แด่ ‘สกาลา’ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ของประชาชน หัวใจของย่าน กรณีศึกษาการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์ลูคัสและแคโรไลน่าเธียเตอร์

จากกรณีการขอคืนพื้นที่ โรงภาพยนตร์สกาลา ที่เป็นโรงภาพยนตร์แบบ สแตนด์อโลน (Stand Alone) หรือ มูฟวี่พาเลซ (Movie Palace) ของเอกชนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร สร้างความรู้สึก เสียดายแก่ประชาชนที่มีความผูกพันกันโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นอย่างยิ่ง ประสบการณ์ชีวิตที่มีร่วมกันกับพื้นที่สาธารณะเช่นโรงภาพยนตร์ ทำให้ผู้คนต่างก็ย้อนระลึกถึงความหลังที่มีร่วมกันในฐานะเพื่อน พี่ น้อง ครอบครัว มุมต่างๆ ของโรงภาพยนตร์นี้ล้วนแต่มีความหลังทั้งสิ้น

เมื่อสถานที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ย่านสยามสแควร์ขาดความรู้สึกได้ถึงความเป็นสถานที่นั้น (Sense of Place) โรงภาพยนตร์สกาลามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากในปี 2555 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ดีเด่นให้เป็นอาคารแบบศิลปะอาร์ตเดโค ที่ได้รับการออกแบบโดยจิระ ศิลป์กนก ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากอิตาลี นับตั้งแต่ชื่อโรงภาพยนตร์ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala ที่ตั้งอยู่ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า Scala ในภาษาอิตาเลียน หมายถึง บันได ซึ่งเป็นจุดที่เด่นที่สุดของโรงภาพยนตร์มีบันไดโค้งขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้า และมีโคมไฟระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาด ยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลีประดับเสริม อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นนี้จะปราศจากความสำคัญหากไม่ได้ถูกใช้ตามหน้าที่ที่ได้รับการออกแบบมา จิตวิญญาณของสถาปัตยกรรมก็จะสูญไป

ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับกรณีของโรงภาพยนตร์สกาลา เมื่อโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่หมดความสำคัญและดูเหมือนจะ ไม่คุ้มทุนในด้านการหารายได้ ได้มีการอนุรักษ์และการจัดการดูแล อย่างไร โดยศึกษาจากตัวอย่างการจัดการของ โรงภาพยนตร์ลูคัสเธียเตอร์ (Lucas Theater) เมืองสะวันน่าห์ รัฐจอร์เจีย ก่อตั้งในปี ค.ศ.1921 หรือปี พ.ศ. 2464 อายุ 99 ปี และ โรงภาพยนตร์แคโรไลน่าเธียเตอร์ (Carolina Theater) เมืองเดอแรม รัฐนอร์ทแคโรไลน่า ก่อตั้งใน ปีค.ศ.1925 หรือ พ.ศ.2468 อายุ 95 ปี

โรงภาพยนตร์ลูคัสมีการเปิดอย่างเป็นทางการโดยการจัดฉาย ภาพยนตร์ขาวดำเงียบเรื่อง “Camille” เมื่อ 99 ปีที่แล้ว บนจอขนาด ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นที่มีในเมืองสะวันน่าห์ (Savannah) โรงภาพยนตร์ลูคัสได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในการจัดฉายภาพยนตร์และคณะ แสดงปาหี่ต่างๆ ในโรงภาพยนตร์ยังมีการเก็บภาพยนตร์ต่างๆ ไว้ด้วย ในยุคของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโรงภาพยนตร์ลูคัสเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเมือง ที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

Advertisement
ลูคัสเธียเตอร์วันเปิดทำการ เมื่อ 99 ปีก่อน (ที่มาของภาพ : เอกสารจากโรงภาพยนตร์ลูคัสเธียเตอร์)

