คนไทยมาจาก‘โน่น นั่น นี่’! ‘นิธิ’กางแผนที่ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ เช็กอิน ‘โซเมีย’

นับเป็นตอนเกียรติยศแห่งปี สำหรับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ประจำเดือนกรกฎาคม ในชื่อ ‘คนไทยมาจากชาวเขา ที่โน่น ที่นั่น ที่นี่ กับนิธิ เอียวศรีวงศ์’ เผยแพร่ผ่านเพจ มติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี เมื่อ 2 ทุ่มตรงของวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามนัดหมายพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนเช่นเคย

งานนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการคนสำคัญของไทย ให้เกียรตินั่งเครื่องบินจากเชียงใหม่ สู่กรุงเทพมหานคร มุ่งหน้า ‘มติชนอคาเดมี’ พบปะพูดคุยกับ ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ไม่ติดกระดุมบน ในประเด็นคำถามอมตะนิรันดร์กาล อย่าง ‘คนไทยมาจากไหน?’ ที่วงการประวัติศาสตร์ไทย จีน ฝรั่งค้นคว้าขบคิดจนปวดหัวหนักมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบให้ฟันธง

ศ.ดร.นิธิ เริ่มต้นด้วยข้อมูลที่ว่า เดิมสิ่งที่เคยเข้าใจกันมาคือ คนไทก่อตั้งหรือมีส่วนร่วมในแกนกลางอาณาจักรใหญ่ในจีน 2-3 แห่งจากเสฉวนถึงยูนนาน ทำให้เราเห็นว่าการเคลื่อนย้ายต้องมาจากเหนือลงใต้ แต่การศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์จีน ซึ่งใช้เอกสารกว้างขวางกว่าที่ฝรั่งเคยใช้มา พบว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจากหลักฐานเอกสารสะท้อนว่าไม่มีตรงไหนเลยที่แสดงว่าคนไทมีส่วนร่วมในนั้น

“นักประวัติศาสตร์ฝรั่งก่อนหน้านี้ อาศัยลักษณะบางอย่าง เช่น การอยู่เรือนเสาสูง กินหมาก ย้อมฟันดำ ชอบสักตามร่างกาย แต่จริงๆ แล้วเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนหลายเผ่ามาก ไม่มีหลักฐานแน่นอนชัดเจนลงไปว่า คนที่ในภายหลังต่อมาจะกลายเป็นไทหรือไต มาจากอาณาจักรใหญ่ๆ เหล่านั้น

Advertisement
‘โซเมีย’ ครอบคลุมพื้นที่ราว 2.5 ล้าน ตร.กม. ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ

นักประวัติศาสตร์จีนพบว่า ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า คือ คนไทน่าจะอยู่ปนกับกลุ่มที่จีนเรียกว่า ‘เยว่’ ทางตอนล่างของลุ่มน้ำแยงซีในเขต ซึ่งเป็นที่ราบไปจนถึงบริเวณที่ติดฝั่งทะเล เดิมพวกเยว่นี้คงมีหลายเผ่าพันธุ์มาก เพราะบางครั้งจีนเรียกว่า พวกร้อยเยว่ ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นมาสร้างรัฐหลายแห่ง แต่ไม่ใช่รัฐใหญ่ในบริเวณที่ปัจจุบันอาจเป็นมณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางสี และอื่นๆ ในแถบนั้น คนกลุ่มนี้ จีนเรียกว่า ‘คนป่าเถื่อน’

ปรากฏว่า ราว พ.ศ.200 จีน ภายใต้ราชวงศ์ฮั่นยกทัพมาปราบปราม เยว่ ส่วนหนึ่งหนีจีนขึ้นเขา บนพื้นที่ซึ่ง ศ.เจมส์ สก็อตต์ เรียกว่าโซเมีย (Zomia) ซึ่งมาจากคำว่า ‘โซมี’ ในภาษาตระกูลธิเบต-พม่า แปลว่า ‘คนที่อยู่บนที่สูง’ ครอบคลุมพื้นที่ในอุษาคเนย์ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร เมื่อกลุ่มเยว่หนีขึ้นเขาแล้ว ที่เหลือซึ่งไม่ได้ขึ้นเขาซึ่งเป็นจำนวนที่มีมากกว่ายอมอยู่ภายใต้อำนาจจีน และถูกจีนกลืนไป เพราะฉะนั้นจะพบว่าจีนทางตอนล่าง ไม่ได้พูดภาษาจีนกลาง แต่พูดภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไม่ใช่พวก ‘ฮั่น’ แท้ๆ” ศ.ดร.นิธิเล่า

