สุทธิพงษ์ จุลเจริญ เบื้องหลังความสำเร็จ สืบสานหัตถศิลป์ ‘ศิลปาชีพ ประทีปไทย 63’

ประสบความสำเร็จอย่างมาก สำหรับงาน ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ปี 2563 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดย กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย

10 สิงหาคมที่ผ่านมา พิธีเปิดงานถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี ถูกตกแต่งในโทน “ฟ้า ทอง น้ำเงิน” หนุมานถือลูกแก้ว ร่ายรำมาจากข้างเวที ก่อนจะส่งมอบให้กับประธานในพิธี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปวางบนแท่น แสงไฟส่องสว่างบนจอแอลอีดี เปลี่ยนเป็นภาพพระพันปีหลวง พร้อมภาพทรงงานอย่างทุ่มเทพระวรกาย การแสดงโขน และแฟชั่นโชว์จากศิลปิน หมุนเวียนเปลี่ยนกันขึ้นเวที ท่ามกลางแขกเหรื่อคับคั่ง ตั้งแต่ท่านผู้หญิงกอบกุล อุบลเดชประชารักษ์ ผู้ช่วยงานส่งเสริมศิลปาชีพ, คณะทูตานุทูต และคณะรัฐมนตรี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ไปจนถึง ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย

พล.อ.ประยุทธ์ยังร่วมเดินเยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานภาคี ดูการสาธิต พร้อมพูดคุยกับผู้ผลิตผู้ประกอบการที่นำสินค้ามาแสดงและจัดจำหน่าย ก่อนจะแวะให้กำลังใจกับผู้ประกอบการตามบูธต่างๆ ที่ขนมาจากทุกภูมิภาคทั่วไทย ในการต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ผสานความร่วมสมัยให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิด “สืนสานพระราชปณิธาน รังสรรค์งานศิลปาชีพ ความภาคภูมิใจแห่งแผ่นดิน”

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในชุดผ้านาหมื่นศรี สีฟ้าสดใส ฝีมือชาวอำเภอนาโยง จ.ตรัง เผยถึงความสำคัญของการจัดงานนี้อย่างภาคภูมิ

Advertisement

“ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบดีว่าพี่น้องเกษตรกรไทย นอกจากจะทำงานด้านการเกษตร ยังสืบทอดมรดกภูมิปัญญา ด้านหัตถศิลป์จากบรรพบุรุษในเรื่องทั้งหลาย เรื่องผ้า การทอผ้า การประดิษฐ์ผ้า ทรงรื้อฟื้นและสืบสาน ไม่ใช่การช่วยด้วยการมอบปลา แต่สอนให้เลี้ยงปลาเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน และยังส่งต่อถึงลูกหลาน โดยมีครูศิลป์แห่งแผ่นดิน 5 ทหารเสือศิลปาชีพ ที่ถวายงานมาอย่างยาวนาน กลายเป็นผู้นำชาวบ้าน ฝึกสอนและพัฒนาฝีมือ มีการจัดประกวดเพื่อพัฒนาฝีมือ และผู้ที่ชนะก็มีการถ่ายทอดต่อไป”

เพียง 2 วันแรกของการจัดงาน ก็สร้างยอดจำหน่ายแล้วกว่า 89 ล้านบาท ภายใต้รูปแบบวิถีใหม่ ตามมาตรการด้านสาธารณสุข เน้นความปลอดภัยแก่ผู้เข้าชมงานอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่เข้าชมงาน ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ อย่างเคร่งครัด สร้างความเชื่อมั่นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย ช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อันจะขับเคลื่อนเครื่องจักรเศรษฐกิจไทยต่อไป

กระทั่งเดินทางมาถึงวันนี้ วันสุดท้ายของงาน ซึ่ง พช. ทำหน้าที่อย่างสุดกำลัง พาผู้ร่วมงานสัมผัสกับองค์ความรู้จากงานหัตถศิลป์ที่รังสรรคจากภูมิปัญญาชั้นเลิศตามแนวทางช่างสิบหมู่ นับเป็นขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาไทยในทุกด้านที่จะถูกสืบสานไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป

Advertisement

 

อะไรคือจุดเด่นของงาน ‘ศิลปาชีพ’ ปี 63 พิเศษกว่าปีที่ผ่านมาอย่างไร ?

