ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร |
เผยแพร่ |
เข้มข้น เดือดดาล และมากมายด้วยอารมณ์ขันไปในขณะเดียวกัน สำหรับแวดวงดนตรี กวี ศิลป์ นักคิด นักเขียน และนักต่างๆ ในเส้นทางที่เรียกรวมๆ ว่า ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ท่ามกลางช่วงเวลาที่การเมืองไทยกลับมาร้อนแรงแข่งอุณหภูมิพระอาทิตย์จนปรอทสูงปรี๊ดตั้งแต่ก่อนโควิดบุกโลก ราวเดือนกุมภาพันธ์อันก่อเกิด ‘แฟลชม็อบ’ ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัย กระทั่งล่าสุดในค่ำคืน 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2563
เกือบครึ่งปี หรือมากไปกว่านั้น ไม่เพียงเกิด ‘วิวาทะ’ ในวงการ หากแต่ยังมีการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ทั้งอาร์ติสต์รุ่นเล็กรุ่นใหญ่กันให้คึกคักหนักมาก
เริ่มจากประเด็นเผ็ดแซ่บจากสายงาน ‘น้ำหมึก’ รุ่นใหญ่ที่บ้างก็คว้ารางวัลอันทรงเกียรติอย่าง ‘ศรีบูรพา’ บ้างก็มีสร้อยนาม ‘ศิลปินแห่งชาติ’ หรือบางรายได้ทั้ง 2 อย่างบนความต่างทางความคิดที่ดูเหมือนจะอยู่คนละโลกตั้งแต่นิยามและองค์ประกอบของคำว่า ‘ชาติ’ บนคำต่อท้ายตำแหน่งแห่งหนของตนยามชรา คือ ‘ประชาชน’ หรือคนกลุ่มใดกันแน่ ไม่ว่าจะกรณี สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ศิลปินเพื่อชีวิต อดีตเคยดัง ที่ออกมาร่ายบทกวีผ่านเฟซบุ๊ก ความตอนหนึ่งว่า ‘อย่าเย่อหยิ่งทะนงตนคนรุ่นใหม่’ และ ‘จะปลดแอกเพื่อใครที่ไหนหนอ’ ทำวงการเดือดปุด ทัวร์ลงจนกระไดบ้านออนไลน์ไม่แห้ง ถูกย้อนถามว่าอุดมการณ์ครั้งตนยังหนุ่มแน่นเข้าป่ายุคเดือนตุลาหายไปไหน? ยังไม่นับช่วงก่อนหน้า ที่หลายงานรำลึกในฟากประชาธิปไตย ยกเลิกการใช้เพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เวอร์ชั่นหงา คาราวาน แล้วหันมาแต่งเพลงของตัวเองใช้ใหม่ ก่อนการเกิดขึ้นของ ประเทศกูมี โดย RAD ที่กลายเป็นเพลงชาติฝั่งต้านเผด็จการไปแล้ว
ไหนจะท่าทีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ชัดเจนมานานแสนนาน 1 ใน 250 ส.ว. ผู้ขานชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่ง วรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ผู้ชนะการประกวดคำขวัญ 50 ปีพรรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องผ่านการปราศรัยในแฟลชม็อบ #รามคำแหงจะไม่ทน เมื่อ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ให้ ‘พี่เนาว์’ ลาออกจาก ส.ว. เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับศิลปินรุ่นน้องคนอื่นๆ และออกมาปกป้องลูกหลาน
ด้าน สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่มีพลาด หลังโพสต์รัว ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการให้รับ ‘สำนึกพลาด’ มานานนับปีแต่ไม่ค่อยมีผล ล่าสุดออกมาโพสต์ภาพเก่าขาวดำคู่ ส.ว.ศิลปินแห่งชาติครั้งยังหนุ่ม ชวนหันกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย พร้อมยืนยันยังเป็น ‘กัลยาณมิตร’ เสมอ
ในขณะศิลปิน นักเขียน นักแปล และคนทำงานในแวดวงศิลปะออกแถลงการณ์หนุนหลักการของคณะประชาชนปลดแอก แนบรายชื่อทะลุพัน ในนาม ‘เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย‘ ซึ่งเป็นแนวคิดคนละฝ่ายกับศิลปินยุค กปปส. ที่จัดงาน Art lane เมื่อปี 57 รวมถึงรุ่นใหญ่ในวงการที่ออกมาคัดค้านจัดแฟลชม็อบ ณ ลาน ศ.ศิลป์ พีระศรี รั้วศิลปากร สุดท้ายหงายเงิบ ถูกตอกกลับด้วยภาพอาร์ติสต์ใหญ่ขณะขายเสื้อกลางลานเดียวกัน ทำไมจัดได้ก็ยัง งงๆ
สอดคล้องกับปากคำจากความอึดอัดใจที่พรั่งพรูจากปากศิลปินกลุ่ม Unmuted Project ซึ่งเปิดใจบนสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ในแฟลชม็อบเมื่อ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กลุ่มตนหาที่จัดนิทรรศการต่อต้านเผด็จการยากเย็นแสนเข็ญ เพราะถูกเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่ปฏิเสธ อ้างว่าไม่รับศิลปะแนวการเมือง
