เข้มข้นทุกถ้อยคำ ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิต ‘ท่องเที่ยว’ (ก่อนถึง) เฮือกสุดท้าย?

ทราบกันดีไม่ต้องมีย้ำเตือนว่าการท่องเที่ยวคือที่มาของเม็ดเงินมหาศาลที่หลั่งไหลหล่อเลี้ยงราชอาณาจักรไทยมาอย่างยาวนาน ทว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ทั้งโลกหยุดชะงัก ส่งผลกระทบอย่างหนักไม่เพียงด้านสุขภาพของผู้คน หากแต่เศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวก็แผ่วลมหายใจลงไปทุกทีแม้มีการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม

เสวนา “ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว” ซึ่งจัดโดย มติชน ข่าวสด และกลุ่ม CARE เมื่อเสาร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระดมหลากความคิดจากผู้เกี่ยวข้องกับวงการท่องเที่ยวไทยไว้อย่างรอบด้าน
โดยมี “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ สมปรารถนา คล้ายวิเชียร รอง ผอ.กลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บ.มติชน จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการที่เป็นไปอย่างเข้มข้นในทุกถ้อยคำ

ถือเป็นงานที่ระดมสมอง สำหรับเมื่อเสาร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมข่าวสด อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

“สิ่งสำคัญในวันนี้คือการจัดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นอาจไม่สามารถฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปได้” คือคำกล่าวเปิดเสวนาโดย “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หมอ อดีตนักการเมือง และสมาชิกกลุ่มแคร์ ผู้ดำเนินรายการในวันนั้น ร่วมด้วย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร รอง ผอ.กลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บ.มติชน จำกัด (มหาชน)

Advertisement

สอดคล้องกับความเห็นจาก นายแพทย์ ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งให้เกียรติร่วมเสวนา โดยระบุว่า “สุขภาพกับเศรษฐกิจ” ไม่ใช่ “คู่ตรงข้าม”

“ประเทศไทยคุมโควิดได้ เศรษฐกิจก็จะกลับมามีโอกาส ถ้าคนสุขภาพดี เศรษฐกิจก็ดี คนจน ไม่มีกิน สุขภาพดียาก สองเรื่องจึงอยู่ข้างเดียวกัน ต้องมีการจัดการปัญหาทั้งสั้นและยาว ต้องสร้างสมดุล ด้านการ
เดินทางเข้าประเทศเพื่อการท่องเที่ยวคิดว่าทำได้ในการจัดการความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ผมเชื่อว่าถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดี เน้นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง”

บรรทัดต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งในเนื้อหาเข้มข้นจากปากผู้คน หน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวที่สะท้อนทั้งปัญหาและนำเสนอทางออกในมุมมองที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง

ททท.ชงสูตร ‘BEST’
เร่งจับมือเอกชน ย้ำหัวใจคือ ‘คนไทย’

ฟังคุณหมอแล้วไปต่อกันที่หน่วยงานรัฐด้านการท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่ง ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดไมค์เคลียร์ใจอย่างตรงไปตรงมาว่า การหวังพึ่งการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเวลานี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด จากนี้ไปจนถึงปลายปี สิ่งที่จะมาทดแทนได้ในยามนี้คงเป็นเรื่องของ “ไทยเที่ยวไทย” แต่ก็ไม่สามารถใช้รายได้จากหมวดของนักท่องเที่ยวไทยมาครอบคลุมรายได้ที่สูญเสียไปได้ เพราะแม้กระทั่งในภาวะปกติ รายได้ของนักท่องเที่ยวไทยก็มีเพียง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด

ดังนั้น จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี หากช่วยกันฟื้น ทุกองคาพยพมาช่วยกันเราก็คงจะมีสถานการณ์กระเตื้องขึ้นในลักษณะผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น สิ่งที่พยายามทำต่อจากนี้คือ ไปทำงานกับฝั่งภาคเอกชน เดินสายทำเวิร์กช็อปขนาดเล็กในพื้นที่

ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ


“ตราบใดที่ยังไม่สามารถคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งแม้เราจะทำได้ดี แต่ประเทศคู่ค้าอาจทำไม่ดี การหวังพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างประเทศในชั่วโมงนี้จนถึงปลายปี ค่อนข้างลำบากอย่างมาก หัวใจจึงอยู่ที่คนไทย และตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน ก็ไม่คิดว่าเราจะเห็นภาพของรสบัสขนาดใหญ่ ที่จะมีทัวร์ไกด์ออกมาถือธงนำ

นักท่องเที่ยว เดินเข้าชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อีกต่อไป ททท.ได้ออกสูตรการทำงานอย่างง่ายคือ ‘BEST’” รองผู้ว่า ททท.กล่าว ก่อนอธิบายในรายละเอียดว่าสูตรดังกล่าว มาจาก

B – Booking เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องมีการจองล่วงหน้า ให้แน่ใจว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาคือใคร กลุ่มใดและมีโปรไฟล์อย่างไร

E – Environment ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่

S – Safety ความปลอดภัยต้องเป็นตัวนำ

T- Technology นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ จะต้องเดินทางด้วยการใช้สมาร์ทโฟน เมื่อเข้าไปต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรืออื่นๆ จะต้องทำต่อไปจนเป็นความคุ้นเคย ดังนั้น ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งของผู้ประกอบการ ลองเอาแนวคิด “BEST” ที่ ททท.เข้าไปติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคมาปรับตัว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

โรงแรมหวั่น ปิดถาวร 20%
สทท.วอนรัฐเยียวยาต่อถึงสิ้นปี

มาฟังฟากฝั่งเอกชนที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ กันบ้าง งานนี้ ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย เล่าอย่างเจ็บช้ำว่า แม้สถานการณ์ตอนนี้ โรงแรมหลายแห่งเริ่มเปิด แต่หลายแห่งไม่ได้เปิด เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์จะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมียอดจองโรงแรมเต็ม เช่น บางแสน อย่างไรก็ตาม มองว่ามีสาเหตุมาจากความอัดอั้นจากการล็อกดาวน์มานาน ซึ่งโรงแรมที่มียอดจองมากมักอยู่ระหว่างการขับรถยนต์ราว 2-3 ชั่วโมง เช่น พัทยาและหัวหิน

“สำหรับโรงแรมในกรุงเทพฯ มีจำนวน 900 กว่าแห่ง ซึ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้มีผู้เดินทางจากต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ รายได้ในขณะนี้มาจากการจัดประชุม สัมมนา แต่ก็น้อยลงกว่าเดิมมาก โรงแรมที่มีห้องพักมากที่สุด เจ็บปวดที่สุด

หากยังไม่ผ่อนคลายหรือมีมาตรการที่ชัดเจน เชื่อว่าโรงแรมต้องปิดอย่างถาวรไปอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเปิดมาก็ไม่ครอบคลุมรายจ่าย ไม่แน่ใจว่าจะทนขาดทุนไปได้กี่เดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ หากเป็นรายใหม่ที่ไม่ได้มีเงินเก็บมากพอ จะอยู่ได้ไม่ยาว และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะมีโรงแรมที่ปิดถาวรเกิน 20 เปอร์เซ็นต์

ถ้ารัฐยังไม่มีโอกาสมาช่วยเหลือ การท่องเที่ยวอาจไม่ได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศอีกต่อไป เพราะการกลับมาอีกครั้งไม่เต็มร้อย ไม่สามารถรองรับการกลับมาใหม่ การลงทุนด้านการโรงแรม มองไม่เห็นอนาคต” ศุภวรรณกล่าว

สุรวัช อัครวรมาศ

ด้าน สุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงไม่เจอโควิด บริษัทคนไทยก็แทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว บริษัทที่นำทัวร์จากจีนเข้ามา เดิมที่เป็นคนไทยหายหมด ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำไมไม่หาวิธีแก้ไขให้ชัดเจน อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เข้มแข็งของผู้ประกอบการคนไทย คือเรื่องระบบภาษี