จากนั้นขยายความถึงเรื่องราวในอีกราว 1,000 ปีต่อมา คือช่วง พ.ศ.1200-1300 (ตรงกับสมัยทวารวดี) ว่า จีนลงมาพัฒนาที่ราบบริเวณนี้หลายอย่าง เพราะต้องการได้สินค้า แถบนี้เป็นพื้นที่ซึ่งเรืออาหรับขึ้นมาถึง จึงมีการพัฒนาเมืองท่าขึ้นมา ยิ่งพัฒนามากขึ้นและ คนป่าเถื่อนกลายเป็นจีนด้วย ก็ยิ่งต้องปกครองมากขึ้น ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาราว 1,000 ปีนี้ มีคนอพยพขึ้น และอพยพลงโดยเฉพาะลงไปปล้น

“เมื่อจีนพัฒนาที่ราบเหล่านี้จนเจริญมั่งคั่ง มันก็น่าปล้น (หัวเราะ) จีนเลยต้องส่งกองทัพมาปราบอยู่เสมอ ดินแดนโซเมียนี้กว้างขวางหลายพันไมล์ จากขอบสุดด้านตะวันออกไปถึงขอบสุดด้านตะวันตก กินลงมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทเคลื่อนย้ายอยู่ในดินแดนแถบนี้ คือช่วงที่จีนกับเอเชียตะวันเฉียงใต้ต่อกัน”

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมไม่เคลื่อนย้ายมาแถบยูนนาน ซึ่งมีที่ราบใหญ่ 2 แห่ง อันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรใหญ่ๆ เช่น น่านเจ้า?

อาณาจักรเหล่านี้ใหญ่กว่ากลุ่มเยว่ที่อยู่ข้างล่าง ซึ่งไม่พัฒนามากพอที่จะสร้างรัฐบนที่ราบขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากรัฐที่พวกไท-ไต หรือเยว่กลุ่มหนึ่งสร้างขึ้น คือรัฐเล็กๆ ตามหุบเขาที่มีน้ำไหลผ่าน โดยไม่ใช่แม่น้ำสายใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้ แต่เป็นสายน้ำเล็กๆ ที่พอจะควบคุมได้ พวกนี้มีความชำนาญในการชลประทานมาก่อนตั้งแต่ตอนอยู่ที่ราบ สามารถทำให้น้ำสายเล็กๆ นี้กระจายไปทั่วทั้งพื้นราบของหุบเขา ทำให้มีประชากรหนาแน่นได้

“มี 2 อย่างที่อยากพูดเกี่ยวกับรัฐในหุบเขา 1.คือ ปลูกข้าวแยะ ลูกก็แยะ ทำให้มีคนแยะ ประชากรเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว 2.เมื่อเป็นเช่นนี้ให้ลองนึกภาพประชากรจำนวนมากซึ่งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งไม่ใหญ่เท่าไหร่ คือพอที่จะเอาไม้ตะบองไปตีหัวคนที่อยู่ท้ายขอบสุดได้ ก็สร้างระบบปกครองได้ ในขณะที่คนบนที่สูงทำไม่ได้ จึงสร้างรัฐลำบากมาก ได้แค่เป็นชุมชน ในขณะที่คนบนพื้นที่ราบสามารถสร้างรัฐได้ ถึงจะเป็นรัฐเล็กๆ แต่อย่างน้อยมีอำนาจปกครอง มีคนจำนวนมากกว่า ซับซ้อนกว่า ผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้มีอำนาจเหนือคนที่อยู่บนเขา จึงไปล่า เอาเขามาเป็นทาส”

กล่าวโดยสรุปคือ พวกที่อยู่ข้างล่างคือ ที่ราบสร้างรัฐได้ และมีอำนาจเหนือกลุ่มที่อยู่บนเขา

สำหรับประเด็นเรื่องภาษา ศ.ดร.นิธิบอกว่า เป็นเรื่องที่พูดยากมาก โดยนักภาษาศาสตร์ระบุว่ามีภาษาไทแล้ว โดยพยายามสร้างภาษาสมมุติที่เรียกว่า ‘Proto-Tai’ หรือ ‘ก่อนภาษาไท’ ขึ้นมา

