(คน) ดนตรีไทย ขนบเก่า ในโลกใหม่ ความท้าทายแห่งยุคนิวนอร์มอล

นาทีนี้ใครๆ ก็พูดถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคระบาด “โควิด-19” ขึ้นในโลกใบนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มแปรเปลี่ยน กระทั่ง “นิว นอร์มอล” ที่เคยเป็นศัพท์ใหม่กลับไม่ใหม่เสียแล้ว

ดนตรีไทยในวันที่โลกเปลี่ยน จึงกลายมาเป็นหัวข้อการพูดคุยใน “สุริยวาฑิตเสวนา ครั้งที่ 4” โดย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

เชิญชวนเจ้าของวงปี่พาทย์ภาคประชาชน นักดนตรีไทยจากภาครัฐ ครูในระบบราชการ ครูพิเศษจากพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนช่างเครื่องดนตรีไทย แลกเปลี่ยนทรรศนะในประเด็นเส้นทางต่างอาชีพดนตรีไทย ทางลัดถึงเป้าหมายความสำเร็จ ไปจนถึงการปรับตัวกับสังคมผู้บริโภค

เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม คนดนตรีไทยอยู่กันอย่างไร?

Advertisement

ปี่พาทย์ไทยในวัน‘คลายล็อก’ เพลงพิธีกรรมที่ไม่ละทิ้ง

“ศิลปินไส้แห้ง” ประโยคคุ้นหูที่บ้างก็ว่าจริง บ้างก็ว่าไม่ ทว่า ร.ต.ต.วีรกานต์ บัวหลวง เจ้าของวงปี่พาทย์ภาคประชาชน วง “บ้านบัวหลวง” จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าถึงยุครุ่งโรจน์ที่วงปี่พาทย์มีงานแสดงแทบตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดโรคระบาด “โควิด-19” ขึ้นมา งานจ้าง หรืออีเวนต์ต่างๆ ที่มีกำหนดจัดขึ้นก็จำเป็นต้องเลื่อนออก หรือยกเลิกทันที

นับว่าโชคดีที่วันนี้สถานการณ์แพร่ระบาดดีขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนให้เปิดสถานที่ อนุญาตให้จัดกิจกรรมหลากหลายประเภทได้

ร.ต.ต.วีรกานต์ บัวหลวง

ร.ต.ต.วีรกานต์เปิดเผยว่า ช่วงโควิดทำให้งานเกือบทั้งหมดถูกยกเลิก นักดนตรีขาดรายได้ โดยนักดนตรีกว่าครึ่งของวงบ้านบัวหลวงมีอาชีพรับราชการ ทำให้มีเงินเดือนจากส่วนนี้อยู่ แต่ที่เหลือจำเป็นต้องหากิจกรรมอื่นๆ ทำ ซึ่งที่บ้านมีการผลิตเครื่องหนัง ลูกน้องอยู่ได้จากการผลิตเครื่องหนังบ้าง แต่จำนวนการผลิตก็ลดลงครึ่งต่อครึ่ง สำหรับ “บ้านบัวหลวง” เอง โดดเด่นด้วย “ความแน่น” ไม่ละทิ้งเพลงพิธีกรรมและเพลงประโคม พร้อมเสริมสิ่งอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ฉะนั้น ภายหลังจากปลดล็อกแล้วจึงเริ่มมีงานบ้าง จากเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ มีงานเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงเกิดการระบาด

Advertisement

“เฉพาะอยุธยามีวงปี่พาทย์เยอะมาก ประมาณ 60 วง ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จะทำอย่างไร จึงรวมตัวกันเพื่อจะเข้าไปคุยกับวัฒนธรรมจังหวัด กับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่บังเอิญว่าหมดโควิดพอดี ตอนนี้ดนตรีไทย ปี่พาทย์เล่นได้แล้ว แต่บางวัด หรือเจ้าภาพก็ยังไม่หา เช่น งานสวดพระอภิธรรมศพเริ่มสวดเร็วขึ้น เลิกเร็วขึ้น ดังนั้น เจ้าภาพจึงคิดว่าไม่จำเป็น จึงงดจ้างการแสดง

