จากยํ่ารุ่งถึงยํ่าคํ่า หลากฤดูกาล ‘ประชาธิปไตย’ 88 ปีที่ต้อง ‘ไปต่อ’

คึกคักหนักมากตั้งแต่ “ย่ำรุ่ง” ถึงย่ำค่ำ สำหรับวาระครบรอบ 88 ปีประชาธิปไตยไทย นับแต่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปตลอดกาล

24 มิถุนายน 2563 กิจกกรรมแน่นตั้งแต่เช้ามืดจนถึงช่วงค่ำในสถานที่หลากหลาย จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงสกายวอล์ก แยกปทุมวัน จากกรุงเทพฯ ถึงภูมิภาค จากนักศึกษา ถึงประชาชนพลเมืองไทยที่หันมาให้ความสำคัญกับวันดังกล่าวจนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตา

นอกเหนือจากอีเวนต์เชิงสัญลักษณ์ ยังมีงานเสวนาหลายวงที่จับเข่าพูดคุยแบบเว้นระยะห่างทางกายภาพ อัดแน่นด้วยสาระทั้งย้อนมองอดีต พินิจปัจจุบัน อีกทั้งคาดการณ์อนาคตประชาธิปไตยไทยในเบื้องหน้า

เลิกถาม ‘พร้อม-ไม่พร้อม?’
มรดกคณะราษฎรยังไม่ตาย

เริ่มที่ สถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนา หัวข้อ ‘88 ปี ประชาธิปไตยไทย คนไทยพร้อมหรือยัง’

Advertisement

“คำถามเรื่องพร้อม ไม่พร้อม ไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะมีคำถามว่า 88 ปีเราเรียนรู้อะไร 2475 ไม่ได้มาโดยบังเอิญ แต่มาในระนาบที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมันต้องเปลี่ยน กว่า 80 ปีแล้ว ระบอบการเมืองใดๆ ต้องมีพัฒนาการ แต่ในรอบ 10 ปีมานี้การเมืองไทยถดถอยอย่างมาก คนเลยกลับมาถามกันว่าที่เราเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เราอยากได้แบบที่เห็นนี้อยู่หรือไม่ บังเอิญว่าไม่ใช่ ดังนั้น จึงต้องกลับไปยัง 2475”

คือคำกล่าวของ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยังมองภาพรวมของ 24 มิถุนา 2563 คือในปีนี้ว่า เราได้เห็นการพยายามจัดความสัมพันธ์เกี่ยวกับความทรงจำที่คณะราษฎรและสมาชิก ซึ่งปีนี้เป็นปีที่มีการจัดวางความทรงจำใหม่เหล่านี้อย่างคึกคัก อาทิ ตี 5 วันนี้ฉายโฮโลแกรม แต่งตัวเลียนแบบ เพื่อทำซ้ำประวัติศาสตร์ 24 มิ.ย.2475 สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าท่ามกลางวิกฤตแบบนี้ อันที่จริงก่อนเกิดปัญหาโควิด-19 เราเกิดสภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอยอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือการจัดการความคาดหวังต่อโครงสร้างรัฐปัจจุบันตอบสนองต่อความขัดแย้งที่ไม่ง่ายแล้ว แน่นอนว่า รูปแบบเราเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นฉากบังหน้าที่ข้างในมี ส.ว. 250 คน โดย 6 คนสวมเครื่องแบบนายพลมาประชุมในอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ นี่คือความประหลาดที่สุดในรอบ 80 กว่าปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ


“วันนี้คณะราษฎรไม่อยู่แล้ว แต่มรดกของคณะราษฎรยังคงอยู่ ดังนั้น ต้องกลับไปที่ผู้ใหญ่ว่าจะมีวิสัยทัศน์พอที่จะเข้าใจดิสรัปชั่นหรือไม่ มันดิสรัปต์แล้ว เราต้องเป็นรัฐที่ปรับตัวเร็ว หากไม่ขยับ บริหารโดยคนที่มีวิสัยทัศน์สงครามเย็น คิดว่าพังแน่นอน หวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีใครอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใด ในเวลาที่เราถกเถียง 2475 ต้องดูเวียดนาม พม่าที่ผ่านการนองเลือด ท้ายที่สุดก็กลับมาหาบัตรเลือกตั้ง กลับมาสู่ระบบหย่อนบัตร ระบบแบบนี้คือคำตอบ สังคมเหมือนกาต้มน้ำหม้อความดัน ซึ่งหลายปีมานี้เราอุดเซฟตี้วาล์วหมด ถ้าอุดมากๆ ก็ระเบิดเท่านั้นเอง นี่คือธรรมชาติของสังคมการเมือง”
ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