ในเวลาต่อมา ภาษาไท มีอิทธิพลในการค้าทางบกอย่างมาก เป็นภาษากลางทางการค้าในท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนคำว่าเชื้อชาติเป็นเรื่องประหลาด ไม่มีคอนเซ็ปต์ แต่คิดแบบเดา ไม่มีหลักอะไรทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลา 1,000 ปี ระหว่าง พ.ศ.200-พุทธศตวรรษที่ 13 นี้ ถามว่า คนไทอยู่ไหน มีคนไทหรือยัง ไม่มีหลักฐาน แต่ราว พ.ศ.1200-1300 คนจีนพูดถึงกลุ่มคนป่าเถื่อนที่มีอัตลักษณ์ เช่น กลุ่มที่ย้ายไปยังลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งก็คือพวก ‘ชาน’ ตรงไหนมีหุบเขา เป็นพื้นที่ไม่ใหญ่ เป็นที่อยู่ของพวกไต-ไทซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตามประเพณี เช่น เมื่อพ่อเสียชีวิตที่ดินจะถูกยกให้ลูกคนเล็ก แล้วลูกคนโตต้องย้ายออกไป ทำให้กลุ่มพวกนี้เคลื่อนย้ายเยอะมาก

“ตั้งแต่ ราว พ.ศ.1,300 ลงมา (สมัยทวารวดี) คนจีนเริ่มพูดถึงคนป่าเถื่อนเฉพาะกว่าเยว่ ซึ่งเรียกตัวเองว่าไทหรือเปล่า ไม่รู้ แต่มีคนกลุ่มคนป่าเถื่อนที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน แน่นอน เอกสารจีน บันทึกว่า คนป่าเถื่อนแถวต้นแม่น้ำโขง เคลื่อนย้ายไปอยู่แถวต้นแม่น้ำสาละวิน คือ พวกชาน” ศ.ดร.นิธิขีดเส้นใต้

จากนั้น เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการ ยิงคำถามในประเด็นที่ว่า จากเยว่ สู่คนป่าเถื่อนที่มี ‘อัตลักษณ์’ ตามเอกสารจีน (แม้เรียกตัวเองว่าคนไทหรือไม่ ไม่รู้) แล้วคนกลุ่มที่ว่านี้ กลายมาเป็น คนสุโขทัย ล้านนา อยุธยา อย่างไร?

“นี่คือตัวปัญหาที่สุด”

คือคำตอบของ ศ.ดร.นิธิ ก่อนบอกเล่าถึงข้อสังเกตว่า ถ้าดูความสามารถทางเทคโนโลยีของคนในหุบเขาเล็กๆ ทั้งหมดแล้วจะพบระบบวิธีการปกครองที่ไม่เหมือนกันกับสุโขทัย อยุธยา กล่าวคือ ถ้าอยู่ในหุบเขาแบบนั้น รัฐจะสามารถข้ามได้กี่หุบเขา แน่นอนว่า ไปได้ไม่กี่หุบเขา หรืออาจข้ามไม่ได้เลย

“รัฐชานไปจนถึงสิบสองจุไท ไม่มีรัฐใหญ่ มีแต่รัฐเล็กๆ การร่วมมือกันระหว่างหุบเขากับหุบเขาได้นั้น ไม่มีอะไรสำคัญเท่าเครือญาติ ไปแต่งงานกันบ้าง

ทั้งนี้ ความเชื่อมโยง ประการหนึ่งที่ สุจิตต์ เสริมในวงสนทนา คือ กลุ่มไตมาวโหลง หรือ ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท วันหนึ่งแยกกลุ่ม โดยเจ้าชาย ‘สิงหนวัติ’ มายึดครองแถบเชียงแสน เชียงราย กลายเป็น ‘พระเจ้าพรหมมหาราช’ ที่โยงไปถึงอยุธยาอีก กล่าวคือ

ทายาทพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าศิริไชย โยกย้ายจากลุ่มน้ำกก-อิง ลงสู่ลุ่มน้ำน่าน-ยม (อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-สุโขทัย) แล้วขยายไปลุ่มน้ำปิง (ตาก-กำแพงเพชร) ทายาทพระเจ้าศิริไชย คือ พระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยานั่นเอง

