ฝนแรกหลังโควิด ‘ไหว้พระ หล่อเทียน’ 4 องค์ปฏิมา หลากมงคลชีวิต ณ ไอคอนสยาม

ฉีกปฏิทินนับถอยหลังสู่วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 อันเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญทางศาสนาของพุทธศาสนิกชน อย่าง ‘เข้าพรรษา’ และวันอาสาฬหบูชาประจำพุทธศักราช 2563

ห้วงเวลาหลังสถานการณ์ไวรัส ‘โควิด-19’ ที่เริ่มผ่อนคลาย ฝนแรกหลังโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ถาโถมสู่มนุษยชาติทั่วโลก

จากวิกฤตที่สร้างความตึงเครียด อลหม่าน และบอบช้ำ นอกจากการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ความเข้มแข็งของจิตใจก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

Advertisement

‘ศรัทธา’ และสติในการก้าวไปข้างหน้า จึงเป็นทั้งหลักธรรมะและแนวคิดที่เป็นสากล ไม่แบ่งแยกศาสนา ชาติพันธุ์

ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในย่านเก่าแก่ฝั่งธนบุรี รายล้อมด้วยวัดวาอารามอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงรังสรรค์กิจกรรมแห่งการเริ่มต้นใหม่อย่างเป็นสิริมงคล “ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนไทยให้เรืองรอง” เนรมิตเจริญนครฮอลล์ ลานกว้างในชั้น M ให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกิจกรรมมากมาย ระหว่างวันที่ 3-6 กรกฎาคมนี้

ไหว้ ‘พระปฏิมา’ 4 อารยธรรม ‘สุขใจ’ ฟื้นพลังชีวิต

หนึ่งในมงคลชีวิตที่ช่วยฟื้นคืนพลังกายใจของอุบาสกอุบาสิกา คือ การได้กราบสักการะพระปฏิมา หรือพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อรำลึกถึงหลักธรรมคำสั่งสอนอันจะนำพาชีวิตไปสู่วันข้างหน้าอย่างมีสติ

บนผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ ประกอบขึ้นด้วยวัฒนธรรมในลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งผู้คนได้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์แห่งศรัทธาผ่านพระพุทธรูปมาแต่ยุคโบราณกาล กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน

‘ไอคอนสยาม’ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจำลององค์สำคัญใน 4 ภาค 4 อารยธรรมที่หลอมรวมเป็นสยามประเทศไทยในวันนี้มาให้สาธุชนร่วมสักการะ ได้แก่ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา, พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช, พระสิงห์ เชียงแสน ศิลปะล้านนา และ หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย

“พระพุทธโสธร” หรือหลวงพ่อโสธรจำลอง จากวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา อารามสำคัญในลุ่มน้ำภาคกลาง เป็นที่สักการะของชาวบ้านโดยประดิษฐานมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี

พระราชภาวนาพิธาน หรือเจ้าคุณเก๋น รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้ จำลองขึ้นด้วยขนาดเกือบเท่าองค์จริงในพระอุโบสถ โดยให้สักการะในประเพณีสำคัญ อย่างงานกลางเดือน 5 งานรำลึกในพิธีอัญเชิญหลวงพ่อโสธรขึ้นจากลำน้ำบางปะกงมาประดิษฐานในพระอุโบสถ และงานกลางเดือน 12 พิธีแห่หลวงพ่อโสธร ทางบกและทางน้ำ

พระพุทธโสธร

สำหรับพระพุทธโสธรนั้นมีประวัติความเป็นมาว่า เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปจากเมืองเหนือที่ลอยน้ำมาพร้อมกัน 3 องค์ องค์พี่ใหญ่คือ หลวงพ่อบ้านแหลม วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม องค์กลางคือ หลวงพ่อโสธร และองค์เล็กหรือหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ

หลวงพ่อโสธร ไม่ใช่เพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแปดริ้ว หากแต่เป็นพระพุทธรูปสำคัญในดินแดนภาคกลางของไทยที่ผู้คนล้วนศรัทธา กล่าวขาน ในทุกๆ วัน มีผู้เดินทางไปขอพรไม่ขาดสาย ทั้งด้านค้าขาย คงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย และโรคภัยไข้เจ็บ

‘พระพุทธสิหิงค์’ เมืองนครศรีธรรมราช ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของชาติ เชื่อว่า บ้านเมืองใดมีพระพุทธสิหิงค์ จะนำมาซึ่งความรุ่งเรืองในบวรพุทธศาสนา ปรากฏในตำนานที่ไม่เพียงถูกบันทึกเล่าขาน หากยังเป็นที่ถกเถียงต่อยอดในเชิงวิชาการมานับเนื่องหลายทศวรรษ

