สุวรรณภูมิในอาเซียน : ธงชาติ 24 มิถุนายน 2475 และสิ่งของเครื่องใช้ ‘ถูกบังคับสูญหาย’ จากห้องแสดงพิพิธภัณฑ์

ธงชาติมีความสำคัญยิ่งใหญ่มาก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงถูกเน้นแล้วถูกนำเข้าฉากสุดท้ายของละครปลุกใจรักชาติเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่เน้นเรื่องชาติ (ไทย) ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา หรือ วิจิตร วิจิตรวาทการ) แสดงครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2497

“ชาติ” เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถูกทำให้มีความหมายกว้างขวางอย่างสากลโลกไปถึงประชาชาติราษฎรอันหลากหลาย แต่หลังจากนั้น “ถูกทำให้ลืม” ด้วยการ “ถูกบังคับสูญหาย”


“ถูกบังคับสูญหาย” จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

สิ่งของเครื่องใช้สำคัญของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เคยถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ (แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ได้แก่ ธงชาติผืนแรก กับสิ่งของเครื่องใช้

ธงชาติผืนแรก ที่คณะราษฎรนำขึ้นประดิษฐานเหนือยอดพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อเวลาเช้าตรู่ 24 มิถุนายน 2475

Advertisement

สิ่งของเครื่องใช้ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

ทั้งสองรายการพบใน “สมุดมัคคุเทศ นำเที่ยวหอสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร” พ.ศ.2491 ข้อมูลยกมานี้ได้จากบทความเรื่อง “มองหาสิ่งที่ไม่เห็นและการทำพลเมืองให้เชื่อ (ง) ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ของ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พิมพ์ใน เมืองโบราณ [ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) 2554 หน้า 79-89]

หลังจากนั้นสิ่งของจัดแสดงทั้งสองรายการนี้ “ถูกทำให้หายไป” เมื่อ พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นช่วง 10 ปี หลังการปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2501)

Advertisement

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บอกไว้ในบทความดังต่อไปนี้

ไม่มีรายละเอียดว่า “สิ่งของเครื่องใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” นั้นคืออะไรบ้าง และสมุดมัคคุเทศ ในปี 2491 ก็เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียว (เท่าที่ค้นได้ขณะนี้) ที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยก็มีช่วงเวลาหนึ่งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เคยจัดแสดงสิ่งของที่บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วย “ชาติ” แตกต่างไปจากเดิม (การจัดแสดงสิ่งของที่ดู “ประหลาด” ทั้งสองครั้งนี้ คือ ปี พ.ศ.2486 และ พ.ศ.2491 เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)

สุวรรณภูมิในอาเซียน : ธงชาติ 24 มิถุนายน 2475 และสิ่งของเครื่องใช้ ‘ถูกบังคับสูญหาย’ จากห้องแสดงพิพิธภัณฑ์ : รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
ความทันสมัยและเจริญก้าวหน้าหลัง 24 มิถุนายน 2475 ดูจากซุ้มประตูและธงชาติทางเข้างานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2482 ออกแบบด้วยศิลปะแบบ “อาร์ต เดกอ” (Art Deco) แสดงออกถึงความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าของชาติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ภาพและคำอธิบายดัดแปลงจากหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ โดย ชาตรี ประกิตนนทการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง) มิถุนายน 2563)

และเรื่องราวว่าด้วย “ชาติ” อย่างใหม่นี้ก็มี “ชีวิต” อยู่เพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย เพราะเมื่อมีการปรับปรุงการจัดแสดงครั้งใหม่ในปี พ.ศ.2510 เมื่อกรมศิลปากรได้รับงบประมาณสร้างอาคารใหม่ขึ้นสองหลังขนาบอาคารหมู่พระวิมาน กรมศิลปากรใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ อาคารสร้างใหม่สองหลังจัดแสดงประติมากรรมที่พบในประเทศไทยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ได้แก่ ศิลปโบราณวัตถุสมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และสมัยลพบุรี (อาคารมหา
สุรสิงหนาท) ส่วนอีกหลังหนึ่งจัดแสดงศิลปะไทยสมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ (อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์) ส่วนในหมู่พระวิมานนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงอย่างสำคัญนัก