คอลัมนิสต์อาวุโส ผู้เปิดและปลุกประเด็นคำถาม ‘คนไทยมาจากไหน?’ จนชาวเน็ตแห่แซว ว่ากลายเป็นวาทะประจำตัว กล่าวว่า เรื่องคนไทยมาจากไหน เป็นที่ถกเถียงกันมานาน จากที่เคยมีในแบบเรียนว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ขณะนี้เป็นที่รู้กันว่าไม่จริง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังมีช่องว่างหรือประเด็นที่นักประวัติศาสตร์โบราณคดียังขบไม่แตก แต่ข้อเขียนของ ศ.ดร.นิธิ ที่กล่าวถึงพื้นที่สูงที่เรียกว่า ‘โซเมีย’ ได้ไขปมต่างๆ ให้กระจ่าง เป็นบริเวณที่กินพื้นที่ถึงกวางสี ซึ่งมีภาพเขียนสีคนทำท่ากบ ภาษาจ้วงเรียก ผาลาย ทั้งหมดเป็นแหล่งพิธีกรรมสำคัญ สังคมไทยดูถูกชาวเขา แต่ที่แท้เป็นบรรพชนของเรา

“อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ชาติของไทย กีดกันคนอื่น เอาแต่คนที่คิดว่าเป็นเชื้อชาติไทย ทั้งที่อยุธยาช่วงต้นยังเป็นเขมร พระพุทธศาสนาก็รับมาจากมอญ ตำราประวัติศาสตร์ไทยของกระทรวงศึกษาธิการควรแก้ไขโดยซื้อหนังสือของอาจารย์นิธิมาอ่าน” สุจิตต์ปิดท้ายด้วยงานขาย

ด้าน ขรรค์ชัย ที่นั่งฟังอย่างสนใจตลอด 1 ชั่วโมงเต็ม เล่าในมุมมองส่วนตัวว่า ตนได้รู้จัก ศ.ดร.นิธิมานาน โดยเชิญมาเขียนในสิ่งพิมพ์เครือมติชน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีทั้งฝีมือและความสามารถ ผลงานจับใจคนอ่าน ด้วยวิชาชีพสื่อเป็นหน้าที่ปกติที่จะต้องนำความรู้มาเผยแพร่แก่สังคม

แต่ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นเวทีให้ ศ.ดร.นิธิ ซึ่งท่านได้ทำให้สื่อมีคุณค่ามากขึ้น และเชื่อว่าจะงอกเงยและงอกงามขึ้นไปเรื่อยๆ


กรอเทป 50 ปี สนทนา‘พี่นิธิ’

เมื่อ ‘ได้ซี่’ คือจุดเริ่มต้น

“ใครวะ…หน้าตี๋ชุดขาวนั่นน่ะ”

คือประโยคที่สุจิตต์ วงษ์เทศ กระซิบถามขรรค์ชัย บุนปาน ในวันที่ทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

“ไม่รู้โว้ย แต่เขาชื่อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ น่ะ เขาว่ากำลังเรียนปริญญาโท ถามทำไม” ขรรค์ชัยตอบ

“เต๊ะชิบหาย” สุจิตต์ให้ 3 คำ

ตัดฉากมากว่า 50 ปีให้หลัง นิธิ นักศึกษาปริญญาโทในวันนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.ปราชญ์คนสำคัญของไทยในวันนี้

ขรรค์ชัย บุนปาน คือ ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ค่ายที่ตีพิมพ์ผลงานของ ศ.ดร.นิธิ ด้วยความภาคภูมิ

ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม คือบรรณาธิการในตำนานที่ยังไม่ตาย ผู้นั่งเก้าอี้ บก.หนังสือเล่มให้ ศ.ดร.นิธิ มากมาย ด้วยจุดเริ่มต้นจากประเด็น ‘สุนทรภู่’ ไม่ใช่ ‘พระเจ้าตาก’ แต่อย่างใด

“ขอเรื่องสุนทรภู่ลงในศิลปวัฒนธรรมได้ไหมอาจารย์” สุจิตต์ถามเมื่อหลายทศวรรษก่อน

“ได้ซี่” นิธิตอบ

“ขออนุญาตปรับปรุงด้วยนะ” สุจิตต์บอก

“ได้ซี่” นิธิตอบอีก

“ไม่ได้แก้ไขอะไรหรอก ขอจัดย่อหน้าใหม่ แล้วก็ใส่หัวข้อย่อยให้เท่านั้น คนอ่านจะได้อ่านสะดวก” สุจิตต์ร่ายบทชี้แจง