สำหรับองค์ที่อัญเชิญมาให้สาธุชนสักการะจำลองจากองค์ต้นแบบในหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกรมศิลปากรได้จัดพิธีหล่อพระจากเบ้าขององค์จริงเป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเททอง เมื่อปี พ.ศ.2517 มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 นิ้ว สูง 16.8 นิ้ว

‘พระเชียงแสน’ (จำลอง) พระพุทธรูปในศิลปะล้านนา อาณาจักรทางตอนเหนือที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ งดงามด้วยท่วงท่าประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลม แย้มพระโอษฐ์ ขมวดพระเกศาใหญ่ เหนืออุษณีษะหรือพระรัศมีเป็นตุ่มกลมหรือลูกแก้วคล้ายดอกบัวตูม ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ชาวล้านนา เรียกว่า ‘พระสิงห์’ เป็นที่ไหว้สา สักการะมาอย่างช้านาน

‘หลวงพ่อพระใส’ (จำลอง) หนึ่งใน 3 พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหนองคายแห่งลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ พระสุก พระเสริม พระใส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญจากกรุงเวียงจันทน์ แห่งล้านช้าง มาฝั่งไทยเมื่อครั้งปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์

ปัจจุบัน พระใส ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จังหวัดหนองคาย ยังคงงดงามด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากเบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว แสดงปางมารวิชัย

พระครูภาวนาธรรมโฆสิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย, ยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ. หนองคาย และสุรพล พิทยาสกุล ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส


ยุทธนา ศรีตะบุตร
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย บอกเล่าในฐานะคนหนองคาย ว่าพระใสเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวอีสาน

โดยมักขอพรให้แคล้วคลาด เดินทางปลอดภัย รวมถึงด้านสุขภาพ และหน้าที่การงาน เมื่อสัมฤทธิผลแล้วจะแก้บนในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการอัญเชิญหลวงพ่อพระใสขึ้นรถแห่รอบเมืองให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

“ที่พิเศษคือ บนขอลูก คู่สามีภรรยาต้องทำพิธีต่อหน้าหลวงพ่อ หลังเสร็จพิธีทุกวันพระ สามีภรรยาต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 ต่อเนื่องจนกว่าจะมีลูก เมื่อสัมฤทธิ์ดังประสงค์แล้ว หลังคลอดให้นำลูกน้อยมาแก้บนทำพิธีผูกแขนทารกปวารณาเป็นลูกหลวงพ่อ” นายก อบจ.เล่า

นับเป็น 4 พระปฏิมาที่ควรค่ายิ่งแก่การสักการะเพื่อฟื้นคืนกำลังใจในห้วงยามนี้

‘ต้นเทียน-พุ่มเทียน’ สลักเสลากงล้อแห่งธรรม บนเส้นทางสู่ความเจริญ

นอกเหนือจากการกราบกราน ซึ่งพระพุทธรูปจากแคว้นต่างๆ ของไทย ไฮไลต์ของงานยังมี ต้นเทียนพรรษา ที่สลักเสลาอย่างงดงามด้วยเรื่องราวในพุทธประวัติ ตอนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ‘ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร’ อันเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการหมุนไปข้างหน้าของกงล้อแห่งธรรม โดยเทศน์ครั้งนี้ทำให้เกิดพระภิกษุรูปแรกคือ พระโกณฑัญญะ ทำให้พระรัตนตรัยครบสมบูรณ์ และเป็นสัญญาณว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเผยแผ่พุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในโลก เปรียบได้กับการหมุนธรรมจักร อันเป็นกงล้อแห่งธรรมที่หมุนไปข้างหน้าเพื่อความเจริญก้าวหน้า เตือนสติชาวพุทธให้ดำเนินชีวิตไปในทางสายกลางสู่ความสุข ความเจริญ เช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังโควิดที่ผู้คนต้องก้าวข้ามผ่านความยากลำบากสู่ความหวังในสิ่งดีงามที่รออยู่ข้างหน้า

สุคม เชาวฤทธิ์ จากชุมชนคนทำเทียนพรรษา วัดบูรพาราม จ.อุบลราชธานี นายช่างฝีมือเยี่ยมผู้ออกแบบและแกะต้นเทียนในงานนี้ เล่าว่า ในลวดลายพุทธประวัติตอนปฐมเทศนานี้ ตนได้แกะภาพทุกภาพอย่างประณีต ทั้งภาพพระพุทธองค์ที่กำลังแสดงธรรม และไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ เหล่าเทพบุตร เทพธิดา และสาวก โดยมีพญาครุฑจับธงเป็นผู้ชักลากนำขบวนเทียน ฐานรองรับลำต้นเทียนแบกโดยพระโค ด้านซ้ายของลำเทียนสลักภาพ ย่านาคีศรีปทุมา ส่วนด้านขวาเป็นภาพ ปู่ศรีสุทโธพญานาค ผู้เคยขอเข้ารับการอุปสมบทหวังเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ทว่า ไม่สามารถบวชได้เนื่องด้วยตนเป็นพญานาค จึงเป็นที่มาของ ‘บวชนาค’ ตามเรื่องเล่าชาวพุทธสยาม

