ยุทธศาสตร์ ‘นักเรียน(เลว)’ ศึกที่ผู้ใหญ่ถูกไล่ไปต่อแถว

#ลูกสามเสนไม่เอาเผด็จการ ชูกระดาษเปล่าหน้าเสาธง 18 ส.ค. ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ

ถ้าให้ใช้คำตามเทรนด์ที่เป็นไปในช่วงเวลานี้ ก็ต้องบอกว่า ‘ปังปุริเย่’ อย่างมั่ก สำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มเยาวชนไทย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคัดค้าน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำเอาพ่อแม่น้าอา ครูบาอาจารย์ ออกอาการ ‘ไปไม่เป็น’

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา ที่เดี๋ยวนี้การเลี้ยงควายไม่ใช่งานที่คุ้นเคยเหมือน ส.ส.ฟากฝั่งรัฐบาลท่านหนึ่ง ทว่า มีโลกใบใหม่ที่ผู้ใหญ่อาจยังเข้าไม่ถึง

การนัดหมายผ่านโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะชูสามนิ้วขณะเปล่งเสียงร้องเพลงชาติ, ถือกระดาษเปล่าหน้าเสาธง, ผูกโบขาวบนเรือนผมที่เคยถูกกะเกณฑ์ให้สั้นเต่อมานานนับปี ไปจนถึงม็อบหน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ชักชวนโดย นักเรียนเลว ชื่อกลุ่มที่จงใจตั้งขึ้นโดยเจตนาเสียดสี ยั่วล้ออย่างเรียบง่าย แต่เจ็บลึก

ไม่เพียงความกล้าหาญที่ต้องขุดขึ้นมาต้านอำนาจนิยมในโรงเรียน หากแต่ยังผ่านการค้นคว้าข้อมูลนอกตำราที่ห้องเรียนไม่ได้สอน เห็นชัดจากพื้นที่ชุมนุมซึ่งมีเด็กมัธยมแปะกระดาษยาวยืดบนแผ่นหลังคือถ้อยความจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2560 ที่แม้มีปัญหามากมายจนต้องล่ารายชื่อแก้ไข แต่เสรีภาพในการชุมนุมย่อมกระทำได้ ยังไม่นับเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ไฟเขียวให้โรงเรียนในสังกัดเปิดพื้นที่ให้ชุมนุมได้ หลังต้านกระแสไม่ไหว

Advertisement
แฟลชม็อบมัธยมลามทั่วประเทศไม่ได้มาเดินเล่นๆ แต่มียุทธศาสตร์


จาก ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’
ถึง ‘นักเรียนเลว’ และเด็กทุกคนที่ถูกกระทำ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูพัฒนาการของการเคลื่อนไหวในกลุ่มนักเรียนมัธยม ย่อมต้องกล่าวถึง กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ที่จัดตั้งขึ้นอย่างน้อยเกือบ 1 ทศวรรษมาแล้ว ขับเคลื่อนโดยเด็กมัธยมนุ่งขาสั้นอย่าง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊กส์ ‘นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี’ นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และพ่อค้าขายคุกกี้หมุดคณะราษฎร รวมถึง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ผู้ต้องหาตามหมายจับจากการปราศรัยนับไม่ถ้วนเวที นักศึกษารัฐศาสตร์ รั้วเหลืองแดง

กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทนี้ ยังมีนักเรียนมัธยมสืบทอดเจตนารมณ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยยังมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ที่ฮือฮาล่าสุด คืองานศิลปะ ‘การศึกษาฆ่าฉัน’ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โจมตีกฎระเบียบไร้สาระที่ขีดเส้น ตีกรอบ ผลักไส กระทั่งทำร้ายอนาคตของชาติ