การเมืองบีบคั้น เชื่อ ‘ใบไม้ผลิ’ จะหวนคืน

ด้าน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผมพูดเสมอว่า 2475 มีอายุเพียง 15 ปี พอถึงรัฐประหาร 2490 เหมือนโลกการเมืองนอกและในก็เปลี่ยน ทำให้อุดมการณ์ 2475 เหมือนถูกหยุด แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้หยุดไปด้วย ใน 2 กระแสที่สู้กันนี้ คำตอบด้านหนึ่งเห็นชัดว่าปีกอนุรักษนิยม โดยเฉพาะหลัง 2490 ฝ่ายทหารพยายามคงอำนาจไว้ในการเมืองไทย ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาธิปไตยเกิดความเข้มแข็ง

“ส่วนตัวไม่ค่อยชอบสำนวนประชาธิปไตยตั้งมั่น เพราะของจริงคือมันไม่ตั้ง แต่ถ้าจะให้มีความเข้มแข็ง ของจริงคือคงถอยกลับไปสู่หลังสงคราม เพราะเกมสภาเป็นเกมเดียวที่ตอบสนองผลประโยชน์ทุกฝ่าย ถ้าทำแบบนั้นได้ก็มีข้อยุติ แต่เชื่อว่าไม่เป็นแบบนั้น เพราะปีกอนุรักษนิยมเชื่อว่าเกมนอกสภาให้ค่าตอบแทนมากกว่า ตั้งแต่เสื้อเหลืองเคลื่อน จนถึงเป่านกหวีด ล้วนเป็นคำตอบหลังปี 2489 ว่าอาการเสื้อเหลือง อาการเป่านกหวีดไม่ต่างจาก 2490 ในมิติทางความคิด และจบลงคล้ายกันคือรัฐประหาร แปลว่าวันนี้สิ่งที่พูดคือไทยในระยะ 10 ปี เป็นประเทศ 1 ใน 3 ของโลกที่ 10 ปีมีการรัฐประหารซ้ำ คือไทย บูร์กินาฟาโซ และฟิจิ


“การรัฐประหารครั้งหลังของบูร์กินาฟาโซใช้เวลาเพียง 7 วัน เพราะองค์กรทั้งหลายในแอฟริกาประกาศไม่รับการรัฐประหารครั้งนี้ และคนในบูร์กินาฟาโซออกมายืนตามถนน ใช้ช้อนเคาะชาม กะละมังประท้วงทหาร ทหารอยู่ 7 วันแล้วเก็บของกลับบ้าน พร้อมขอโทษประชาชน เชื่อว่าวันหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ชีวิตผมผ่าน 14 ตุลาฯ นั่นคือฤดูใบไม้ผลิครั้งแรก ฤดูใบไม้ผลิใหญ่สุดคือหลัง 2490 และผมเห็นฤดูใบไม้ผลิอีกครั้งในปี 2535 ผมไม่ได้โลกสวย แต่เชื่อว่าฤดูใบไม้ผลิจะหวนกลับมา เพราะสถานการณ์การเมืองบีบคั้นมากแล้ว เชื่อว่าวันนี้ภายใต้การตื่นตัวขนาดใหญ่ของประชาชน ความเปลี่ยนแปลงคือความท้าทาย”
ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหลังมานี้เริ่มเกิดความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จนปฏิเสธไม่ได้ว่าโยงกับประวัติศาสตร์ ซึ่งถอยกลับไปสู่จุดหนึ่งของสังคมการเมืองไทยคือเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การถอยแบบนี้ไปสะดุดอยู่กับหัวเรื่องวันนี้คือตกลงเราพร้อมหรือไม่พร้อม เพราะจนถึงวันนี้ก็มีคนบอกว่าเราไม่พร้อม แต่ขณะที่ไม่พร้อม อย่าลืมว่าไทยและสังคมโลกก้าวสู่ศตววรษที่ 21 แล้ว ฉะนั้น เมื่อถามว่า 88 ปีน้อยไปไหม หากเทียบกับการต่อสู้ในหลายประเทศก็อาจน้อยบ้าง แต่ถามว่าน้อยไหมก็ไม่น้อยแล้ว ดูจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไทยผ่านกันมา คิดว่าหากใช้สำนวนตรงๆ คือ 88 ปี ไทยรู้ร้อน รู้หนาวพอสมควร แล้วเรียนรู้ด้วยเหตุ ด้วยผลพอสมควร

