‘ทำแท้งเสรี’ สิทธิในร่างกาย ทางเลือก ข้อกฎหมาย ความในใจ ‘ผู้หญิงปลดแอก’

แผ่นหลังของกรกนก คำตา เขียนข้อความภาษาอังกฤษมีความหมายว่า ‘จิ๋มก็ต้องการประชาธิปไตยเหมือนกัน’

3 แสนราย คือตัวเลขประมาณการสถิติการทำแท้งในสังคมไทย

300 คืออัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย

132 ล้านบาท คืองบประมาณเพื่อการรักษาผู้หญิงที่เจ็บป่วยจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยเมื่อ พ.ศ.2558

เหล่านี้คือข้อมูลจากหนังสือ ‘เถียงกันเรื่องแท้ง : สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม’ โดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่มีแฟลชม็อบ ‘ปลดแอก’ มากมายแทบไม่เว้นวัน

‘ผู้หญิงปลดแอก’ (Women for Freedom and Democracy) คืออีกหนึ่งกลุ่มที่คว้าไมค์ขึ้นปราศรัยในหลากหลายเวที ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่เพียงประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่ถูกไฮไลต์เป็นประเด็นใหญ่ร่วมกับกลุ่ม ‘แอลจีบีที’ ทว่า อีกประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันมานานแสนนานในสังคมไทย คือ ‘ทำแท้งเสรี’ ที่มีความเห็นหลากหลาย บ้างก็คัดค้าน บ้างก็สนับสนุน บ้างก็ยังไม่แน่ใจ

ครม.เห็นชอบปรับแก้ ม.301 อนุญาตทำแท้ง

‘ทางการแพทย์’ ไม่ใช่ทำแท้งเสรี

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบปรับแก้ ‘กฎหมายอาญา ม.301’ อนุญาตหญิงทำแท้ง เพื่อเหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งยังไม่ใช้ทำแท้งเสรี

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบปรับแก้ กฎหมายอาญา มาตรา 301 ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่น ทำให้ตนเองแท้งลูก’ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน และมาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และคำวินิจฉัยจะมีผลบังคับใช้หนึ่งปีจากนี้

“ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงยุติธรรม ไปร่วมกันปรับปรุงแก้ไข และกำหนดเงื่อนไขที่จะอนุญาตให้ทำแท้ง เช่น ระยะเวลาอายุครรภ์ หรือเหตุผลทางการแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน แต่ยืนยันไม่ใช่การอนุญาตให้ทำแท้งเสรี” รองโฆษกกล่าว

การรณรงค์ทำแท้งเสรี ในการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก
เมื่อ 16 สิงหาคม ซึ่ง ‘ผู้หญิงปลดแอก’ เข้าร่วมด้วย

ในขณะที่การชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา กรกนก คำตา ตัวแทนคณะผู้หญิงปลดแอก นอกจากประกาศหนุนแนวทางของ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ แล้ว ยังอ่าน ‘แถลงการณ์ฉบับที่ 1’ ของคณะผู้หญิงปลดแอก เรียกร้องให้ ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับผู้หญิงที่ทำแท้ง แต่ต้องให้การเข้าถึงการทำแท้งเป็นบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง

ความตอนหนึ่งว่า

‘เราจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรถ้าแม้แต่เรื่องร่างกายของเรา สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของเรายังถูกควบคุมโดยรัฐ

รัฐมีบริการ แต่ไม่มีใครรู้ ไม่กล้าประชาสัมพันธ์ เพราะกลัวกฎหมาย หมอที่ช่วยผู้หญิงยังต้องทำไปเสี่ยงไป เสี่ยงกับการถูกตำรวจจับ เสี่ยงกับการถูกหมอด้วยกันประณามหยามเหยียด ว่าให้อับอาย ผู้หญิงต้องเสี่ยงไปทำแท้งไม่ปลอดภัย เสี่ยงถูกจับ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และหลายคนเสียชีวิต

เรื่องราวเหล่านี้ยังคงดำเนินไปในทุกๆ วัน ในสังคมที่รัฐไม่เคยสนใจชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนจริงๆ’

‘ผู้หญิงปลดแอก’ จี้เลิก ‘เอาผิด’

ขอใช้สิทธิต่อร่างกายตัวเอง

(ซ้ายสุด) กรกนก คำตา คณะผู้หญิงปลดแอก (Women for Freedom and Democracy) ในกิจกรรมที่จังหวัดขอนแก่น (ภาพจากเพจ ‘ผู้หญิงปลดแอก’)

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับผู้หญิง

‘เพราะนี่คือร่างกายของเรา คือการตัดสินใจของเรา คือความรับผิดชอบที่เรามีต่อชีวิตของเรา คือทางเลือกที่ดีที่สุดที่เราได้เลือกแล้วสำหรับตัวเรา’

จากนั้น ตัวแทนผู้หญิงปลดแอกยังเว้าจาภาษาอีสาน ถอดความได้ว่า

‘เพื่อบ่ให้แม่หญิงผู้ใดต้องตาย ต้องบาดเจ็บ ต้องพิการ ย้อนเฮ็ดแท้งบ่ปลอดภัย (เพราะทำแท้งไม่ปลอดภัย)

