ฮาวทูม็อบฉบับ‘ผู้ปกครอง’ พลิกอ่านวิธีการเข้าใจ เมื่อลูกอยากไปร่วมชุมนุม

“ลูกผมมาบอกว่าเขาไปร่วมชุมนุมมา”

เสียงของผู้ปกครองท่านหนึ่งเอ่ยขึ้นด้วยความเป็นห่วง เมื่อรู้ว่าลูกสาวสุดที่รักแอบไปร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ตอนนี้ผุดขึ้นยิ่งกว่าดอกเห็ด โดย 3 ข้อเรียกร้องหลักที่ผู้ชุมนุมส่งเสียงถึงรัฐบาลยังคงเป็น 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภา

ในมุมของคนรุ่นใหม่ การเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นการแสดงออกบนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพซึ่งรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังสู้เพื่อ “อนาคตตัวเอง” ทว่าในมุมของพ่อแม่ ผู้ปกครองก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงต่อการแสดงท่าทีต่างๆ ของลูกหลาน

“จะไปทำอะไร?” “ถูกใครเขาหลอกมา?” “ฉันไม่ให้ไป” อาจเป็นประโยคที่ผู้ใหญ่ต้องเก็บไว้พูดในใจเสียก่อน เพราะสิ่งแรกที่ต้องทบทวนความเข้าใจคือ เด็กอายุ 12-13 ปีขึ้นไป เริ่มมีพัฒนาการทางสมองในส่วน Abstract thinking หรือความคิดเชิงนามธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการกระตุ้นของ “ฮอร์โมนเพศ” และการมีชุดข้อมูลที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้ลูกหลานในวัยเจริญเติบโตควบคุมตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Advertisement

“ถ้าห้ามไม่ให้ไป ไม่ให้พูด ไม่ให้คิด ก็ไม่ใช่วัยของเขา แต่ควรจะบอกให้เขารู้ในสิ่งที่ควรทำ มีข้อมูลที่ชัดเจน คิดหากลวิธีที่ถูกต้อง รับฟังความเห็นต่าง พร้อมกับยอมรับผู้อื่นด้วย ถึงจะเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงได้ นี่ต่างหากที่ผู้ปกครองควรจะคุยด้วย ซึ่งนี่เป็นโอกาส ไม่ใช่วิกฤต”

คือคำแนะนำจาก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวไว้อย่างตรงประเด็น

พ่อแม่ควรยินดีที่ลูกสนใจปัญหาบ้านเมือง

ประเด็นพัฒนาการทางสมองส่วนความคิดเชิงนามธรรมนั้น คุณหมออดิศักดิ์ ขยายความว่า เด็กวัย 12-13 ปี หรือช่วงวัยรุ่นตอนต้น เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ความสามารถทางสมองในการเข้าใจเชิงนามธรรมจะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเรื่องความดี คุณธรรม ประชาธิปไตย แม้กระทั่งความสนใจปัญหาของผู้ตกทุกข์ได้ยาก รวมทั้งอนาคตของตัวเอง มีบ้างที่ถูกล่อลวงโดยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เด็กติดเกม ติดอบายมุข ดื่มเหล้าเมายา สนใจเพศตรงข้าม หรือสนใจด้านเดียวจนขาดความสามารถ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กสนใจปัญหาสังคม และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งกว่าหากเริ่มด้วยการศึกษาหาข้อมูลอย่างรู้แจ้งเห็นจริง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

“หากมองในมุมดีก็น่าดีใจที่วัยรุ่นสนใจปัญหาบ้านเมือง การที่เขาสนใจในปัญหาบ้านเมืองได้นั้น คนที่จะพูดอย่างนั้นได้ จะท่องอย่างเดียวไม่ได้ เขาต้องมีความสนใจก่อน ต้องศึกษากับมัน ก่อนจะให้เขามาพูด ความสนใจนี้น่าจะเห็นเป็นเชิงบวกไว้ก่อน พ่อแม่คงต้องเข้าใจ และใช้เชิงบวกนี้ให้เป็นประโยชน์ว่าเขาสนใจปัญหาบ้านเมือง ส่วนจะชัดเจนกว่านี้ไหมก็ยกประเด็นมานั่งคุยกันในบ้าน

