หยดเลือด ‘สาดสี’ สันติวิธี บนสมรภูมิวิวาทะ

กลายเป็นที่ถกเถียงหนักมาก แม้กระทั่งฝ่ายหนุนประชาชนปลดแอก สำหรับเหตุการณ์ ‘สาดสี’ ใส่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ โดย ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ ‘แอมมี่’ เดอะบอททอมบลูส์ ศิลปินชื่อดังหลังไปให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และกลุ่มรวม 15 คน ขณะรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อช่วงสายของวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทำอุณหภูมิพุ่งพรวดทั้งวงสนทนาการเมือง ศิลปะ และสิทธิมนุษยชน ยังไม่นับวงการสีกากีที่มีมุมซึ้งโพสต์รูปซักผ้าให้น้ำตารื้น เหตุและผลในแง่มุมของตนเอง ต่างถูกหยิบยกมานำเสนออย่างน่าสนใจ บ้างก็ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ตามหลักสันติวิธี มีกรณีต่างประเทศมากมายให้ดูเป็นตัวอย่าง บ้างก็ว่าทำเว่อร์วังเกินกว่าเหตุ หวั่นการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาเสียภาพลักษณ์ บ้างก็ว่า หากเทียบกับสีแดงจากเลือดสดๆ ของเหยื่อในเหตุชุมนุมทางการเมืองแล้ว ประชาชนถูกกระทำมากกว่านั้นมากมาย บ้างก็เห็นใจตำรวจชั้นผู้น้อยที่ต้องมารับผลจากการสาดสีครั้งนี้ทั้งที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเสื้อผ้าที่เสียหาย มีผู้ระดมทุนซื้อเครื่องแบบใหม่ให้หลายต่อหลายกลุ่มจนได้เงินครบตามต้องการ ส่วนเครื่องแบบที่เลอะสีในวันนั้น สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ประกาศขอซื้อชุดละ 5,000 บาท โดยให้เหตุผลว่ามีคุณค่าทางศิลปะ

สู้ระบบ ไม่ได้สู้ตำรวจ เห็นใจ ‘ชั้นผู้น้อย’

“เรากำลังสู้กับระบบ ไม่ใช่สู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

Advertisement

คือข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Yannapat Boonkate’ ผู้ประกาศระดมทุนซื้อเครื่องแบบใหม่ให้ตำรวจ โดยแสดงความเห็นพร้อมติดแฮชแท็กว่า

“#ไม่เห็นด้วยกับการสาดสีตำรวจ เพราะเรากำลังสร้างความเดือดร้อนให้คนตัวเล็กตัวน้อย เรากำลังสู้กับระบบ ไม่ใช่สู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิ่งที่ทำคือการผลักภาระให้ตำรวจอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเรา เครื่องแบบตำรวจต้องออกเงินซื้อเอง ร่วมกันซื้อชุดใหม่ให้ตำรวจ เพราะแสดงให้เห็นว่าประชาชนเห็นว่านี่คือสิ่งผิด เกินกว่าเหตุ แสดงให้เห็นว่าประชาชนขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แสดงให้เห็นว่าประชาชนอยู่ข้างตำรวจ และตำรวจก็ควรอยู่ข้างประชาชน อย่าผลักไสตำรวจชั้นผู้น้อยเลยครับ เขาแค่ทำตามคำสั่ง ถ้าไม่ทำ ลูกเมีย ครอบครัวเขาก็เดือดร้อน ขอเน้นย้ำว่า #เรากำลังสู้กับระบบไม่ใช่บุคคล”

Advertisement

เช่นเดียวกับความเห็นของ ไผ่ ดาวดิน เอง ที่ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ว่า ขอโทษกับเหตุการณ์ที่มีผู้สาดสีใส่ตำรวจเมื่อช่วงเช้า หลังจากนี้ จะระดมเงินซื้อชุดเครื่องแบบใหม่ให้ ยืนยันว่าไม่ได้สู้กับตำรวจ แต่สู้กับระบบ เพราะพวกคุณเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจ หากทำตามคำสั่งนายแล้วมันขัดกับสำนึก ทุกคนล้วนมีราคาต้องจ่าย หากท่านปลดแอกตัวเองจากระบบนี้ได้ ก็ไม่ต้องฟังคำสั่งใครอีก