เจ้าของต้องการทำลาย แต่ชาวเมืองต่อต้าน สถาบันการศึกษายื่นมือเข้าช่วย

ในปี พ.ศ.2529 เจ้าของโรงภาพยนตร์ได้รับอนุญาตให้ ทุบทำลายโรงภาพยนตร์ ที่ผุพังแห่งนี้และมีโครงการที่จะเปลี่ยนให้ เป็นที่จอดรถ เมื่อข่าวดังกล่าวแพร่กระจายออกไป ชาวเมืองสะวันน่าห์ซึ่งได้ก่อตั้งกลุ่ม The Lucas Theatre for the Arts ได้พยายามรวบรวมเงินทุนซื้ออาคารโรงภาพยนตร์แห่งนี้ และเริ่มบูรณะในราคา 14 ล้านเหรียญอเมริกัน หรือประมาณ 45 ล้านบาท งบประมาณที่ได้มาจากการระดมทุนการขอบริจาคองค์กรที่เป็นหลักในการจัดการบูรณะโรงภาพยนตร์ลูคัส หรือเจ้าของในปัจจุบันคือ วิทยาลัยศิลปะและการออกแบบแห่งเมืองสะวันน่าห์ หรือ Savannah College of Art and Design (SCAD) ซึ่งวิทยาลัยศิลปะแห่งนี้ เห็นความสำคัญของอาคารสำคัญต่างๆในเมืองเป็นอย่างยิ่ง และการกำเนิด แนวคิดในการอนุรักษ์อาคารนั้นเกิดจากกลุ่มอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม เพียงไม่กี่คน และขยายแนวคิดไปยังผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและชาวเมือง ทำให้เกิดการอนุรักษ์อาคารต่างๆ ในเมืองเป็นจำนวนมาก และได้ดัดแปลง อาคารนำมาใช้สอยในกิจกรรมของวิทยาลัย เช่น โบสถ์ยิวได้เปลี่ยนเป็นหอพัก

การบูรณะและฟื้นฟูโรงภาพยนตร์ลูคัส เริ่มจากการว่าจ้าง บริษัท Fisher Dachs Associates: Theatre Planning & Design โดยสถาปนิก Forrest Lott ดำเนินการสำรวจทางประวัติศาสตร์อาคาร โดยรวบรวมรูปถ่ายต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และได้ถ่ายรูปก่อนการบูรณะ ในการบูรณะได้พยายามทำให้เหมือนกับการตกแต่งต้นแบบ จึงมีการทำแบบและหล่อปูนปลาสเตอร์ขึ้นมาใหม่ และเก็บรายละเอียดทั้งหมดให้เหมือนเดิม มีการถ่ายรูปแต่ละขั้นตอนไว้ โดยให้สถาปนิกที่มีความรู้เป็นผู้ดูแลจัดการหลังจากที่บูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงได้จัดนิทรรศการเพื่อให้ ประชาชนได้รับรู้ความเป็นมา ได้ให้เหตุผลในการบูรณะอาคารแห่งนี้ว่า เพื่อเป็นการเก็บรักษาอาคารที่มีสถาปัตยกรรมสำคัญที่เป็นตัวแทนในช่วงเวลาเมื่อ เกือบร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงระบบการจัดแสดง และบริเวณแวดล้อมอาคาร ให้ทันสมัยและปลอดภัย เพื่อให้สามารถนำโรงภาพยนตร์กลับมาใช้แบบเดิมและในฐานะศูนย์ศิลปะการแสดง

Greek Revival, Art Deco และ NeoClassic ผสมผสานกัน

เมื่อทำการบูรณะเสร็จสิ้น ทางคณะกรรมการโรงภาพยนตร์ได้แต่งตั้ง คณะทำงานทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงภาพยนตร์ ผู้จัดการ และพนักงานด้านอื่นๆ อีก 4 คน ซึ่งได้รับเงินเดือน มีหน้าที่ผลิตกิจกรรมและสื่อโฆษณา เมื่อมีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ทุกคนก็จะช่วยกันทำหน้าที่หลากหลาย เช่นขายของว่างและน้ำ ขายของที่ระลึก ดูแลเดินตั๋วให้คนดู บุคลากรที่เข้ามา ช่วยอีกกลุ่มหนึ่งคือ อาสาสมัครจากชาวเมืองสะวันน่าห์มาช่วยเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่เป็นชาวเมืองที่เกษียณจากงานประจำและมีบ้างที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาช่วยยามที่มีเวลาว่าง โรงภาพยนตร์ลูคัสเธียเตอร์ เปิดฉาย อีกครั้ง ในปี พ.ศ.2543 โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Gone with the Wind

