สุวรรณภูมิในอาเซียน : รายงานพิเศษเนื่องใน ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ ‘ภาษาไทย’ สิ่งแสดงตัวตน ความเป็น ‘คนไทย’ แต่ ‘เชื้อชาติไทย’ ไม่มีจริงในโลก

รายงานพิเศษเนื่องใน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” “ภาษาไทย” สิ่งแสดงตัวตน ความเป็น “คนไทย” แต่ “เชื้อชาติไทย” ไม่มีจริงในโลก

“ภาษาไทย” เป็นสิ่งแรกที่แสดงตัวตนอย่างชัดเจนโดดเด่นที่สุดของความเป็น “คนไทย” หรือพูดอีกทางหนึ่งว่า “คนไทย” มีสิ่งแสดงอัตลักษณ์ชัดเจนโดดเด่นที่สุดคือ “ภาษาไทย”

คนพูดภาษาไทยเรียกตนเองว่า “ไทย” พบร่องรอยเก่าสุดราวหลัง พ.ศ.1700 ต่อมาพบหลักฐานในเอกสารรัฐอยุธยา บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง เรือน พ.ศ. 2000 [รัฐอยุธยาสมัยแรกสถาปนา บรรดาเจ้านายราชสำนักพูดภาษาเขมรเป็นภาษาทางการตกทอดจากรัฐละโว้ (ขอมลพบุรี) ส่วนประชากรทั่วไปมีหลายชาติพันธุ์พูดภาษาต่างๆ เมื่ออยู่ในครอบครัว แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในตลาดการค้า ต่อมารัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) พูดภาษาไทย (สำเนียงเหน่อลาว) รับสนับสนุนจากจีนเข้ายึดอำนาจได้ครอบครองเป็นใหญ่ในอยุธยา ทำให้รัฐอยุธยาพูดไทยเป็นภาษาทางการ และมีพลังอำนาจดึงดูดประชากรเดิม ซึ่งมี “ร้อยพ่อพันแม่” (เช่น เขมร, มอญ, มลายู ฯลฯ) กลายตนเป็นไทย โดยพูดภาษาไทยสำเนียงหลวง (คล้ายสำเนียงโคราชหรือจันทบุรี-ระยองทุกวันนี้)]

ก่อนหน้านั้นมีคนพูดภาษาไทย (ตระกูลไท-ไต หรือ ไท-กะได) หลากหลายเผ่าพันธุ์กระจายอยู่ในหุบเขาทางภาคใต้ของจีน (ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ พบว่าเป็นที่รับรู้ทางสากลว่าบริเวณ “ที่สูงแห่งเอเชีย”) แต่คนเหล่านั้นไม่เรียกตนเองว่าไทย หากเรียกตนเองในชื่ออื่นต่างๆ เช่น ลื้อ, จ้วง, นุง, ยอง, คำตี่ เป็นต้น โดยมีคำว่าไท หรือออกเสียงว่าไต แปลว่า คน หรือชาว เช่น ไตลื้อ หมายถึงคนลื้อ หรือชาวลื้อ ฯลฯ ไม่มีความหมายอย่างเดียวกับคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

คนทั้งหลายเหล่านั้นไม่เชื้อชาติไทย เพราะ “เชื้อชาติ” ไม่มีจริงในโลก ดังนั้น “เชื้อชาติไทย” ก็ไม่มี แต่ถูกหลอก (จากฝรั่งยุโรปเจ้าอาณานิคม) ว่ามี “เชื้อชาติ” ทำให้คนชั้นนำไทยสมัยนั้นเชื่อฟังฝรั่ง จึงควบคุมบังคับคนไทยทั้งประเทศเชื่อถืออย่างงมงายว่ามี “เชื้อชาติไทย” ตราบจนทุกวันนี้ยังไม่เลิกเชื่อ แถมใช้เบียดเบียนผู้คิดต่าง