สามัญชนบนความเปลี่ยนแปลง สังคมใหม่ในหลัก 6 ประการ

จากสถาบันพระปกเกล้า เขยิบวงไปที่ฟากท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดเสวนา “จากราชดำเนินถึงกวางจู สามัญชนกับการเปลี่ยนแปลง” รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ศราวุฒิ วิสาพรม อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม บอกว่า ที่ผ่านมาความทรงจำของสามัญชน ต่อ 2475 เกิดคำอธิบายว่าเป็นการปฏิวัติที่ไร้ขบวนการประชาชน แต่อยากชวนพิจารณาใหม่ว่า สิ่งที่อาจดูไม่สำคัญก็เกี่ยวข้องกับการเมืองใหม่ และการปฏิวัติ 2475

ถามว่า สามัญชนอยู่ตรงไหน ถ้ามองเหตุการณ์ในวันนั้นจะเห็นคนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น นายอนุ นามสนธิ ราษฎรที่ทราบข่าวเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็สละงานผสมยาที่ตนทำอยู่ร้านประเสริฐโอสถ มายังถนนราชดำเนินช่วยแจกประกาศคณะราษฎร ทั้งคนในต่างจังหวัด ที่ได้รับการสื่อสารจากรัฐบาลคณะราษฎร เช่น นายสวัสดิ์ คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ ระบุว่ามีคนมาร่วมเหตุการณ์เหยียบหมื่น มีความยิ่งใหญ่ น่าตื่นเต้น โดยได้บันทึกเป็นจดหมายเหตุของ จ.นครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการสื่อสาร ประกาศการปฏิวัติหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทางวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ การประกาศในจังหวัด และมีการตอบรับจากราษฎรโดยเขียนจดหมายแสดงความยินดีกับพฤติการณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และประชาชนบริจาคสิ่งของร่วมสนับสนุน

ด้านชีวิตประจำวัน สะท้อนการถึงเมืองในระบอบใหม่ อาทิ การเผยแพร่รัฐธรรมนูญ มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สะท้อนถึงระบอบใหม่ เช่น สิ่งก่อสร้าง จาน โอ่ง เบียร์ประชาธิปไตย วิสกี้รัฐธรรมนูญ ธนบัตร สลากกินแบ่งรัฐบาล สัญลักษณ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในทุกภาค ซึ่งไม่ได้มีการบังคับว่าต้องใช้สัญลักษณ์ที่อิงระบอบใหม่ รวมไปถึงศาสนสถาน การสร้างสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญโดยการเรี่ยไรเงิน สะท้อนการรับรู้ของคนในพื้นที่ว่ามีอารมณ์ร่วม

“สามัญชนยังมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวในพื้นที่สถาบันการเมือง อาทิ สภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง การปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาจังหวัด เป็นศูนย์รวมปากเสียงของประชาชน คุมการบริหารส่วนจังหวัด จะเห็นคนธรรมดามีส่วนร่วมทั้งในเหตุการณ์การเมือง เช่น กบฏบวรเดช 2476 การเรียกร้องดินแดนคืน หรือแม้แต่ขบวนการเสรีไทย โดยผลกระทบต่อสามัญชนจากการปฏิวัติ 2475 คือ ทำให้เกิดสังคมสมัยใหม่ หลัก 6 ประการ เป็นหลักที่รัฐบาลในยุคแรกต้องนำมาปฏิบัติ ผลที่ตามมาคือ ปี 2478 มีการตั้งโรงเรียนประถมศึกษาครบทุกตำบล เกิดประเพณีผัวเดียวเมียเดียว และปี 2481 มีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีทางตรง” ศราวุฒิกล่าว

ไทม์ไลน์ ‘คณะราษฎร’ จากฝนพรำถึงย่ำรุ่ง

ในงานเดียวกัน ยังมีเสวนาอีกหัวข้อ ที่น่าสนใจฟังต่อเนื่องไม่ให้อารมณ์สะดุด ในประเด็น “2475 : ความรู้ ความทรงจำ และสถานการณ์ปัจจุบัน” โดย ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมจะก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ จำต้องมีทรรศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ยึดเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม แต่การเป็นพลเมืองประชาธิปไตยย่อมต้องฝึกฝนทางจิตวิญญาณไม่เพียงเรียกร้องระบอบ หากแต่พลเมืองต้องมีหลักนำ หรือวิธีคิดที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยด้วย

ด้าน นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้ศึกษาเรื่องราวของคณะราษฎรอย่างลึกซึ้ง กล่าวถึงเกร็ดประวัติคณะราษฎร โดยเล่าไทม์ไลน์ 88 ฝน ของคณะราษฎร ตั้งแต่ฝนตกพรำก่อนย่ำรุ่ง จนถึงปัจจุบัน

