบที่ไม่เหมือนพวกเรา ไม่เหมือนเจนเอ็กซ์ เจนวาย หรือเบบี้บูม แต่กลายเป็นดิจิทัลโดยกำเนิด เกิดมาในระบบดิจิทัล เป็นตัวของตัวเอง สนใจเรื่องตัวเองเยอะมาก

“เราต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เรียนรู้ได้ดี ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของสถาบันการศึกษา” คณบดีนิติศาสตร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image