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวนี้ยังน่าสงสัย ว่าหากเป็นการเมืองในอีกฝักฝ่าย ทำไมมีให้เห็นเด่นเป็นสง่าในหอศิลป์ดังๆ
ยังไม่นับกราฟิตี้ของ Headache Stencil หรือมือพ่นนาฬิกาบิ๊กป้อม ที่ถูกลบแล้วลบอีกอย่างว่องไว
ตัดฉากมายังแฟลชม็อบต่างๆ งานศิลปะหลากแขนงมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่สร้างสีสัน หากแต่สะท้อนแนวคิด สัญลักษณ์ ความหมายยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสด ‘สำรอกบทกวี’ ณ ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่ โดย กลุ่มลานยิ้มการละคร ซึ่งต่อมาศิลปินถูกแจ้งความคดีชุมนุม นำมาซึ่งความเคลื่อนไหวหนักกว่าเก่าเพื่อยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงออก เช่นเดียวกับละครหน้าขาวเสียดสีการเมือง ในแฟลชม็อบ ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อไม่นานมานี้ โดย วสุ วรรลยางกูร ทายาทผู้ลี้ภัยทางการเมือง รวมถึงละครสุดปังปิดท้ายชุมนุมบิ๊กเบิ้มของคณะเยาวชนปลดแอก ในค่ำคืนวันที่ 16 สิงหาคม โดยกลุ่ม B-Floor ซึ่งนำเค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรมอมตะ ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ มาปรับเปลี่ยนให้เข้าสถานการณ์ ปลุก สาย สีมา คืนชีพในปี 63 ท่ามกลางมวลมหาประชาชนปลดแอกนับหมื่น
นอกเหนือจากศิลปิน นักแสดงมืออาชีพ ยังมีการแสดงของกลุ่มเคลื่อนไหว นำโดย แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา ซึ่งจัดละครจำลองเหตุการณ์สลายชุมนุมเสื้อแดงแยกราชประสงค์ 19 พฤษภา 53 มาให้รำลึกในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ก่อนเวทีประชาชนปลดแอกจะประกาศในช่วงเย็นพร้อมผนึกเสื้อแดงสู้เพื่อประชาธิปไตย


ขณะที่รุ่นใหญ่ อย่าง สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย เจ้าของรางวัลศรีบูรพา 62 จัดการแสดงเดี่ยวหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โปรยนกพิราบแห่งเสรีให้โบยบิน โดยคืนก่อนหน้าชุมนุมใหญ่ ได้กระทำความเท่ไม่ซ้ำใครโดยการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กขณะแถลงหนุนคณะประชาชนปลดแอกเพียงคนเดียว ก่อนขับร้อง ‘Do you hear the people sing?’ เวอร์ชั่นภาษาไทย เพลงยอดฮิตแฟลชม็อบยุคใหม่ ก่อนเพลงแฮมทาโร่จะเข้าช่วงชิงความฮิตในช่วงหนึ่ง
ส่วนบทกวี ไม่ต้องพูดถึง ว่าย้อนกลับมาเป็นเทรนด์ฮิต ทั้งการนำผลงาน ‘รุ่นพี่’ จิตร ภูมิศักดิ์ กลับมาอ่านกลางม็อบ โดยเฉพาะชุมนุมที่ใต้ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 14 สิงหาคม อีกทั้งบทกวีแต่งใหม่อย่าทรงพลังกระชากใจม็อบนครพิงค์เชียงใหม่หลายครั้งหลายครา
อีกประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจ คือปรากฏการณ์ศิลปินดารานักร้องรุ่นใหม่ที่ออกตัวชัดเจนหนุนฝ่ายประชาธิปไตย อาทิ สาวๆ บีเอ็นเคหลายราย, แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ นักร้องดังที่ขึ้นเวทีม็อบเบิ้ม 16 สิงหา ยืนชูสามนิ้วหลังแผงเหล็ก, นางงามสายอินเตอร์ อย่างมารีญา พูนเลิศลาภ และอีกมากมาย รวมถึง เจเจ กฤษณะภูมิ พิบูลสงคราม เหลนจอมพล ป. ผู้ซึ่งเยาวชนปลดแอกเพิ่งจัดเป่าเค้กวันเกิดให้หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 14 กรกฎาคม พร้อม ‘มีม’ คู่ ปรีดี พนมยงค์
ไม่เพียงคณะราษฎรเข้ามาอยู่ในพื้นที่สายป๊อป หากแต่คนรุ่นใหม่ หันมาศึกษาประวัติศาสตร์ช่วง 2475 อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ประชาชนปลดแอก ยังประกาศสนับสนุนศิลปินฝ่ายประชาธิปไตย โดยเอ่ยนาม ทราย เจริญปุระ ซึ่งประกาศเป็นท่อน้ำเลี้ยงด้วยข้าวเหนียวหมู และรถสุขา
ด้าน กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์อาหารชื่อดังที่ยังอยู่ในอาการเอ็นข้อมืออักเสบ ก็ยังลุกขึ้นมาวาดภาพชูสามนิ้วในวันชุมนุมใหญ่ ซึ่งผู้จัดประกาศเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งการทวงคืนประชาธิปไตย
เป็นปรากฏการณ์ในแวดวงศิลปะที่ในอดีตมักพูดกันว่าไม่เกี่ยวการเมือง แม้รู้ว่ามันไม่จริง