Advertisement
แผนที่ขอบเขต “ที่สูงแห่งเอเชีย” และพื้นที่โดยรวมของหลักแหล่งคนพูดภาษาตระกูลไท-ไต-และไทย (จากคำบอกเล่าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์)
คนในเมืองต้าหลี่มีหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ไป๋, ยี๋ พูดตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เดิมเป็นประชากรของอาณาจักรน่านเจ้า บริเวณ “ที่สูงแห่งเอเชีย” (ภาพจากหนังสือ คนไทย ไม่ได้มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2527)

 

ชาวเมืองเชียงรุ่งพูดภาษาไท-ไต สิบสองพันนา มณฑลยูนนาน ชุมนุมดูแข่งเรือและจุดบั้งไฟเทศกาลสงกรานต์ ชายหาดริมแม่น้ำโขง เมษายน พ.ศ.2527
ชาวเมืองเชียงรุ่ง ชุมนุมดูการละเล่นบางอย่าง
หมู่บ้านเมืองเชียงรุ่ง สิบสองพันนา มณฑลยูนนาน (ภาพเมื่อเมษายน พ.ศ.2527)


ภาษาไทยเก่าสุดอยู่กวางสี

ภาษาไทย มีต้นตอรากเหง้าจากตระกูลภาษาไท-ไต (หรือ ไท-กะได) มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว โดยมีแหล่งดั้งเดิมหนาแน่นและเก่าสุดอยู่มณฑลกวางสี (ภาคใต้ของจีน)ต่อเนื่องเวียดนามภาคเหนือ โดยอยู่ปะปนกับตระกูลภาษาอื่นๆ (ได้แก่ มอญ-เขมร, ม้ง-เมี่ยน เป็นต้น) ซึ่งเป็นบริเวณตอนบนสุดของอุษาคเนย์โบราณ ปัจจุบันคือตอนใต้ของลุ่มน้ำแยงซีอยู่ทางภาคใต้ของจีน (สมัยโบราณเป็นพื้นที่ “ไม่จีน” แต่เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์)

Advertisement

นักภาษาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ส่วนมากจากนานาชาติสนับสนุนแนวคิดเรื่องนี้ ได้แก่ ศ. แก๊ดนีย์, โอดิกรูต์, โม้ต, แชมเบอร์เลน, ฉ์วี สงซือ ฯลฯ [สรุปจากบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์สมัยก่อนไทยเข้ามาในเอเชียอาคเนย์” โดย ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร รวมพิมพ์ในหนังสือ คนไทยอยู่ที่ไหนบ้าง? (สุจิตต์ วงษ์เทศ : บรรณาธิการ สำนักศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2530 หน้า 2-9)]


ในไทย มีคน ‘ไม่ไทย’

คนพูดตระกูลภาษาไท-ไต ไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว อยู่ทางใต้ของจีน และทางเหนือของเวียดนาม ล้วนไม่เรียกตัวเองว่า ไทย หรือคนไทย ทุกวันนี้แม้มีคนพูดตระกูลภาษา-ไทไต สืบเนื่องมายาวนาน บรรดาคนเหล่านั้นก็ไม่เรียกตัวเองว่า ไทย หรือคนไทย แต่เรียกตัวเองด้วยชื่ออื่น ได้แก่ จ้วง ในมณฑลกวางสี, ลื้อ ในมณฑลยูนนาน ฯลฯ)

ดินแดนประเทศไทย 2,500 ปีที่แล้ว เต็มไปด้วยคน “ไม่ไทย” ตั้งชุมชนกระจัดกระจายตามลุ่มน้ำต่างๆ ยังไม่พบคนพูดตระกูลภาษาไท-ไต แต่มีพูดปะปนกันหลายตระกูลภาษาตามท้องถิ่นนั้นๆ สืบเนื่องจนทุกวันนี้ ได้แก่