“ก่อนหน้านี้สถานการณ์ปี่พาทย์หลายๆ วง โดยเฉลี่ยทุกวงมีงานแทบตลอด โดยเฉพาะในแถบภาคกลาง อาทิ อยุธยา สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง กาญจนบุรี ยังนิยมจ้างวงปี่พาทย์มอญอยู่ ทั้งงานศพ งานประเพณี งานมงคล บางครั้งเรามีงาน 7 วันติดกัน หรือบางงานจัดงาน 7 วัน โดยใช้ปี่พาทย์มอญบรรเลงตลอด ตั้งแต่พิธีรดน้ำศพ หรือบางช่วงหนึ่งสัปดาห์มี 1-2 งานก็พออยู่ได้แล้ว ลูกทีมมีเงินเพียงพอใช้ชีวิต แต่ไม่ถึงขนาดมั่งมีหรือรวยจนเกินไป บางคนบอกว่าอาชีพนักดนตรีทำให้มีงานราชการ หรืออีกหลายๆ คนก็บอกว่าปี่พาทย์ทำให้มีงานที่มั่นคง

“ซึ่งผมก็ยืนยันว่าเราอยู่ได้จากการเล่นดนตรีไทย”

เมื่อ ‘งานหลวง’ ไม่พอกิน ‘วงชาวบ้าน’ คือตัวช่วย

ขณะที่ จ่าโท ธีรภัทร บุญจิตติ หรือ จ่าเอ็ม ศิษย์เก่า มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา สาขาดนตรีไทยเพื่อการอาชีพ (ชื่อหลักสูตรเดิม) เป็นผู้สนใจเล่าเรียนด้านดนตรีเพื่อเป็นศิลปินในอนาคต ปัจจุบันเป็นนักดนตรีสังกัดหมวดดนตรีไทย แผนกดนตรี กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ

จ่าโทธีรภัทรเล่าถึงอาชีพนักดนตรีจากภาครัฐที่เขายอมรับตรงๆ ว่า เงินเดือนราชการไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรับงานจ้างเพิ่มเติม เนื่องจากตำแหน่งงานปัจจุบันนี้ใช้ฐานเงินเดือนที่อิงกับวุฒิการศึกษา หรือ ม.6 ทว่า การเป็นทหารกองดุริยางค์ได้เสริมสร้างความมีระเบียบวินัยที่แม้นักดนตรีทั่วไปจำเป็นต้องมีอยู่แล้ว แต่หากเพิ่มเติมเรื่องนี้ยิ่งขึ้นก็ช่วยให้ฝีมือการแสดงเป็นที่เตะตา ถูกใจใครได้มากมาย

จ่าโทธีรภัทร บุญจิตติ

“ชีวิตประจำวันของงานราชการคือการออกไปเล่นงานหลวง เช่น งานบวงสรวง วางศิลาฤกษ์ และงานสวัสดิการ เช่น ลูกคนนั้นบวช คนนี้แต่งงาน คนเสียชีวิต ซึ่งก็แล้วแต่หน่วยงานขอมา หากประชาชนทั่วไปสนใจกองดุริยางค์ทหารเรือสามารถติดต่อผ่านหัวหน้าหน่วยใหญ่คือฐานทัพเรือกรุงเทพได้ทันที

“ยอมรับว่าเงินเดือนนักดนตรีราชการแต่ละเดือนไม่พอ ต้องอาศัยงานนอกราชการอย่างการไปทำวงชาวบ้าน แต่ข้อเสียคือ ถ้ามีงานหลวงมาเราจำเป็นต้องรับงานหลวงก่อน ทำให้คนจ้างงานไม่สะดวกใจจ้างวงดนตรี ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเข้าใจว่าการสอบเข้าตำแหน่งงานนี้ใช้วุฒิการศึกษา ม.6 จึงได้รับเงินเดือน ม.6 ด้วย

