จากปมลึกลับสู่เรียลิตี้ ปริศนาคดี ‘น้องชมพู่’ ปรากฏการณ์ข่าวลุงพล #ให้มันจบที่รุ่นเรา

ข่าวลุงพลนี่#ให้มันจบที่รุ่นเราด้วยได้มั้ย

คือข้อความที่ถูกแคปหน้าจอแชร์ต่อกันอย่างมากมายในสถานการณ์แฟลชม็อบเยาวชนที่ผุดขึ้นทั่วประเทศพร้อมแฮชแท็ก #ให้มันจบที่รุ่นเรา

เป็นการยั่วล้อปรากฏการณ์ข่าวอันสืบเนื่องจากคดีการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ ‘น้องชมพู่’ ซึ่งทุกแง่มุมข้อมูลที่เกี่ยวข้องนั้น

‘ไปไกล’ มาก ยกเว้นความคืบหน้าของคดี

Advertisement

นับแต่ ด.ญ.อรวรรณ วงศ์ศรีชา วัย 3 ขวบ หายตัวไปจากบ้านตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนพบศพบริเวณเขาภูเหล็กไฟ บ้านกกกอก จังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 14 พฤษภาคม

การชันสูตรพลิกศพถึง 3 ครั้ง กล่าวโดยสรุปคือ ไม่พบร่องรอยการข่มขืน ถูกล่วงละเมิด สมองและปอดไม่พบความผิดปกติที่เกิดจากการทำร้ายร่างกาย กะโหลกศีรษะไม่พบการแตกร้าว คอไม่หัก ไร้ซึ่งรอยฟกช้ำ พูดง่ายๆ ว่า ไม่เจอหลักฐานการถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนในกระเพาะไม่มีอาหารหลงเหลือ จึงมีข้อสันนิษฐานว่าน้องชมพู่อาจขาดอาหารจนหมดลมหายใจหลังหลงป่า 3 วัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความลึกลับดำมืดและชวนคาใจจากหลายสาเหตุ ความพยายามคลี่คลายคดีท่ามกลางสังคมที่จับจ้องก็เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกคนไปสอบปากคำแล้วกว่า 1,000 ราย ทั้งชาวบ้านกกกอก อดีตนักโทษในจังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ มุกดาหาร สกลนคร และกาฬสินธุ์ ไปจนถึงบุคคลขาจรที่ผ่านเข้าออกในหมู่บ้าน หมดงบนับล้าน ทว่า ปริศนาก็ยังไม่คลี่คลายให้แล้วใจจนบัดนี้

Advertisement

ปริศนาคดี ถึงเรียลิตี้และความบันเทิง

ในขณะที่บรรยากาศการติดตามสถานการณ์คึกคักเกินหน้าความคืบหน้าของคดี กลายเป็นเสมือน ‘เรียลิตี้’ ที่ทั้งสื่อมวลชนและเพจต่างๆ พยายามเฟ้นหาแง่มุมมานำเสนอแบบรายวัน สถานที่เกิดเหตุเขยิบเข้าใกล้แหล่งท่องเที่ยวแนวทางเลือก คนใกล้ชิดกลายเป็น ‘คนดัง’ บางรายเข้าข่าย ‘เซเลบ’

โดยเฉพาะ ‘ลุงพล’ ลุงเขยของน้องชมพู่อันเป็นบุคคลที่แม่น้องชมพู่ระบุว่า ‘น่าสงสัยที่สุด’ แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ ก่อเกิดความเห็นอกเห็นใจจากสังคมไทย จะด้วยการถูกจับจ้องหรือหน้าตาที่ถูกมองว่าหล่อเข้มคมคายก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ ลุงพลมีแฟนคลับไปให้กำลังใจ ขอแชะภาพ ส่งของขวัญวันเกิด ช่วยซ่อมบ้าน ฯลฯ

กระทั่งสื่อโทรทัศน์และออนไลน์บางแห่ง นำข้อมูลแนวไลฟ์สไตล์ของลุงพลออกมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอลโปรด ความสนใจในการเดินแบบ เล่นละคร ร้องเพลง เปิดภาพวัยหนุ่ม ฯลฯ