ภาคเหนือ พูดภาษาม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต, พม่า-ทิเบต บริเวณลุ่มน้ำกก-อิง, ลุ่มน้ำปิง-วัง และหุบเขาเถื่อนถ้ำ ฯลฯ

ภาคอีสาน พูดภาษามอญ-เขมร, ชวา-มลายู บริเวณลุ่มน้ำสงคราม, ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล, และทุ่งกุลาร้องไห้ ฯลฯ

ภาคกลาง พูดภาษามอญ-เขมร, ชวา-มลายู บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน, ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก, ลุ่มน้ำบางปะกง-พานทอง และชายฝั่งทะเลตะวันออก

ภาคใต้ พูดภาษามลายู บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ ทางฝั่งตะวันออกไหลลงอ่าวไทย และทางฝั่งตะวันตกไหลลงทะเลอันดามัน



ภาษากลางทางการค้า คือภาษาไทย

ภาษาไท-ไต เป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ราว 2,000 ปีมาแล้ว ผลักดันให้ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตแพร่กระจายกว้างขวางตามเส้นทางการค้าภายในจากทางใต้ของจีน และทางเหนือของเวียดนาม เข้าถึงพื้นที่ลุ่มน้ำโขง (ในลาว) กับลุ่มน้ำสาละวิน (ในพม่า) แล้วลงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ในไทย) กระจายสู่คาบสมุทรภาคใต้
[เรียบเรียงใหม่โดยสรุปจากหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559]

การค้าของดินแดนภายในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป (ตั้งแต่ทางใต้ของจีนลงไป) ประกอบด้วยคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ และมีหลากหลายสำเนียงภาษาพูด จึงต่างสื่อสารกันไม่ได้ หรือได้ไม่มากอย่างยากยุ่ง จำเป็นต้องมีเครื่องมือสื่อสารกันได้สะดวก โดยต่างเลือกภาษาไท-ไตเป็นภาษากลาง

[ทางใต้ของจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ไม่เป็นพื้นที่หลักแหล่งของชาวฮั่น และไม่ใช่ดินแดนของจีน (เหมือนปัจจุบัน) เพราะชาวฮั่นเรียกทางใต้ของจีนปัจจุบันว่าถิ่นคนป่าเถื่อน (เพราะไม่ฮั่น) ของคนร้อยพ่อพันแม่ ดังนั้นในทางวัฒนธรรมแล้วทางใต้ของจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอุษาคเนย์]



ภาษามีชีวิตเคลื่อนไปไกลๆ คนไม่ต้องตามไปด้วย

ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต แพร่กระจายจากแหล่งเดิมไปถึงลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ใกล้เคียง โดยคนไท-ไตไม่จำเป็นต้องอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนจากถิ่นเดิมไปตามเส้นทางคมนาคม

ภาษาแพร่กระจายไปไกลๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคนเจ้าของภาษาไม่ต้องอพยพถอนรากถอนโคนไปด้วย เพราะภาษากับชาติพันธุ์ของคนไม่เกี่ยวข้องกัน โดยทางชีววิทยาแล้วเผ่าพันธุ์ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลยกับภาษา

[จากบทความเรื่อง “ภาษาตระกูลไท เบื้องหลังแนวคิดแบบอุปลักษณ์” ของ แอนโทนี ดิลเลอร์ ในหนังสือ คนไท (เดิม) ไม่ได้อยู่ที่นี่ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2533 หน้า 136-137]


ภาษาไทยขยายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต พร้อมคนหลายเผ่าพันธุ์ที่อยู่ทางใต้ของจีน เคลื่อนไหวโยกย้ายหลายระลอกด้วยเหตุต่างๆ (เช่น จีนเกณฑ์ให้รุกรานพุกามในพม่า เป็นต้น) เข้าสู่ดินแดนประเทศไทยปัจจุบันและพื้นที่โดยรอบ เมื่อหลังจีนค้าสำเภาคึกคักแน่นหนากับบ้านเมืองใหญ่น้อยรอบอ่าวไทย พบหลักฐานร่องรอยเอกสารจีนและไทยราวหลัง พ.ศ. 1700

จากดินแดนภายในของแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ (ลุ่มน้ำโขง, สาละวิน) ภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตแพร่กระจายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วปรับเปลี่ยนเป็น “ไทย” พบในคำบอกเล่าเป็นสัญลักษณ์เคลื่อนย้ายสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ พระเจ้าพรหม, พระเจ้าอู่ทอง “วีรบุรุษในตำนาน” (ไม่มีตัวตนจริง) มีตำนานต้นโคตรมาจากคนหลายชาติพันธุ์ “ไม่ไทย” ในลุ่มน้ำและหุบเขาต่างๆ ทางภาคใต้ของจีน

หลังจากนั้นต่อมาภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต-ไทย มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเหนือกรุงศรีอยุธยา บรรดาประชากรนานาชาติพันธุ์ (เช่น มอญ, เขมร, มลายู, จีน แขก เป็นต้น) ยอมรับนับถือภาษาและวัฒนธรรมไทย เพราะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง ครั้นนานไปในที่สุดกลายตนเป็นคนไทย

คนหลายชาติพันธุ์ในรัฐอยุธยาพูดภาษาไทย แล้วกลายตนเป็นคนไทย (ลายเส้นจากหนังสือลาลูแบร์)


วรรณกรรมเก่าสุด

วรรณกรรมเก่าสุดเป็นคำบอกเล่าด้วยภาษาพูดในชีวิตประจำวัน น่าจะมีเหมือนกันทั่วไปของคนทั้งโลก แต่โดยเฉพาะของคนพูดตระกูลภาษาไท-ไต มีทั้งถ้อยคำต่อเนื่องปกติ และคำคล้องจองสอดแทรกปะปนเป็นช่วงๆ ตามธรรมชาติโดยไม่ตั้งใจ

ทั้งหมดเป็นต้นทางวรรณกรรมไทย ที่นักวิชาการสมัยหลังเรียกร้อยแก้วกับร้อยกรอง


คำบอกเล่าในศาสนาผี

ภาษาไท-ไต นอกจากใช้พูดในชีวิตประจำวันแล้ว คนกลุ่มนี้ยังใช้บอกเล่าปากต่อปาก เป็นเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ เรียกในภายหลังต่อมาว่าคำบอกเล่า หรือนิทาน

วรรณกรรมคำบอกเล่ายุคเก่าสุด เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาผีมีเนื้อหาไม่ยืดยาว มักเป็นเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับกำเนิดคนและความเป็นมาของเผ่าพันธุ์กับโคตรตระกูลผู้นำ ซึ่งคนทั้งชุมชนเชื่อร่วมกันว่าล้วนเป็นเรื่องจริง และเฮี้ยนหรือขลังที่ใครจะละเมิดมิได้ จึงแสดงออกร่วมกันด้วยพิธีกรรม เช่น ทำขวัญ, ขอฝน ฯลฯ


ร้อยแก้วเก่าสุด

ร้อยแก้วเก่าสุดเป็นคำบอกเล่าคือภาษาพูดในชีวิตประจำวันหลายพันปีมาแล้ว

เก่าสุดชุดของคำบอกเล่าเท่าที่พบขณะนี้ราว 2,500 ปีมาแล้ว ไม่เรื่องเดียว ส่วนมีเรื่องอะไรบ้าง? คงกำหนดไม่ได้ตายตัว เพราะรวบรวมจากหลักฐานหลายด้านทางมานุษยวิทยาโบราณคดีที่ทยอยค้นพบเพิ่มไม่สิ้นสุด
คำบอกเล่าเป็นประเพณีร่วม หรือเป็นวัฒนธรรมร่วม พบเรื่องเดียวกันในหลายตระกูลภาษา จึงไม่เป็นสมบัติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว


กำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง ที่นาน้อยอ้อยหนู

กำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง ที่นาน้อยอ้อยหนู (อยู่เมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู ในเวียดนาม) เป็นคำบอกเล่าอยู่ในความทรงจำของคนหลายกลุ่มทางใต้ของจีน โดยเฉพาะสองฝั่งโขง

คำบอกเล่ากำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง ระบุว่า (1.) แถนและทายาทบริวารเป็นบุคคลพิเศษไม่เกิดจากน้ำเต้าปุง และ (2.) คน 5 พี่น้อง เกิดจากน้ำเต้าปุง แบ่งเป็น 2 หมู่ ได้แก่ ผิวคล้ำกับผิวไม่คล้ำ

หมู่ผิวคล้ำ เพราะออกทางฮูชี หรือรูอันเกิดจากเหล็กเผาไฟร้อนแทงทะลุผิวน้ำเต้า จึงถูกไฟลวกเผา ทำให้คนออกมาผิวคล้ำ เป็นพวกข้าหรือข่า

หมู่ผิวไม่คล้ำ เพราะออกทางฮูสิ่ว หรือรูอันเกิดจากเหล็กสิ่วแทง ไม่ถูกไฟลวก

กำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าเป็นคำบอกเล่าไม่มีตอนจบแน่นอนหรือตายตัว แต่จะต่อเติมเสริมแต่งได้ตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าพันธุ์นั้นๆ นอกจากนั้นยังเป็นคำบอกเล่าของคนหลายกลุ่มเหล่าหลายเผ่าพันธุ์ทางใต้ของจีน จึงไม่เป็นสมบัติพวกเดียวของไท-ไต

 

ภาชนะดินเผามีฝา รูปร่างเหมือนน้ำเต้า มีคอคอด บรรจุกระดูกมนุษย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในแหล่งโบราณคดีเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด [ภาพจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2557 หน้า 44]
พบหลักฐานโบราณคดีสนับสนุนอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ฝังรวมอยู่ในดิน เป็นภาชนะดินเผามีฝาปิด คล้ายรูปน้ำเต้า บรรจุเศษกระดูกคนตายซึ่งเท่ากับยืนยันว่ามีคำบอกเล่ากำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้า และมีความเชื่อในสิ่งนั้น จึงพบพิธีกรรมตามความเชื่อนั้น

รูปร่างของน้ำเต้าคล้ายอวัยวะเพศหญิง เรียกมดลูก และลักษณะป่องของน้ำเต้าเหมือนแม่ที่กำลังท้องแก่มีลูกอยู่ในท้อง ล้วนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน น้ำเต้ามีเมล็ดมากซึ่งเป็นที่ปรารถนาของคนยุคดึกดำบรรพ์ต้องการมีลูกมากๆ เหมือนเมล็ดน้ำเต้า เพื่อช่วยทำการผลิตได้ผลผลิตพอกินทั้งปี

ต่อมาอีกนานมาก ผู้รู้อักษรจดคำบอกเล่าเป็นลายลักษณ์ แล้วเรียกน้ำเต้าด้วยคำลุ่มน้ำโขงว่า น้ำเต้าปุง หมายถึง น้ำเต้าขนาดใหญ่คล้ายภาชนะใส่สิ่งของ (ปุง แปลว่า ภาชนะสานด้วยหวาย หรือไม้ไผ่สำหรับใส่สิ่งของเพื่อเดินทาง อาจจะเป็นคำเดียวกับ กระบุง)


 

ซ้าย-ชาวจ้วง มณฑลกวางสี กำลังเล่านิทานเกี่ยวกับกบให้น้ำด้วยภาษาจ้วงในตระกูลไท-ไต เก่าสุด 2,500 ปีมาแล้ว, ขวา-ขับจ้วง ร้องเพลงนิทานกบ (ภาพจากหนังสือ คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537 หน้า 35)