“ผู้สนใจอยากเป็นนักดนตรีของภาคราชการ โดยปกติแต่ละหน่วยมีการเปิดสอบเป็นประจำ แต่อาจไม่ได้เปิดทุกปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งว่าง ระหว่างนั้นก็ควรเตรียมตัวด้วยการฝึกซ้อม รอวันเปิดสอบแข่งขัน สิ่งที่สอบคือวิชาความรู้ทั่วไป ทฤษฎี สอบปฏิบัติ และสอบสัมภาษณ์ ส่วนใครที่มีฝีมือ เป็นที่รู้จักของวงการหรือหน่วยงาน ไม่แปลกถ้าจะมีคนเข้าไปทาบทามไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่จะเป็นลักษณะการชวนไปสอบ ไม่ใช่ว่าสอบแล้วเข้าทำงานได้เลย คุณก็ต้องไปสอบแข่งขันอีก”

สำหรับข้อแนะนำถึงเด็กรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาหลักสูตรศิลปิน จ่าเอ็มฝากไว้สั้นๆ ว่า ควรหมั่นฝึกซ้อมและเพิ่มเติมความรู้

“เพราะฝีมือเป็นใบเบิกทาง ส่วนความรู้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เดือดร้อน”

เด็กนั่งพื้น ครูก็นั่งพื้น
ทำตัว‘สูงกว่า’สยบความคิดสร้างสรรค์

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองนิยมให้ลูกหลาน “เรียนพิเศษ” ทั้งวิชาการและอื่นๆ เพื่อเสริมทักษะชีวิต ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออกไปในตัว

“วิชาดนตรี” คือศาสตร์หนึ่งที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะดนตรีสากลหรือดนตรีไทย โดย กันต์ อัศวเสนา อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย ศูนย์ศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป สาขาสยามพารากอน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ตัวแทนครูสอนพิเศษในพื้นที่เศรษฐกิจ สะท้อนประเด็นนี้ให้ฟังว่า การเรียนดนตรีช่วยเรื่องการฝึกความจำ ฝึกสมาธิ ฝึกการเข้าสังคม เช่น การเข้าวงดนตรี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะแวดล้อมเพื่อให้เด็กพัฒนาในวิชาชีพอื่นๆ ที่ต้องการในอนาคต

ด้วยพื้นที่การสอนคือใจกลางเมือง หรือพื้นที่เศรษฐกิจนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องคำนึงถึง “พลัง” หรือ “ข้อดี” ของดนตรีไทยให้สามารถตอบสนองสังคม วัฒนธรรมของสยามพารากอนได้

กันต์ อัศวเสนา


“ผมเรียนดนตรีไทยมาแบบขนบ ผ่านระบบมหาวิทยาลัย ระบบสำนักดนตรีมาก่อน แต่พอมาอยู่ในพื้นที่ที่สังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนก็ต้องปรับตัว เช่น การเรียนดนตรีเริ่มจากต้องนั่งสบาย ไม่นั่งพื้น แต่ถ้าเด็กนั่งพื้น อาจารย์ก็นั่งลงไปที่พื้นด้วย สิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตใจคนเรียน เนื่องจากสังคมทุนนิยมค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ถ้าทำตัวสูงกว่านักเรียน เขาอาจกลัว หรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นดนตรีได้

“ส่วนเรื่องเพลงมักเริ่มจากเพลงชินหู เพื่อให้ชินโน้ต จากนั้นค่อยเพิ่มทำนองเพลงไทยเข้าไป พอเริ่มเห็นความงามของทำนองเพลงไทย จังหวะไทย ก็ค่อยๆ ใส่ตามหลักสูตรของโรงเรียน คือเน้นเพลงไทยเดิมเป็นหลัก จะเรียกว่าป้อนขนมหวานก่อนก็ได้ คือเราจูนผู้เรียนก่อน เอาตัวของเราไปสัมผัสกับผู้เรียนก่อนว่าเขาชอบหรือถนัดอะไร จากนั้นก็ดึงผู้เรียนกลับมาตรงกลาง สัมผัสกับวัฒนธรรมไทย ที่สำคัญคือต้องให้เขาเห็นความงามของดนตรีไทย เมื่อนั้นเขาจะติดใจ และชอบเรียนเพลงไทย”

