19 กันยา วันประวัติศาสตร์ 14 ปีรัฐประหาร ถึงปรากฏการณ์ร่วมสมัย

19 กันยายน

วันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

14 นาฬิกาตรงของวันนี้ คือเวลานัดหมาย ‘ทวงอำนาจคืนราษฎร’ โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในพุทธศักราช 2563

14 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

Advertisement

“รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” คือ หัวข้อเสวนาโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านมุมมองของคน 3 รุ่น

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันนี้ ต่อไปนี้คือความทรงจำ ความคิด ความเห็นในเหตุการณ์ที่พ้นผ่านแต่ไม่อาจก้าวข้าม เนื่องด้วยส่งผลกระทบมากมายต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมาอย่างปฏิเสธไม่ได้

เปลี่ยนเกม รักษาโรค ‘รัฐประหาร’

ในสายตาเยาวชน

เริ่มจากคนรุ่นใหม่ ถามว่า ความทรงจำเกี่ยวกับรัฐประหาร 2549 คืออะไรในเจเนอเรชั่นของตัวเอง

Advertisement

ญาณิศา วรารักษพงศ์ ตัวแทนเยาวชนที่มีอายุเพียง 5 ขวบ ตอนเกิดรัฐประหารในช่วงเวลานั้น

“ตอนนั้นอายุ 4-5 ขวบ ยังไม่รู้เรื่อง แต่รัฐประหารไม่ใช่อะไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วจบ มีผลพวงที่กระทบเรามาตลอดโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว”

ในฐานะกลุ่มที่รวมตัวกับเพื่อนทำแฟลชม็อบที่ ‘เตรียมอุดมศึกษา’ โรงเรียนมัธยมชั้นแนวหน้าของประเทศ ญานิศาบอกว่า

ตอนประถมมีรัฐประหารอีกครั้ง ในปี 2557 ยังคงไม่รู้เรื่องเช่นเดิม รู้เพียงมีนายกฯชื่อยิ่งลักษณ์ และเปลี่ยนนายกฯแล้ว มีทหารขึ้นมาแทน ช่วงมัธยมต้น โตมากับโซเชียลเน็ตเวิร์กและเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เปิดมุมมองอื่นๆ ที่เราหาไม่ได้ ทั้งจากที่บ้าน สื่อในโทรทัศน์ กระทั่งหลักสูตรในโรงเรียนที่ผ่านการเซ็นเซอร์ ลดทอนมาระดับหนึ่ง ทำให้เรามองไม่เห็น

น.ส.ญาณิศา วรารักษพงศ์

“ช่วงประถม หรือมัธยมต้น การเมืองร่วมสมัยถูกพูดถึงน้อยมากในหลักสูตร เราจะเรียนเพียงแค่ สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา กรุงธนบุรี รัตนโกสินทร์ ถึงอภิวัฒน์สยาม 2475 ได้เรียนการเมืองร่วมสมัยก็ตอน ม.ปลาย แต่ก็เป็นเพียงเรียนรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง มีรัฐธรรมนูญ มีปัญหาเศรษฐกิจ เกิดความไม่พอใจ เกิดปฏิวัติขึ้นและจบแค่นั้น เราไม่ได้เรียนรู้ว่าแต่ละกรณีมีพื้นฐานความคิดอย่างไร เกิดจากแนวคิดแบบไหนบ้าง แล้วมันส่งผลอย่างไร หลัง 2475 เราเรียนเพียง มีนายกฯชื่อนี้ นโยบายประมาณนี้ มีปัญหา คนนี้ยุบสภา คนนี้ทำรัฐประหาร เรารู้แค่ชื่อเหตุการณ์ แต่ไม่ได้เข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร และส่งผลอย่างไร”

เยาวชนหญิงบอกอีกว่า ระบบการศึกษาไม่ได้ทำให้เกิดการถกเถียง ไม่มีโอกาสฟังคำวิเคราะห์ ทำให้นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย จึงไม่รู้ถึงความร้ายแรงของรัฐประหารและการละเมิดสิทธิต่างๆ ไม่รู้ว่ามีนักกิจกรรมถูกอุ้มหายมากแค่ไหน มีคนถูกจับ โดนข้อหาต่างๆ ที่ไม่ชอบธรรม เราไม่รู้จึงมองการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรง ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน ประเทศชาติ ซึ่งเด็กนักเรียนก็เป็นประชาชนเหมือนกัน

“เราเห็นทั้งเพื่อนที่พ่อแม่เป็นคนใหญ่โต เห็นทั้งโอกาสที่ถูกกดทับ ทำให้เอะใจและหันมามอง จึงค่อยๆ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว ดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน ทั้งระดับมหาวิทยาลัย และมัธยม เป็นจุดที่เราต้องค่อยๆ พยายามรักษาอาการเหล่านี้ เพื่อย้อนไปถึงจุดต้นกำเนิดของโรคร้ายนี้ โรคแห่งการไม่เป็นประชาธิปไตย ที่คนไม่เท่ากัน”

อินเตอร์เนต ‘เคาะกะลา’