“ได้ซี่” นิธิตอบแค่นี้

ครั้นเรื่องสุนทรภู่มหากวีกระฎุมพีขึ้นปกศิลปวัฒนธรรม ปรากฏว่า ขายดีมาก

วันหนึ่ง ศ.ดร.นิธิ ลงจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ นัดสังสรรค์ สุจิตต์จิบเหล้า นิธิจิบเบียร์ (ไม่ใส่น้ำแข็ง)

นิธิกล่าวในวงว่า

“เขียนงานทางวิชาการมาตั้งนาน ไอ้ห่า ไม่มีคนอ่านเลย แต่พอเรื่องสุนทรภู่ลงในศิลปวัฒนธรรม มีแต่คนทักว่าอ่านแล้ว อ่านง่าย ผมว่าจริงแฮะ ไอ้วิธีย่อหน้าบ่อยๆ ถ้าเรื่องยาวๆ ก็ให้มีหัวข้อย่อย ดีว่ะ จะเขียนให้อีก”

ไม่นานนับจากนั้น ต้นฉบับพิมพ์ดีดเรื่อง ‘พระเจ้าตาก’ ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ กลายเป็น ‘การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’ หนังสือในตำนานแห่งวงการประวัติศาสตร์ไทย

ต่อมา ในวงสังสรรค์อีกครั้ง ที่ ขรรค์ชัย ร่วมด้วย มีบทสนทนาอันเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งบทบาทด้วยการเป็น ‘คอลัมนิสต์’ ในเครือมติชน สืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

“ปีนี้พี่นิธิอายุเท่าไหร่แล้วครับ” ขรรค์ชัยถามอย่างนอบน้อม

“อ่อนกว่าคุณนิดหน่อย” นิธิใช้อารมณ์ขันตอบ ก่อนพากันหัวเราะทั้งวง

“ผมจะเชิญมาเขียนประจำที่มติชน แต่ใครอายุน้อยๆ ผมไม่ให้เขียนนะ” ขรรค์ชัยตอบแล้วเสียงหัวเราะก็ดังขึ้นอีกรอบ

“เฮ่ย เฮ่ย เดี๋ยว เดี๋ยว เอาซี่ เอาซี่ งั้นผมอายุมากกว่าคุณก็แล้วกัน” นิธิรับคำ

ขรรค์ชัยจึงบอกว่า “เริ่มพรุ่งนี้เลย”

นับแต่นั้น ‘มติชนรายวัน’ ก็มีข้อเขียนของ ศ.ดร.นิธิ กระทั่งขยับสู่ ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ตามคำชักชวนของ เสถียร จันทิมาธร

ตัดภาพมาวันนี้ ที่ทั้ง นิธิ ขรรค์ชัย สุจิตต์ ล้วนกลายเป็นผู้อาวุโส ทั้ง 3 ยังพูดคุยกันอย่างออกรส ทว่า ไม่ได้ย้อนอดีตเรื่องเก่าอารมณ์เฒ่าชแรแก่ชรา อดีตแสนงาม วันวานยังหวานอยู่ หากแต่เป็นเรื่องราวของ ‘วันนี้’ และ ‘พรุ่งนี้’ ข้อถกเถียงใหม่ๆ ทางวิชาการ และอีกมากมายที่คนรุ่นหลังร่วมนั่ง (แอบ) ฟังได้ไม่เบื่อ

เช่นเดียวกับผลงานเขย่าสังคมไทยราย 7 วัน ของนิธิ ในมติชนสุดสัปดาห์ โคลงลึกซึ้งแสบคันในมติชนรายวันหน้า 3 ฉบับทุกวันอาทิตย์ ของขรรค์ชัย และกลอนเรียบง่าย สะใจ ดุดัน สะท้อนการเมืองไทยใน 4 บรรทัด ของสุจิตต์

เป็น 3 คนรุ่นเก่าที่ยังเก๋า ยังคูล และเป็น ‘ไอดอล’ ของคนรุ่นใหม่ในวันที่สังคมไทยอยู่ในสถานการณ์น่าจับตา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image