Advertisement

กิจกรรม รายได้ และเบียร์‘แพงกว่า’ที่คนยินดีซื้อ

การดำเนินการของ Lucas Theater มีเงินสนับสนุนมาจากเงินบริจาคและเงินสนับสนุนจากสถาบันศิลปะ SCAD และส่วนหนึ่ง ได้รายได้มาจากการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยแบ่งเป็น 1.รายได้จากการบริจาค ประกอบด้วย ผู้อุปถัมภ์ สมาชิก ซื้อตั๋วรายปี บริจาคค่าซ่อมแซมอาคาร และบริจาคทาง PayPal 2.รายได้จากการฉายภาพยนตร์ คนละ 7 เหรียญ 3.รายได้จากค่าเช่าโรงภาพยนตร์ แบ่งออกเป็น General Events เช่น การจัดคอนเสิร์ต การบรรยาย สาธารณะ การจัดฉายภาพยนตร์ ละครและการแสดงต่างๆ

ส่วนรายจ่ายนั้น แบ่งเป็นค่าผู้จัดการสถานที่ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน ค่าเช่าอุปกรณ์การแสดง ค่าใช้จ่ายทีมช่าง อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ เอริน มูลเลอร์ (Erin Muller) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงภาพยนตร์ลูคัสเธียเตอร์ กล่าวว่า “รายได้จากค่าเช่าหรือ ค่าตั๋วชมภาพยนตร์ นั้นไม่เพียงพอกับรายได้ พนักงานและค่าบำรุงรักษาอาคาร เนื่องจากไม่ได้เป็นรายได้ประจำ รายได้แฝงอีกประการหนึ่งคือ การขายเครื่องดื่ม โดยเครื่องดื่มที่ได้รับ ความนิยม คือ เบียร์กระป๋อง ซึ่งเบียร์กระป๋องนี้มีราคาสูงกว่าข้างนอก แต่ผู้ชมก็ยินดีที่จะช่วยซื้อเพราะรู้ว่าโรงภาพยนตร์จะนำ รายได้นี้ไปบำรุงอาคารสถานที่ นอกจากนั้นยังได้ตั้งกล่องรับ บริจาคเพื่อให้ชาวเมืองได้สามารถช่วยเหลือเราโดยตรงอีกด้วย”

นิทรรศการ ‘บาดแผล’ ที่แคโรไลน่าเธียเตอร์

แคโรไลน่าเธียเตอร์ อยู่ใต้การกำกับดูแลของเมืองเดอ แรม และ Carolina Cinema Corporation แคโรไลน่าเธียเตอร์ถือว่า เป็นจุดหมายตา(Landmark) ของเมืองนับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2469 มีอายุ 94 ปี โดยใช้ทุนในการสร้างประมาณ 220,349 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 7 ล้านบาท โดยเกิดขึ้นมาพร้อมการพัฒนาและขยายเมืองเดอแรม (Durham) ซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกัน เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการซื้อขายยาสูบ จึงมีความเคลื่อนไหวทางการเงินอยู่มาก

