‘สังคมไทยถูกหลอกมามากแล้ว’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ส่อง (ประตู) ผี เปิดชีวิตสุนทรภู่ที่ (ไม่) รู้จัก

จากซ้าย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ

“สุนทรภู่ที่รู้จักตามแบบเรียน เป็นแบบโอลด์ นอร์มอล เพราะฉะนั้นหลังโควิด ควรนิว นอร์มอลให้เข้าบรรยากาศ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือให้เข้ากับหลักฐานที่เป็นจริง” คือปากคำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ที่กล่าวต่อแฟนานุแฟนรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ในตอนล่าสุดหลัง (อดีต) สองกุมารสยามปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลด้วยการอยู่บ้านต้านโควิด งดถ่ายทำนอกสถานที่ราว 1 ไตรมาส

“นิวนอร์มอล สุนทรภู่ วัดเทพธิดา ประตูผี มีผัดไทย” คือชื่อตอนซึ่งชวนให้ ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน นึกย้อนความหลังครั้งมานั่งเล่นนอนเล่นกับ สุจิตต์ เพื่อนซี้ตั้งแต่ชั้นมัธยมผู้มีตำแหน่ง “เด็กวัด” ประจำวัดเทพธิดารามวรวิหาร ย่านพระนคร แถบประตูผีที่ขึ้นชื่อว่า “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย” อร่อยล้ำ แต่ก่อนไปถึงมื้ออาหาร สุจิตต์ ขอดำเนินการไขปมการตั้งชื่อที่หลอมรวมสถานการณ์ปัจจุบันในพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบสามไว้กับมหากวียุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยเล่าว่า ตนขอยืมคำว่า “นิว นอร์มอล” จากการแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะสุนทรภู่ที่รู้จักกัน เป็นสุนทรภู่แบบวิถีเก่า ดังนั้น หลังยุคโควิดควรมีนิว นอร์มอลสุนทรภู่เพื่อให้เข้ากับหลักฐานที่เป็นจริง ที่ผ่านมามีข้อมูลเกี่ยวกับสุนทรภู่หลายอย่างที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อใส่ร้าย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม จึงถึงเวลาสู่ยุคนิว นอร์มอลในประเด็นสุนทรภู่ด้วย

ขรรค์ชัย บุนปาน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม


ปราบ‘เฟคนิวส์’ไพร่สุนทรภู่ สู่ผู้ดี‘นิว นอร์มอล’

สุจิตต์ ยิงหมัดตรงไม่เสียเวลาอ้อมค้อม ว่าสุนทรภู่ถูกใส่ร้ายจนมีภาพลักษณ์เป็นคนขี้เมา เป็นไพร่ ไร้เคหา ทว่าจากหลักฐานชี้ชัดว่าท่านคืออีลิต เป็นชนชั้นสูง เป็นกระฎุมพี โดยเขียนบอกไว้เองใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ว่าเกิดที่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย บ้านเกิดสุนทรภู่จึงไม่ใช่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง

Advertisement

นอกจากนี้ สถานศึกษาของท่านคือสำนักวัดชีปะขาว ยังเป็นสำนักผู้ดี รับเฉพาะลูกหลานเจ้านายในวัง ไม่ได้เปิดรับชาวบ้านทั่วไป

นอกจากนี้ ที่กล่าวกันว่า สุนทรภู่เคยติดคุก ก็ไม่มีหลักฐาน รวมถึงประเด็น “ขี้เมา” ก็เช่นกัน

“สุนทรภู่ใกล้ชิดเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ ท่านจึงออกบวชหนีราชภัยเพราะเป็นฝ่ายเลื่อมใสเจ้าฟ้ามงกุฎ เชื่อว่าจำวัดอยู่ที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ เชิงสะพานพุทธในปัจจุบัน เมื่อรัชกาลที่ 3 สร้างวัดเทพธิดารามฯ ให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดา ได้นิมนต์สุนทรภู่มาจำพรรษาที่วัดนี้ แสดงว่า สุนทรภู่ได้รับการยอมรับมาตลอด เชื่อว่าท่านแต่งเรื่องพระอภัยมณีตอนอยู่ที่นี่ ต่อมา ช่วงปลายรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่สึกแล้วไปอยู่ที่วังเดิมกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เพราะเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 โปรดให้แต่งเสภาพระราชพงศาวดารไว้ขับตอนทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม)” สุจิตต์ร่ายยาวตามหลักฐานโดยไม่มีผีตนใดกระซิบ

