ลาแล้ว ‘สกาลา’ สัมผัสสุดท้ายใน 51 ปี แห่งความทรงจำ

ลาแล้ว ‘สกาลา’ สัมผัสสุดท้ายใน 51 ปี แห่งความทรงจำ

หากพูดถึง “สยามสแควร์” คุณนึกถึงอะไร?

สำหรับผู้เขียน ที่นี่ คือ “สถานบ่งชี้ความทันสมัยแห่งสยาม” ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนกวดวิชา ร้านรวงให้จับจ่ายใช้สอย ย่านวัยรุ่นเดินเล่น แหล่งของแมวมองหาดาวรุ่งถ่ายแบบนิตยสาร ร่วมวงการจอแก้ว

ไม่ว่าจะวัยไหน ผ่านมากี่ยุคสมัย จะเดินหรือนั่งรถโดยสาร เมื่อผ่านสยามสแควร์ก็มักจะสะดุดตากับป้ายอาคารที่มีชื่อว่า สกาลา และแผ่นป้ายสีขาว ที่ปิดชื่อเรื่องและวันฉายด้วยตัวอักษรสีแดงเด่นชัด

นี่คือโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ที่มีรสนิยมเฉพาะ ด้วยเสาะหาภาพยนตร์คลาสสิก ทรงคุณค่าหาชมได้ยากจากทั่วทุกมุมโลกมาฉายให้คนไทยได้เห็นอีกด้านของงาน “โสตทัศนศิลป์”

Advertisement

น่าเสียดาย 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อความสุดท้ายที่เห็นเป็นคำว่า FINAL TOUCH OF MEMORY

นี่คือวันอำลา คือวันสุดท้ายที่คนไทยจะได้เห็นแสงไฟบนป้ายนี้ แต่สำหรับบางคน นี่คือการปิดฉากสรวงสวรรค์ของคนรักหนัง

ผู้คนหลายเชื้อชาตินับพันหลั่งไหลมาร่วมเก็บความทรงจำครั้งสุดท้ายไม่ขาดสาย ตั้งแต่บ่ายล่วงเลยไปถึงเที่ยงคืน แม้ตั๋วภาพยนตร์กว่า 2,500 ใบ จาก 6 รอบฉายสุดท้าย จะจำหน่ายหมดไปก่อนหน้างานหลายวันแล้วก็ตาม

เพราะความโอ่โถงคลาสสิก สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของสกาลา ที่หาไม่ได้ในโรงหนังส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นหมุดหมายให้ใครก็อยากมาเก็บภาพความทรงจำสุดท้ายไว้

“เห็นคนเยอะๆ ก็เลยเดินเข้ามา ปกติไม่เคยมาดูหนังที่นี่ พอรู้ข่าวก็เสียดายที่จะปิดตัวลง เพราะที่นี่สวย คงความเก่าไว้ในสยาม เป็นจุดที่เด็กสยามจะต้องมาถ่ายรูป มีลิโด้อีกที่หนึ่ง ข้างในมันสวยมาก ยิ่งเข้ากับยุคสมัยนี้ด้วยที่คนหันมาเล่นกล้องฟิล์มกัน” จุฑาทิพย์ ไชยสุระ นักร้องสังกัดค่ายเพลงเลิฟอีส ในวัย 23 ปี เผย

 

หันไปทาง ศุจินธร แซ่อึ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชั้นปีที่ 4 ที่เดินมาถ่ายรูปด้วยแววตาสุดหม่น เมื่อเดินเข้าไปสอบถาม เพื่อนที่มาด้วยกันก็แอบกระซิบว่า “เขาชอบที่นี่มาก”

ศุจินธร แซ่อึ้ง

“หนูเห็นข่าวว่าจะปิดตั้งหลายรอบแล้ว แต่ตอนนี้ปิดจริงแล้ว หนูอยู่แถวนี้ ปกติเวลาผ่านมาก็เห็นเป็นเหมือนภาพจำอยู่ตลอด รู้สึกใจหาย เลยมาถ่ายรูปและเก็บความทรงจำไว้ เพราะมันเป็นสถานที่ที่ดูคลาสสิก วินเทจ หายาก ย้อนกลับไปยุคที่เราไม่มีโอกาสเห็น เสียดายสถาปัตยกรรม เพราะโรงหนังสมัยใหม่ไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบนี้แล้ว สถานที่อารมณ์นี้ก็มีบ้าง แต่ก็ไปไม่รอดสักราย ถ้าเปิดโอกาสก็น่าจะดี”