ในขณะที่ตำรวจท่านหนึ่งเผยแพร่ภาพเสื้อที่เปื้อนสีผ่านโลกออนไลน์ พร้อมข้อความว่า

“พี่น้องร่วมอาชีพเราไปคุกคามประชาชน ไม่มีคำกล่าวใดนอกจากขอโทษ แต่น่าเสียดายที่สีติดแค่พื้นที่ที่ถูกสาด ไม่สามารถไปถึงหอคอยงาช้างได้ (พวกผู้นำ) ยังมองว่าเป็นการกระทำที่มีเหตุผล”

‘สาดสี’ สู้อย่างสันติในโลกสากล

หันไปดูมือสาด อย่าง ‘แอมมี่’ ที่ยืนยันว่า ตนเชื่อมั่นในวิธีการแบบสันติ เข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่และบทบาทเป็นของตัวเอง

แต่สิ่งที่ทำให้เจ็บปวดที่สุดคือ การที่ยืนอยู่ในระเบียบและพยายามเรียกร้องให้ใครบางคนหันมาสนใจ แต่เรากลับถูกเพิกเฉย

ถูกมองข้าม ไม่ว่าเราจะตะโกนเสียงดังแค่ไหนก็ตาม

“ผมรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าว เปรียบเสมือนดาบสองคม ผมเพียงแต่หวังว่าเหตุการณ์ในวันนี้จะทำให้ใครหลายๆ คนตระหนักถึงความสำคัญของการทวงคืนความยุติธรรม” แอมมี่ ผู้สารภาพบนเวทีที่ลานคนเมืองเมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การเปิดหน้าสู้อย่างนี้ สิ่งที่ ‘กลัว’ ที่สุดไม่ใช่การถูกคุกคาม ทว่า กลัวไม่ได้อยู่กับลูกสาว และ ‘ยอมไม่ได้’ ที่ลูกสาวจะเติบโตขึ้นในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย

นอกจากนี้ มีข้อนำเสนอข้อมูลการสาดสีในการชุมนุมทางการเมืองในต่างประเทศว่า นี่คือเรื่องปกติ โดยหยิบยกภาพถ่ายจากการประท้วงที่กรุงบาร์เซโลนา ครั้งชาว ‘กาตาลุญญา’ ต้องการแยกตัวออกจากสเปน โดยสาดสีไปที่เจ้าหน้าที่และรถตำรวจ ด้านสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้สีฟ้าสาดไปที่ตึกระฟ้า ทรัมป์ทาวเวอร์ ที่แมนแฮตตัน เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับประชาชนชาวผิวดำจากเหตุการณ์ #Black Lives Matter ฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้า เคยมีผู้ประท้วงชาวไต้หวันสาดสีแดงใส่หลุมฝังศพของ เจียงไคเช็ก อดีตท่านผู้นำไต้หวันมาแล้ว

ภาพจากเอเอฟพี

ศิลปะ-การเมือง

พื้นที่เหลื่อมซ้อนที่ต้องดู ‘จังหวะ’?

