ลับหลัง ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ 80 ปีปัญญาชนแห่งยุคสมัย และความ (ไม่) ใหม่ที่ต้องไปต่อ

“วันนี้จะพูดถึงอาจารย์นิธิ แต่อาจารย์ไม่มาซึ่งในแง่หนึ่งก็ดี เข้าใจว่าท่านกระอักกระอ่วนอย่างมากเวลามีใครชมต่อหน้า ดิฉันเองก็ไม่สะดวกใจที่จะชมใครต่อหน้าด้วย เพราะฉะนั้นการชมลับหลังอาจจะดีกว่า แต่ถึงอย่างนั้น ก็จะพยายามไม่พูดอะไรที่จะทำให้อาจารย์กระอักกระอ่วนเมื่อมาดูคลิป”

คือคำกล่าวของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เรียกเสียงหัวเราะของทั้งผู้ร่วมวงและร่วมฟังในเสวนา ‘Old แต่ไม่ Out สังคมไทยไปต่ออย่างไรในความ (ไม่) ใหม่’ เนื่องในวาระ 80 ปี ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักวิชาการผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทยในห้วงเวลานี้

ผู้คนแน่นร้าน เบรนเวค คาเฟ่ สาขามติชนอคาเดมี สถานที่จัดงานซึ่งมีบุคคลหลากรุ่น หลายสาขาอาชีพร่วมฟังอย่างเนืองแน่นแบบเว้นระยะห่างทางกายภาพ รวมถึงศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งนั่งแถวหน้าตั้งแต่ต้นจนจบ

ไม่เพียงเป็นเสวนาที่วิทยากรแต่ละท่านกล่าวถึง นิธิ เอียวศรีวงศ์ แบบ (ชม) ลับหลัง ทั้งในแง่มุมวิชาการและวิธีคิดหลายประการในการเลือกทางเดินชีวิต หากแต่ให้ภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็เปิดหนทาง ‘ไปต่อ’ ในความ (ไม่) ใหม่ได้อย่างลุ่มลึก

Advertisement

วิพากษ์ปัญญาชน เหรียญอีกด้านของกระฎุมพี

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

รศ.ดร.พวงทอง เริ่มต้นด้วยการยก ‘คำตอบ’ ของ อ.นิธิ ต่อคำถามเมื่อครั้งได้รับรางวัลศรีบูรพา จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2545 ที่ว่า รู้สึกอย่างไรกับการถูกเรียกด้วยคำว่า ปราชญ์สามัญชน นักวิชาการที่อยู่ข้างคนจน นักวิชาการนอกคอก และปัญญาชนคนสามัญ

“อาจารย์บอกว่า คำกล่าวหรือแม้คำยกย่องที่ผู้อื่นให้แก่ผมนั้น ส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความจริง เพราะไม่ได้อยู่อย่างคนจน ตรงกันข้าม ผมมีวิถีชีวิตเวลานี้เอารัดเอาเปรียบคนจนอยู่ไม่น้อยทีเดียว หลายอย่างที่ผมทำ หรือบริโภคตามความเคยชินนั้น ทำและบริโภคได้เพราะมีคนจนอยู่ในโลก หากเราเฉลี่ยทรัพยากรกันอย่างทั่วถึง ผมคงทำและบริโภคอย่างนั้นไม่ได้ จึงรู้สึกอับอายต่อคำยกย่องเหล่านั้น แต่ก็ไม่อาจชี้แจงได้เพราะดูเหมือนจะกลายเป็นขอร้องให้ยกย่องเพิ่มอีก หรือไม่แน่ใจว่าชีวิตของตัวมีความสำคัญถึงกับต้องยกขึ้นไปค้านคนอื่น” รศ.ดร.พวงทองอ่านคำตอบของอาจารย์นิธิแบบคำต่อคำ

ก่อนให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ใช่การถ่อมตัว แต่อาจารย์นิธิคิดเช่นนั้นจริงๆ