เพื่อบ่ให้ผู้หญิงคนใด ต้องถูกบังคับให้เป็นแม่ ทั้งที่ยัง บ่พร้อม

เพื่อบ่ให้ผู้หญิงคนใดถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี ทั้งที่เฮาได้เฮ็ดอย่างดีที่สุดแล้ว’

กรกนก ยังระบุว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่ากฎหมายนี้ที่ใช้มา 63 ปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เราเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง แต่หน่วยงานที่มีอำนาจ ไม่เคยฟังเสียงของเรา ฟังแต่สมาคมวิชาชีพหมอที่ไม่อยากทำ และตัดสินใจแทนผู้หญิง โดยไม่สนใจว่ามีผู้หญิงเท่าไหร่ที่ต้องตายไปเพราะกฎหมายฉบับนี้

“การต่อสู้ให้มีการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง ยกเลิกมาตรา 301 คือการต่อสู้กับระบบผูกขาดอำนาจที่ไม่เคยฟังเสียงของประชาชน คือ เรื่องเดียวกันกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย…ขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย เป็นสิทธิของทุกๆ คน สิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย คือสิทธิผู้หญิง คือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ คือสิทธิมนุษยชน หยุดควบคุมสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง หยุดควบคุมประชาชน ยุบสภาได้แล้ว ถ้าแม้แต่คำว่าสิทธิมนุษยชนยังไม่รู้จัก” ปราศรัยจบพร้อมเสียงปรบมือกึกก้องถนนราชดำเนิน

นักวิชาการเสนอรัฐ ‘เปิดช่อง’

ทำแท้งปลอดภัย สร้าง ‘ทางเลือก’ บนความจำเป็น

 

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน ‘เถียงกันเรื่องแท้ง: สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม’

จากข้อเรียกร้องบนเวทีแฟลชม็อบ ลองมาพิจารณาแง่มุมทางวิชาการกันบ้าง

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เจ้าของผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและวงการศึกษา TTF AWARD ประจำปี 2562-2563 เปิดเผยว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยกเว้นให้สามารถ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ หรือทำแท้ง ได้เป็นบางกรณี แต่ภาพรวมแล้วกฎหมายไทยก็ยังกำหนดให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้การทำแท้งจะมีความผิด มีบทลงโทษ แต่เรายังคงเห็นคนเลือกที่จะทำอยู่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปของแต่ละตัวบุคคล ซึ่งเขาเหล่านั้นก็รู้ดีว่าจะเกิดผลกระทบกับชีวิตและสุขภาพ หรือถูกตีตราและประณามว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม

“จากงานวิจัยและรวบรวมสถิติปัญหาท้องไม่พร้อม พบว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังมีผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้อีกไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่แต่งงานมีครอบครัวมีสามีแล้ว โดยปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นทุกคนควรเปิดใจกว้างในเรื่องนี้

เมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยเปิดทางเลือกการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย จะทำให้ผู้ที่เผชิญกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ได้พิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้ดีที่สุด การจะทำแท้งหรือไม่ทำควรจะเป็นทางเลือกของตัวเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้ เพราะเราไม่ใช่เขา จึงไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต ดังนั้นทางออกคือควรเปิดทางเลือกไว้ให้เขาเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย คือถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรมผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองว่าจะทำบาปไหม” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว

‘ระบายสีจิ๋ม’ กิจกรรมที่ ‘ผู้หญิงปลดแอก’ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทำแท้งเสรี รวมถึงเรียกร้องสิทธิด้านต่างๆให้ผู้หญิงรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ (ภาพจากทวิตเตอร์ผู้หญิงปลดแอก@womenfreedomth)

‘ประชาธิปไตย’ กลไกเปิดประตูยุติตั้งครรภ์

ถกเถียง-วางกติกา

นอกจากเสนอรัฐบาลให้เปิดช่องทำแท้งปลอดภัยเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้หญิงในการแก้ไขปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’ ที่มีความซับซ้อน เพราะแต่ละคนแบกรับเงื่อนไขสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันแล้ว

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์เชื่ออย่างยิ่งว่า ‘ประชาธิปไตย’ มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้ประตูทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะประชาธิปไตยในฐานะระบบที่เปิดกว้าง จะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนโต้เถียงกัน ร่วมกันวางกติกาในเรื่องนี้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ในทางกลับกันในระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยน้อยหรือ
ไม่เป็นเลย รัฐเป็นผู้ตัดสินใจให้ว่าเรื่องไหนถูกเรื่องไหนผิด ทำให้การถกเถียงคิดใคร่ครวญถึงสถานการณ์ของผู้คนถูกตัดออกไป

“ถ้าเราเชื่อว่าพลเมืองมีความสามารถในการเลือกตัวแทนทางการเมือง ที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนได้ เหตุใดเราจึงไม่เชื่อว่าพลเมืองเพศสภาพหญิง มีความสามารถในการเลือกจัดการเรื่องเพศและการเจริญพันธุ์ของตัวเอง รวมถึงการเลือกจะไม่ตั้งครรภ์และเลือกยุติการตั้งครรภ์ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับร่างกายของเธอเอง” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว

เป็นอีกประเด็นถกเถียงที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวในการเดินหน้ารณรงค์อย่างไม่ย่อท้อทั้งบนเวทีปราศรัยและในมุมมองเชิงวิชาการที่ต้องจับตาถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งใกล้และไกล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image