มาถึงแวดวงศิลปะ รุ่นใหญ่อย่าง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ไว้ว่า

“พื้นที่ศิลปะกับพื้นที่การเมืองมีความเหลื่อมซ้อนกัน กิจกรรมดี แต่จังหวะไม่เหมาะก็มีแต่ล้มเหลว โดยเฉพาะกับพื้นที่การเมืองที่อ่อนไหว”

ในขณะที่ รุ่นกลาง อย่าง อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อาจารย์และศิลปินที่เพิ่งมีงานแสดง Momentos/Monuments & reMinders นิทรรศการที่นำเสนอประเด็นการเมืองไทยไปหมาดๆ มองต่างมุมในประเด็นการนำกรณีต่างประเทศมาเปรียบเทียบ

“เพื่อให้แฟร์ ผมคิดว่าการเอาภาพตำรวจต่างประเทศถูกสาดสีมาเทียบกันก็ไม่เข้าท่า อย่างที่หลายคนบอก มันต่างบริบท คนละเวลา เอาเมืองนอกกับเมืองไทยมาเทียบกันรูปต่อรูปแบบนี้มันวัดกันด้วยเหตุผลลำบาก ที่สำคัญข้อเรียกร้องของการชุมนุมแต่ละประเทศมันก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นใครอยากทำไรก็ทำไปเหอะ ตอนเขาเอาคืน จะไม่มีโอกาสได้ทำ”

อย่างไรก็ตาม ศิลปินท่านนั้นมองว่า สาดสี ไม่ได้รุนแรง อย่าร่วมให้ความชอบธรรมกับรัฐและคนอีกฝั่งที่พยายามโจมตีว่าม็อบเท่ากับ รุนแรง และเท่ากับ ควรโดนปราบปราม

ประเด็นนี้ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับสารคดีชื่อดัง ลงลึกในรายละเอียดโดยตั้งคำถาม พร้อมให้คำตอบจากมุมมองของตน 2 ข้อ ว่า

1.สิ่งที่ตำรวจทำเป็นหน้าที่ ถึงแม้จะอยากทำหรือไม่อยากทำก็ตาม ก็ใช่

2.สิ่งที่แอมมี่ทำเป็นหน้าที่ของพลเมืองไหม จะว่าใช่ก็ใช่ แต่เป็นคนละหน้าที่แบบหน้าที่ของตำรวจแน่ๆ เพราะไม่มีใครมาสั่งให้ทำ และสิ่งที่แอมมี่ทำไม่ผิด และไม่ได้แรงอะไรด้วย

“เริ่มจากสองข้อนี้ก่อน ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่คนเอามาเปรียบกันว่าเป็นเรื่องปกติ แล้วกลับมามองที่ไทย ตำรวจไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ในการประกอบอาชีพนี้” นนทวัฒน์ระบุโดยหยิบยกข้อมูลที่ได้จากเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยมาเปิดเผยว่า ค่าเครื่องแบบผู้ชายตกราว 3,000-4,000 ตามเกรดเนื้อผ้า ชั้นสัญญาบัตรเบิกไม่ได้ต้องจ่ายเอง

ชั้นประทวนได้เงินสนับสนุนปีละ 1,500 บาท ที่เหลือต้องออกเพิ่มเอง ปืนใช้ทำงานก็ต้องซื้อเอง

“กระบอกหนึ่ง 9 มม. ถูกๆ หน่อยก็สามหมื่น อยากเสี่ยงใช้ปืนหลวงอายุงานเก่าแก่ก็ได้ แต่ใครจะอยากใช้ หายมา พังมา เป็นเรื่องชี้แจงกันอีก หมึกปริ้นเตอร์กูยังเดินไปซื้อเองที่มาบุญครองอยู่เรยคร่ะ” คือข้อความของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถูกอ้างถึง

มาถึงตรงนี้ นนทวัฒน์ ชวนคิดต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วถ้าตำรวจต่างประเทศถูกสาดสีเช่นนี้ ตัวแปรที่ต่างกันคือความรับผิดชอบของนโยบายรัฐที่มีต่อบุคลากรของตนนั้น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

“ถ้าเอาตัวเราไปเปรียบเทียบในฐานะคนที่ไปร่วมม็อบกับแอมมี่ด้วยเสื้อจิม ทอมป์สันที่เพิ่งซื้อมาใส่ไปแค่ 1 ครั้ง…แล้วสีบังเอิญสาดมาโดนเปื้อน เราคงเซ็ง แต่น่าจะเอาไปเปรียบกับกรณีของฝรั่งเศสได้ เพราะเราต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เองคือ…รู้ตัวว่าจะไปม็อบแล้ว…จะใส่เสื้อแบบนี้มาทำไม