ขบวนเทียนพรรษาตระการตา ฝีมือ สุคม เชาวฤทธิ์ ช่างแกะเทียนอันดับต้นๆ ของไทย

ช่างสุคม ผู้ได้รับการันตีฝีมือด้วยรางวัลมากมาย ยังบอกว่า ต้นเทียนดังกล่าว ใช้เวลาแกะสลักนานกว่า 20 วัน วันละ 15-16 ชั่วโมงโดยทุ่มเทสุดฝีมือ จุดที่ท้าทายคือ รายละเอียดต่างๆ อย่างเครื่องประดับของตัวละครในพุทธประวัติซึ่งจะแกะพลาดไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมี ‘พุ่มเทียน’ อันเป็นเครื่องสักการะอย่างหนึ่งในเทศกาลเข้าพรรษา สำหรับถวายเป็นพุทธบูชา หรือถวายพระภิกษุสงฆ์ ทำจากขี้ผึ้ง กดเป็นรูปคล้ายเมล็ดข้าวโพดเรียงแถวกัน หรือเป็นรูปกลีบดอกไม้เล็กๆ ติดเรียงกันบนกระดาษปั้นเป็นทรงพุ่มอย่างละเอียดลออ ต่อยอดแหลมทำจากขี้ผึ้งหุ้มแกนไม้ มีกระดาษอังกฤษสีเงินทองจักฝอยประดับส่วนปลายดูระยิบระยับ งามจับตา

วัตถุประสงค์ของการถวายพุ่มเทียน นอกจากเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ในอดีตยังเป็นการถวายขี้ผึ้งสำรองแด่พระภิกษุสงฆ์ในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อน้ำมันตะเกียง หรือเทียนหมด ก็สามารถนำขี้ผึ้งจากพุ่มเทียนมา ‘ฟั่น’ เป็นเทียนใช้ได้ระหว่างเข้าพรรษา นับเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เผยว่า ปรากฏหลักฐานอย่างน้อยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้ง
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นรัชสมัยต่อมายังเป็นราชประเพณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะถวายพุ่มเทียนแด่พระพุทธรูป และพระสงฆ์ ในพระราชกุศลเข้าพรรษาตามพระอารามสำคัญต่างๆ ทุกปี อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น

‘ไทยๆ’ ในเวิร์กช็อป หวนอดีต ฝึกสมาธิ ผ่าน ‘เครื่องพุทธบูชา’

ไม่เพียงสักการะพระพุทธรูปสำคัญ อีกทั้งชมความงามทุกรายละเอียดของต้นเทียนอันแฝงด้วยสัญลักษณ์ลึกซึ้ง ภายในงานยังมีเวิร์กช็อปให้ร่วมย้อนสัมผัสวิถีชาวพุทธก่อนยุคนิวนอร์มอล ซึ่งต่างบรรจงประดิษฐ์เครื่องสักการะด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ‘บุหงาพัดโบก’ ดอกไม้แห้งอบปรุงด้วยกลิ่นหอม โบกพัดสิ่งอวมงคลให้หลีกไกล, ‘เทียนหอมดอกบัว’ เทียนบูชาที่บรรจงปั้นแต่งเป็นรูปดอกไม้ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพุทธศาสนา, ‘จำปาดอง’ รวมถึงการทำ ‘ดอกผึ้ง’ จากขี้ผึ้งและการพับดอกบัวถวายพระ ภาพคุ้นตาของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่นับวันจะเลือนหายไปตามกาลเวลาและบริบทสังคมที่เปลี่ยนผันในทุกนาที ไม่เพียงบุญบารมีอันเป็นเรื่องราวความเชื่อ หากแต่กิจกรรมเหล่านี้ ยังช่วยขัดเกลาจิตใจ ส่งเสริมสมาธิ ฝึกปรือความสงบนิ่ง และแม่นยำของสัมผัส

ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมฝึกสอนให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

เป็นอีกกิจกรรมพลาดไม่ได้ในห้วงยาม ซึ่งกำลังใจและพลังชีวิตคือ สิ่งสำคัญในการก้าวข้ามผ่านสู่วันพรุ่งนี้บนหนทางแห่งความดี ความงาม และความจริง



งานไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนไทยให้เรืองรอง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กรกฎาคม 2563 ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม เวลา 10.00-20.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image