การเยียวยาของรัฐบาลมาตรการที่ได้รับมีแค่ 3 อย่าง อย่างแรกคือ 62 เปอร์เซ็นต์ของประกันสังคมซึ่งกำลังจะหมดในเดือนนี้ กำลังวิงวอนอยู่ว่าขอต่อไปอีกสัก 3 เดือนได้หรือไม่ คำว่าต้องหยุดกิจการทุกอย่างจึงจะ
รับเงินนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ต้องเข้าหมวดเหตุสุดวิสัย แต่ผมเอาเงินส่วนตัวจ่ายให้พนักงาน และให้เขาไปรับ 62 เปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งจำนวนสูงสุดที่จะได้ก็เพียง 9,300 บาทเท่านั้นจาก 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ถือว่าช่วยได้เยอะ จึงอยากให้ต่อไปอีก 3-6 เดือน อย่างน้อยที่สุดคือถึงสิ้นปี


‘ท่องเที่ยวไร้รอยต่อ’ จี้รัฐบาลเร่งดีลต่างชาติ

อีกหนึ่งข้อเสนอน่าสนใจ มาจาก นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่พรีเซ็นต์ “การท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ” โดยระบุว่าต้องเริ่มต้นที่การเจรจากับต่างประเทศอย่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน กำหนดมาตรการด้วยกัน

“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ โดยเลือกประเทศที่มีการควบคุมโรคได้ดี มีข้อมูลว่ามีความต้องการจากประเทศจีนเข้ามา เท่าที่ทราบเป็นการภายใน ตัวแทนของสถานทูตหลายประเทศได้เข้ามาเจรจากับตัวแทนรัฐบาล เพราะฉะนั้น ให้เลือกประเทศเหล่านั้นในการเจรจาได้เลย กว่าจะผ่านการเจรจาสู่การปฏิบัติ กินเวลา 2-3 เดือนเป็นอย่างเร็วที่สุด

“ข้อตกลงสำคัญคือให้มีการตรวจร่างกายด้วยวิทยาศาสตร์ก่อนเดินทางเข้ามา ซึ่งล่าสุดได้รับการยืนยันว่าใช้เวลาเพียง 3 ชม.ในการเดินทางสามารถนั่งเครื่องบินแบบใกล้กันได้แล้ว เพราะผ่านการตรวจเชื้อแล้ว เมื่อถึงประเทศไทย รัฐมี Alternative State Quarantine กล่าวคือ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกสถานที่ได้ สิ่งสำคัญคือ 1.การเริ่มต้นเจรจา 2.มีข้อตกลงร่วมกัน 3.นำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน เริ่มเสียที เราสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าช่วย เพื่อให้มั่นใจถึงการอยู่ร่วมกัน” นายแพทย์พรหมินทร์ย้ำ


‘แอร์บีเอ็นบี’ ชี้เทรนด์
เที่ยว ‘ในประเทศ’ มาแรง
‘ธรรมชาติ’ ฮิตกว่าเมือง

มาถึงเทรนด์ท่องเที่ยว ต้องผายมือไปที่ แอนิตา รอท ผู้อำนวยการด้านการวางแผนกลยุทธ์ การมีส่วนร่วมและนโยบาย Airbnb ที่ฟันธงว่า แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไประดับโลก จะเริ่มมีการเดินทางภายในประเทศมากขึ้น และเน้นสถานที่ธรรมชาติมากกว่าเมือง ช่วงที่โควิดเริ่มระบาดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม คนขาดความมั่นใจในการเดินทางอย่างมาก แต่ตอนนี้เริ่มจะเห็นสัญญาณที่ทำให้ใจชื้น คนเริ่มมั่นใจ ซึ่งเชื่อว่าในเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

Airbnb พบว่า ยอดการจองที่พักภายในประเทศแต่ละประเทศเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกมีการเดินทางออกนอกตัวเมืองมากขึ้น กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของยอดจองที่พัก Airbnb ในเดือนพฤษภาคม เป็นการจองที่พักที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมือง มีการจองล่วงหน้านานขึ้น ซึ่งนอกจากประเทศไทย Airbnb ยังพบเทรนด์เหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน อีกด้วย

แอนิตา รอท


“ในเรื่องฟื้นฟูการท่องเที่ยว 60 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เดินทางในเวลานี้ มักจะมองหาการเดินทางในระยะใกล้ตัว ไม่เกิน 500 กม. จากที่อยู่ปัจจุบัน และมองหาธรรมชาติมากขึ้น มีความนิยมในการเดินทางไปทะเลและภูเขาเพิ่มขึ้น นักเดินทางจำนวนมากจองที่พักสำหรับเดินทางเป็นครอบครัว

