ถึงเวลา ‘ครู’ ผลัดใบ มอง ‘คนรุ่นใหม่’ ในสัญญาณแห่งความแปรเปลี่ยน

ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง สำหรับกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้ว ที่ผุดขึ้นในรั้วโรงเรียน ลามไปหน้ากระทรวงศึกษาฯ เลยไปยังพื้นที่สาธารณะ กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

ล่าสุด 9 โมงเช้า ในวันสุดท้ายของเดือนสิงหาคม เยาวชนนัดยืนร้องเพลงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลากยาวถึง 12 ชั่วโมง โดยมี “นายสายน้ำ” นักเรียน ม.ปลาย นำยืนชู 3 นิ้ว หันหน้าเข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างเปล่าเปลี่ยว กระทั่ง 8 นาทีต่อมา เยาวชนหญิงถือร่มสีดำมากางให้ พร้อมร่วมยืนชู 3 นิ้ว ก่อนที่เยาวชนชายอีกรายจะเข้ามาสมทบ

ท่ามกลางแดดที่แรงขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางสายตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านการชักชวนบนโลกออนไลน์ ด้วยเชื่อว่านักเรียนสามารถพูดในสิ่งที่ต้องการได้ และอยากให้คนรับฟัง ท่ามกลางประชาชนที่เดินเข้ามาสอบถามและให้กำลังใจไม่ขาดสาย

Advertisement

เขาทำเพื่ออะไร? คือคำถามที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจสงสัย

ไม่นานมานี้ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ห้องเรียนชวนแลกเปลี่ยนสนทนา ในหัวข้อ “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง”

ตอบคำถามในปรากฏการณ์เหล่านี้ได้อย่างชัดแจ้ง

Advertisement

คำสัญญาจากลมปาก

ให้สิทธิ แต่ไม่หยุด‘กีดกัน’

นัญวา สันม่าหมูด

เพราะแม้จะบอกว่าให้สิทธิ เสรีภาพ ทว่า ยังกีดกันไม่หยุดหย่อน และด้วยสภาวะที่แสนแตกต่างนี้ คือแรงผลักให้นักเรียนตื่นตัวออกมาเรียกร้อง

นัญวา สันม่าหมูด เยาวชนจาก จ.ตรัง เผยถึงเหตุผลก่อนจะอธิบายต่อว่า ไม่ใช่แค่การศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา ที่ล้มเหลว แต่คือทุกอย่างต้องแก้ไข นับตั้งแต่ การคุกคามประชาชน ในโรงเรียน ด้วยสายตา การมองหน้าครูไม่ติด คะแนน หรืออะไรบางอย่าง การด่า แช่งให้ “ตายๆ ไปซะ”

นัญวา บอกว่า สิ่งแรกที่ล้มเหลวในระบบการศึกษาคือ เรียนมาตั้งแต่อนุบาล 1-ม.6 ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร บางคนถึงขั้นทำงานไปแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ ไม่ใช่ ก็มี จะเห็นข่าวการฆ่าตัวตายเพราะเรียนไม่ไหว ดังนั้น ครูต้องเปิดพื้นที่ให้พูดคุย “ถ้าการศึกษาดี สังคมก็จะดี”

ต่อมา เกรดที่ไม่เป็นธรรม ควรยกเลิก ถ้าไม่ได้ ก็ควรยกเลิกการใช้เกณฑ์ขั้นต่ำ เพราะไม่สามารถวัดผลได้จริง และไปต่อที่ เรื่องจิตใต้สำนึก ที่ปลูกฝังมาผิดๆ

“บางอย่างครูก็ปลูกฝังค่อนข้างผิด เด็กทำผิด ครูมีสิทธิตำหนิ แต่ครูทำผิด เด็กนิ่งเงียบ ไม่มีความเห็นใจ การปลูกฝังให้เด็กเห็นว่าอะไรที่เหมือนๆ กันคือสิ่งที่ถูก คือเหตุผลอย่างแรกว่า ถ้าเราไม่เหมือนกัน คือผิด”