แม่นทฤษฎี แต่ตี‘โหมโรงเย็น’ไม่ได้
ปัญหาใหญ่ในระบบ‘สอบราชการ’

สำหรับใครที่เรียนสายดนตรี หรืออื่นๆ มา แต่ห่วงว่าอนาคตจะสามารถเป็นข้าราชการ “ครู” ได้ไหม บอกเลยว่าไม่ต้องกังวล

ปัจจุบันนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ แต่อยากเป็นครู สามารถเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูที่คุรุสภาสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนได้ เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะสอบภาค ก และภาค ข กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อเป็นครูต่อไป

ในวงเสวนาวันนั้น นิรุตติ์ หนักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอำเภอปากพลี (ชุมชนบ้านเกาะหวาย) จ.นครนายก ออกมาแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวอย่างน่าสนใจว่า ในอดีตเคยเป็นครูดนตรีมาก่อนประมาณ 6 ปี 6 เดือน ก่อนจะสอบเปลี่ยนตำแหน่ง กระทั่งปัจจุบันนี้เป็น ผอ. เขาย้ำว่าครูดนตรีไทยมีเส้นทางเติบโตทางราชการได้ดีกว่ายุคก่อน ไม่ว่าจะตำแหน่ง หรือปากท้อง ซึ่งหมายถึงเงินเดือน

นิรุตติ์ หนักเพ็ชร์

“ที่บอกว่านักดนตรีไส้แห้งก็อาจจริงดังว่า เพราะเงินน้อย เราต้องหากินด้วยเสียงเพลง ซึ่งบางคนชอบ บางคนก็ไม่ชอบ ผมมีลูกศิษย์มากมายที่เลือกเรียนศิลปิน ไม่ได้เรียนครู สุดท้ายช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 มาคิดว่าถ้าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร เขากลับใจไม่ทันแล้ว เพราะเวลาผ่านมาแล้ว ก็ต้องเรียนต่อไป ซึ่ง ศธ.โดยรัฐมนตรีไม่นานมานี้มองว่าประสิทธิภาพเด็กที่เรียนศิลปิน หรือวิชาชีพเฉพาะทาง เก่งไม่แพ้เด็กที่เรียนครู จึงเปิดทางให้คนเหล่านี้เปิดสอบรับตั๋วครู สำหรับใช้สอบบรรจุข้าราชการได้

“อนาคตทางดนตรีสดใสอยู่แล้ว เพราะตอนนี้อดีตรองนายกฯมีนโยบายดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ตามโรงเรียน ทำให้วิชาชีพครูดนตรียังฟู่ฟ่าอยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่าการผลิตครู ณ ตอนนี้ต้องอิงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล หน่วยงานครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ต้องการอะไร ตอนนี้บูมเรื่องอะไรก็ผลิตแบบนั้น เด็กก็ไม่ตกงาน แต่ถ้าหลับหูหลับตาผลิตตามยถากรรม เด็กเรียนจบก็ลอยแพ”

ทว่า ในการสอบราชการเองก็มีส่วนทำให้ดนตรีไทยถดถอย เพราะการสอบบรรจุไม่มีภาคปฏิบัติ ไม่แปลกที่ครูดนตรีบางคนจะแม่นทฤษฎี แต่ตีเพลงโหมโรงเย็นไม่ได้

“ในระบบราชการครูนั้น ความสามารถทางเครื่องดนตรีไม่ต้องใช้เลย จุดนี้อาจทำให้ดนตรีไทยถดถอย เพราะการสอบบรรจุไม่มีการสอบปฏิบัติ ต่างจากสมัยก่อน คราวนี้เราจะได้นักทฤษฎีหรือนักจำไปอยู่ในระบบ ผมเองเป็นกรรมการสอบ บางทีครูดนตรียังตีเพลงโหมโรงเย็นไม่ได้เลย แต่ได้เป็นข้าราชการ บางคนเชี่ยวชาญสนามรบมาก แต่สอบราชการไม่ได้”

