‘อีกนิดหนึ่ง’ ปรัชญาฝ่าวิกฤต ของ ‘กัมพล ตันสัจจา’ สู่ก้าวใหม่ของสวนนงนุชพัทยาที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’

กัมพล ตันสัจจา

การที่คนธรรมดาหนึ่งจะสามารถเนรมิตที่ดินผืนใหญ่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เรียกได้ว่าเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดนักท่องเที่ยว รองจากทะเลในจังหวัดชลบุรีนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องเป็นองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินมหาศาล หรือรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้

แต่ไม่ใช่กับชายที่ชื่อ “กัมพล ตันสัจจา” ประธานสวนนงนุชพัทยา ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ ที่รวบรวมพันธุ์ไม้เขตร้อนกว่า 18,000 ชนิด เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก สถานที่ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก จากความสวยงามของพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย แปลก และหายาก สวนนงนุชจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมเป็นอันดับต้นๆ สูสีกับแหล่งท่องเที่ยวอย่างหาดจอมเทียน หรือเกาะล้าน ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดชลบุรี บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าสวนนงนุชมีบรรยากาศและมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยม จนถูกขนานนามจากนักท่องเที่ยวว่า “สวรรค์บนดิน” การันตีความสวยงามด้วยรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากงานประกวดจัดสวนระดับโลก “เซลซี ฟลาวเวอร์ โชว์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2553-2558 ติดต่อกันถึง 6 ปีซ้อน รวมถึงอีกหลายงานที่ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนประเทศไทยไปจัดสวนโชว์อีกหลายประเทศ

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเห็นถึงความรุ่งโรจน์ของสวนนงนุชจนได้เป็นตัวแทนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างนับไม่ถ้วนแล้ว แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับโรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า “ไวรัสโควิด-19” ที่คร่าชีวิตคนไปกว่าครึ่งล้านคนทั่วโลก ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของทั้งโลกเพียงเท่านั้น แต่พิษร้ายยิ่งกว่านั้นคือส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวรวมถึงภาคอื่นๆ ทุกประเทศในโลกเป็นวงกว้าง

สวนนงนุชซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาอันดับต้นๆ ของประเทศไทยต้องพบกับสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “จุดต่ำสุด” ตั้งแต่เปิดทำการเลยก็ว่าได้ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดชลบุรีลดจำนวนลงมากกว่าในช่วงก่อนที่จะมีไวรัสโควิด-19 ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จนท้ายที่สุด สวนนงนุชต้องปิดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาล ตอบสนองมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Advertisement

แต่ทว่าการปล่อยให้พนักงานเกือบ 3,000 ชีวิตต้องหยุดงานเนื่องจากต้องปิดสวนนงนุชนั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาของ นายกัมพล เจ้าของอาณาจักรพันธุ์ไม้ที่สวยและใหญ่ที่สุดในอาเซียนแน่นอน ต้องหาวิธีการที่จะนำรายได้เข้าสู่สวนนงนุชจากช่องทางอื่นเพิ่มเติม เพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานต่อไป รวมถึงยังเป็นการ
สร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและภาคการท่องเที่ยวของไทยอีกทางหนึ่งด้วย

“ตั้งแต่มีโควิด-19 สวนนงนุชโดนผลกระทบเต็มๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสวนนงนุชเป็นชาวต่างชาติ มีคนไทยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากที่แต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 5,000 คน แต่หลังจากที่เราเปิดสวนนงนุชอีกครั้งเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม มีนักท่องเที่ยวเหลือเพียงวันละ 600-700 คนเท่านั้น อยากให้มีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบ้าง เพราะ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เราเหลือจากนักท่องเที่ยวคนไทยมันไม่เพียงพออยู่แล้ว”

Advertisement

เสียงสะท้อนจากหัวใจของชายวัย 73 ปี บอกกับทีมข่าวมติชน หลังจากได้พบปะพูดคุยถึงช่วงที่เรียกได้ว่าเป็น “ฝันร้าย” ที่สุดตั้งแต่เคยเจอวิกฤตมา