“หนูมีเพื่อนที่ชอบสายแพทย์ บางคนเต้นเก่ง ร้องเพลงเพราะ แต่ได้เกรด 2 กว่าๆ ถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ฉลาด ครูบอกว่าควรปรับปรุง อยากให้มองเวลาเขาเต้น ร้องเพลง ขึ้นเวทีประกวด มองความ
สามารถจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ” นัญวาให้เหตุผล

เรื่องศาสนา ในฐานะเด็กอิสลาม มี ร.ร.บางแห่งที่ไม่อนุมัติให้เด็กใส่ชุด ซึ่งทุกศาสนิกชนต้องจ่ายภาษีอากร จึงต้องมีสิทธิเท่ากัน

ยังมี เรื่องการใช้ภาษีของรัฐบาล ที่นัญวาตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนไทย ทำไมต้องไปขอของกินจากคนอื่น จากตู้ปันสุข “สุดท้าย เรื่องของงบประมาณ อยากให้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เงิน 2.2 หมื่นล้าน เอาไปซื้อรถบัสไฟฟ้าได้กี่คัน และย้อนหลังไปคุณเอาไปทำอะไรหมด ควรใช้ให้เกิดประโยชน์”

คือข้อเรียกร้องของเด็กสาวต่อรัฐบาล ให้ใช้ภาษีอย่างคุ้มค่า ให้อิสระกับศาสนา เพื่อไม่ให้เกิดกรณี “เรียนดีในประเทศที่ล้าหลัง”

นัฐพงษ์ ตาแก้ว

ด้าน นัฐพงษ์ ตาแก้ว ตัวแทนจาก จ.พัทลุง เล่าประสบการณ์ในฐานะนักเรียน ม.ปลายคนหนึ่ง ซึ่งพยายามปกป้องสิทธิและการเรียกร้องประชาธิปไตยในรั้วโรงเรียน ท่ามกลางคำกล่าวของผู้ใหญ่ที่ว่า ให้คิดถึงอนาคต แต่เมื่อทำเพื่ออนาคตของตัวเองกลับถูกครูปิดกั้น ปล่อยให้ ตำรวจ 3 คน เข้าไปสอบสวนเด็ก 1 คน ทำไมปล่อยให้เด็กอยู่ในสภาพแบบนั้น บุคลากรทางการศึกษาต้องปกป้องนักเรียน ไม่ใช่ปกป้องตำรวจ นายของคุณ หรือตำแหน่งของคุณ

“ไม่เข้าใจว่าเวลาเรียกร้องสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิของเราทำไมต้องปิดกั้น เราผิดอะไร อยากให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจความคิดบ้าง เรื่องการคุกคามนักเรียน อยากให้รัฐบาลเลิกคุกคามแกนนำ หรือนักเรียนที่เห็นต่าง คุณบอกเห็นต่างได้ เปิด แต่การกระทำไม่ใช่ ส่วนตัวเคยเจอตำรวจ 3 นายมาหาที่บ้าน พร้อมผู้ช่วยและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่าจะทำทำไม ผิดกฎหมาย เมื่อถามว่าข้อไหน ก็ตอบไม่ได้ ซึ่งถ้าตอบได้จะหยุด” นัฐพงษ์เผย

“เรื่องการศึกษาไม่ตอบโจทย์ วัดเด็กด้วยเกรด ด้วยตัวเลข จำเป็นหรือที่ต้องเรียน 7-8 ชั่วโมง ตั้งแต่ ป.5-ม.5 พระอภัยมณียังไม่จบ ไม่เอาให้จบทีเดียวแล้วขึ้นเรื่องใหม่สักที”

“ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่ออนาคตของตัวเอง” นัฐพงษ์ย้ำ

หวังส่งต่อ‘อนาคต’

วอนหยุดวาทกรรม‘ชังชาติ’

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี

ด้านศิษย์เก่า รัฐศาสตร์ จุฬาฯ อย่าง ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก เผยว่า เพิ่งเรียนจบ ทำงานได้ไม่นานก็มีเหตุให้ได้ออก ออกมาก็ทำม็อบทันที