สำหรับกระแสการท่องเที่ยวในไทย คนไทยก็หันกลับมาค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในประเทศใหม่ เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการเดินทางเพิ่มขึ้นในไทย เทียบกับปีที่แล้ว ยอดจองที่พักในประเทศเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และนักเดินทางมักเดินทางในระยะใกล้ ยินดีขับรถไปมากกว่านั่งเครื่องบิน นิยมท่องเที่ยวธรรมชาติ ทั้งชายทะเล และภูเขา เช่น หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ และเพชรบุรี” ผอ.ด้านกลยุทธ์ แอร์บีเอ็นบียังย้ำว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือหัวใจอย่างแท้จริง เพราะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้มาเยือน และเจ้าของพื้นที่


คนกลางคืนโอดชวดซอฟต์โลน
‘ภูเก็ต’ พ้อ ‘ถูกลืม’

กลับมาที่กลุ่มคนในสายงานสร้างความสุขที่ต้องตกทุกข์เพราะโควิด ซึ่ง ธนวัฒน์ ศรีสุข ตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิงและกลุ่มศิลปินกลางคืน สะท้อนปัญหาว่า เนื่องจากสังคมมองธุรกิจกลางคืนเป็นธุรกิจสีเทา จึงไม่มีสวัสดิการภาครัฐมาถึงเลย คนอาจมองว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่มีผลจริงๆ และมีถึง 7 ล้านคนในประเทศ ยังไม่รวมสมาชิกในครอบครัว เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบเต็มๆ เวลาปิดโดนก่อน แต่เปิดหลังสุดราว 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เข้าใช้บริการลดลงราว 70% สำหรับมาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดเหลือเกิน

“กรณีซอฟต์โลน พวกเราทั้งจดทะเบียน ทั้งทำบัญชี แต่ธนาคารมองว่าเป็นธุรกิจสีเทา มีความเสี่ยง ถามว่าผมเป็นเชื้อโรคหรืออย่างไร อยากฝากภาครัฐให้หันมามองว่าสวัสดิการสังคมต่างๆ พวกเราไม่เคยได้ เงินเยียวยา 5,000 บาท คนกลางคืนก็ไม่เคยได้” ธนวัฒน์เผยความรู้สึกกลางเสวนา

ธนวัฒน์ ศรีสุข

ในขณะที่ ดร.ปรีชาวุฒิ กี่สิ้น ประธานมูลนิธิพัฒนาป่าตอง เปิดไมค์ร่ายเนื้อหาเข้มข้นว่า ภูเก็ตสร้างภาษีให้ประเทศมหาศาล แต่พอเกิดปัญหา กลับถูกมองเป็นเชื้อโรค ต่อให้ภาครัฐมีนโยบายอะไรก็แล้วแต่ กลับลืมภูเก็ต นโยบายใดๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อภูเก็ตเลย ทั้งที่ทำรายได้กว่า 4 แสนล้านต่อปี
“ผมมีข้อเสนอเดียว ไม่พูดอะไรมาก ต้องการปกครองตนเองในรูปแบบพิเศษ เพราะเงินหาได้ แต่ที่หาไม่ได้คือความเป็นตัวตน ความมีศักดิ์ศรี หลายครั้งเสียสละไปมากโดยตัวเองไม่ได้รับอะไรคืนอย่างเป็นธรรม สิ่งที่อยากได้คือความเป็นธรรม”


ปิดแผลใหญ่ใจต้องแข็ง
‘กล้าๆกลัวๆ’ ส่งผล ‘มาตรการไม่ชัดเจน’

อีกภาคส่วนที่สำคัญในด้านการเดินทาง อย่างสายการบิน ซึ่ง ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย แสดงความเห็นว่า หากรู้ว่าไม่สามารถเปิดประเทศได้ หรือไม่สามารถใช้มาตรการแทรเวล บับเบิลได้ รัฐจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางให้การเดินทางในประเทศเป็นไปได้มากที่สุด