เว้นแต่พระที่นั่งอุตราภิมุขซึ่งใช้จัดแสดง “เรือจำลองสำหรับพระราชพิธีลอยกระทง มีทั้งเรือกิ่งและเรือศรีพระที่นั่งต่างๆ”

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ย้ำอีกว่า “ปี พ.ศ.2510 นี้ นอกจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงครั้งสำคัญของพิพิธภัณฑ์ไทยแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นหรือการคืนกลับมาของการสถาปนาความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแห่งชาติไทยให้เข้มข้นขึ้นอีกคราวหนึ่ง”



หลักฐานประวัติศาสตร์สังคม-การเมือง และศิลปะร่วมสมัย

สาดสีใส่ตำรวจเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ปราศจากอาวุธของสาธารณชนต่อสู้อำนาจรัฐเพื่อเสรีประชาธิปไตย ด้วยพลังสร้างสรรค์ทางศิลปะ

สีที่เหลือและเสื้อเปื้อนสีของทั้งสองฝ่าย จึงเป็นทั้งหลักฐานประวัติศาสตร์และงานศิลปะร่วมสมัยในคราวเดียวกัน

(ซ้าย) ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะ บอททอมบลูส์ สาดสีใส่ตำรวจ สน. สำราญราษฎร์ หลังไปให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน และกลุ่ม รวม 15 คน ขณะรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 (ขวา) สาดสีประท้วงที่สเปน (ภาพจาก เอเอฟพี)

บก. ลายจุด หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์กรณีสาดสีใส่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ (ภาพและใต้ภาพทั้งหมดจาก มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563 หน้า 13)


เพลงชาติ ต้นทาง “เพลงลูกทุ่ง” กับ “เพลงลูกกรุง”

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้แต่งทำนองเพลงชาติไทย (ภาพจากปกสูจิบัตร “พระเจนดุริยางค์วิชาการ” 26 ธันวาคม 2562)

“เพลงชาติ” ของไทย แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟท์) ปิติ วาทยะกร (2426-2511) บิดาเป็นชาวเยอรมันสัญชาติอเมริกัน ส่วนมารดาเป็นชาวมอญสัญชาติไทย
ทำนองเพลงชาติของไทย พระเจนดุริยางค์บันทึกด้วยตนเองบอกว่าทำตามความประสงค์ของ “คณะผู้ก่อการ 2475” ที่ต้องการทำนองเพลงแบบเพลงชาติฝรั่งเศสชื่อ La Marseillaise

พระเจนดุริยางค์ มีบันทึกบอกไว้ว่าเพลงชาติไทยที่แต่งนั้น “มีแต่ทำนองล้วนๆ ไม่มีเนื้อร้อง…เพลงแบบนี้ใครๆ ที่มีความรู้ในการประพันธ์เพลงก็สามารถทำได้ทั้งนั้น”

[เนื้อร้องเพลงชาติมี 2 ชุด ตามการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” ชุดแรก แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา ขึ้นต้นว่า “อันสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง” ชุดหลัง แต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์ ขึ้นต้นว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.2482]
“เพลงชาติคือเพลงของประชาชน” อติภพ ภัทรเดชไพศาล กวี, นักเขียน, นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยบอกไว้นานแล้ว และบอกต่อไปอีกว่าเพลงชาติเป็นสมบัติของสามัญชน ของประชาชน ท่วงทำนองของเพลงชาติกระชับ ฟังง่าย ร้องง่าย จำง่าย ไม่มีการร้องประสานเสียง แต่คนร้องรวมหมู่ ทุกคนจะร้องพร้อมๆ กันด้วยทำนองหนึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพราะ “เสียงของประชาชน” คือ “เสียงของชาติ” ซึ่งเป็น “หนึ่งเดียวกัน” และ “เสมอภาคกัน” นั่นเอง

ลักษณะเสรีประชาธิปไตยในทำนองเพลงชาติไทยมีส่วนสำคัญเป็นพลังผลักดันความคิดสร้างสรรค์ “เพลงไทยสากล” เติบโตแผ่ขยายกว้างขวาง

หลังแต่งทำนองเพลงชาติไทย พระเจนดุริยางค์ได้รับยกย่องเป็นผู้วางรากฐานการเรียนการสอนเพลงดนตรีสากล จึงมีลูกศิษย์มากมายทั้งสามเหล่าทัพ รวมถึงกรมตำรวจและกรมศิลปากร ลูกศิษย์ทางเพลงดนตรีสากลเหล่านี้ล้วนสร้างสรรค์เพลงดนตรีไทยสากลแล้วแตกแขนงสมัยหลังเป็น “เพลงลูกทุ่ง” กับ “เพลงลูกกรุง”