“ช่วงนั้นเราจัดการล็อกดาวน์สวนของเราทันที ไม่ให้พนักงานออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น ให้ใช้ชีวิตกินนอนกันในนี้ โดยให้เชฟจากร้านอาหารของเรามาทำอาหารเพื่อขายให้แก่พนักงานคนอื่นในราคาที่จับต้องได้ ทำราคาให้ถูกกว่าตลาดข้างนอกที่เค้าเคยซื้อ นอกจากนี้เรายังจำเป็นที่จะต้องปรับลดเงินเดือนของพนักงานลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่พวกเขาก็ยินดีที่จะทำงานให้กับเราเหมือนเดิม”

พอถามต่อว่าสวนนงนุชมีการเตรียมพร้อมอย่างไรถ้าหากสามารถกลับมาเปิดทำการได้ปกติ นายกัมพล กล่าวว่า “ช่วงที่ปิดไปก็พยายามที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสวนนงนุชให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ว่าเปิดมาแล้วนักท่องเที่ยวจะต้องแปลกใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสวนนงนุช

 


อย่างแรกเลยคือการเปิดโรงเลี้ยงสำหรับการเพาะชำต้นอ่อนหรือเนิร์สเซอรี่ เพื่อให้รถชมวิวได้พาลูกค้าผ่านเพื่อชมความงามของสวนแคคตัส การปั้นกระถางรูปร่างต่างๆ เนิร์สเซอรี่ของโกสน และหมากผู้หมากเมีย ซึ่งที่กล่าวมาเราเปิดให้เข้าชมแล้ว ส่วนเนิร์สเซอรี่ของสับปะรดสีจะเปิดให้เข้าชมภายในอาทิตย์หน้า ซึ่งมีพื้นที่ตรงนั้นค่อนข้างใหญ่เกือบ 5 ไร่ หลังจากนี้ก็จะเปิดให้ชมเนิร์สเซอรี่ของชวนชม ปาล์ม และบอนไซต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอีกหลายจุดเพื่อต้อนรับและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างประติมากรรมภาพวาดด้วยหิน ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก, โขลงช้างปั้น 53 เชือก บนเนินพญาคชสาร ที่ทุกสายตาต้องหยุดมอง, 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มหามงคล เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้ขอพร, สวนไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยครบทั้งหมด 12 สายพันธุ์ และจัดโชว์ต้นไม้ใหม่ทั้งสวน ตกแต่งสวนลอยฟ้าให้สวยงามยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมหลังจากที่เราเปิดสวนนงนุชหลังจากที่ปิดไป 2 เดือนกว่าต้องแปลกตา และได้รับประสบการณ์ใหม่จากสวนนงนุชอย่างแน่นอน

อีกอย่างคือทุกเช้าผมจะเรียกหัวหน้างานมาทุกคนเพื่อมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ในภาคของการปฏิบัติ คือการรายงานความคืบหน้า พูดคุยและปรับการวางแผน การเตรียมงานด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมมีโอกาสลงไปดูตรงนี้ด้วยตัวเอง จากปกติที่เราต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ทำให้งานมันดำเนินไปได้แหละ แต่มันไปได้ไม่ดีพอ ตอนนี้พนักงานของเราทำได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งตรงนี้มันทำให้เราได้เปรียบในการที่จะทำให้หัวหน้างานทุกคนเข้าใจแผนงานที่วางไว้ได้อย่างลึกซึ้ง”

 

นี่คือคำตอบของ นายกัมพล ขณะยืนอยู่บนสวนลอยฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่สวยสุดในประเทศไทย รายล้อมไปด้วยเฟิร์น หนวดฤๅษี พลูด่าง และปาล์ม ที่ถูกจัดวางไว้ทั่วสวนลอยฟ้า

จะเรียกได้ไหมว่าวิกฤตในครั้งนี้เป็นโอกาสในการที่พัฒนาสวนนงนุชอีกทางหนึ่ง?