“เมื่อรู้ว่าแผลใหญ่ขนาดนี้และซ่อมได้นิดเดียว ถามว่าจะปิดแผลอย่างไร ฉะนั้น รัฐอาจต้องไปคิดต่อ ตราบใดที่รัฐบาลยังใช้กฎกติกาก่อนโควิด-19 มาช่วยเยียวยาในยุคโควิด-19 ประเทศเดินต่อไม่ได้”

ส่วนกรณีแบงก์พาณิชย์ หรือแบงก์รัฐ ยังใช้กฎกติกาการกู้เงินแบบเดิม หรือมีทรัพย์สินวางประกันยังคงเดิม ดอกเบี้ยลดไม่ได้ หรือบางเซ็กเตอร์ที่ลำบากมากๆ รัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ได้เพราะติดข้อกฎหมาย ดังนั้น ถ้ายังมีความคิดแบบนี้ ต่อให้เราคุยเรื่องการท่องเที่ยวอีกกี่สิบครั้งก็ยังเดินต่อไม่ได้ เพราะต้องมีการผ่อนผันในบางเรื่อง รัฐเองต้องใจแข็งว่าธุรกิจไหนไปไม่ได้จริงๆ ต้องปิดกิจการ แต่ก็มีคำถามว่าจะดูแลเขาอย่างไร”

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

ธรรศพลฐ์บอกด้วยว่า สิ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขและ ททท.ลองดูคือการใช้มาตรการแทรเวล บับเบิล โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่เลย เพราะถ้าติดโควิด-19 จริงๆ ก็อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น แต่ถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ ก็ยังไม่รู้ว่ามาตรการในการเปิดนั้นจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือเมื่อดูจากลิสต์สนามบินที่พร้อมเปิดทั่วโลก พบว่าหลายประเทศยินดีให้เราเข้าโดยที่ประเทศเขามีมาตรการชัดเจน แต่กลับเป็นประเทศไทยเองที่ไม่มีมาตรการชัดเจน ดังนั้น นี่เป็นขั้นแรกที่ต้องคิดก่อน


ระบบซับซ้อนสร้างปัญหา
‘คนไทยจนลง แล้วจะเที่ยวกันอย่างไร’

ปิดท้ายที่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ ที่นั่งฟังอย่างเคร่งขรึมตลอดเสวนา

“มี 2-3 ประเด็นที่ฟังแล้วตื่นเต้นมาก 1.เรื่องการปิดกิจการชั่วคราวถึงได้เงินประกัน 62 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าตัวเองโง่อยู่คนเดียว แสดงว่าเราต้องปิดกิจการก่อน รู้ไหมว่าเราจ่ายเงินเดือนกันอย่างไร เราต้องจ่ายเข้าบุคคล แล้วเข้าลูกน้อง อันนี้ไม่ทราบว่าเป็นเหมือนกันหรือไม่ แต่กลายเป็นว่าจะไปโดนภาษีปลายปี นี่เป็นระบบที่ซับซ้อนมาก และเป็นปัญหาทั้งระบบเลย เพื่อที่จะเอาเงินประกัน 62 เปอร์เซ็นต์ได้ เราต้องปิดกิจการชั่วคราว นั่นแปลว่าระบบบัญชีเราเดินบัญชีไม่ได้ แปลว่าเราต้องเอาเงินเข้าที่บุคคลแล้วไปจ่ายลูกน้อง นี่คือปัญหาใหญ่ที่เจอ

2.ประเด็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะเราไม่รู้ว่ามันมีผลกระทบในส่วนของการที่ทำให้ไม่เกิดความมั่นใจจากภายนอกที่จะเอาคนเข้ามา นี่เป็นประเด็นใหม่ที่เห็น

3.เรื่อง ไทยเที่ยวไทย แต่คนไทยจนลง นี่ก็เป็นประโยคสำคัญว่าจะเที่ยวกันยังไง เพราะจนกันหมด”

เป็นทั้งข้อมูล ปมปัญหา และทางออกที่สะท้อนผ่านชีวิตและประสบการณ์จริงของภาครัฐ ธุรกิจ และกลุ่มบุคคลสายท่องเที่ยวที่ต้องชุบชีวิตให้ฟื้นคืน เพื่อลมหายใจเศรษฐกิจไทยในวันพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image