ญี่ปุ่น ใน ‘โมเดล’ การสร้างชาติสมัยคณะราษฎร

(ซ้าย) จอมพล ป. พิบูลสงคราม บนหน้าปกนิตยสารญี่ปุ่นฉบับเดือนมิถุนายนครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อ พ.ศ.2484 (ขวา) สมาชิกคณะราษฎรดูงานการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการเยี่ยมชมปราสาทโอซากา 24 มิถุนายน พ.ศ.2477

ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมากว่า 600 ปี ระยะเวลาที่ยาวนานถึงเพียงนี้ ย่อมแสดงว่า สัมพันธภาพที่ผ่านๆ มาของทั้งสองคงดำเนินไปด้วยดี

หากยุคทองของความสัมพันธ์ของสองประเทศคือ “ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475”

“นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเริ่มก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางใหม่ในเอเชีย ท่ามกลางหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกทั้งในยุโรปและเอเชีย ในห้วงเวลานั้น ไทยเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรอีกด้วย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมีความกระชับแน่นอย่างไม่เคยมาก่อน…”

นั่นคือความตอนหนึ่งในบทความชื่อ “เปิด ‘โมเดล’ การสร้างชาติสมัยคณะราษฎร ภายหลังการปฏิวัติ 2475” ของ ณัฐพล ใจจริง ที่ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

Advertisement

เริ่มแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ญี่ปุ่นในฐานะประเทศผู้ชนะสงคราม มีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีโลก แต่ชนชั้นนำไทยกลับให้ความสำคัญกับมหาอำนาจตะวันตกมากกว่า และเพิ่มเติมความหวาดระแวงต่อญี่ปุ่นอีกด้วย

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ญี่ปุ่นและไทยต่างให้ความสนใจกันและกันมากขึ้น ดังเห็นได้จาก หนังสือพิมพ์ The Japan นำเสนอข่าวสารของการปฏิวัติของไทยนานนับเดือน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ของไทยก็ให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นมากขึ้นเช่นกัน ในการประชุมสันนิบาตชาติเพื่อประณามญี่ปุ่นในการบุกแมนจูเรีย (2476) ตัวแทนจากประเทศไทยสละสิทธิการออกเสียงประณามญี่ปุ่น ไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่ไม่คล้อยตามกระแสของมหาอำนาจตะวันตก นั่นทำให้ นายมัสสุโอกะ โยสุเกะ (Matsuoka Yosuke) ผู้แทนญี่ปุ่นในสันนิบาตชาติกล่าวขอบคุณผู้แทนไทยพร้อมกล่าวว่า หากไทยต้องการต่อสู้กับตะวันตก ญี่ปุ่นก็จะยืนเคียงข้างไทย

นายยาสุกิจิ ยาตาเบ (Yasukichi Yatabe) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำไทย (2471-79) เป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศหลัง 2475 ซึ่งความจริงเขาพยายามมาตลอดเพียงแต่ในระบอบเก่าที่นิยมมหาอำนาจตะวันตกมากกว่า

หากในช่วงแรกเริ่มของระบอบประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรยังไม่มั่นคง เพราะอิทธิพลของระบอบเก่าที่ฝังลึกในสังคม, ความสัมพันธ์ของชนชั้นนำกับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษที่มีอิทธิพลอย่างมากในไทย คณะราษฎรจึงวิตกว่าชาติตะวันตกอาจแทรกแซงการเมืองไทยให้การสนับสนุนระบอบเก่าที่ถูกโค่นล้มลง

สำหรับประชาธิปไตยไทยในช่วงแรก จึงต้องนับว่าญี่ปุ่นเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญ

ยาสุกิจิ ยาตาเบ (Yasukichi Yatabe) อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

[/caption]บันทึกของนายยาตาเบกล่าวว่า เขาพบตัวแทนจาก พระยาพหลฯ และจอมพล ป. ก่อนการรัฐประหารเพียงไม่กี่วันเพื่อขอการสนับสนุนกำลังทหารและอาวุธจากญี่ปุ่น แม้เขามิได้ตอบความช่วยเหลือด้านอาวุธ แต่ก็ยืนยันว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนรัฐบาลใหม่หลังการรัฐประหาร