สำหรับสายงานภาพยนตร์ก็ไม่มีพลาด แมวมองชื่อดังยุคเก่าและผู้จัดการดารา อย่าง ‘อุ๊บ วิริยะ’ ผุดไอเดียสร้าง ‘บ้านกกกอก เดอะ ซีรีส์’

เรียกได้ว่า ‘ห่างไกล’ จากประเด็นคดีความไปมากจนต้องปักหมุดกันใหม่สำหรับใครที่อยากตามเน้นๆ ในปมคดี

แน่นอนว่า ปรากฏการณ์นี้ ‘สื่อมวลชน’ ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่าเป็นส่วนหนึ่งของการโหมกระพือจนเกินเลย อย่างไรก็ตาม บ้างก็มองว่า สื่อตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของสังคมไทย เพราะถ้าข่าวนี้ไม่มีคนสนใจ สื่อก็คงไม่ลงทุนทุ่มเทลงพื้นที่เจาะเกาะติดสะกิดปมในทุกหลืบมุมชีวิตแม้กระทั่ง ‘เมนูโปรด’ น้องชมพู่

เมื่อ ‘ผู้เสียหาย’ กลายเป็น ‘สินค้า’

“มันเหมือนกับว่าเรากำลังขายของ กลายเป็นว่า เป็นการขายข่าวที่หาเรื่องราวทั้งหลายมา ซึ่งความจริงแล้ว ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative News) ก็ดีนะ แต่ต้องเจาะลึกในประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั่วๆ ไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นข่าวได้ ถ้าอยากจะทำสารคดีก็ทำสารคดีไป”

คือความเห็นของ รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขยายความในเชิงหลักการเพิ่มเติมด้วยว่า โดยหลักการรายงานข่าว ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีอยู่ เพียงแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง และเป็นข้อเท็จจริงที่จะมีประโยชน์สำหรับผู้ฟังที่จะนำมาขบคิด อาจจะมีการนำเสนอที่แตกต่างจากรายงานของหน่วยงานราชการก็ได้ แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป

“เราไม่ได้กำลังนั่งดูภาพยนตร์ ละคร หรือว่าซีรีส์ ซึ่งนี่เริ่มกลายเป็นว่า ขายข่าว โดย ผู้เสียหายกลายมาเป็นสินค้า ซึ่งอาจารย์ก็เลิกดูไปแล้วเพราะว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากพาไปดูเรื่องราวต่างๆ ของชีวิต ที่เหมือนกับเป็นการสร้างหนังขึ้นมาเรื่องหนึ่ง” อดีตคณบดีวารสารศาสตร์กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

หากเป็นเช่นนี้ ‘ความพอดี’ ของการนำเสนอข่าวสารที่สังคมสนใจ ควรมีเส้นแบ่งอยู่ตรงจุดไหน ?

รศ.พรทิพย์ อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับเมื่อตรวจสอบแล้ว ข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือต่อสังคม กล่าวคือ สื่อเป็น Watchdog ต้องทำหน้าที่เฝ้าดู แน่นอนว่าเหตุที่การสืบสวนไปไม่ได้เสียที เราก็ต้องไปเจาะประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเป็นมุมที่ไม่ได้รับการนำเสนอ และเอามุมมองข้อเท็จจริงนั้น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมานำเสนอ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ นอกจากสร้างอีโมชั่นให้กับสังคม

วอตช์ด็อก อีโมชั่น กับจรรยาบรรณที่สังคมทวงถาม

แม้ วอตช์ด็อก อย่างสื่อมวลชนที่สังคมคาดหวัง จะสร้างอีโมชั่นกันบ้าง แต่ถามว่าถึงขนาดละเมิด ‘จรรยาบรรณ’ อย่างที่ถูกตำหนิอย่างรุนแรงผ่านโลกโซเชียลหรือไม่ ?