เป็น ‘ช่าง’ ได้ ‘งานขาย’ ก็ต้องเชี่ยวชาญ
มองรอบด้านคือความอยู่รอด

ในแวดวงเครื่องสาย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “ช่างโจ” ศุภาพล ไทรวิมาน เจ้าของโรงงานสร้างจะเข้ ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องบริการหลังการขาย ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ผนวกกับเป็นคนมีจินตนาการเพ้อฝัน แต่ต้องทำให้เป็นจริงได้ ดังนั้น คติในการทำงานของช่างโจจึงเป็นการสร้างจะเข้ให้เสียงมีมิติ ฟังแล้วเกิดความเคลิบเคลิ้ม สามารถเกิดบรรยากาศร่วม เล่นแล้วมีความสุข และสำหรับอาชีพช่างแล้ว เขามองว่า “ใครก็เป็นได้”

ช่างโจ ศุภาพล ไทรวิมาน

“ผมว่าเราขายผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ถ้าเป็นจะเข้เราจะปั้นเสียงให้มีมิติ ฟังแล้วอบอุ่น คล้อยตาม เล่นแล้วมีความสุข ถ้าทำได้แบบนี้แล้วเชื่อว่าก็สามารถปลูกตลาดได้ ทำให้คนหันมาใช้บริการ ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากการฟังก่อน พอฟังแล้วเริ่มสะสมคลิปที่เปิดฟัง หนักเข้าอยากลองจับเครื่องดนตรี พอมากเข้าก็อยากหาที่สอน บางคนติดต่อผมให้ช่วยหาคนสอน ซึ่งอันที่จริงคนที่มีจะเข้หลายคนเล่นเป็น แต่วางทิ้งไว้ จริงๆ ต้องซ้อม กล้ามเนื้อมือต้องดี ทำให้มืออาจด้านบ้าง แต่ถ้าเล่นแล้วไม่ประทับใจก็เหนื่อยแรงเขา พอเอาเครื่องมาซ่อมทีเดียว ถ้าทำแล้วดีก็ถือว่าการลงทุนของเขาคุ้มค่า

“ช่วงโควิดเรายังมีงานอยู่ ช่างไม่ได้หยุด คิดว่าถ้าเราเป็นเหมือนทั่วไปก็ไม่น่าจะอยู่รอด แต่สินค้าและบริการของเราอยู่อีกระดับหนึ่ง ทำให้คนเลือกมาหา พอมีโควิด คนอยู่บ้าน ที่บ้านมีจะเข้แต่เสียเขาก็ขนมาซ่อม

“สำหรับผมทุกคนเป็นช่างได้หมด แต่ผมชอบมองในแง่นักธุรกิจ เพราะคนเป็นช่างต้องมีมุมมองการเป็นผู้ผลิต โดยการผลิตนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญและมีวิชาในการสร้างชิ้นงานให้ตรงวัตถุประสงค์ของตลาดมากที่สุด รวมทั้งเรื่องการตลาด ทำมาแล้วต้องขายได้ ต้องรู้จักว่าทำอย่างไรให้สินค้าตัวเองถูกตลาด ถ้าไม่ถูกตลาดต้องทำอย่างไร หรือเมื่อได้เงินมาแล้วจะใช้อย่างไร ทำคนเดียวไหวไหม หรือต้องหาคนช่วย
สะสมทั้งช่างและเครื่องมือ ดูแลกันอย่างดี ดังนั้น ต้องมองให้ครบทุกด้านถึงจะรอดจริงๆ”

เหล่านี้ล้วนเป็นมุมมอง “คนดนตรีไทย” ในหลากหลายอาชีพ สะท้อนถึงการทำงานที่สร้างความอยู่รอด มั่นคง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะหมุนไปเร็วแค่ไหนก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image