สถาปัตยกรรมของแคโรไลน่าเธียเตอร์ ถือว่ามีความโดดเด่นมาก มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบ Beaux-Arts และนีโอ คลาสสิก มีการออกแบบการก่อสร้างทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น การจัดการที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งของที่นี่คือ การจัดนิทรรศการถาวรในโรงภาพยนตร์ โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกชั้น 1 เป็นการจัดแสดงการบูรณะโรงภาพยนตร์และภาพถ่ายเก่าของโรงภาพยนตร์ ชั้นที่ 3 เป็นนิทรรศการการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกีดกันในการชมภาพยนตร์โดยมีสถานที่ซื้อตั๋ว มีบันไดขึ้นเพื่อเข้าชมภาพยนตร์ และที่นั่งในการชมภาพยนตร์ที่ไม่ปะปนกับคนผิวขาว โดยต้องขึ้นบันไดถึง 97 ขั้นไปนั่งที่ชั้นสูงที่สุด ห่างไกลจากเวทีที่สุด ปัจจุบันส่วนนี้ถูกปิดตายกลายเป็นห้องเก็บของ ด้วยกำแพงกั้นที่ชาวผิวขาวเรียกว่า กำแพงแห่งความอับอาย (Wall of shame) ในสิ่งที่ตนกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในส่วนการจัดแสดง นี้มีทั้งภาพถ่าย วิดิโอในช่วงที่มี การเคลื่อนไหวประท้วง และได้จำลองที่ซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ที่แยกเฉพาะคนผิวสี เป็นการเปิดโอกาส ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริงของคนอเมริกัน และเป็นประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์แคโรไลน่าเธียเตอร์

แคโรไลน่าเธียเตอร์เมื่อครั้งเริ่มสร้าง
Box Office หรือที่ซื้อตั่วของคนผิวสี จะแยกจากคนขาวโดยเด็ดขาย

ด้านบุคลากร มีพนักงานประจำและครั้งคราว (part-time) ทำงานกว่า 30 คน ทั้งนี้ ยังมีอาสาสมัครช่วยงานอีกด้วย พนักงานส่วนใหญ่มาทำงานสลับกันไปตามเวลา ที่ว่างมากกว่ามาทำงานประจำ จึงทำให้มีพนักงานจำนวนถึงกว่า 30 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง หรือต่างเมืองไปไม่ไกลนักพอที่จะสามารถขับรถไปกลับได้ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นการดูภาพยนตร์หรือการแสดงฟรีหลังจากทำหน้าที่ของตนและผู้ชมได้เข้าไปชมการแสดงกันครบแล้ว และได้สิทธิรับขนมและน้ำฟรีที่ขายในโรงภาพยนตร์เล็กน้อย

โรงภาพยนตร์แคโรไลน่าเป็นโรงภาพยนตร์ขององค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร กระบวนการหารายได้นั้นมาด้วยกัน 3 วิธี คือ รายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์และการแสดง รายได้จากการรับบริจาค และรายได้จากภาษีของประชาชนที่ได้รับการจัดสรร จากเมืองเดอแรม ภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดสรรมานั้นส่วนใหญ่เป็น ภาพยนตร์แนวศิลปะและสารคดี

จากการสังเกตของผู้เขียนในฐานะผู้ชมภาพยนตร์ และอาสาสมัคร พบว่า ผู้ชมในแต่ละรอบนั้นมีจำนวนน้อยมาก ในแต่ละรอบที่ฉายซึ่งฉายทุกวันวันละสามรอบ บางครั้งมีคนเพียง สองหรือสามคนเท่านั้น แต่ผู้จัดการก็ทำการเปิดฉายทุกรอบ เพื่อให้ทุกคนที่มามีโอกาสชมภาพยนตร์ ถือว่าเป็นหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ ส่วนค่าเช่าและค่าตั๋วแสดงคอนเสิร์ตนั้นถึงแม้จะมีราคา สูงแต่ก็ไม่พอค่าใช้จ่ายในการจัดการต่างๆ และเงินบริจาคที่ได้มาจาก การจัดงานการกุศล หรือขายบัตรสมาชิกก็ยังไม่พอกับรายจ่าย ท้าย ที่สุดแล้วทางเมืองเดอแรมต้องนำเงินเข้ามาช่วยไม่ให้โรงภาพยนตร์ ขาดทุนและเหตุการณ์เช่นนี้ก็มีเป็นประจำทุกๆ ปี