ส่วนประเด็นเรื่องความสงสารนั้นเป็นปัจเจกก็จริงอยู่ ลูกเมียตำรวจที่บ้านที่ไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีพอต่อองค์กรของตนนั้นเอง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และในทางปัจเจกด้วย

ถ้าคิดต่อไปในกรณีอื่นๆ เช่น นายตำรวจคนหนึ่งต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในแคมป์คนงานก่อสร้างแล้วบังเอิญถังสีกระเด็นมาหกใส่ แล้วต้องมาออกค่าชุดเอง 4,000 นี่ โคตรพัง” ผู้กำกับสารคดีชื่อดังระบุ

 

เม็ดสี หยดเลือด

กับยุทธศาสตร์ ‘พับเพียบสู้’ ในสมรภูมิลาเวนเดอร์ ?

ปิดท้ายด้วยแง่มุมที่ถูกนำมาเปรียบเทียบอย่างสะเทือนอารมณ์ นั่นคือ หยดเลือดของประชาชนบนเสื้อผ้าที่สวมใส่ในสมรภูมิการเมือง กับสีที่ถูกสาดบนเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่รัฐ

พะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด พยาบาลอาสาผู้สละชีพจากเหตุสลายชุมนุมเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“สำหรับการสาดสี วันนี้โดยส่วนตัวดิฉันถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากค่ะ ถ้าเทียบกับเมื่อปี 53 ที่ทหารยิงลูกสาวดิฉันตายในวัดปทุมฯแล้วป้ายสีว่าลูกสาวดิฉันเป็นชายชุดดำ….”

ทำเอาผู้คนเข้าไปส่งกำลังใจล้นหลาม

ในขณะที่เฟซบุ๊ก รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแบบจัดเต็มว่า

“การต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่งานเลี้ยงปาร์ตี้สังสรรค์บนทุ่งลาเวนเดอร์!”

พร้อมตั้ง 2 คำถามน่าสนใจว่า

“คนที่ไม่เห็นด้วยย่อมวิจารณ์ได้ แต่ต้องถามกลับว่า แล้วจะให้ทำยังไงอีกนอกจากนั่งพับเพียบ ลุกยืน ปราศรัยสุภาพเรียบร้อย?

ถ้าอ้างว่า เขาเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยทำตามคำสั่งนาย ก็ต้องใช้เหตุผลเดียวกันกับทหารที่สังหารคนเสื้อแดงตรงราชประสงค์และสไนเปอร์ 6 ศพในวัดปทุมฯ นั่นเขาก็ ทำตามคำสั่งนาย เหมือนกัน? เสื้อแดงที่วิจารณ์การสาดสีน่ะลืมแล้วหรือ?”

รศ.ดร.พิชิต ยังระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า

“รู้สึกรำคาญ พวกสันติวิธี เมืองไทยมานานแล้ว”

“นิยามสันติวิธีไว้คับแคบมากจนแทบจะต้องนั่งพับเพียบพนมมือ พูดรุนแรงสักหน่อยก็หาว่าเป็น Hate Speech ไปซะหมด”

ก่อนปิดท้ายว่า คนกลุ่มนี้เอาแต่ PC (Political Correctness) จนดูหล่อดูสวย ทำให้การต่อสู้แห้งแล้ง ไม่มีพลัง ขาดจินตนาการและความหลากหลาย

ทั้งหมดนี้คือ ส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นในหลากประเด็นที่แตกหน่อไปจากหยดสี ซึ่งถูกสาดออกจากกระป๋องไปเปรอะเปื้อนบนเครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งเกิดข้อถกเถียงและคำถามที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ฉีกซอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image