จากนั้น ย้อนวิเคราะห์ถึงเส้นทางชีวิตของความเป็นนกวิชาการซึ่งอาจารย์นิธิเลือกที่จะเดิน และเลือกที่จะไปเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ใช่เทวาลัย จุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่ง รศ.ดร.พวงทองมองว่า การเลือกเช่นนี้เมื่อ 40-50 ปีก่อน เชื่อว่าไม่ใช่เพราะอาจารย์นิธิไม่ชอบกรุงเทพฯ แต่คิดว่าเพราะต้องการออกจาก ‘เครือข่ายอุปถัมภ์ในวงวิชาการ’ ต่างหาก จากงานเขียนของท่านจะเห็นได้ว่ามีการให้ความสำคัญในประเด็นบทบาทของนักวิชาการและปัญญาชนมาตลอด

สำหรับประเด็นที่มักกล่าวกันว่า ไม่มีคนวิพากษ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นั้น รศ.ดร.พวงทองบอกว่า ไม่จริง! เพราะมีคนวิจารณ์ผลงานเยอะ แต่ถามว่ามีคนล้มสิ่งที่ อ.นิธิ เสนอได้ไหม ไม่เคยได้ยิน

“อาจารย์นิธิวิพากษ์บทบาทของนักวิชาการมาตลอดตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 รวมถึงงานเขียนยุคปัจจุบัน มีบทความหลายชิ้นวิพากษ์ปัญญาชน วิพากษ์หอคอยงาช้าง ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยมองว่าปัญญาชนมีส่วนด้วย เพราะไม่ได้ถามคำถามที่ควรถาม หน้าที่ของปัญญาชนคือการถามคำถาม และตอบคำถามใหม่ๆ ให้สังคม ไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่มีหน้าที่รับใช้อำนาจรัฐ แสวงหาลาภยศสรรเสริญ” อาจารย์รัฐศาสตร์กล่าว พร้อมระบุว่า อาจารย์นิธิก็ไม่เคยรับใช้ผู้มีอำนาจ และยังมองว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2549 กระฎุมพีไทยซึ่งเป็นเหรียญอีกด้านของปัญญาชน ไม่มีจุดยืนทางการเมือง ไม่มีหลักการ ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย กลัวตัวเองเสียผลประโยชน์ ชอบบอกว่าตัวเองรักชาติ แต่เป็นชาติที่มองคนไม่เท่ากัน คิดว่าตัวเองฉลาดที่สุด และอยากเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงอำมาตย์

“อาจารย์นิธิวิพากษ์ปัญญาชนไทยอย่างมากตั้งแต่ปี 49 ปัญญาชนเหล่านั้น ท่านก็รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ยังวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา อาจารย์เป็นคนไทยที่ไม่ไทยเลย ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่รักชาติ แต่ต่างจากความรักชาติกระแสหลัก ตั้งคำถามระเบียบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ความไม่ไทยของอาจารย์นิธิสะท้อนจากการปฏิบัติส่วนตัว โดยให้เกียรติคนที่เด็กกว่า ไม่เป็นประธานหัวโต๊ะ แต่นั่งคุย ถกเถียง ไม่รอคนเสิร์ฟน้ำ นี่คือความประทับใจ

ที่ผ่านมาอาจารย์วิพากษ์ปัญญาชนโดยมองว่าโลเล ไม่มีหลักการ แต่ขณะนี้เราเริ่มมีความหวังต่อคนรุ่นใหม่ที่ต่อกรกับอำนาจนิยม คำถามคือจะฝากความหวังได้ไหม ดิฉันไม่มีคำตอบขาวดำว่าหวังเต็มเปี่ยมหรือไม่หวังเลย ถ้ากลับไปใช้กรอบคิดแบบอาจารย์นิธิ ซึ่งมองว่า แต่ละชนชั้นมีเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ในขณะที่คนเดือนตุลา พันธมิตร กปปส. สร้างตัวภายใต้อำนาจนิยม แต่กระฎุมพีใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ในขณะนี้โตมาต่างจากกระฎุมพีรุ่นเก่า” รศ.ดร.พวงทองกล่าว และฝากว่า

ในระยะยาว กระฎุมพีรุ่นใหม่จะกลายเป็นพลังที่ต่อสู้เพื่อพลังที่เท่าเทียมได้หรือไม่ จะสลัดพ้นจากเครือข่ายอำนาจนิยมได้ไหมนี่คือคำถามที่ท้าทาย