นายยาตาเบมีอำนาจสั่งการให้ บริษัท มิตซุย ส่งมอบอาวุธจากโกดังเก็บสินค้าของบริษัทที่รัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ ซื้อเพื่อต่อต้านการรัฐประหารจากคณะราษฎรครั้งนี้ก็ย่อมได้ แต่เขาไม่ทำ

หลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ (20 มิถุนายน 2476) ก็สำเร็จ พระยาพหลฯ และจอมพล ป. แกนนำการรัฐประหาร เชิญนายยาตาเบมาพบ และขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนรัฐบาลใหม่ที่จัดตั้งขึ้น ที่จะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจของไทยแทนอังกฤษ เพราะไม่ต้องการให้มหาอำนาจตะวันตกแทรกแซงระบอบใหม่ ซึ่งนายยาตาเบก็ให้คำสัญญา

ปลายปี 2476 นายยาตาเบเดินทางกลับประเทศเพื่อถวายรายงานให้กับสมเด็จพระจักรพรรดิ และคณะรัฐมนตรี ในระหว่างนั้น เขามีส่วนสนับสนุนระบอบการปกครองใหม่ของไทย เมื่อทราบแผนการของ นายไออิซูกะ ชิเกรุ (Iizuka Shigeru) พ่อค้าญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย ผู้มีความใกล้ชิดสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่จะเข้าร่วมโค่นล้มรัฐบาลพระยาพหลฯ (2476-81), เหตุการณ์กบฏบวรเดช (2476)

นายยาตาเบสั่งการให้พ่อค้าญี่ปุ่นยุติความเคลื่อนไหวดังกล่าว เนื่องจากแผนการฟื้นระบอบเก่าขัดกับแนวความคิดของเขาและนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับคณะราษฎร

เมื่อรัฐบาลจัดงานพระราชทานเพลิงศพให้กับทหารและตำรวจที่เสียชีวิตจากการปราบ “กบฏบวรเดช” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2477 รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเรือรบชื่อ คูมา (Kuma) นำทหารเรือเป็นตัวแทนเข้าร่วมงานฌาปนกิจศพของทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลด้วย

กล่าวโดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นภายหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมานั้นมีความแนบแน่นขึ้นอย่างมาก ทูตญี่ปุ่นมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าว ด้วยความตั้งใจของเขาคือ การทำให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อไทยแทนที่อังกฤษเพื่อดึงไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลาง

ทหารเรือญี่ปุ่นจากเรือรบคูมาร่วมแสดงความเสียใจในงานพระราชทานเพลิงศพทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาล ในเหตุการณ์ปราบ “กบฏบวรเดช” เมื่อ พ.ศ.2477 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรียืนต้อนรับขบวนทหารญี่ปุ่นที่หน้าอาคาร
พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารเรือ (แถวนั่งคนที่ 4 จากขวา) ขณะถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกกับเหล่านายทหารเรือระดับสูงแห่งราชนาวีญี่ปุ่นใน พ.ศ.2478

ภายหลังการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ และปราบกบฏบวรเดชแล้ว คณะราษฎรสามารถผนึกอำนาจให้มั่นคงมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกิจกรรม นั่นคือ “การดูงาน” ที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นก็พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง

เริ่มจากรัฐบาลพระยาพหลฯ ส่ง “สมาชิกคณะราษฎร” ไปดูงาน ได้แก่ หลวงเชวงศักดิ์สงคราม, หลวงกาจสงคราม, หลวงสินธุสงครามชัย, ขุนศรีศรากร, นายชุณห์ ปิณฑานนท์, นายสงวน ตุลารักษ์, นายวิลาศ โอสถานนท์ และนายซิม วีระไวทยะ เป็นต้น

ต่อมานายยาตาเบต้องการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ด้วยการเชิญกลุ่มผู้นำการเมืองใหม่ไปเยือนญี่ปุ่น จึงจัดประชุมยุวพุทธศาสนิกสมาคมในเอเชียแปซิฟิกที่โตเกียวขึ้นในต้นปี 2477 เพื่อใช้เป็นเหตุในการเชิญคณะราษฎรไปเยือนญี่ปุ่น ฯลฯ

ที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของบทความที่ณัฐพล ใจจริง เขียนไว้ เนื้อหาที่เข้มข้นและรายละเอียดอื่น ขอท่านได้โปรดอ่านจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับล่าสุดนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image