ที่น่าแปลกตา คือการปิดตัวลงของสกาลานี้ มีช่างภาพ สื่อมวลชน และคนหนุ่มสาวมาปักหลักเก็บภาพกันอย่างเนืองแน่น

สอบถามไปยัง รุจรินทร์ บุญช่วงโชติรัตน์ ช่างภาพอิสระ ในวัย 24 ปี ว่าเหตุใดจึงมาเก็บภาพที่นี่?

รุจรินทร์ บุญช่วงโชติรัตน์

“มันเป็นความทรงจำของพ่อกับแม่ ผมไม่รู้จักที่นี่ด้วยซ้ำ แต่มาเพราะจะเอารูปไปให้แกดู แกชอบหนีมาดูหนังด้วยกัน แม่ก็ถามมันยังเปิดอยู่หรอ เราก็บอกวันสุดท้ายแล้ว วันนี้เลยรีบมาตั้งแต่ 11 โมง ที่นี่มีมุมอับนะ ไม่ได้สวยไปหมด แต่มุมพวกนั้นมันแปลกดี”

เหลือบไปเห็นคู่รักรุ่นใหญ่จึงเข้าไปสอบถาม สุทัศนีย์ ไวยนิยา ในวัย 64 เล่าถึงความผูกพันที่มีต่อสถานที่แห่งนี้

“สมัยยังเด็ก มาดูหนังที่นี่ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงใหม่ๆ มี ‘สยาม ลิโด้ สกาลา’ ดูตั้งแต่สกาลาเปิด รู้สึกผูกพันกับโรงหนังทั้ง 3 โรงนี้ แต่จะดูที่นี่บ่อยมาก ถ้าพูดถึงความสวย สกาลาสวยที่สุด มีการออกแบบที่ดี มีส่วนเว้า ส่วนโค้ง พอเดินขึ้นมาแล้วเรารู้สึกว่า ดูอลังการมากในสมัยนั้น มันคลาสสิกกว่าโรงหนังสมัยใหม่ที่ไปดูแล้วก็ไม่รู้สึกว่าเราเข้ามาในที่ที่หรูหรา โอ่อ่า”

“ครั้งแรกมาดูกับคุณพ่อ เพราะยังเด็ก และก็มาดูกับน้องชาย ตั้งแต่เรียนเตรียมอุดมก็แอบหนีมาดูตอนเลิกเรียนก่อนกลับบ้าน พอโตขึ้นก็จะดูบ่อยหน่อย เข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เริ่มมาดูกับเพื่อน

สมัยนั้น จำได้ว่าตั๋วราคาต่ำสุด 10 บาท สูงสุด 30 บาท เคยมีหนังเรื่องหนึ่งที่อยากดูมากแต่มีเงินไม่เยอะ ยอมเสียค่าตั๋ว 30 บาท เรียกว่าแทบจะหมดตัว ต้องขึ้นรถเมล์กลับบ้าน

เมื่อถามว่ามีมาเดตกับหนุ่มๆ บ้างหรือไม่ สุทัศนีย์เผยพร้อมอมยิ้ม “มีสิ ธรรมดาอยู่แล้ว (หัวเราะ) มากับคนนี้นี่แหละ รักกันตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ อย่างว่าสมัยนั้นการเดตคือไปดูหนัง เวลารักกันใหม่ๆ เข้าโรงหนัง นั่งลับตาคนหน่อยก็แอบจับมือ (อมยิ้ม)

สุทัศนีย์-ธวัชชัย ไวยนิยา

ตอนหลังไม่ได้มาดูหนังที่นี่ ประมาณ 30 กว่าปีแล้ว จำภาพข้างในไม่ค่อยได้ วันนี้ก็เลยมาทวนความทรงจำอีกรอบหนึ่ง”