“อยากให้สังคมไทย เป็นสังคมที่ระบบที่สามารถจัดการตัวเอง จัดการปัญหาต่างๆ และพูดถึงปัญหาใหม่ๆ โลกของเราทุกวันนี้ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อัตลักษณ์ ชีวิตคน แอลจีบีที แต่สังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพูดกันเรื่องที่พื้นฐานมาก เช่น คนเท่ากันหรือเปล่า เลือกตั้งดีหรือไม่ จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรข้ามพ้นไปได้แล้ว แต่สังคมไทยไปต่อไม่ได้ เหมือนอยู่กับที่ และถอยหลังเสียอีก” รศ.ดร.พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

53-57 จาก ‘ส่งสัญญาณ’ ถึงคำถามสำคัญ

มาถึงบุคคลที่ ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ ผู้ดำเนินรายการ ระบุว่า นอกจากไม่เอาต์ แล้วยังฮอต อย่าง ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ผู้เริ่มต้นด้วยการออกตัวว่า ตนไม่ได้ฝึกมาในทางวิชาประวัติศาสตร์ แต่ฝึกมาในทางนิติศาสตร์ เวลาอ่านงานประวัติศาสตร์ จึงอ่านแบบมือสมัครเล่นและผู้สังเกตการณ์ ย้อนไปตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษารั้วธรรมศาสตร์เวลานั่งรถไฟไปลงสถานีเชียงราก และขานั่งรถเมล์กลับมายังท่าพระจันทร์ ก็อ่านบทความของอาจารย์นิธิในมติชนสุดสัปดาห์ที่ต้องซื้อตลอด

ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล

“งานชุดที่อาจารย์นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในความคิดของท่านในแต่ละช่วงสมัยทั้งในมิติทางการเมืองและสังคมซึ่งในหลังปี 53 จนถึงปัจจุบันที่ยังเป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทย จะพบว่าในช่วงปี 53 ถึงรัฐประหาร 57 บทความหลายชิ้นพยายามสื่อสารด้วยความหวังว่ายังมีโอกาสที่จะหาฉันทามติ เปลี่ยนแปลงอย่างสันติได้ จะเห็นว่าท่านต้องการส่งสัญญาณถึงกลุ่มอนุรักษนิยม ส่งสัญญาณถึงพรรคการเมือง และนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ว่าต้องปฏิรูปอะไร แต่หลังเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 57 โดย คสช. ทิศทางบทความเริ่มเปลี่ยนไปโดยมีการตั้งคำถาม มีความ radical มากขึ้น

ในฐานะถูกฝึกมาทางสายกฎหมาย จะขอพูดในสิ่งที่สนใจ คืองานที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี 34 เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม งานชิ้นนี้ความสำคัญคือ อาจารย์นิธิพยายามอธิบายว่าทำไมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงฉีกง่าย ทั้งที่ตามหลักการแล้ว ใครฉีกมีความผิดอาญา ฐานกบฏต่อราชอาณาจักร โทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญไทยถูกฉีกบ่อยมาก จนวันนี้ 20 ฉบับมีการเปลี่ยนแปลงแบบอารยชนทำกันแค่ 3 ครั้ง คือ 2475, 2489, 2534 และ 2540

อาจารย์นิธิพูดถึงวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทยซึ่งมันฝังอยู่ตลอด ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรแต่รู้กัน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมซึ่งแม้ว่าจะเขียนลายลักษณ์อักษรเป็นแบบใดก็ไปเปลี่ยนไม่ได้” ผศ.ดร.ปิยบุตรกล่าว

เมื่อ ‘อนุรักษนิยม’ เสื่อมมนต์สะกด
‘คำถามคือ ต่อไปจะเอาอย่างไร?’

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘ครูของครู’ เปิดบทสนทนาด้วยคำกล่าวทรงพลังและเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์เช่นเคย

ต่อคำถามที่ว่า งานเขียนใดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ไม่เคยเอาต์ ทรงคุณค่าและทันสมัยตลอด

ศาสตราจารย์ ดร.เกษียรบอกว่า ‘ตอบยาก’ เพราะบางที่คิดว่าชิ้นนี้ ใช่ แต่พออีกสัปดาห์หนึ่ง มีชิ้นที่ดีกว่าอีก