Advertisement

กระทั่งมาถึงกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ นำโดย มิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ เพียงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทว่า สามัคคีชุมนุมแข็งขัน มีเพื่อนนักเรียนพร้อมใจกันเดินทางจากต่างจังหวัดมาผูกโบขาวหน้ากระทรวงมากมายมหาศาลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ระบุว่า ‘ไม่เกี่ยวการเมือง’ โดยตรง และเป็นคนละกลุ่มกับ เยาวชนปลดแอก แต่แน่นอนว่ามีจุดร่วมสำคัญ คือต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะนโยบายกระทรวง
ศึกษาธิการที่ตัวเองได้รับผลกระทบก็มาจากภาครัฐ วาทกรรม ‘มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป’ ของผู้ใหญ่ จึงถูกสวนกลับด้วยเหตุและผลที่ไม่อาจเลี่ยงได้

ย้อนอ่าน : ‘การศึกษาฆ่าฉัน’ ความเจ็บปวดเด็กไทยในรั้วโรงเรียน เมื่อกฎระเบียบเบียดเบียน


ไล่เจ้ากระทรวง ‘ต่อแถว’
ยั่วล้อระเบียบในรั้วโรงเรียน

เริ่มจากประเด็นเล็กๆ ที่ดูเหมือนเพียงเป็นสีสันในข่าวม็อบนักเรียนเลว หากแต่น่าสนใจยิ่ง อย่างการเลือกวิธี ‘เป่านกหวีด’ เรียก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาพบ เสียดสีวีรกรรมในอดีตครั้งชุมนุม ‘กปปส.’ ก่อนได้มาซึ่งตำแหน่งเจ้ากระทรวง ครั้นปรากฏตัว ก็ถูกไล่ไป ‘ต่อแถว’ ซึ่งนับเป็นการยั่วล้อข้อระเบียบที่เด็กๆ ล้วนต้องเจอในรั้วโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี ยังไม่นับเนิร์สเซอรี่และอนุบาล

ยังมีการร้องเพลง ‘แจวเรือ’ เพลงเอนเตอร์เทนง่ายๆ ในสังคมไทยที่ถูกใช้บ่อยในกีฬาสีและรับน้องใหม่ในสังคมโซตัส

“แจวมาแจวจ้ำจึก น้ำนิ่งไหลลึกนึกถึงคนแจว (ซ้ำ)
แจวเรือจะไปหนองคาย ใครอยากมี เสรีภาพในการแต่งกายลุกขึ้นมาแจว’
แจวเรือจะไปสีลม ใครอยากได้ เสรีทรงผม ลุกขึ้นมาแจว
แจวเรือจะไปศรีสะเกษ ใคร ไม่ต้องการแบบเรียนเหยียดเพศ ลุกขึ้นมาแจว
แจวเรือจะไปสงขลา ใครอยากให้มี การปฏิรูปการศึกษา ลุกขึ้นมาแจว
แจวเรือไปซื้อเครื่องเขียน ใครอยากให้ ครูฟังเสียงนักเรียน ลุกขึ้นมาแจว”

ครบจบประเด็นหลักๆ ของการเรียกร้องผ่านบทเพลง

ปัญหาที่ถูกนำมาเรียกร้องโดยกลุ่มนักเรียนเลวในวันนั้น ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์นักเรียนด้วยตนเอง มองว่า เรื่องเหล่านี้ปัญหาที่มีอยู่จริงในอดีต ไม่เคยถูกรับรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องหลักสูตรหรือทรงผม

“การพูดถึงทรงผม ถ้าผู้ใหญ่ได้ยินจะรู้สึกว่าเป็นแค่เรื่องการแต่งตัว แต่เด็กเชื่อมโยงระหว่างทรงผมกับมาตรฐานการเรียนการสอน จริงๆ แล้วเนื้อหาและคุณภาพครูแย่มาก ส่วนใหญ่เน้นให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยมากกว่าเนื้อหาการเรียนการสอน

เด็กที่เข้าร่วมชุมนุมที่กระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่เป็น ‘เด็กครีม’ จากที่ได้สัมภาษณ์เด็ก ไม่มีใครเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.6 เลย เป็นเด็กตั้งใจเรียน แต่มักถูกละเมิดในสิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่เป็นสาระในชีวิต จริงๆ แล้วเรื่องเนื้อตัว ร่างกาย ทรงผม ไม่ได้เป็นสาระสำหรับเด็ก แต่ครูทำให้มันเป็นสาระ”

 