คำตอบของ รศ.พรทิพย์ คือ ‘ไม่ผิด’

“ไม่ผิด ถ้าเป็นข้อเท็จจริง เพราะเขาก็ไม่ได้โกหก ไม่ได้นำเรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหกมานำเสนอ แต่ในแง่ความเหมาะสม เหมือนว่าเขาอาจจะเล่นกับรสนิยมของคนหรือปล่าว ที่ชอบดูอะไรแบบนี้ แต่ในมุมมองส่วนตัว ถามว่าเกิดประโยชน์อะไรบ้าง นอกจากว่าก่อให้เกิดอีโมชั่นของคนดู”

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่อง ‘อีโมชั่น’ นี้ หากย้อนไปในยุค ‘หนังสือพิมพ์กระดาษ’ เฟื่องฟู และโทรทัศน์ยังไม่ได้มีกันทุกบ้าน และคำว่า ‘ออนไลน์’ ยังไม่เกิดขึ้นในโลก คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สื่อยุคก่อนหน้าก็เล่นกับอีโมชั่น ถึงขนาดยุคหนึ่งมีนิตยสารแนวอาชญากรรมที่ลงภาพศพเลือดสาดวางขายเป็นเรื่องปกติ

ถามว่า ในประวัติศาสตร์ของวงการสื่อ เคยมีการนำ ‘คดีดัง’ มานำเสนอในลักษณะนี้จนเข้าข่ายขายความบันเทิงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพราะไม่ว่าจะ คดี ‘บุญเพ็ง หีบเหล็ก’ หรือโดยเฉพาะ ‘ซีอุย’ ซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อย เผาร่างฌาปนกิจในพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อไม่นานมานี้ สื่อก็มีบทบาทสูงมาก

รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช

“ถามว่าในอดีตเคยมีไหม ไม่แน่ใจ แต่ในอดีตไม่มีรูปแบบที่เป็นไปในประเภท (type) การขายแบบนี้ นอกจากจัดทำให้เป็นสารคดี ซึ่งถ้าเป็นสารคดีข่าว คนก็จะรู้ว่านี่คือสารคดี แต่ว่าไม่ใช่การรายงานข่าวที่เป็นการรายข่าวแบบที่เรามองเห็นทุกวันนี้

ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนไป ตอนนี้ดูเป็นข่าวที่มุ่งเน้น Sentimental มุ่งเน้นเรื่องของอารมณ์ รสนิยม ความรู้สึกของคน ซึ่งการนำเสนอบางอย่างก่อให้เกิดความขัดแย้ง-เข้าข้าง เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ซึ่งคนควรจะเห็นหรือไม่เห็นด้วยจากข้อเท็จจริง แต่ไม่ควรจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับไลฟ์สไตล์ของคนที่เป็นข่าว ว่าเขาเป็นแบบนี้ แบบนี้ ซึ่งตรรกะก็จะหายไป เหตุผลของการพินิจ พิเคราะห์ก็จะหายไป” รศ.พรทิพย์ กล่าว และเน้นย้ำว่า เนื่องจากวงการวารสารฯทุกวันนี้มีความเข้าใจผิดกันตั้งแต่ต้นว่าใครก็เป็นนักวารสารได้ นี่คือข้อเข้าใจผิด

“แม้กระทั่งคนที่ทำสื่อเอง ก็ไปเอาใครก็ได้ เพียงแต่มาฝึกอบรม แต่ว่าลักษณะของการปลูกฝังอันจริงจัง วิธีทำ วิธีเขียน หลักคิด วิเคราะห์ ผลกระทบของสื่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อิทธิพลของมันค่อนข้างใหญ่ ซึ่งน่าจะผิดตั้งแต่คิดว่าเอาใครก็ได้มาเป็นสื่อ”

ปิดท้ายที่อีกแง่มุมสำคัญ นั่นคือ ‘ผู้อ่าน-ฟัง-ชม’ หรือผู้รับสารนั่นเอง โดย รศ.พรทิพย์ มองว่า มาถึงจุดนี้ ต้อง ‘ขึ้นอยู่ที่ผู้ชม’ ในยุคธุรกิจสื่อ

“ต้องขึ้นอยู่กับผู้ชมแล้ว ว่าจะชมเขาเป็นละคร หรือจะชมเขาเป็นข่าว ถ้าชมเอาเป็นละคร เอาความสนุก ใส่ความคิดเห็นนู่นนี่นั่นเข้าไป ก็ต้องใช้วิจารณญาณของแต่ละคนในการมองทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ส่งและผู้รับสาร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image