“ส่วนคนที่ขึ้นมา เรื่องข้อมูล เนื้อหานั้นนำมาจากไหน นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คุณกำลังจะคุยในเรื่องที่เหมือนคุณเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้พูดหรือสนใจเปล่าๆ แต่สนใจถึงขนาดจะเปลี่ยนแปลงยกใหญ่ ดังนั้น ผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี ทุกวันนี้เราต้องการวัยรุ่นที่เข้าใจปัญหาสังคม เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม พีเอ็ม 2.5 ไม่อยากให้คนใช้รถยนต์ อยากให้คนลดการบริโภค เพื่อรักษาไม่ให้โลกร้อน ผู้คนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่หมด เราต้องการคนเหล่านี้ ต้องการการเปลี่ยนแปลงยกใหญ่ในอนาคต

“สิ่งเหล่านี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อ 1.ต้องรู้ก่อนว่าทิศทางที่คุณเปลี่ยนแปลงนั้นดีจริงไหม ดังนั้น ต้องศึกษาให้ละเอียดเพียงพอบนฐานวิชาการ พ่อแม่ต้องคุยกับลูก สิ่งที่ลูกสนใจเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ต้องคุยว่าความคิดเขามาจากไหน ถ้าเขาจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม จากหน้ามือเป็นหลังมือ มีผลกระทบต่อคนเป็นล้านๆ คนได้ ข้อมูลคุณต้องแม่นยำก่อน ต้องศึกษาอย่างละเอียด และ 2.การเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่ามีคนไม่เห็นด้วย เห็นต่างเยอะ เขาต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมีข้อมูลและวิธีการให้เป็นไปด้วยความสงบสุข”

แนะให้ศึกษาอย่างละเอียด

ฟังความเห็นต่าง ใช้วิธีการเหมาะสม

แต่หากลูกหลานมีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่ฟังคนอื่น แสดงออกอย่างก้าวร้าว รศ.นพ.อดิศักดิ์ก็ชี้ชวนให้ผู้ปกครองบอกเด็กๆ อย่างประนีประนอมว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ คือฮอร์โมนเพศและสิ่งกระตุ้น

คุณหมอบอกว่า ฮอร์โมนเพศเป็นเรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องธรรมชาติ เด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะรู้สึกอยากมัน อยากสนุก ก้าวร้าว เพราะถ้าถามแล้วว่าเขาไม่มีข้อมูล ออกไปแบบไม่ฟังใคร เด็กจะไม่รู้ว่าทั้งหมดมาจากฮอร์โมนเพศ เสมือนออกไปเจอยาเสพติดแล้วอยากลอง อย่างไรก็ตาม หากเป็นตัวเองในอายุ 25 ก็อาจไม่คิดแบบนี้ หรือคิด แต่ก็ไม่ใช้วิธีการนี้

หรือหากข้อมูลไม่ชัดแล้วทำไปเพราะอารมณ์ ก็ต้องถามว่าอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อก่อนหน้านี้ยังเล่นเกมอยู่ แต่วันนี้กลายเป็นสนุกกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้ออกแบบเกมก็ออกแบบมากระตุ้นเด็ก ทว่าในเรื่องนี้เด็กๆ ต้องรู้ตัวเองว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น?

“เขาต้องรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะออกไปฝ่าฟัน ยอมตาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความกล้า คนละเรื่องกับที่สนใจปัญหาบ้านเมือง ซึ่งการสนใจปัญหาบ้านเมืองนั้นดี ความคิดนามธรรมดี แต่เขาต้องควบคุมตนเองให้ได้ด้วย ถ้าทำบนสิ่งที่เป็นฮอร์โมนเพศมากำหนดเขา แสดงว่าเขาไม่ได้สร้างสมองส่วนการควบคุมตนเอง หรือสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นการควบคุมพฤติกรรมตนเองให้เหมาะสม ดังนั้น พ่อแม่ต้องชี้แจงให้เข้าใจ

“ถ้าทำไปเพราะอารมณ์ ก็ต้องถามว่าอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อก่อนหน้านี้ยังเล่นเกมอยู่ แต่วันนี้กลายเป็นสนุกกับเรื่องนี้แล้ว ใช้ฮอร์โมนเพศเหมือนกัน แต่เปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง ต้องถามว่าเกมนั้น คนออกแบบเกมมากระตุ้นเขา แล้วเรื่องนี้ใครเป็นคนสร้างแรงกระตุ้น เขาต้องรู้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเรื่องแบบใด พ่อแม่ต้องรู้ว่าเขามีแขน มีขา จะไปล่ามโซ่ที่ประตูบ้านก็คงไม่ได้ คนที่คิดผิดมีเยอะแยะ เช่น เด็กวัยรุ่นติดยา พ่อแม่ไม่อยากให้ทำแล้วห้าม และเขาทำก็มีเยอะแยะไป