ผศ.ดร.กนกรัตน์วิเคราะห์ด้วยว่า กระบวนการการเติบโตขึ้นของแกนนำที่เรียกร้องเรื่องเหล่านี้ ที่เติบโตมาเป็นระยะๆ แม้อาจพูดว่ามีมาตั้งแต่สมัยเนติวิทย์ ในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทเมื่อนานมาแล้ว นั่นคือเนติวิทย์เมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งมีคนที่กล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้น้อยมากท่ามกลางเงื่อนไขบรรยากาศหลังรัฐประหารใหม่ๆ สังคมอยู่ในภาวะที่ไม่อยากพูดถึงหรือถกเถียงปัญหาใดๆ เพราะอยากลองให้รัฐบาลชุดนี้ให้ความสงบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่คนเหล่านั้นพูด ได้สร้างเนติวิทย์อีก 2,000 คน

“เบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการต้องเข้าใจธรรมชาติของคนรุ่นนี้ แล้วปรับโครงสร้างกระทรวงและโรงเรียนให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ ไม่อย่างนั้นจะไม่จบแค่ 3 นิ้ว แต่จะเป็นการต่อต้านระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน เพราะเด็กทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ไม่เคยรู้สึกเลยว่า การสอนในโรงเรียนมีประสิทธิภาพ แต่ประสบความสำเร็จด้วยการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง”


ปราศรัยเรื่องใกล้ตัว ‘เด็กดีสำเร็จรูป’
ชีวิตวนลูปในโรงงานผลิตทาส

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญที่สาระมาเต็ม นั่นคือเวทีปราศรัยซึ่งผู้ใหญ่อาจต้องขยี้ตาหลายหน เพียงเพื่อจะพบว่าสิ่งที่ตาเห็นนั้นไม่ได้เป็นภาพหลอน นั่นคือ การที่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทั้ง ม.ปลาย และ ม.ต้น ขึ้นเวทีจับไมค์ระบายความในใจพร้อมข้อเรียกร้อง ดังเช่น ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว หน้ากระทรวงศึกษาธิการ 19 สิงหาคม ที่เปิดด้วยปมวาทกรรม ‘เด็กไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง’ โดยบอกว่า ตนมาจากโรงเรียนที่มีรุ่นพี่เป็นนายกฯ จะพูดเรื่องเด็กไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกว่าทำไมเด็กยุ่งการเมืองไม่ได้ เพราะเด็กก็เป็นคนคนนึงที่เสียภาษี ทำไมชูสามนิ้วไม่ได้ ทั้งที่เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเรามีการศึกษาที่ดี มีบทเรียนที่ไม่เหยียดเพศ และถ้าการเมืองดี คงไม่มาถึงจุดนี้ ก่อนปิดท้ายด้วยประโยคคมคายว่า

‘ชาติจะไม่มีอนาคตถ้ายังทำลายอนาคตของชาติ’

ย้อนไปในเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ ‘ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ’ 16 สิงหาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยคณะประชาชนปลดแอก ซึ่งมีผู้คนหลั่งไหลเข้าร่วมนับหมื่น กลุ่มนักเรียนเลวก็ขึ้นเวทีฉะระบบการศึกษาอย่างดุเดือด โดยเปิดเพลง ‘หน้าที่เด็ก’ ซึ่งขึ้นต้นว่า ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่10 อย่างด้วยกัน’ ก่อนเปิดประเด็นว่า เพลงนี้มีมาตั้งแต่ ปี 2534 ผ่านมา 30 ปี เด็กไทยยังต้องใช้ความคิดชุดนี้เป็นความดี เป็นคนดีได้ต้องทำความดี 10 ข้อ หรือผิดจาก 10 ข้อเป็นเด็กเลวหรือ ดังนั้น เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี จึงเรียกได้ว่า ‘เด็กดีสำเร็จรูป’ หล่อหลอมโดยชนชั้นนำให้อนาคตของชาติเป็นอนาคตของเขา การผูกขาดความดีแบบที่ชนชั้นนำทางสังคมต้องการให้ประชาชนเป็น ต่อมาคือหลักสูตรการศึกษาที่ผูกขาด มีเพียง 1 เดียว นักเรียนทุกคน ป.1-ม.3 ต้องเรียนเหมือนกัน ทั้งที่ผู้ใหญ่บอกว่า เด็กเป็นผ้าขาวที่รอการแต่งแต้มสีสัน แต่ถ้าแต่งแต้มสีเดียวจะไปได้อะไร

