โชว์แผน ‘ลงทุน’ คมนาคม ฟื้นเศรษฐกิจ ส่องทางออกประเทศ

เวทีสัมมนา "ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน" โดย สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง, นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ดำเนินรายการโดย บัญชา ชุมชัยเวทย์

แม้ข่าวคราวการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จะคืบหน้าไปเรื่อยๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า ณ ห้วงเวลาหนึ่งโลกทั้งใบได้หยุดชะงักลงจากการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ผลกระทบของมันไม่เพียงคร่าชีวิตคนไปกว่า 6.5 แสนราย แต่ยังแช่แข็งภาคเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งส่วนการลงทุนและการท่องเที่ยว จนยากแก่การฟื้นฟู

ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน จึงเป็นชื่องานสัมมนาครั้งล่าสุด จัดโดย เครือมติชน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เพื่อเปิดแผนฟื้นฟูประเทศไทยในมิติทางกระทรวงคมนาคมหลังวิกฤตโควิด-19

หัวใจของงานนี้อยู่ที่ การลงทุน ในโครงการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นทางออกสำคัญ ดังคำกล่าวเปิดงานโดย ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายและแผนงานการลงทุนเตรียมไว้แล้ว โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่มีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายไปโดยลำดับ ถึงเวลาแล้วที่เครื่องยนต์ด้านการลงทุนต้องกลับมาทำหน้าที่เดินเครื่อง สร้างประเทศขึ้นมาอีกครั้ง

“ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมมือกันผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของคนไทยให้ได้มากที่สุด ในมุมมองของมติชน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับชีวิตคนไทยอย่างมาก เพราะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ การกระจายรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสในการทำมาหากินให้กับประชาชนทุกระดับ จากชนบทจนถึงในเมือง

Advertisement

“เป็นการลงทุนระยะยาวที่รับผลประโยชน์หลายชั่วอายุคน”

ปานบัว บุนปาน เอ็มดีมติชน

ชูธง 3 กระทรวงขับเคลื่อน ‘ไทยเฟิร์สต์’
ดันเงินหมุนเวียน สร้างประเทศมั่นคง

งานวันนั้นคลาคล่ำไปด้วยบุคคลสำคัญจากแวดวงคมนาคม ทว่า แม้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานล้นหลามเพียงใด ผู้จัดงานก็ยังคำนึงถึงหลักความปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โดยจำกัดจำนวนผู้ร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด นิว นอร์มอล พร้อมปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

มีจุดคัดกรองอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าร่วมงาน บริการจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างเก้าอี้ และผู้ร่วมงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย พร้อมจัดไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” เพื่อไม่ให้ทุกคนพลาดการติดตาม

Advertisement

งานนี้ได้รับเกียรติจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ควงคู่มากับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ

รมว.สธ.ขึ้นเวทีกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสัมมนาครั้งนี้ที่ได้เริ่มสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยการจัดสัมมนาให้ประเทศไทยเดินหน้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติให้มากที่สุด พร้อมให้ความมั่นใจว่าสาธารณสุขไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้

“เราต้องเป็นผู้ชนะ ดังสุภาษิตต่างประเทศ A Winner sees opportunities in every problem, a Loser sees problems in every opportunity ผู้ชนะมักจะเห็นทางออกหรือโอกาสในปัญหา
ทุกปัญหา แต่ผู้แพ้เท่านั้นที่จะเห็นปัญหาในทุกๆ โอกาส

“วิกฤตโควิด-19 ไทยเราชนะมาโดยตลอด และไทยไม่ใช่ประเทศด้อยพัฒนาหรือไม่มีโอกาส ในวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประเทศอื่นมองหาประเทศพื้นที่ในการลงทุน ด้วยการควบคุมโรคที่ดีของไทยจึงมีชื่อเสียงใหม่สำหรับนักลงทุนคือประเทศที่ปลอดภัย ไม่มีอันตราย เมื่อเดินทางเข้ามาเมืองไทยแล้ว เกิดการป่วยติดเชื้อก็สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศ บก และน้ำ จะขึ้นมารองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย”

 