เราตั้งใจจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพิเศษ โดยประมวลเอาพระฉายาลักษณ์ที่สวมใส่ผ้าไทยทรงงาน มาจัดเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา สมัยที่พระองค์ท่านรื้อฟื้นผ้าไทย ก็ได้ไปพบกับ 5 ทหารเสือ เป็นผู้ที่ทอผ้าเก่งมาก อยู่ จ.กาฬสินธุ์ จ.นครพนม และอีกหลายที่ ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไป 1 ท่าน เป็นเซียนผ้าไหมแพรวา 4 ท่านที่เหลือก็ได้มาร่วมแสดงความจงรักภักดีในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ซึ่งยังคงเป็นหัวจักรในการช่วยขับเคลื่อนเรื่องผ้าไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังมีสุดยอดผ้าไทย 70 กว่าจังหวัด ที่ชนะเลิศจากการประกวด “ผ้าสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน” มาแสดงและจำหน่าย ซึ่งแน่นอนว่าทุกผืนล้วนมีคนจับจองหมดแล้ว แต่ผู้ที่มาเที่ยวงานจะได้เห็นอัตลักษณ์ของผ้าแต่ละจังหวัด และยังมีผ้าอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นที่มีลวดลายไม่เหมือนกัน มีศิลปินโอท็อปหลายแขนงมาถ่ายทอดองค์ความรู้ เฟิร์สต์เลดี้ หรือสุดยอดผ้าจากดีไซเนอร์ก็มา และครบเครื่องเรื่องของโอท็อป มีโอท็อปชวนชิม ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นสุดยอดโอท็อป โอท็อปพรีเมียม เป็นผ้าที่เข้าร่วมโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน โดยเรามีการรักษามาตรฐาน คุณภาพให้มีแต่ดีขึ้น ชาวบ้านทุกคนก็ช่วยกันยกระดับพัฒนาสินค้าของตัวเองขึ้น เช่น ทองสุโขทัย เครื่องทองเหลืองจากระยอง ที่ อ.วิษณุ เครืองาม เป็นแฟนคลับ ปีนี้ก็มา สุดยอดอาหารอร่อยของทุกจังหวัดก็มา เดินเมื่อยก็ยังแวะนวดได้

มองว่าอะไรคือเรื่องใหญ่สำหรับการจัดงานระดับประเทศในช่วงโควิด-19 ?

เรื่องใหญ่คือ เป็นเวลาที่เราต้องมาให้กำลังใจ แม้จะต้องเว้นระยะห่าง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการแพร่ระบาด เพราะกำลังใจสำหรับชีวิตหลังโควิด ชาวบ้านก็ต้องการ เศรษฐีในเมืองก็ต้องการ สำคัญที่สุดคือสิงหาคมเป็นเดือนมหามงคล เดือนแห่งการพระราชสมภพของสมเด็จแม่ของแผ่นดิน ผู้ซึ่งพระราชทานก่อให้เกิดโอท็อป โดยรื้อฟื้น และตั้ง “ศิลปาชีพ” ขึ้นมา ต่อมารัฐบาลนำไปสู่การให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นโอท็อป ทุกภาคส่วนช่วยกันเต็มที่ อย่างพรีเซ็นเตอร์ก็เป็นผู้หญิงแถวหน้าของเมืองไทย เช่น คุณเอมอร คิงเพาเวอร์, รัฐมนตรีกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, คุณสุกัญญา ประจวบเหมาะ รองสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมป์ รวมถึงหญิงเก่งอีกคนของไทย คุณนวลพรรณ ล่ำซำ ก็มาช่วยเต็มที่ เป็นพรีเซ็นเตอร์โปรโมตงานให้ ท่านนายกรัฐมนตรีงานยุ่งแค่ไหนก็ลงนัดจะมาเป็นประธานเปิดงานให้ เป็นช่วงที่เราต้องช่วยกันพิสูจน์ว่า “เราเอาชนะแล้ว” เพราะได้รับยกย่องเรื่องการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหา ถึงเวลาที่เราจะช่วยกัน เดินหน้าทำมาหาเลี้ยงครอบครัว

ปีนี้มีไฮไลต์หรือโปรโมชั่นเด่นๆ อะไรบ้างเพื่อเชิญชวนคนเข้างาน ?