“เราต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อการศึกษาที่ดี ซื้อสิทธิมนุษยชน ที่ควรจะเป็นของเราตั้งแต่แรก ในประเด็นความเหลื่อมล้ำ ร.ร.ในประเทศไทย จะแบ่งเป็น ร.ร.รัฐ กับ ร.ร.เอกชน หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า นักเรียนต้องมีสิทธิเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาล 1- ม.3 แต่ทำไมเรายังเสียค่าเทอมอยู่ เป็นคำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้ คนที่เกิดมาควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีคุณภาพ ร.ร.รัฐ กับ ร.ร.เอกชน ให้การศึกษาที่ต่างกัน หลักสูตรเดียว แต่ถ้ามีเงินไปเข้าเอกชน มีเป็นหลายร้อยหลักสูตรให้เลือกเรียนตามชนิดผ้าที่เกิดมา ถามว่าประเทศเจริญแล้ว ทำแบบนี้หรือไม่

บอกว่าเป็นอนาคตของชาติ ทำกับอนาคตของชาติแบบนี้ ประเทศจะไปพัฒนาได้อย่างไร บอกเด็กอย่ายุ่งการเมือง แล้วนี่การเมืองไหม แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังส่งลูก 3 คนเรียนต่างประเทศ แล้วเราจะเชื่อมั่นการศึกษาไทยได้?

 

เวรี่แฟลชม็อบ “เกียมอุดม” แจวเรือหาประชาธิปไตย 31 ก.ค.ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา


ขอนิยามว่า โรงเรียนคือโรงงานผลิตทาส เอาเด็กเข้าโรงงาน แม่พิมพ์ออกมา ทำงาน ตาย ทำงาน ตาย แล้วก็วนใหม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ประเทศที่เจริญวัดจากคุณภาพการศึกษา เป็นรากฐานของประชาชน ของพลเมืองที่ดี เมื่อรากฐานเฮงซวย ประชาชนจะมีความคิดที่ดีได้อย่างไร การศึกษานี้สร้างพลเมืองเฉื่อยๆ ไม่มีความคิดของตัวเอง คิดอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่แปลกที่การศึกษาจะเฮงซวย ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาทุกอย่าง สรุปแล้วการศึกษาไทยมีอะไรดีบ้าง”
นักเรียนเลวร่ายยาวไม่มีเบรก

ประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงกลุ่มนักเรียนเลว ที่ส่งเสียงป่าวร้องถึงปัญหา หากแต่นักเรียนไทยทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างพร้อมใจขึ้นเวที 23 กรกฎาคม ในงาน ‘อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป’ ที่สวนสาธารณะบึงพระราม พระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าแก่ นักเรียนหญิง ม.ปลาย จับไมค์ปราศรัยดุเดือด เริ่มจากความเป็นห่วงของแม่ที่สั่งว่ามาชุมนุมได้แต่ ‘ไม่ให้ถือป้าย’ ตนเลยขึ้นปราศรัยแทน (ฮา) แม่บอกไม่ต้องไปยุ่งการเมืองหรอกลูก แต่ตนมองว่า นี่คืออนาคตของทุกคน ไม่ใช่แค่ตนเพียงคนเดียว จากนั้นยังเล่าว่า แม่บอกให้ตั้งใจเรียนจะได้เป็นข้าราชการ นำมาซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่า เมื่อผู้ใหญ่บอกให้ตั้งใจเรียนเพื่อเป็นข้าราชการที่มี ‘สวัสดิการรัฐ’ พวกตนมีคำถามว่าเหตุใดมีแต่ข้าราชการที่ได้สวัสดิการเหล่านั้น ทำไมคนอื่นไม่ได้ทั้งที่จ่ายภาษี การที่ตนเรียนสายศิลป์-ภาษา จะไม่ได้สวัสดิการรัฐหรืออย่างไร นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงปัญหาใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือการนั่งรถไปโรงเรียนที่ใช้เวลานาน ตั้งแต่รอรถสาธารณะ จนถึงปัญหารถติด โดยบอกว่า ‘ถ้าการเมืองดีชีวิตคงดีกว่านี้’

“พวกเรามาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่ออนาคตของตัวเอง แม้ถูกผู้ใหญ่มองว่าหัวรุนแรง อย่างไรก็ตาม เราเพียงใช้สิทธิของตัวเอง ไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร ขอให้ผู้ใหญ่เลิกโกหกว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง เพราะทุกคนรู้ คนไทยรู้ แต่สลิ่มไม่รู้ ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง”


อย่าคุกคาม บนหนทาง ‘อารยะขัดขืน’
ถือกระดาษเปล่า-ผูกโบขาว-ชูสามนิ้ว

ปัญหาสำคัญและเร่งด่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างมากมายในช่วงเวลานี้ นั่นคือการคุกคามในโรงเรียนจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งกลุ่มนักเรียนเลวกล่าวถึงปัญหาที่ว่านี้หลายครั้ง ตอนหนึ่งว่า

“ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ ถูกครู ผู้บริหารคุกคามจากการแสดงความเห็นทางการเมือง มีผู้ร้องเรียนมากกว่า 50 โรงเรียนทั่วประเทศ นี่คือความตกต่ำที่สุดในยุคนี้ กับการคุกคามเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี หนักสุดคือ นักเรียนคนหนึ่งถูกไล่ออก เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นในกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ล่าสุด เด็กอีกคนโดนไล่ออกเหมือนกัน แต่คนละโรงเรียน นี่คือสิ่งที่ผิดหรือ ทำไมต้องตัดอนาคตของชาติ ของนักเรียนด้วยการไล่ออก” ตัวแทนนักเรียนเลวกล่าวบนเวทีชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 16 สิงหาคม

ในขณะที่เด็กหญิงมัธยมต้นรายหนึ่ง ชื่อเล่น ‘อุ้ม’ วัย 14 ปี สวมเสื้อดำขึ้นเวที ‘แฟลชม็อบศาลายา ล่องเรือเพื่อเสรี (ภาพ)’ ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้แค่การออกมาแสดงความเห็นกลับถูกคุกคาม เช่นนี้จะกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยได้อย่างไร หากเสรีจริง คงไม่มีการคุกคาม ก่อนวอนครูอาจารย์อย่าข่มขู่ ‘หักคะแนน’ เพียงเพราะการ ‘ผูกโบขาว’

ผูกโบขาวร่วมม็อบนักเรียนเลว 19 ส.ค.
ชูสามนิ้วฮิตทั่วไทยโดยเฉพาะหน้าเสาธง

จากสถานการณ์เช่นนี้ ภาพนักเรียนมัธยมมากมายที่เข้าร่วมชุมนุมจึงมีเทปกาวปิดชื่อโรงเรียนและชื่อนามสกุล สวมหน้ากากอนามัยแน่นหนา ซึ่งทั้งสกัดโควิดและยับยั้งการคุกคามที่อาจเกิดในอนาคต

การชูป้ายที่อาจมีข้อความไม่พึงใจ ส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่มีพลังยิ่งกว่า นั่นคือ การชู ‘กระดาษเปล่า’ หรือไอแพดเฉยๆ โดยไร้ทั้งข้อความและคำปราศรัยที่ผุดขึ้นในหลากหลายโรงเรียน อาทิ เตรียมอุดมศึกษา และสามเสนวิทยาลัย

เป็นยุทธวิธีที่ผู้ใหญ่ต้องตามให้ทันเพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพื่อจับผิด และก่นด่าด้วยวาทะอบรมสั่งสอน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่อาจแก้ปมร้อนใดๆ แต่จะโดนเด็กย้อนศรให้เจ็บจี๊ดจนอาจเผลอกดโกรธในโลกออนไลน์ตามหลังลูกหลานอย่างรัวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image