เจ้าของสวนนงนุชคิดอยู่ชั่วครู่ พลางมองไปรอบสวนลอยฟ้าแห่งนี้ พร้อมหยิบยกประสบการณ์ส่วนตัวมาให้แง่คิด

“ผมก็อยากให้วิกฤตมันเป็นโอกาส โอกาสที่เราจะพัฒนาตัวเราให้เดินไปข้างหน้า ณ ตอนนี้มันมีเหลือเฟือ แต่โอกาสที่ตอนนี้แทบจะไม่มีเลยคือเรื่องของโอกาสในการหาเงินกลับเข้ามาที่สวนนงนุชนั้นยากมาก ถ้าเกิดว่าผมเอาเงินเป็นที่ตั้ง ผมก็สั่งให้พนักงานหยุดงานไปนานแล้ว แต่ถ้าวันนึงต้องเปิดสวนมันอาจจะโทรมไปมากกว่าเก่าก็ได้

ผมคิดไตร่ตรองแล้วว่าเราต้องเดินไปข้างหน้า ผมใช้ทฤษฎีว่า “อีกนิดหนึ่ง” อย่างตอนนี้ที่ผมมองอยู่ผมคิดตลอดว่าควรเพิ่มต้นไม้ตรงจุดนั้นไหม เพื่อให้มันเพอร์เฟกต์ขึ้น หรือตรงนี้มันดูรกไปควรเอาออกหน่อยไหม (ยื่นมือไปจับที่ต้นเฟิร์นที่ประดับอยู่ใกล้ตัว) นี่คือคำว่า “อีกนิดหนึ่ง” ของผม

คนส่วนใหญ่คิดแค่ว่าทำเสร็จสิ้นแล้วคือจบเลย ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างถ้าผมเดินไปมุมโน้นแล้วรู้สึกว่าถ่ายรูปออกมาแล้วไม่สวยเลย องค์ประกอบภาพไม่ดีพอ ผมจะเพิ่มต้นไม้หรือไม่ก็จัดต้นไม้ตรงมุมนั้นใหม่ทันที”

พูดถึงปรัชญาหรือวิธีการในการจัดการเมื่อต้องเจอกับวิกฤต นายกัมพล ใช้เวลานึกไม่นานก่อนตอบว่า

“ทุกคนมีวิธีการจัดการกับปัญหาไม่เหมือนกันแน่นอน แต่คีย์เวิร์ดที่ผมอยากบอกคือ ‘ต้องเปลี่ยนแปลง’ แต่จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง”

อีกประเด็นที่ไม่ถามไม่ได้เลยคือปรัชญาในการทำงานออกแบบสวนที่ทำมาในชีวิตทั้งหมด จนทำให้สวนนงนุชติด 1 ใน 10 สวนที่สวยที่สุดในโลก หลังจากได้ยินประโยคนี้ ชายวัย 73 ปี ยิ้มเล็กน้อย


“การจัดสวนของผมอิงจากอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย ที่สื่อให้รู้ว่านี่คือประเทศไทยเพื่อเสริมกับสิ่งที่เราต้องการสื่อ เช่น วัดอรุณฯ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา อย่าง 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์มหามงคล ที่เราได้อัญเชิญมาจากทั่วทุกภูมิภาคของไทยมาประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าสวนลอยฟ้าแห่งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เลื่อมใสได้กราบไหว้ขอพร

สิ่งที่ผมต้องการก็คือต่างชาติเดินมาแล้วเห็นว่า โอ้ว! ไทยแลนด์ อย่างที่ผมได้ไปแข่งจัดสวนที่งาน ‘เซลซี   ฟลาวเวอร์ โชว์’ เมื่อปี พ.ศ.2558 เป็นการจัดสวนดอกไม้ในคอนเซ็ปต์ที่ผมเตรียมไปคือ ‘คนไทยกับพระพุทธศาสนา’ ที่ผสมผสานอัตลักษณ์ของประเทศไทยกับดอกไม้นานาชนิดที่เข้ากันอย่างลงตัว และทำให้ผมได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองในที่สุด แต่ถ้าจัดสวนแบบปกติทั่วไปเขาคงพูดแค่ว่า อ๋อ! ต้นไม้สวยดี แค่นั้น”

เพราะการจัดสวนของผมไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแข่งกับสิ่งที่คุณสร้าง มันต้องไปเสริมกับสิ่งที่คุณสร้าง นั่นคือหน้าที่ของผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image