อนุทิน ชาญวีรกูล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

อนุทินกล่าวว่า สิ่งที่ตนและนายศักดิ์สยามจะทำคือการมอง 3 กระทรวงให้เป็นคลัสเตอร์ที่เอื้อกัน ทั้งการคมนาคม สาธารณสุข และการท่องเที่ยว หลักการคือ ไทยเฟิร์สต์ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่า
จะสนามบิน ท่าเรือ ระบบราง จะต้องเกิดขึ้นในไทย ทั้งหมดใช้ของไทย เว้นแต่อะไรที่คนไทยไม่มีถึงจะให้ต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ขายและซื้อมาต่อยอด พร้อมกับใช้แรงงานไทยให้มากที่สุด

“ไทยต้องใช้ระบบเงินหมุนให้ได้ 8 รอบ ถ้าเรามีเงิน 2 แสนล้านบาทแล้วไม่ได้ใช้ สู้มีเงิน 100 ล้านบาทแล้วหมุนได้ ซึ่งจะทำให้เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาด้วย เผลอๆ ไม่เกิน 1 ปี เศรษฐกิจจะกลับมาดีเหมือนเดิม โควิด-19 ทำร้ายเรา แต่ก็ทำร้ายเราได้เพียงระยะหนึ่ง หลังจากนี้เราจะเอาคืนกลับมา รัฐบาลนี้คิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ความแข็งแกร่งกลับสู่ประชาชน

“โครงการจาก 3 กระทรวงนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียน เงินที่หมุนมา หมุนไป จะพาไทยกลับมามั่นคง”

‘คมนาคม’ ลุยงาน 4 มิติ ‘บก-ราง-น้ำ-อากาศ’ บูม ศก.ไทย

ศักดิ์สยาม ในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงภารกิจของกระทรวงในการพัฒนา 4 มิติ คือ การพัฒนาระบบคมนาคม ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมุ่งเน้นพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน

รมว.คมนาคมกล่าวว่า 1.ด้านทางบก อาทิ เร่งรัดการก่อสร้างขยายช่องจราจรถนนพระราม 2 โดยเร็ว 2.ทางราง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รถไฟไทย-จีน) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3.ทางน้ำ อาทิ
การพัฒนาเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน โดยการสร้างแลนด์บริดจ์ ใช้มอเตอร์เวย์กับรถไฟรางคู่เชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึก และ 4.ทางอากาศ อาทิ เพิ่มขีดความสามารถ
การให้บริการของท่าอากาศยาน เช่น พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2, เร่งเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวปาฐกถาพิเศษ


“หากโครงการด้านคมนาคมและด้านกา
รขนส่งดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของอาเซียนได้ เชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่คมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง นำยางพาราแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยด้านคมนาคม อาทิแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต, แบริเออร์ เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่มการรองรับจากเดิม 90 กม./ชม. เป็น 120 กม./ชม. โดยแบริเออร์ไม่ระเบิด และลดการพุ่งข้ามเลนเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งได้รับการยืนยันจากสถาบันในเกาหลีใต้ว่าแบริเออร์ดังกล่าวทนทานต่อการเกิดอุบัติเหตุจริง

“เกษตรกรจะได้เงินจากโครงการดังกล่าวประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบการก่อสร้างเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง การนำยางพารามาทำแบริเออร์ถือว่ามีราคาถูกและมีคุณภาพ คาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคมนี้นายกรัฐมนตรีจะนำโครงการนี้ขึ้นมาพิจารณา”

‘ภาครัฐ’ แจงลงทุนตอบสนองประชาชน
ทอท.ไม่หวั่นโควิด-เดินหน้าทุกแผนงาน

อีกหนึ่งพาร์ตสำคัญในงานสัมมนาคือเวทีพูดคุยของ 6 หน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งจะมาคลี่แผนงานการลงทุน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน ดังชื่องานครั้งนี้ โดยมี บัญชา ชุมชัยเวทย์ พิธีกรรายการและผู้ประกาศข่าว ดำเนินรายการ

ชยธรรม์ พรหมศร ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อธิบายอย่างกระชับว่า สนข.ทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายมาสู่การวางแผนและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามหน้าที่และภารกิจของกระทรวงคมนาคมคือสร้างและอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งคนขนส่งสินค้า