“ถ้าเรามีรัฐบาล มีผู้แทนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาชนเป็นอันดับแรก ก็คงไม่มีคุณภาพชีวิตแบบนี้ ที่ห่างเหินเพราะรับใช้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือก วิธีการเดียวที่จะรีเซตคือ กลับไปที่จุดเริ่มต้น อะไรให้อำนาจสถาบันการเมือง คือ รัฐธรรมนูญ

“ส่วนตัวเกิดมาในครอบครัวที่ไม่รวย มีความเสียเปรียบในระบบทุนนิยม พ่อแม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ตี 4-5 ออกไปขายของกว่าจะกลับ 3-4 ทุ่ม แม้แต่ตอนเรียนมหา’ลัยก็ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ตกเย็นเพื่อนถาม ฟอร์ดไปไหน – นัดเด็กไว้ (สอนพิเศษ) เราสูญเสียช่วงเวลาวัยเด็กและวัยรุ่นไปส่วนหนึ่งเพราะความเหลื่อมล้ำนี้ ที่ไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับศักยภาพของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ให้เราเข้าถึง ทรัพยากร 1 ใน 3 ของประเทศ อยู่ในมือคน 1 เปอร์เซ็นต์ เราไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เท่าที่ควร นี่คือสาเหตุที่ออกมาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”

“เราไม่อยากส่งต่อระบบแบบนี้ สังคม เศรษฐกิจแบบนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกหลานที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”

ฟอร์ดยังฝากถึงคนรุ่นก่อนหน้าที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำของเยาวชนด้วยว่า

มันไม่มีสูตรสำเร็จในการชี้ว่าสิ่งนี้ดี หรือไม่ดี ที่เราออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างดุเดือดเป็นเพราะเราหมดหนทางจะลืมตาอ้าปากภายใต้โครงสร้างทางการเมือง และเศรษฐกิจแบบนี้

หยุดกล่าวหาว่าเราชังชาติ

มองโลกด้วยสายตาบริสุทธิ์

ตั้งคำถามกับความ‘บิดเบี้ยว’

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์ เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่ทำทุกวันก่อนนอน คือเปิดคลิปการชุมนุมเพราะอยากฟังเสียงของเด็กที่ปราศรัย สังคมไทยมาถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังเสียงของเด็กเยาวชน คนที่โจมตี 95 เปอร์เซ็นต์ รับการเคลื่อนไหวผ่านสื่อ ผ่านไลน์ หรือพาดหัวข่าว จึงอยากเรียกร้องผู้ใหญ่ที่อาจไม่ได้เห็นด้วย แต่ขอให้เปิดใจฟังก่อน

“การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ทำหน้าที่ปลุกมโนสำนึกให้กับสังคม 6 ปีผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เกิดความคิดของผู้ใหญ่ว่าสังคมเปลี่ยนไม่ได้ อยู่ไปอย่างอยู่เป็น แต่เขาทำให้เกิดความรู้สึกร่วมว่าสังคมเปลี่ยนได้ และเชื่อในพลังของตัวเอง การชุมนุมทั้ง กทม. ต่างจังหวัด คือห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่สอนเลคเชอร์ เรื่องการเมือง และสิทธิมนุษยชน เด็กเปิดห้องเรียนให้เรา เรียนแล้วเห็นด้วยหรือไม่ ก็ถกเถียง”

ผศ.ดร.ประจักษ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปกติเราไม่ค่อยเห็นขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เพราะถ้าการเมืองดี พื้นที่ของเขาควรไม่ใช่ถนน ควรไปพัฒนาศักยภาพ เดินเล่น ดูหนัง ไปหอศิลป์แทน เตรียมพร้อมสู่ความเป็นผู้ใหญ่

ไม่เหมือนยุค 50 ปีที่แล้ว ตอนนี้การเคลื่อนไหวไปไกลกว่า 14 ตุลาฯ ทั้งในเชิงความหลากหลายและอุดมการณ์ นำไปสู่คำถามคือ ทำไมต้องตอนนี้?

“เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมาประจบกัน คือ ปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติ ผศ.ดร.ประจักษ์เฉลย และเผยต่อว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาขณะนี้สะท้อน “อาการป่วยไข้ของสังคม” และอาการป่วยไข้นี้มี 3 อย่าง คือ เผด็จการทางการเมือง ผูกขาดทางเศรษฐกิจ และ อำนาจนิยมทางวัฒนธรรม ที่มาผนึกแน่น

“6 ปีมานี้เราอยู่กับความไม่ปกติอย่างรุนแรง และสังคมเรียนรู้ความไม่ปกติ กลายเป็นเด็กมากระตุ้นให้เห็นว่า ที่เห็นว่าปกตินั้นไม่ปกติ ลุ้นกับการกำหนดว่าจะรัฐประหารอีกเมื่อไหร่ เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก คนยากลำบาก กราฟความยากจนพุ่งสูงขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่กลับร่ำรวย เช่นนี้สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว เราพัฒนาเศรษฐกิจแบบไหนที่ยิ่งพัฒนา ยิ่งเหลื่อมล้ำ” คือข้อวิเคราะห์ และคำถามที่ทิ้งไว้

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวหนนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่าจะเป็นเพียงม็อบแฟชั่น ไฟไหม้ฟาง ที่เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป หรือเป็นสึนามิลูกใหญ่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.ประจักษ์กลับมองว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดจาก “สามัญสำนึก และประสบการณ์” ไม่ได้มาจากการท่องจำ หรือเขียนสคริปต์ เพราะอำนาจนิยมทางวัฒนธรรม ในรอบ 6 ปีหลังรัฐประหารรุนแรงขึ้น ในแง่การปลูกฝังแทรกซึมเข้าไปในโรงเรียน ไม่ว่าจะการปรับหลักสูตร บรรจุชั่วโมงสอนค่านิยม 12 ประการ บางที่เอาทหารเข้าไปสอน เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากการกดทับในโรงเรียน ซึ่งเราเรียนหนังสือ แต่ไม่เคยตั้งคำถาม

“คนที่อยู่เบื้องหลังนักศึกษา ปลุกให้ตื่น ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐประหาร และการเคลื่อนไหวที่ประหลาด”

เปลี่ยนแปลง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง

สู่พลังจาก‘คำสัญญา’

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

ในมุมของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เราเข้าใจคนรุ่นใหม่น้อยมาก เขาลุกขึ้นมาท่ามกลาง 3 เปลี่ยนแปลง 2 ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอยู่ในโลกที่ยากขึ้น ท่ามกลางผลผลิตที่เราสร้างขึ้นมา

3 เปลี่ยนแปลง คือ 1.การกล่อมเกลาแบบเสรีนิยม 2.โลกที่ผันแปรรุนแรงและรวดเร็ว และ 3.เทคโนโลยี

1.เขามีพ่อแม่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจลูก ให้แสดงออกและมีความคิดเป็นของตัวเอง

2.เติบโตในโลกที่ผันแปรรวดเร็ว หลายครอบครัวเปราะบางทางเศรษฐกิจ พ่อแม่ได้รับผลกระทบ เป็นคนรุ่นกลางที่ปรับตัวไม่ได้ในโลกที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็ว 30-50 ปี ไม่ว่าโรคระบาด ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ช่องว่างความยากจน ฯลฯ

3.เทคโนโลยีไม่ใช่จุดเริ่มต้น เพราะพวกเขาเผชิญปัญหาดิสรัปทีฟในชีวิตจริง จึงเข้ามาระบายในโลกออนไลน์เพื่อเป็นพื้นที่ระดมเพื่อนๆ พูดคุยกัน