Advertisement
ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร นำชมศิลปวัตถุและวัตถุสถานบริเวณวัดเทพธิดาราม ในงานกวีวรรณนา ครบรอบ 175 ปี แห่งวันเกิดของท่านสุนทรภู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2504


‘ประตูผี’ผัดไทยกับ‘การตลาดชาตินิยม’

พูดถึงผี กลางวันแสกๆ อย่างนี้ ไม่มีผีเพ่นพ่าน

มีแต่ผัดไทย “ประตูผี”

“ผมกับขรรค์ชัยนอนอยู่กุฏิวัดเทพธิดาราม คณะ 5 ตอนเป็นวัยรุ่น ไม่มีโอกาสได้กินก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เพราะแพง (หัวเราะ) ตอนนั้นไม่มีเงิน” สุจิตต์เล่า ขรรค์ชัยหัวเราะตาม

แม้ชื่อผัดไทย แต่สุจิตต์ยืนยันว่าไม่ใช่ไทยแท้ ทว่าตั้งชื่อตาม “การตลาดชาตินิยม” เพราะขึ้นชื่อว่าก๋วยเตี๋ยวก็มาจากจีน

ผัดไทยที่ว่านี้ โด่งดังย่านประตูผี ซึ่งแท้จริงคือประตูกำแพงเมืองกรุงเทพ

“ประตูผีมีไว้สำหรับหามผีออก คนตายที่อยู่ในกำแพงเมือง ห้ามเผาศพในกำแพง สวดได้ แต่ห้ามเผา ต้องหามผีออกทางทิศตะวันออกเท่านั้น และประตูผีต้องตรงกับพระพุทธรูปสำคัญของราชอาณาจักร เพราะผีออกแล้วห้ามเข้า ทีนี้ใครจะห้ามผีได้ ก็ต้องพระ!”

เล่าอย่างเห็นภาพ ก่อนทิ้งปมให้คิดว่าในสังคมไทย ประตูผีไม่เป็นที่รู้จัก รู้จักแต่ผัดไทยประตูผี เพราะการศึกษาไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคม มีแต่ประวัติศาสตร์สงคราม และนี่คือปัญหา

กุฏิสุนทรภู่ ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

เปรตวัดสุทัศน์ คือ‘ขอทาน’ไม่ใช่‘ผี’

เมื่อมีผี ก็ต้องมีแร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ ซึ่งเกิดจากการที่ต้องหามศพออกจากประตูเมืองไปทิ้งในป่าช้าวัดสระเกศ ตรงไหนมีผี ซึ่งในที่นี้หมายถึงศพ ตรงนั้นก็ต้องมีอีแร้งเป็นเรื่องปกติ

“สมัยก่อนให้แร้งกากิน เปรตวัดสุทัศน์ ไม่ใช่ผีเปรตตัวสูงๆ อย่างที่เข้าใจกัน แต่คือ ‘ขอทาน’ บริเวณตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ ผอมสูงเหมือนเปรต หลักฐานคือวรรณคดีล้อเลียนอิเหนา แต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) กวียุค ร.3 ร่วมสมัยกับครั้งสุนทรภู่บวชเป็นพระที่วัดเทพธิดาราม”

พูดถึงคนจน ก็ต้องพูดถึงวิธีคิดของเมืองใหม่ที่สุจิตต์มองว่า พัฒนาอย่างดูถูกคนจน อย่างกรณีป้อมมหากาฬ ตรงข้ามวัดเทพธิดารามที่ถูกรื้อเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ

“พื้นที่ตรงที่เคยเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ เคยเป็นที่ตั้งวิกลิเกพระยาเพชรปาณี สมัยรัชกาลที่ 5 ดูภาพถ่ายเก่าจะเห็นว่า ลิเกใส่ถุงเท้าขาว ถ้าไม่ใส่ถุงเท้าขาว ไม่ใช่ลิเก ถามว่าทำไมต้องใส่ นี่คือถุงเท้าฝรั่ง การใส่ถุงเท้าขาวคือสัญลักษณ์ของความทันสมัย”

สำหรับวัดเทพธิดาราม เดิมเป็นสวนหลวง แล้วขุนนางนามว่าพระยาไกรสร้างวัดขึ้น เรียกว่า “วัดพระยาไกรสวนหลวง” เป็นวัดราษฎร์ สมัยรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 2 ต่อมา รัชกาลที่ 3 โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระราชทานพระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระราชธิดาซึ่งต่อมาได้สถาปนาทรงกรม เป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