1.อภิวัฒน์ 2475

เริ่มจากโชว์ ข้างหลังภาพ ของ 7 ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร เป็นภาพเกร็ดประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร ณ กรุงปารีส หนังสือที่ปรีดีรับรองว่าถูกต้อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “บันทึกพระยาทรงสุรเดช” ของ ป.แก้วมาทย์ ซึ่งเป็นผู้วางแผนทางทหาร ด้วยทรรศนะ “จะตีป้อมนี้ให้แตก ต้องใช้กำลังที่เหนือกว่า 6 เท่า” มรดกคณะราษฎรที่หลงเหลืออยู่และเป็นรูปธรรมที่สุด อย่าง “เพลงชาติไทย” วลี “Do it now or never” ที่แสดงจุดยืนอันแน่วแน่ ไม่โลเล ของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม

ไปจนถึงจุดสูงสุดของคณะราษฎร ที่ ปรีดี พนมยงค์ บอกว่า ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือ “รัฐธรรมนูญ 2489” ที่ทำได้ตามหลัก 6 ประการที่วางไว้ จนถึงจุดสิ้นสุดของคณะราษฎร 2490

ภาพถ่ายสมาชิกคณะราษฎร ณ กรุงปารีส 14 ก.ค.2469


2.ปราชัยพ่ายหนี

หลังจากภาพสุดท้ายของ เชษฐบุรุษประชาธิปไตย “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ถึงแก่อสัญกรรม คือช่วง ปราชัยพ่ายหนี ที่ จอมพล ป. และ อ.ปรีดี พบกันครั้งสุดท้าย ก่อนปลายปีเกิดรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 จนมีหนังสือ “ปรีดรีหนี” “ธำรงหนี” โดยหนีไปที่สัตหีบในเบื้องต้น จากนั้นได้ทูตอเมริกัน และอังกฤษช่วยหนีไปที่สิงคโปร์

21 ปี ที่อยู่เมืองจีน เกิดภาพลักษณ์ “ปีศาจปรีดี” ที่สังคมไทยผะยี่ห้อให้กับท่านตลอดมา ซึ่งหลังย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสภาพลักษณ์ก็เริ่มกลับมา

3.ปรีดีนิวัติ

ปรีดีในฝรั่งเศส 2513-2526 2 บุคคลสำคัญที่ฟื้นภาพลักษณ์ของ อ.ปรีดี คือ ส.ศิวรักษ์ และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หนังสือ 50 ปี ธรรมศาสตร์ พูดถึง อ.ปรีดี ในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย และเมื่ออัฐิกลับมา 1 ปี ก็มีละครเวที ที่เต็มทุกรอบ มีการแจกประกาศคณะราษฎรขณะแสดง ให้

ผู้ชมมานั่งอ่าน และกลับไปวิเคราะห์เอง เมื่อถึง 100 ปี ชาตกาล ปี 2543 จุดพีคคือ หนังสือ และ สื่อเกี่ยวกับ อ.ปรีดีเกลื่อนเมือง

4.พิพัฒน์คณะราษฎรศึกษาฯ

จาก 100 ปี ชาตกาล มีการศึกษาเรื่องคณะบุคคลมากขึ้น ซึ่งในอดีตมีลัทธิบูชาตัวบุคคลค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันจะเห็นเด็กรุ่นใหม่ข้ามพ้น กล้าวิพากษ์อย่างมีองค์ความรู้พอสมควร ในแง่ “ป๊อปคัลเจอร์” ปรากฏทั้งใน สารคดี “The Frienemies” ของ ภาสกร ประมูลวงศ์ เป็นสารคดีเล่าเรื่องราว เพื่อนรักเพื่อนชัง ระหว่าง ปรีดี กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

“วัยรุ่นยังมักเล่นกับ มีมคณะราษฎร ที่แม้จะเล่นเช่นนี้ แต่เขาอ่านประวัติคณะราษฎรได้น่าสนใจมาก อย่าดูถูกองค์ความรู้ของคนรุ่นใหม่ ผมรู้สึกว่าเขามีอารมณ์ขัน แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ คือเทรนด์ใหม่ที่ว่า ก่อน 100 ปีชาตกาล ใครๆ ก็มอง จอมพล ป. เป็นผู้ร้าย แต่เทรนด์เด็กรุ่นใหม่กับมีความชื่นชม จอมพล ป. ค่อนข้างสูง เป็นอะไรที่น่าแปลกใจมาก” นริศกล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า


“ผลพวงของคณะราษฎร ไม่ว่าจะด้าน ดนตรี กีฬา อาหาร เครื่องแต่งกาย สถาบันศึกษา สถาปัตยกรรม นักการเมือง ส.ส. วิทยาศาสตร์ วรรรกรรม การศาสนา อุตสาหกรรม บันเทิง การคมนาคม ฯลฯ ใน 15+10 ปี

สำหรับผมประเทศไทยล้วนมีวิวัฒนาการทุกองคาพยพที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะ วิถีชีวิตของสามัญชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image