ดังนั้น กระทรวงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างจุดเชื่อมต่อ และอำนวยความสะดวกให้การเชื่อมโยงของสินค้าเป็นไปในลักษณะที่ไม่มีรอยต่อ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการประชาชน 4 เป้าหมายหลัก คือ อำนวยความสะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลา และราคาสมเหตุสมผล

ขณะที่อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) สราวุธ ทรงศิวิไล เปิดเผยว่า ทล.มีงบลงทุนปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ดำเนินกว่า 5,000 โครงการต่อปี เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และกว่า 90% เป็นงานส่วนการจ้างเหมา ทำให้มีผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการจำนวนมาก เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบหลายรอบ เพราะมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์จากผู้ประกอบการด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เพียงแค่ช่วงแรกของการทำงานจะหมุนไปไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ หรือคิดเป็น 3 เท่าของมูลค่าการลงทุนที่ลงทุนไปทั้งหมด

ในส่วนแวดวงการบิน นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้การยืนยันว่า แม้เกิดการระบาดโควิด-19 ขึ้นมา ทอท.ก็ไม่ชะลอแผนการลงทุน เนื่องจากแผนการขยายสนามบินที่วางไว้ทุกแผนงานจะแล้วเสร็จภายหลังปี 2565 ในช่วงที่จำนวนผู้โดยสารตกท้องช้างในปี 2563-2565 ก่อนที่ผู้โดยสารจะกลับมาเท่าเดิม ทอท.จึงต้องดำเนินการตามแผน
ลงทุนที่วางไว้ เพื่อเตรียมรองรับผู้โดยสารที่จะกลับมาเท่าช่วงปกติ

ขนส่งสาธารณะต้องเชื่อมต่อ
รฟม.จ่อลุย ‘อาคารสูง’ ช่วย ศก.หมุน 10 เท่า

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบนั้น ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ให้ความมั่นใจว่า อีกไม่นานจะสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนแน่นอน ขอให้อดทนอีกนิด โดยล่าสุด รฟม.อยู่ระหว่างประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ลงทุนรวม 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อนำไปคูณวงรอบ 7-8 รอบ จะมีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านบาท

“รฟม.ยังพัฒนาเมืองให้มีอาคารสูง คอนโดมิเนียม มีนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์เข้ามาจับจองพื้นที่ ทำให้ตัวเมืองมีการพัฒนาเศรษฐกิจแนวดิ่ง-สูงมากขึ้น เพิ่มการหมุนรอบทางเศรษฐกิจได้อีก 5-10 เท่าตัว”

ด้าน สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทางที่กำลังก่อสร้างอยู่ ซึ่งทั้งหมดคืบหน้าและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีส่วนที่ลงทุนเองและร่วมกับพาร์ตเนอร์ ขณะเดียวกันก็ยังร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบคมนาคมขนส่งอื่นๆ อาทิ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย

ที่สำคัญ บีทีเอสซียังหวังชนะการประมูลโครงการสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ของ รฟม.ที่มีมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มประมูลใน 2 เดือนข้างหน้านี้

ปิดท้ายที่ “รถเมล์” ขนส่งสาธารณะที่ประชาชนยังจำเป็นต้องพึ่งพา โดย สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เน้นย้ำเรื่อง “การยกระดับ” ทั้งเปลี่ยนรถ การใช้ตั๋วร่วม พร้อมๆ กับพัฒนาบัสเลน เพื่อกำหนดระยะเวลาเดินทางได้แม่นยำ

“ขสมก.ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกเช่นเดียวกับการใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน คือเดี๋ยวก็มา ไม่ใช่ความรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะมา”

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองด้านการลงทุนที่ต่างมุ่งหวังฟื้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างชาติ พยุงประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 แต่ถ้าใครอยากฟังมุมมองด้านการท่องเที่ยว พบกันอีกครั้งที่งานสัมมนาสำคัญแห่งปี “ปลุกไทยเที่ยวไทย ปลุกเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า” วันที่ 2 ส.ค.63 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ

อีกหนึ่งงานจาก “มติชน” เพื่อร่วมหาทางออกให้ประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image