แกรนด์โอเพนนิ่ง 2504 จากบ้านกวีถึงกุฏิสุนทรภู่

อีกประเด็นไม่พูดไม่ได้ คือ พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ภายในวัดเทพธิดาราม ซึ่งทางวัดบูรณะอาคารเก่าที่เชื่อว่าเป็น “กุฏิสุนทรภู่” เมื่อ พ.ศ.2559 ตั้งเป้าเป็นพิพิธภัณฑ์ครบวงจร โดยคาดหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวชีวิตและผลงานประกอบด้วยลูกเล่นไฮเทคมากมาย

ขรรค์ชัยบอกว่า ทางวัดจัดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ด้วยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสุนทรภู่ซึ่งมีจำนวนมากและมีแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก

สุจิตต์เล่าว่า เรื่องราวเกี่ยวกับกุฏิสุนทรภู่ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ครั้ง ธนิต อยู่โพธิ์ นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมศิลปากร มีการสันนิษฐานว่ากุฏิหลังหนึ่งในคณะ 7 เคยเป็นที่จำพรรษาของสุนทรภู่ แม้ดูจะไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนแต่ก็มีการจัดงานยิ่งใหญ่ที่วัดเทพธิดาราม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2504

“สุนทรภู่เคยบวชจำพรรษาที่นี่ กรมศิลปากร ยุคนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดี เมื่อ พ.ศ.2504 หรือ 59 ปีก่อน มีการจัดงานเปิดกุฏิสุนทรภู่ ช่วงนั้นกำลังมีกระแสเรื่องบ้านกวี ทั้งศิลปากร ทั้งจุฬาฯ เรียกร้องอยากให้มีบ้านกวีเหมือนบ้านเชคสเปียร์ ไม่เชื่อลองถามเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ถามว่ามีหลักฐานไหม มีคนบอกว่าพบสมุดข่อยของสุนทรภู่ ซึ่งไม่จริง กรมศิลปากรไม่เคยมีรายงานเรื่องนี้ ผมเป็นเด็กวัดนี้ก็ไม่เคยมีการพูดกันเรื่องนี้ บาตร จีวรสุนทรภู่ ก็ไม่พบ สุนทรภู่อยู่กุฏิไหน ไม่มีใครรู้ ท่านเขียนไว้แค่ว่ามาจำพรรษาวัดนี้ตอนปีขาล หลังสร้างวัดได้ 3 ปี ดังนั้น ควรบอกว่าทั้งวัดคือบ้านสุนทรภู่ อย่าไปหลอกประชาชน สังคมไทยถูกหลอกมามากแล้ว” นายสุจิตต์กล่าว

ประติมากรรมสุนทรภู่ครั้งเป็นภิกษุ ภายในพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

ทั้งยังย้อนเล่าถึงบรรยากาศสุดคึกคักในวันนั้นว่า ตอนนั้นยังเรียนมัธยม อยู่ๆ ก็มีคนมาที่วัดมากมาย ถึงรู้ว่ามีการจัดงานที่ “คณะ 7” แต่ไม่ได้ถามใครว่าเป็นงานอะไร ต่อมากรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือรำพันพิลาปของสุนทรภู่เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน พร้อมด้วยภาพงานวันเปิดกุฏิสุนทรภู่ กลายเป็นภาพชุดประวัติศาสตร์มาจนถึงวันนี้

สุจิตต์ยังเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กที่เกี่ยวกับสุนทรภู่อย่างมีสีสัน ตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้สนใจอ่านกลอน พัฒนาสู่ความสนใจที่มีต่อสุนทรภู่ โดยมี ขรรค์ชัย บุนปาน และ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มเพื่อนที่ชวนกันอ่านวรรณกรรม

“คราวหนึ่งขรรค์ชัยกับเรืองชัยไปนอนค้างคืนด้วยกันในกุฏิท่านพระครูที่ผมอาศัยข้าวก้นบาตรกับที่ซุกหัวนอน แล้วกลางดึกก็เล่นผีถ้วยแก้ว จุดธูปเชิญวิญญาณสุนทรภู่มาแต่งกลอนแข่งกัน ผลคือสุนทรภู่ในผีถ้วยแก้วแพ้กลอน อีกนานหลายปีผมถึงอ่านงานของสุนทรภู่อย่างจริงจัง อันเนื่องจากขรรค์ชัยกับผมกลายเป็นศิษย์วงสุราของ ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี นามปากกา พ.ณ ประมวญมารค ได้ฟังเลคเชอร์นอกระบบเกือบทุกวันจากโต๊ะร้านเนี้ยว กับมิ่งหลี ละแวกหน้าพระลาน”

เป็นเรื่องผีแบบหยอกๆ ที่ไม่ได้หลอกสังคมไทย เป็นอีกตอนสนุกๆ ที่ชวนให้ฉุกคิดในหลากมิติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image