สมัยอยุธยาและสุโขทัย ไม่มีชาติ, ไม่มีธงชาติ, ไม่มีเพลงชาติ

แผนที่แสดงราชอาณาจักรสยามแห่งแรก คือกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทย สมัยนั้นมีพื้นที่ในอำนาจอย่างจำกัดเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตเหมือนปัจจุบัน
ราชอาณาจักรสยาม เป็นนามที่ชาวยุโรปเรียกอยุธยา พบในแผนที่ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดยบาทหลวงปลาซิด เดอ แซ็งต์ เอแลน นักบวชชาวฝรั่งเศส [พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตรงกับสมัยพระนารายณ์ พ.ศ.2229 (ค.ศ.1686)]

ชาติ, ธงชาติ, เพลงชาติ เพิ่งมีในไทยเมื่อหลัง พ.ศ.2400 ดังนั้นสมัยอยุธยาและสุโขทัยไม่มีชาติ, ไม่มีธงชาติ, ไม่มีเพลงชาติ

ความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดสงครามรบพุ่งกันสมัยอยุธยาและสุโขทัย ล้วนเป็นเรื่องของพระราชาขณะนั้นของบ้านเมืองหนึ่งต้องการขยายอำนาจเพื่อแสดงพระองค์ตามอุดมคติเป็นจักรพรรดิราชเหนือพระราชาของอีกบ้านเมืองอื่น นอกจากนั้นก็เพื่อกวาดต้อนผู้คนและทรัพยากรของบ้านเมืองอื่นเป็นของตนเพื่อสะสมอำนาจ

ดังนั้น สงครามที่เกิดขึ้นจึงเป็นสงครามระหว่างพระราชากับพระราชา หรือเป็นสงครามระหว่างเมืองกับเมือง

กรณี “ไทยรบพม่า” พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นความรู้พงศาวดารเรื่องสงครามระหว่างพระราชากรุงศรีอยุธยากับพระราชากรุงหงสาวดี (หรือกรุงตองอู หรือกรุงอังวะ) ดังนั้นหนังสือ “ไทยรบพม่า” จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์สงครามระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า

[ข้อมูลและคำอธิบายมากกว่านี้มีใน “คำนำ” หนังสือ 2 เล่ม คือ ไทยรบพม่า และ เที่ยวเมืองพม่า พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2545)]

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรุงศรีอยุธามีพื้นที่หรือดินแดนจำกัดอยู่แค่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ภาคกลางเท่านั้น (ถ้าจะมีพื้นที่ต่อเนื่องก็ไม่มาก) ดังนี้

ทางเหนือสุด พื้นที่ของกรุงศรีอยุธยามีแค่ จ.อุตรดิตถ์ (กรุงสุโขทัยเป็นดินแดน “เมืองเหนือ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของของกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกเริ่ม จึงไม่ใช่ “ราชธานีแห่งแรกของไทย”) ทางเหนืออุตรดิตถ์ขึ้นไปเป็นพื้นที่เอกราชของกรุงโยนก-ล้านนา

ทางใต้สุด พื้นที่ของกรุงศรีอยุธยามีแค่ จ.เพชรบุรีและอาจต่อเนื่องถึง จ.นครศรีธรรมราชก็ได้ (ต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ) ทางใต้นครศรีธรรมราชลงไปเป็นพื้นที่เอกราชของกรุงมลายู-ปัตตานี

วัฒนธรรมเคารพธงชาติ 8 นาฬิกา (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี
ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. 14 กรกฎาคม 2540)
ในยามสงครามและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2485 ภาพของประชาชนที่หยุดยืนเคารพธงชาติโดยพร้อมกันนั้น เป็นการเริ่มรณรงค์โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ความเข้มข้นของการยืนตรงเคารพธงชาติทั้งเช้าและเย็นนั้นมีขึ้นในราวทศวรรษ 2520 เพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ และบวกกับเทคโนโลยีด้านหอกระจายเสียงที่ติดตั้งไปทุกชุมชนทุกหัวระแหง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image