“ในหมู่ปัญญาชนไทย ที่ผมอ่านแล้วนึกไม่ถึง หรือนึกไม่ออก และตื่นเต้นตลอดเวลาว่าจะพาเราไปไหน อาจารย์นิธิมีพลังในการพาเราไปในที่ที่เราไม่เคยไป พาให้เราคิดในสิ่งที่เราไม่เคยคิด พาเราไปมอง ในมุมที่เราไม่เคยมอง”

กีรตยาจารย์รั้วแม่โดมกล่าวด้วยว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ ผลงานของอาจารย์นิธิไม่ต่ำกว่า 5-6 ชิ้น หรืออาจถึง 10 ชิ้น ที่เผยแพร่ต่างกรรมต่างวาระกันในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญญาชนอนุรักษนิยมล้วนมีข้อเสนอหลัก คือ ปัญญาชนอนุรักษนิยมหมดยุคสมัยแล้ว ข้อคิดไม่ตอบโจทย์ปัจจุบัน นับวันหมดพลังลงไปเรื่อยๆ เมื่ออนุรักษนิยมหมดพลัง สิ่งที่เคยกลมกลืนเริ่มปริรั่ว คำถามคือ ต่อไปจะเอาอย่างไร

ดร.เกษียร เตชะพีระ

“โจทย์ที่โอลด์แต่ไม่เอาต์ คือ เมื่อเผชิญหน้ากับความทันสมัยของตะวันตกที่เข้ามา คิดถึงในแง่การเมือง ประชาธิปไตย ในแง่เศรษฐกิจ ทุนนิยม ในแง่วัฒนธรรม เน้นไปที่วิธีคิดแบบปัจเจกนิยม จะปรับ จะสะกดให้ยอมรับระเบียบอำนาจไทยอย่างไร จะสะกด จะปรับให้ความทันสมัยที่ไหลเข้ามาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมให้สยบหรือยอมอยู่กับระเบียบหรือวิถีอำนาจไทยซึ่งมีการรวมศูนย์และเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ภาษาโบราณ เหลื่อมล้ำ ก็คือ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย อำนาจไทยแต่เดิมเป็นอย่างนี้ ประเด็นเรื่องอุปถัมภ์คือวิธีการที่ระเบียบอำนาจไทยจะสะกดอย่างไรให้ยอมรับอำนาจแบบไทยๆ ข้อเสนอของอาจารย์นิธิ หลัง คสช.ยึดอำนาจ คือ มันไม่เวิร์กแล้ว”

ศาสตราจารย์ ดร.เกษียรย้ำว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากสูตรสะกดความเปลี่ยนแปลงแบบตะวันตกโดยกลุ่มอนุรักษนิยมไทยเคยสะกดประชาธิปไตยแบบตะวันตกเอาไว้ ใช้ความเป็นไทยสะกดปัจเจกนิยมแต่ทุกวันนี้สะกดไม่ได้ สะกดไม่อยู่ เพราะฉะนั้นเหลือแต่เครื่องมือคือกำลังอำนาจ ได้แก่ กฎหมาย และกำลังบังคับ จะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ คสช.ขึ้นมา การใช้กฎหมายแบบบังคับและการใช้กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการที่คนจะยอมอยู่ใต้ส่วนผสมเดิมที่สะกดอยู่มันหมดมนต์ขลังแล้ว จึงเหลือวิธีน้อยมากในการทำให้ยอมเลยต้องบังคับ

สำหรับการปฏิรูป ถ้าเป็นไปได้ควรมีการปฏิรูปจากเบื้องล่าง เพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วงชิงอำนาจนำ รอรัฐล้มเหลว ซึ่งก็เกือบล้มเหลวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ได้กองกำลังหมอมาช่วย ในการปฏิรูป ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ปฏิรูปไม่ได้หากชนชั้นนำไม่ร่วมมือ เท่าที่เห็นมาชนชั้นนำชุดนี้ไม่ปฏิรูป ดังนั้น ช่องทางจึงเหลือน้อย

บรรยากาศวงเสวนา ‘Old แต่ไม่ Out สังคมไทยไปต่ออย่างไรในความ (ไม่) ใหม่’

“รัฐทันสมัย เรียกว่ารัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยคือลบทุกอย่าง ไม่เหลือความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเป็นปัจเจกเหมือนกันหมด การสร้างเสรีประชาธิปไตยแบบปกติที่ตะวันตกทำ ผ่านกระบวนการที่เจ็บปวด คือ ทำให้ทุกคนยอมรับว่าเป็นแค่ปัจเจกบุคคลคนเดียวแล้วสัมพันธ์กับรัฐ รัฐบังคับใช้อำนาจกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งน่ากลัวมาก หากเป็นผู้ที่มีอะไรจะเสีย” ศ.ดร.เกษียรกล่าว