เรามีของรางวัล เพื่อเป็นของเสริมคืนกำไรให้กับผู้มาเที่ยวงาน ซึ่งก็มีแจกทองด้วย มูลค่าเป็นล้าน แจกกันทุกวัน เป็นเรื่องสนุกๆ เสริมเข้ามามากกว่า เรื่องใหญ่คือ อยากชวนคนมาให้กำลังใจกัน ช่วยกันให้พี่น้องโอท็อปมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีกำลังใจที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด ของขวัญที่ท่านพระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทย

ปกติทุกปีจะมี 3,000 ร้าน ปีนี้ 1,000 ร้าน แต่เราเปิดโอกาศให้ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” มาโชว์ มาร่วมกันรังสรรค์ นำเสนอพื้นที่ดีเด่น ที่สามารถรองรับพี่น้องนักท่องเที่ยวได้ทั้ง ชาวไทย และต่างชาติ ให้ได้สัมผัสสิ่งที่ดีงาม ประสบการณ์ที่แปลกใหม่เป็นพิเศษ เราขนมาทั่วทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ให้มันรู้กันไป (หัวเราะ)

ส่วนโซนเฟิร์สต์เลดี้ เป็นการนำเอาสุดยอดของผ้า และดีไซเนอร์เรื่องผ้ามาให้บริการเป็นพิเศษ สามารถซื้อผ้าและมาตัดในโซนนี้ได้ ผ้าดีๆ เด็ดๆ ผ้าอัตลักษณ์ จังหวัดเด่นๆ ผ้าชนะเลิศ ศิลปินโอท็อป 31 ราย ก็มาครบ

คนสนใจโซนไหนเป็นพิเศษ ?

ที่สังเกตเห็น คนมักจะเดินเลือกซื้อหลากหลายนะ แต่คนที่ต้องการศึกษาเรียนรู้ก็มี คือมาเดินโซน “ศิลปินโอท็อป” และ “เฟิร์สต์เลดี้” 2 โซนนี้คนจะนิยม อะไรที่เป็นส่วนพิเศษเสริมเข้ามาคนจะสนใจ อย่างโซนโอท็อปมีทั้งทอง เครื่องประดับ ไม้แกะสลัก งานประดิษฐ์ ศิลาดล เครื่องปั้นดินเผา งานภูมิปัญญา คนจะสนใจเยอะมาก โซนศิลปินโอท็อปก็นิยม คนจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยกันไป ส่วนใหญ่งานโอท็อปคนสนใจ ซึ่งเราประมาณการรายได้ปีนี้ไว้แค่ 300 ล้าน แต่คนมากันเยอะ ส่วนตัวมองว่าคนอยากสัมผัสกับชีวิตปกติเพิ่มมากขึ้น อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติมานาน อีกอย่างมาตรฐานทุกอย่างอยู่ในงาน

โอท็อป เป็นเหมือนไอคอน หรือแลนด์มาร์กในใจคน ซึ่งสินค้าโอท็อปจะแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 1.เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ 2.อาหารการกิน 3.เครื่องประดับ 4.ยาสมุนไพร และ 5.ของตกแต่งบ้าน งานนี้มีสินค้าครบทุกประเภท

และที่สำคัญ เกิดจากน้ำมือคนไทย “แฮนด์เมด” “โฮมเมด” ต้องมาที่งานโอท็อปอย่างเดียว และต้องเป็นที่นี่เท่านั้นจึงจะมีทุกสรรพสิ่งที่ล้ำ คุ้มค่าเงิน ปีหนึ่งกรมการพัฒนาชุมนุมจัดเพียง 3 ครั้ง แต่คนก็เยอะทุกครั้ง และคาดว่ารัฐบาลจะให้จัดเพิ่มอีกครั้ง ราวตุลาคมนี้

ในการพัฒนาอาชีพของคนท้องถิ่น อะไรคือ ‘ความท้าทาย’ ในเวลานี้ ?

