สุจิตต์ วงษ์เทศ : นั่งพับเพียบของคนชั้นนำ ไม่ใช่ของสามัญชนคนทั่วไป

ชาวบ้านทั่วไปในอุษาคเนย์ไม่นั่งพับเพียบ แต่นั่งชันเข่า (ภาพเก่ากลุ่มชาติพันธุ์สองฝั่งโขง ราว 150 ปีมาแล้ว)

นั่งพับเพียบเป็นกิริยาที่คนชั้นนำกำหนดให้ผู้น้อยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมไทยแท้แต่ดั้งเดิม ต่อมาจนทุกวันนี้นักดนตรีไทยเดิมถูกควบคุมด้วยความเชื่อตกทอดกันมาว่าต้องนั่งพับเพียบบรรเลงเพลงดนตรีไม่ว่าในสถานการณ์อะไร? โดยอ้างอย่างเดียวกันว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยแท้มาตั้งแต่โบราณกาล ครั้นสอบสวนตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่มีอย่างนั้น จะสรุปย่อๆ ดังนี้

1. “ไทยแท้” ไม่มีในโลก เพราะไทยมาจากการผสมผสานเผ่าพันธุ์ต่างๆ “ร้อยพ่อพันแม่”

2. นั่งพับเพียบเก็บหัวเข่าชิดกันราบกับพื้น เป็นประเพณีที่กำหนดขึ้นโดยคนชั้นสูงอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป พบหลักฐานเก่าสุดขณะนี้คือรูปนางทั้ง 5 นั่งพับเพียบบรรเลงดนตรี เป็นปูนปั้นประดับฐานสถูปเจดีย์ ราวหลัง พ.ศ. 1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) เมืองคูบัว อ. เมืองฯ จ. ราชบุรี เป็นต้นแบบตกทอดถึงราชสำนักรัฐอยุธยา

ประชากรเมืองคูบัว ราว 1,500 ปีมาแล้ว “ไม่ไทย” ประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ตระกูลมอญ-เขมร, ตระกูลชวา-มลายู เป็นต้น คนเหล่านี้สืบตระกูลถึงสมัยอยุธยา แล้วกลายตนเป็นคนไทย (ไม่แท้)

Advertisement

3. นั่งพับเพียบเป็นประเพณีของ “ผู้ดี” จึงไม่เป็นประเพณีของไพร่ เพราะสามัญชนในหมู่บ้านมักนั่งยองๆ แม้อยู่ในศาสนสถานก็นั่งยองๆ เพิ่งนั่งพับเพียบเพราะถูกกำหนดจาก “ผู้ดี” คนชั้นนำเมื่อไม่นานนี้เอง

สถานศึกษาทุกระดับในไทย ควบคุมบังคับนักเรียกนนักศึกษาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดให้นั่งพับเพียบด้วยข้ออ้างเลื่อนลอยเพื่อความเป็นไทยตามต้องการแสดงอำนาจนิยมของคนชั้นนำ

นางทั้ง 5 นั่งพับเพียบบรรเลงเพลงดนตรี ต้นแบบวงมโหรี และวงดนตรีในราชสำนักสมัยอยุธยา (รูปปูนปั้นประดับฐานสถูป ราวหลัง พ.ศ. 1000 เมืองคูบัว อ. เมืองฯ จ. ราชบุรี)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image