ด้าน ธวัชชัย ไวยนิยา ผู้เป็นสามี บอกว่า “ใจหายเหมือนกันนะครับ สมัยนั้นมันเป็นความแปลกใหม่ อย่างหลังคาทรงอ่างแบบนี้ เรียกว่าเป็นรุ่นแรกๆ ในเมืองไทย สมัยนั้นโคมไฟแชนเดอเลียร์ 3 แสน จำแม่นเลยเพราะเขาลงข่าว สั่งมาจากยุโรป ตอนนั้นคิดเล่นๆ น่าจะซื้อรถเบนซ์ได้ 3 คัน” ธวัชชัยเผย ก่อนจะกล่าวทิ้งท้าย

“ความจริงตั้งใจมาดู แต่ซื้อตั๋วไม่ทัน น่าเสียดาย ได้แต่มาเดินดูข้างนอก มาถ่ายรูปเก็บไว้”

คือบรรยากาศเสมือนงานอำลา

ก่อนที่ 22.00 น. พนักงานและผู้บริหารจะเดินมายังโถงบันได และนับถอยหลัง

10-9-8-7-6-5-4-3-2-1

ไฟทุกดวงที่ส่องไสว โคมไฟระย้าที่โถงบันไดถูกปิดลง


‘สรวงสวรรค์คนรักหนัง’
ย้าย ‘ชื่อ’ สู่โรงละคร สวนนงนุช

เพื่ออำลาโรงภาพยนตร์อันเป็นที่รัก “หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)” คัดสรรโปรแกรมภาพยนตร์ 4 เรื่อง La Scala ลา สกาลา เพื่อฉายปิดฉาก ประวัติศาสตร์ของสกาลา ที่ยืนยาวกว่า 51 ปี

คือหนังไทยและหนังเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์ ทั้งความรุ่งเรืองและความแตกดับ

เที่ยงฉาย Blow-Up หนังระทึกขวัญคลาสสิกของผู้กำกับชั้นครูชาวอิตาเลียน ต่อด้วยภาพยนตร์สารคดี ฝีมือคนไทย 2 เรื่องควบ ในรอบบ่ายสาม

The Scala ที่ว่าด้วยความรุ่งเรืองและร่วงโรยของการอุทิศตัวของคนทำงานในโรงหนังสกาลา และ นิรันดร์ราตรี ที่ถ่ายทอดชีวิตของพนักงานฉายหนังของโรงหนังที่จำต้องปิดตัว และถูกทุบทำลายลง

ก่อนจะปิดฉากในเวลาเย็นย่ำ กับ Cinema Paradiso หนังอิตาเลียนเรื่องดังสุดคลาสสิก เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่และเสน่ห์ตรึงตราของโรงภาพยนตร์


หลังจบ “เอนเครดิต” สิ้น “ฉากสุดท้าย” ผู้ชมลุกขึ้นยืนและปรบมือกึกก้อง

ก่อนที่ นันทา-กัมพล ตันสัจจา สองพี่น้อง ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ และสวนนงนุช จะขึ้นเวทีกล่าวทิ้งท้าย

“และแล้ววันนี้ก็มาถึง สกาลาได้มอบความสุขให้ทุกท่านมา 51 ปี มาวันนี้เราต้องจากไป แต่ขอให้เป็นการจากไปด้วยความสุขและความทรงจำ

สถาปัตยกรรมอันสวยงามของเรา ช่วยกันถ่ายรูปไว้เยอะๆ เพราะจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” นันทากล่าว

ด้าน กัมพล ตันสัจจา เผยความรู้สึก “คุณพ่อของผมตั้งใจสร้างสกาลาให้เป็นโรงที่สวยที่สุดในประเทศ มาวันนี้เราจะย้ายชื่อ ‘สกาลา’ ไปยังโรงละครของผมที่สวนนงนุช ที่พัทยา”

จากนั้นผู้บริหารและพนักงานยืนตั้งแถวเรียงราย รอกล่าวคำขอบคุณผู้ชมที่ทยอยเดินออกจากโรงภาพยนตร์ทีละคน

บรรยากาศคละเคล้า เศร้าปนสุข บ้างสวมกอด บ้างร่ำไห้ บ้างยื่นดอกไม้ให้แก่กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image