เรื่องใหญ่คือ “ต้องทำให้คนไทยมั่นใจ” แต่งานกลุ่มโอท็อป อย่างไรคนก็สนใจ อยากมาดูอยู่แล้ว เพราะนานมากที่ชีวิตไม่ปกติในการหารายได้ ที่ท้าทายคือคนไทยทั่วไปที่เป็นผู้สนับสนุน จะต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่ามาแล้วปลอดภัย มาแล้วดี แน่นอน เรามั่นใจ ไม่ต้องคุยเยอะ เรื่องใหญ่คือ จริงๆ แล้วคนไทยไม่ได้ป่วยเป็นโควิดมายาวนาน มีแต่คนไทยที่มาจากต่างประเทศ เจอบ้างเป็นหลักหน่วย มาตรการที่ชาวบ้าน ประชาชนถือปฏิบัติมาก็ค่อนข้างเชื่อมั่นได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการระวังไม่ให้กลับมา แต่ชีวิตคนต้องเดินหน้า ด้วยความไม่ประมาท ต้องทำได้ เป็นความท้าทาย ในขณะเดียวกัน การประกอบสัมมาอาชีพก็จะได้กลับมาสู่วงจรตามปกติต่อไป

แต่เรื่องใหญ่ที่เรามั่นใจ คือ ไม่ว่าจะอย่างไร คนไทยไม่ทิ้งกัน เราจึงเชื่อมั่นว่าจะมีกลุ่มผู้ที่ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในสังคม ชนบท เมืองเล็กใหญ่ คนเล็ก คนน้อย ที่มีมากเป็นหมื่นกลุ่ม เขาควรได้รับกำลังใจจากพวกเราคนไทย คนไทยที่คิดจะให้กำลังใจกันมีเยอะ

สำหรับคนที่พลาดงานปีนี้ จะอุดหนุนฝีมือคนไทยได้อย่างไรบ้าง?

ตอนนี้ช่องทางทั้ง OTOP today.com เฟซบุ๊กไลฟ์ หรือแอพพลิเคชั่น shopee เราก็ร่วมด้วย เร็วๆ นี้ เราจะได้แอพพลิชั่นเพิ่ม โดยเอไอเอสบริจาคชื่อแอพพลิเคชั่น “ฟาร์มสุข” เหล่านี้คือช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดมีการตลาดรุ่นใหม่ช่วยขายออนไลน์ด้วย ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะช่วงโควิดเราเปิดรับพนักงาน ตำแหน่งนักการตลาดรุ่นใหม่ รับตามจังหวัดต่างๆ ให้ลูกหลานของแต่ละจังหวัดช่วยกันสร้างเรื่องราวของสินค้าเพื่อขายออนไลน์ พัฒนาและฝึกเจ้าของโอท็อปให้รู้จักใช้สารสนเทศในการจำหน่ายสินค้า ซึ่งช่วงหลังผ่อนปรนเฟส 4 กรมการพัฒนาชุมนุม ก็ได้ขออนุญาตดำเนินการ นำผู้ประกอบการโอท็อป ในชื่อโครงการ OTOP Trough the town เอาสินค้าโอท็อปไปตามเมือง ห้างสรรพสินค้า และภาคเอกชน เป็นการประกาศให้สาธารณชนรับรู้ว่าภาคธุรกิจใหญ่ๆ พร้อมเป็นพาร์ตเนอร์ และทำธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ให้กับโอท็อป

เพราะทุกหมู่บ้านมีภูมิปัญญาของตัวเอง อย่างหมู่บ้านส้มซ่า ที่ จ.พิษณุโลก ที่เก่ง มีภูมิปัญญาถูกค้นพบที่ชาวบ้านทำอยู่แล้วถึง 20 อย่าง มหัศจรรย์มาก 100 หลังคาเรือน มี 20 เรือนที่เก่งและเป็นเลิศในแต่ละเรื่องที่ไม่เหมือนกัน มีเรื่องราวเหล่านี้ซ่อนอยู่ เป็นจุดสำคัญของชาวบ้านที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น