โรงหนัง ประวัติศาสตร์ชีวิต พลังประชาชน

กล่าวโดยสรุปว่า โรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งนี้ก่อนที่จะได้รับการบูรณะ ต่างก็มีแนวทางที่จะโดนทุบทิ้งทำลายเหมือนกัน แต่ด้วยพลังของประชาชนชาวเมืองผู้รักในโรงภาพยนตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของพวกเขา จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเพื่ออนุรักษ์โรงภาพยนตร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ และกลุ่มที่รวมตัวกันนี้ เป็นกลุ่มอาสาสมัคร ทั้งทำงานเพื่อ เจ้าของใหม่เช่นวิทยาลัย SCAD หรือทำงานให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหา กำไรอย่าง เช่น ที่โรงภาพยนตร์แคโรไลน่า ทั้งสองแห่งได้ก่อตั้งกลุ่ม อาสาสมัครเพื่อเข้ามาช่วยงาน และกลายเป็นกลไกที่สำคัญในการดำเนินกิจการ การหารายได้เป็นภาระสำคัญ

โรงภาพยนตร์แคโรไลน่าเธียเตอร์ในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าโรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งจะมีแผนการจัดการดำเนินงานที่รัดกุม และต่างก็มีสภาวะขาดทุนทั้งสองแห่ง แต่ผู้ดูแลทั้งสองแห่งต่างก็ตระหนักว่า การอนุรักษ์นี้ไม่ได้กระทำเพื่อให้ก่อเกิดรายได้ แต่เป็นการอนุรักษ์ให้อาคารทั้งสองแห่งนี้ยังคงมีชีวิตและทำหน้าที่รับใช้ประชาชนที่มีความทรงจำต่ออาคารทั้งสองแห่ง และอยากให้โรงภาพยนตร์ทั้งสองที่ยังคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของเมืองให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป

แคโรไลน่าเธียเตอร์ เมืองเดอแรมเป็นเจ้าภาพใช้ภาษีสมทบ ทุนทุกเดือนที่ขาดทุน ส่วนลูคัสเธียเตอร์ นั้นมีวิทยาลัย SCAD เป็นผู้อุปถัมภ์ในฐานะเจ้าของอาคาร ไม่ต่างจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์สกาลา

จากกรณีศึกษาโรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งข้างต้น พบว่า นอกจากจะมีการอุปถัมภ์จากภาษีของประชาชน หรืองบประมาณของวิทยาลัยแล้ว ยังมีพลังที่เข้มแข็งของประชาชนที่ยื่นมือเข้ามายับยั้งการถูก ทำลายของโรงภาพยนตร์ทั้งสองอย่างจริงจัง ทั้งล็อบบี้คุยกับนักการเมือง ประชุมศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ รวมทั้งหาเงินทุนในเบื้องต้น เพื่อการบูรณะโดยที่ไม่รองบประมาณจากเมือง

ดังนั้น การอนุรักษ์โรงภาพยนตร์สกาลา คนที่รักสกาลาควรรวมตัวกันเจรจากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากสามารถระดมทุนและหาบุคลากรเข้ามาดูแลจัดการได้ก็น่าจะเดินหน้าเข้าไปเจรจากับจุฬากรณ์มหาวิทยาลัยได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การจัดการต้องเป็นในแนวทางที่วางไว้ระยะยาว ไม่ใช่เพียงเพื่อบูรณะและอนุรักษ์ชั่วคราวจึงจะเรียกว่าการอนุรักษ์อย่างแท้จริง แต่ใครจะเป็นเจ้าภาพ และบริจาค สกาลาเป็นของคนกรุงเทพฯ หรือคนไทยทั้งประเทศ

ถ้าคนทั่วไปยังคิดว่ามรดกทางวัฒนธรรมมีพรมแดนอยู่แล้ว ก็น่าจะยากที่จะมีการรวมตัวกันจัดองค์กรเพื่อดูแล สกาลา เหมือนที่โรงภาพยนตร์ลูคัสและแคโรไลน่าได้รับ



อ้างอิง – รายงานการศึกษา​ความเป็นไปได้ของการบูรณะและฟื้นฟูโรงภาพยนตร์​ศาลา​เฉลิม​ธานี​ เสนอต่อ​ หอภาพยนตร์​ (องค์การมหาชน)​ โดยรังสิมา​ กุลพัฒน์ และคณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image