เป็นบทสนทนา ‘ลับหลัง’ ที่เข้มข้นควรค่าแปดทศวรรษปัญญาชนคนสำคัญของไทย นามนิธิ เอียวศรีวงศ์


ชิ้นเอก ‘ปากไก่และใบเรือ’

ฉายภาพเปลี่ยนผ่านสังคมไทย

ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล

ท่ามกลางผลงานมากมายนับไม่ถ้วนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ หนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่ถูกเอ่ยถึงไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ ‘ปากไก่และใบเรือ’ ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล อาจารย์ประจำ หลักสูตรอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวนำก่อนเข้าสู่เสวนา ‘Old แต่ไม่ Out สังคมไทยไปต่ออย่างไรในความ (ไม่) ใหม่’ ตอนหนึ่งว่า อาจารย์นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์รุ่นแรกๆ ในวงวิชาการไทยที่ไปจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คือ ม.มิชิแกน สหรัฐอเมริกา ตลอดเวลาเกือบ 40 ปีตั้งแต่ราว พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน นักวิชาการไทย ต้องพูดถึงและอธิบายว่างานของ อาจารย์นิธิ เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับงานของตัวเองอย่างไรไม่มากก็น้อย ช่วงเวลาที่ผลิตงานประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นคือ ทศวรรษที่ 2520 แต่ละชิ้นมีข้อเสนอเฉพาะของตัวเองอยู่ ในบางชิ้นก็มีวิธีการศึกษาที่อาจารย์นิธิสร้างขึ้นมาเฉพาะของงานชิ้นนั้น สำหรับผลงานสำคัญคือ ปากไก่และใบเรือ ซึ่งตนมองว่าเป็นการถูกต้องกว่า ถ้าเราจะอธิบายงานชิ้นนี้บนกรอบของการอธิบายเรื่องการเปลี่ยนผ่านของสังคมก่อนสมัยใหม่ มาสู่สังคมสมัยใหม่

“ปากไก่และใบเรือเป็นงานรวมบทความหลายชิ้นที่ผลิตขึ้นระหว่าง 2523-2525 เนื้อหาคือความพยายามที่จะอธิบายหรือเสนอว่าสังคมไทยเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญทางภูมิปัญญาตั้งแต่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อเสนอแบบนี้สำคัญอย่างไร ในขณะที่งานวิชาการฝ่ายซ้ายหรืองานวิชาการทั่วไป มักจะอธิบายว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย เริ่มต้นเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ถ้าพูดแบบอนุรักษนิยม ก็จะบอกว่า สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงรับความคิดสมัยใหม่เข้ามา แต่อาจารย์นิธิพยายามสร้างความเข้าใจใหม่ด้วยการย้อนถอยไปสู่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งในภาพความเข้าใจเดิม ต้นรัตนโกสินทร์ก็คืออยุธยา เป็นสังคมแบบจารีต เป็นสังคมเกษตรกรรม

ผลงานชิ้นนี้ใช้หลักฐานมากกว่างานวรรณกรรม ผมมองว่าอาจารย์นิธิพยายามที่สร้างชุดคำอธิบายให้มากไปกว่าแค่การอธิบายว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เป็นคำอธิบายใหญ่ที่จะท้าทายต่อความคิดทฤษฎีการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสมัยใหม่ในสังคมไทยที่แต่เดิมมักปักหลักการเปลี่ยนผ่านไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4

สิ่งที่อาจารย์นิธิยืนยันในผลงานชิ้นนั้นคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาอย่างสำคัญ ที่จะทำให้ชนชั้นนำสยามซึ่งประกอบด้วยชนชั้นศักดินาและพ่อค้าจีนที่รวมตัวกันจนเกิดสำนึกซึ่งเรียกว่า โลกทัศน์กระฎุมพี ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อรูปความคิดของชนชั้นนำไทยให้มีความพร้อมที่จะเปิดรับการเข้ามาของชาติจักรวรรดินิยมตะวันตก”

  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image