ขอให้มางานนี้กันเยอะๆ ไม่อย่างนั้น 1.เราจะพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานในการชุบชีวิตผ้าไทย โดย 5 ทหารเสือ ที่เหลือ 4 และอายุมากแล้ว แต่ยังทำงานอย่างเข้มแข็ง ไม่มาก็ไม่ได้เจอ ของดีๆ ที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น สุดยอดสินค้าโอท็อปทุกแขนงที่คัดเลือกได้ 1 ใน 3 ของยามปกติ ต้องดี ต้องเด็ดแน่ พูดถึงผ้าที่ชนะเลิศของแต่ละจังหวัด คิดว่าจะเดินทางไปดูได้ครบหรือไม่ ไม่มีทาง เพราะถูกจับจองแล้ว และผ้าอีกหลายชิ้นกำลังรอเจ้าของไปจับจองในงาน แค่ไปดู ศึกษาว่าลายผ้านี้ชื่อลายอะไร ฝีมือจังหวัดนี้ที่ชนะเลิศเป็นอย่างไร สิบตาเห็นไม่เท่ามือจับ ให้อารมณ์ความรู้สึกไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ สุดยอดอาหารโอท็อป จาก 77 จังวัด จะไปหากินได้ที่ไหน กว่าจะเดินครบภาคเหนือทั้งภาค อาจจะหมดไปครึ่งปี แต่มาที่นี่ที่เดียว ได้ครบ ที่สำคัญมาพูดคุยให้กำลังใจกัน จะเป็นสัญลักษณ์ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ปกติมากขึ้นของคนไทยในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้ ถ้าพวกเราช่วยไปทำให้งานโอท็อปคึกคัก พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ที่ยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ลำบากแล้ว ถ้าไม่ได้ไป รอไปอีกหลายเดือนกว่าจะได้เจอกันใหม่ อยากให้ไป แล้วจะรู้เองว่า ถ้าไม่มา เสียดายแย่

คือภาพสะท้อนที่ว่า แม้ประเทศไทยจะยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่คนไทยยังไม่ทิ้งกัน สินค้าโอท็อปจากภูมิปัญญาและสองมือของบรรพบุรุษ ยังคงเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และรัฐบาลเองก็พร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพและรายได้ เร่งส่งเสริมทั้งตลาดในและนอกประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

ให้ความมั่นคงกลับคืนมาในเร็ววัน

 


ผ้าไทยในวาระแห่งชาติ กับความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม

“ผ้าไทยก็เหมือนภาษาไทย ถ้าพวกเราไม่ใช้ ก็หายไป อีกหน่อยจะเรียกว่าเราเป็นคนไทยก็ลำบาก ต้องช่วยกันใส่”

คือคำกล่าวของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้สวมใส่ผ้าไทยเป็นแบบอย่างให้เห็นจนชินตา

ด้วยเหตุผลที่ไม่เพียงร่วมผลักดันการอนุรักษ์ หากแต่ยังมีปัจจัยสำคัญด้านเศรษฐกิจชุมชนและความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม

“น่าสงสารชาวบ้าน คนที่เป็นนักธุรกิจยังพอทน แต่ชาวบ้าน ปริมาณข้าวของที่เขาผลิตได้แต่ละปีไม่เยอะ ผ้าไหมแพรวา 1 ผืน 6-7 เดือน ไม่มีเหลือ ผ้ามัดหมี่ ที่สวย ลวดลายหลากหลาย เป็นราชินีแห่งผ้าไหม วัตถุดิบต้องเป็นไหมน้อย คือด้านในของไหม ที่เส้นละเอียดมาก กว่าจะคัดแยกวัตถุดิบ ซึ่งยังมีเทคนิค การจก ยกดอกเต็มไปหมด ยากมาก”