“จาก 3 การเปลี่ยนแปลงนี้ 1.โรงเรียนคือสถาบันเดียวที่ไม่เปลี่ยน คุณคิดว่าเขาจะอึดอัดขนาดไหน ตอนเด็กก็คิดว่าดี กราบหมอบคลาน เราไม่เคยพูดกันเรื่องความคิดที่ไปไกลถึงโครงสร้างทางการเมืองแต่คนรุ่นนี้ไม่ใช่ เพดานของเขาไปในโลกที่มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่โรงเรียนกลับเป็นหนึ่งสถาบันที่อนุรักษนิยมและไม่เปลี่ยน แม้จะบอกเสมอว่า พยายามปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง

“อย่างที่ 2 ที่ไม่เปลี่ยนคือ 6 ปีหลังรัฐประหาร เขาได้รับผลกระทบ แต่มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปที่สัญญาไว้ จึงเกิดพลังที่กดทับ” ผศ.ดร.กนกรัตน์วิเคราะห์

ใหม่-เก่า

การ‘ผลัดใบ’ของครู

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

“การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ใช่การวิ่งร้อยเมตรแล้วจบแต่ต้องอาศัยการส่งต่อความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์เดียวกัน” คือคำกล่าวของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ครุศาสตร์ รั้วจุฬาฯ ที่เผยว่า ฟังฟอร์ดพูดแล้วนึกถึงตัวเองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ต้องเรียนและทำงานส่งตัวเอง

“จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจัยเงื่อนไข คือ นับตั้งแต่ปี’51 เป็นต้นมา ครุศาสตร์มีงานน้อย แต่เด็กแย่งกันสอบเข้ามากขึ้น เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากครูที่เขาเห็นในการเรียน ตลอด 10 ปี จะได้ยินการเล่าประสบการณ์ในสถาบันที่เปลี่ยนแปลงช้ามาก บรรยากาศโรงเรียนและสังคมเปลี่ยน

แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือกลไกอำนาจรัฐที่เข้ามาในโรงเรียน นักเรียนถูกจับแต่งชุดอาเซียน สารพัดโครงการท็อปดาวน์จากรัฐ มีต้น มีปลาย การส่งเสียงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก คนนอกที่ไม่ได้เข้าไปสอนในโรงเรียนยังรู้สึก แต่หลายคนในโรงเรียนไม่ได้รู้สึก”

ผศ.อรรถพลเล่าต่อว่า ตลอด 30 ปีมานี้ เริ่มเกิดเสียงครูรุ่นใหม่ที่ออกมาพูดมากขึ้น จะเห็นบรรยากาศในโรงเรียนระหว่างครู 2 รุ่น รุ่นหนึ่งอยู่ในศักยภาพที่ควบคุมทุกอย่างได้มาโดยตลอด อีกรุ่นเห็นชีวิตเด็กมากขึ้น จึงมีท่าทีลดความคาดหวัง ซึ่งหลายแห่งเกิดบทสนทนาร่วมกันว่าเราจะประคับประคองสถานการณ์อย่างไร

“มีครูหลายคนที่ตรงข้ามกับเด็ก แต่ก็มีครูจำนวนไม่น้อยที่อยู่เคียงข้างเด็ก บรรยากาศในโรงเรียนมีการ “ดิสรัปต์” เพื่อหาทางออกร่วมกัน หลาย ร.ร.หาทางออกที่เป็นที่พึงพอใจทั้งสองฝ่าย เช่น ไม่ได้ชูสามนิ้วตอนเคารพธงชาติ แต่จัดสรรพื้นที่มีเวลาให้ชูกระดาษเปล่าได้

“นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ นี่คือสัญญาณในสังคมไทยที่จะเกิดการรับไม้ต่อพัฒนาสังคม เราเห็นโจทย์เดียวกัน ไม่ไกลเกินกว่าจะรับรู้ หลายคนอาจปิดตา แต่เราได้ยินเสียงจากคนอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง ครูรุ่นใหม่เขาพร้อมจะอยู่กับเด็ก เป็นคนกลางคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น” ผศ.อรรถพลกล่าวทิ้งท้าย

คือสัญญาณของแสงที่ส่องไปข้างหน้า ว่าสังคมไทยยังมีทางไปอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image