“แนะนำให้ทำวิธีที่ถูกต้องคือ หาข้อมูลให้ละเอียด รับฟังกัน ใช้กลวิธีที่เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงสังคม และหวังเรื่องความสงบสุขของประชาชน ไม่ใช่การห้ำหั่นกัน”

คิดต่างได้ แต่อย่าให้กระทบสายสัมพันธ์ ‘ครอบครัว’

ขณะที่ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ชวนให้ย้อนมองถึงความคิดเห็นทางการเมืองระหว่างผู้ปกครองและเด็ก เพราะหากเหมือนหรือแตกต่างกัน อารมณ์ความรู้สึกก็จะต่างกันในระดับหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี ในอดีตเคยมีสถานการณ์เช่นนี้ กล่าวคือ ในครอบครัวเดียวกัน คนหนึ่งชอบเสื้อเหลือง อีกคนชอบเสื้อแดง เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในเรื่องความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทว่าครั้งนี้อาจมีเรื่องเจเนอเรชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงต้องกลับไปดูที่ สายสัมพันธ์ ซึ่งมนุษย์เรามีหลายรูปแบบ

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

“อย่างในครอบครัว มีความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก หลาน พี่ น้อง มีสายสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน ดังนั้น นอกจากบริบทด้านการเมือง เรายังมีสายสัมพันธ์หนึ่งที่แน่นแฟ้นกว่าความคิดเห็นทางการเมืองก็เป็นไปได้ ฉะนั้น อย่าไปรวมว่าถ้าเห็นต่างทางการเมืองแล้วจะทำให้สายสัมพันธ์อื่นๆ ได้รับผลกระเทือนไปหมด เราต้องเน้นสายสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีในครอบครัวว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์อื่นๆ
เสียหายไปด้วย

“สัปดาห์ที่แล้วผมไปงานชุมนุมที่ ม.มหิดล มีคนรู้จักคนหนึ่งพาหลานสาวมาด้วย อยู่ ม.3 น้องเขาเล่าให้ฟังว่าคุณแม่กับตัวเขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกัน เถียงกันอยู่ในเรื่องนี้ แม่เขาจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้น้องไปฟังมาว่าบนเวทีเขาพูดอะไรกัน แล้วค่อยมาอภิปรายแลกเปลี่ยนกับแม่ในเรื่องเหล่านั้น เผอิญวันนั้นเวลายืดยาว แม่โทรศัพท์มาช่วงก่อนเลิกงาน น้องเขาก็เล่าให้แม่ฟัง แม่บอกว่าหลายๆ เรื่องก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่เดี๋ยวจะไปศึกษารัฐธรรมนูญของไทย เพื่อจะเอามาโต้แย้งกับเหตุผลของลูกสาว”

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เอกพันธุ์มองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เด็ก เยาวชน อาจไม่ได้พูดถูกทุกอย่าง ขณะเดียวกันความคิดของผู้ใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกทั้งหมด ที่สำคัญคือเมื่อเป็นเรื่องการเมืองย่อมไม่มีอะไรถูกต้องที่สุด และไม่ได้มีอะไรที่ผิดมหันต์จนถึงที่สุด ดังนั้น ผู้ปกครองและเด็กๆ ควรมีความเข้าใจตรงนี้

“แน่นอนว่าประสบการณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวก็มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะหลายเรื่องเยาวชนก็อาจขาดประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์ของผู้ใหญ่มีความจำเป็น แต่ในความเข้าใจหลายเรื่อง ถ้าเรามองไปที่อนาคต แม้เราจะมีประสบการณ์มากขนาดไหนก็ยากที่จะคาดเดา ว่าอนาคตที่ดีและเหมาะสมกับลูกหลานต้องเป็นไปตามที่เราคิดเท่านั้น ถ้าเราเริ่มพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้ก็จะเป็นข้อดีสำหรับการรักษาสายสัมพันธ์ในครอบครัว”

จะดียิ่งกว่าหรือไม่ หากผู้ปกครอจะตามไปร่วมชุมนุมกับเด็กๆ ด้วย ?

รักษาการ ผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนฯตอบเคล้าเสียงหัวเราะว่า ถ้าไปด้วยกันได้ก็ดี แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อไปแล้วอาจได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ต้องใช้วิธีสงบจิต สงบใจ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องการบริหารอารมณ์

เป็นข้อแนะนำจากหมอและนักวิชาการที่พยายามให้ผู้ใหญ่ดูแลและเข้าใจเด็กอย่างประนีประนอมที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image