“ช่วงโควิด-19 เราจะไปสั่งเครื่องจักร ใยไหม เส้นด้ายมาจากต่างประเทศไม่ได้ หากมีศึกสงคราม เราทำเองไม่เป็นก็แย่ เรื่องเครื่องนุ่งห่มก็มีความสำคัญด้านความมั่นคงเช่นกัน”

“พระราชินีเป็นคนทำให้ผ้าไหมแพรวากลายเป็นเสื้อผ้าได้ ซึ่งดิมเป็นเหมือนผ้าสไบ ใช้พาดเวลาไปทำบุญ โพกหัวนาค ด้วยความที่เป็นศิลปะชั้นเลิศ ยุ่งยากในการทอ จึงไม่ได้เป็นไปเพื่ออาชีพ แต่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทำให้เป็นอาชีพได้

และทรงตั้งชื่อ “ศิลปาชีพ” ศิลปะ + อาชีพ กลายเป็นทั้งศาสตร์ศิลป์ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้” อธิบดี พช. กล่าว ก่อนไปสู่ประเด็น “วาระแห่งชาติ”

 


“เรื่องของผ้าไทย ก่อนอื่นต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี และ ครม. ที่เห็นความสำคัญ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการมีมติ ครม.ให้คนไทยทุกเพศทุกวัย ช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพราะเมื่อประกาศตูม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ช่วยกันอุดหนุนผ้าไทยจมกระเบื้อง จนกลุ่มทอผ้าทั้งหลายตื้นตันด้วยความดีใจ ขายดี เขาทำกันแทบไม่ทัน เกือบ 5,000 ล้าน คือตัวเลขหลังจากที่มีมติ ครม.

ถามว่าทำไมต้องรักษาไว้ ทำไมรัฐบาลขอให้ช่วยกันใส่ เพราะเป็นมรดกของบรรพบุรุษ ที่แสดงตัวตน อัตลักษณ์ความเป็นไทย เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นผ้าไทย ไม่ว่าจะไปตัดเย็บทรวดทรงอย่างไร ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ สวยงาม สิ่งที่ล้ำค่าเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาเพราะพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นความสำคัญ ว่าไม่เพียงมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา แต่ยังเป็นลมหายใจของคนเรือนหมื่น เรือนแสน ที่กระจายตัวออกไป คนไทยส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม พึ่งพาเทวดาฟ้าดิน ขายข้าวไม่ได้ราคา พอมีกินมีใช้ ส่วนที่จะมาเสริมให้เขามีเงินหาหมอ ส่งลูกเรียน เพิ่มพูนความสุขและความมั่นคงของชีวิตได้ คือเรื่องของการมีอาชีพเสริม อย่างการทอผ้า ซึ่งจะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

สุทธิพงษ์ย้ำอีกว่า ทุกประเทศต้องมีความมั่นคงด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เพราะเราอยู่ในความหลากหลายทางชีวภาพ เราต้องมีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย โชคดีที่คนไทยเรามีผ้าไทย ความดีเด่นของผ้า ลึกซึ้งเกินกว่าที่เราคาดคิด มีมิติที่เกี่ยวพันกับความมั่นคง

“ความกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน มิติการแสดงตัวตน อัตลักษณ์ของเรา จนพระองค์ท่านชุบชีวิตผ้าไทยขึ้นมาใหม่ เราทุกคนต้องช่วยกัน คือ ช่วยกันซื้อ สวมใส่ เพื่อกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ได้สืบทอดมรดกของการทอผ้า ของการสร้างอัตลักษณ์ผ้าไทย ที่มีทั้งบาติก ปาเต๊ะ ม่อฮ่อม ย้อมคราม ขิด จก แพรวา มีหลายเทคนิคให้อยู่ได้ ถ้าเราไม่ใช้ ใครจะไปอยากเรียน

ถ้าคนไทยยังไม่เห็นค่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องช่วยกัน จะทำให้ประเทศเราเป็นระเทศที่มีอัตลักษณ์ มีเอกราช ทุกสิ่งอย่างที่เป็นของเรา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image