กบขอฝน คันคากรบแถน

กบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เชื่อว่ากบบันดาลน้ำฝนจากฟ้าลงมาเลี้ยงคนในชุมชน เพราะกบมักปรากฏตัวตอนฝนตก

นอกจากนั้นกบเมื่อเหยียดขามีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศของหญิงที่ให้กำเนิดคนทั้งหลาย (สมัยก่อนคนไทยเรียกอวัยวะเพศหญิงว่า กบ) ดังนั้นคนเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว ทำรูปกบไว้บนหน้ากลองสำริดใช้ตีในพิธีขอฝน แล้ววาดรูปคนกางแขนถ่างขาทำท่าเหมือนกบไว้บนเพิงผาหรือผนังถ้ำ (เป็นต้นแบบท่าตั้งเหลี่ยมของโขนละคร) เพื่อกระทำเซ่นสังเวย
ต่อมาคนหลายเผ่าพันธุ์ยกย่องเรื่องกบขอฝนดัดแปลงเป็นเรื่องคันคากรบแถน (คันคากเป็นคำลาว ตรงกับคำไทยว่าคางคก) หรือตำนานบั้งไฟขอฝน เป็นที่รู้แพร่หลายในกลุ่มคนหลายกลุ่มลุ่มน้ำโขง



ร้อยกรองเก่าสุด

หมอขวัญหมอแคนเป็นหญิง ขับลำคำคล้องจอง ต้นทางร้อยกรองเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นจำลองลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในเวียดนาม)

ร้อยกรองเก่าสุดเป็นคําคล้องจองหลายพันปีมาแล้ว พบสอดแทรกคําบอกเล่าและคําพูดในชีวิตประจําวันของคนพูดตระกูลภาษาไท-ไต คําบอกเล่ายุคแรกๆ ประกอบด้วยคําไม่คล้องจองกับคําคล้องจองปะปนผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน โดยไม่จําแนกแยกต่างหากออกจากกัน

ครั้นนานไปให้ความสําคัญมากขึ้นต่อคําคล้องจอง เฉพาะถ้อยความใดต้องการเน้นเป็นพิเศษให้เฮี้ยนและขลังน่าเสื่อมใสหรือน่าสะพรึงกลัว ต้องผูกเป็นคําคล้องจอง แล้วขับลําด้วยทํานองลีลาโหยหวนพร้อมมีลูกคอสั่นสะเทือน [คนขับลำคําคล้องจอง คือ หมอขวัญ คู่กับคนเป่าแคนเคล้าคลอ คือ หมอแคน ล้วนเป็นผู้หญิงในพิธีทําขวัญ]
ในที่สุดคําคล้องจองมีความสําคัญเหนือภาษาพูดปกติ เมื่อมีพิธีกรรมสําคัญในศาสนาผีต้องขับลําเป็นทํานอง โดยมีเสียงปี่หรือแคนเคล้าคลอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ

คําคล้องจองดั้งเดิมมีลักษณะเสรีและมีขนาดสั้นๆ แล้วค่อยๆ ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ ตามต้องการใช้บอกเล่าเป็นเรื่องราวที่มียาวขึ้น จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคําพูดในชีวิตประจําวันโดยไม่กําหนดแบบแผนตายตัว ไม่กําหนดจํานวนคำและสัมผัสว่าต้องอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น

ตรงข้ามกับร้อยกรองที่คุ้นเคยทุกวันนี้ ล้วนให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกสมัยหลังจนปัจจุบันว่าฉันทลักษณ์ หมายถึงกำหนดจำนวนคำแต่ละวรรค และกำหนดสัมผัสเสียงระหว่างวรรค แล้วเรียกรวมๆ ว่ากลอน (สมัยโบราณเรียกร่าย, โคลง, กลอน อย่างรวมๆ ว่ากลอน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image