เมื่อระบบการศึกษาไม่สร้างการถกเถียง

ญาณิศา มองว่า โรคร้ายแรงนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย จนมาถึงจุดหนึ่ง ด้วยการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี ทำให้เราได้ฟังเสียงจากข้างนอก ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในประวัติศาสตร์ ‘ไม่ใช่เรื่องปกติ’ และเป็นสัญญาณ อาการของสิ่งที่รุนแรงกว่า

“เท่าที่ฟังจากเพื่อนๆ พี่ๆ ส่วนใหญ่ที่ ‘เคาะกะลา’ เปิดตาขึ้นมา ไม่ได้มาจากระบบการศึกษา แต่มาจากอินเตอร์เน็ต การอ่านหนังสือและการสนทนากับเพื่อนๆ บวกกับอาการอื่นๆ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม แม้แต่เด็กยังได้รับผลกระทบจากระบบอุปถัมภ์”

ญาณิศา ยังบอกอีกด้วยว่า จริงๆ แล้วมีความเคลื่อนไหวต่อต้านตั้งแต่เริ่มมีการนำค่านิยม 12 ประการเข้ามาในโรงเรียนแล้ว แต่ยังไม่ได้มีเสียงสนับสนุนมากเท่าไหร่ แต่เป็นการค่อยๆ ขยับ จะเห็นคนที่ต่อต้านค่านิยม 12 ประการ มีคนที่ส่งกระดาษเปล่าในวิชาหน้าที่พลเมือง แม้ว่าจะยังไม่เยอะเท่าเวลานี้แต่ก็มีการสะสมมาเรื่อยๆ และแม้ว่าเด็กยุคนี้จะเป็นผลผลิตจากการเมืองยุคสีเสื้อ หรือตอน กปปส. ที่เด็กถูกบังคับให้ไปชุมนุมแม้ว่าจะยังไม่มีความรู้ทางการเมือง แต่การรับข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองของต่างประเทศก็มีการแลกเปลี่ยนกัน มีการรับความคิดจากข้างนอกมาด้วย ซึ่งเห็นว่าส่งผลมากๆ กับเยาวชน

เราไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนผู้เล่นในเกม แต่เราต้องการจะเปลี่ยนเกม ถ้าเราพยายามรักษาอาการไปเรื่อยๆ โรคก็ไม่หาย ต้องไปที่ต้นตอ หากจะมีการรัฐประหารในอนาคต ก็เป็นเพียงอาการที่เกิดจากสิ่งที่ใหญ่กว่า จะเห็นได้ว่า 3 ข้อเรียกร้องของ คณะประชาชนปลดแอกและองค์กรอื่นๆ ที่มาสนับสนุน คือการพยายามเปิดทาง หาวิธีเพื่อเปลี่ยนเกม และเพื่อรักษาโรค ไม่ใช่แค่อาการ ซึ่งจะยังเห็นการพยายามสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหว รวมเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น เราจะเห็นการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ เสรีไทยพลัส ผู้ญิงปลดแอก การตั้งเวทีของขบวนการแรงงาน เริ่มมีการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลง” เยาวชนย้ำปิดท้ายว่า

แม้ว่าเยาวชนในยุคนี้จะเกิดไม่ทันรู้เรื่องรัฐประหาร 49 และ 57 ต้องใช้วิธีมองย้อนกลับไป เป็นประวัติศาสตร์ที่สะสม ที่ยิ่งมองยิ่งเห็นภาพชัด โดยเฉพาะเมื่อมองจากข้างนอก ที่ ‘โลกาภิวัตน์’ ทำให้สิ่งที่เห็นไม่ติดอยู่ในกรอบเดิม

ผศ. ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

รัฐประหารไม่ใช่อุบัติเหตุ สังเกตได้!

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เรื่องการทำรัฐประหาร นับแต่ปี ค.ศ.1946 ทุกปีจะมีประเทศไทยโผล่มาเรื่อยๆ ปี 2006 ก็มีความพยายามอยู่หลายที่ แต่ของไทยคือ โดดเด่นเป็นสง่า เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ต่อเนื่องมา เนื่องจากรัฐประหารมีการพูดถึงเสมอว่า เหมือนกลับไปสู่วันเด็กแห่งชาติ ซึ่งใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ทุกวัน

“ถ้าการรัฐประหารมันจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้ต้องการวันเด็กแห่งชาติหรือไม่ ?” ผศ.ดร.พิชญ์ตั้งคำถาม ก่อนจะถอดบทเรียนขนานใหญ่

“บทเรียนจากการทำรัฐประหาร 19 กันยา มีหลายประเด็น สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือการคาดคิดว่าจะเกิด 19 กันยานั้นไม่ได้เป็นไปอย่างง่าย หากเทียบกับความรู้สึกที่เรามีในวันนี้ เพราะว่าประเทศไทยห่างเหินจากการทำรัฐประหารมาเป็นเวลาสิบกว่าปี เป็นเวลายาวนานที่ไม่มีการทำรัฐประหารอีก จนประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศตัวอย่างของการมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ซึ่งก็มาสะดุดไปหนึ่งรอบเมื่อปี 34 สะดุดอีกครั้ง และสะดุดอีกครั้ง การสะดุดครั้งนี้แปลกประหลาดหลายประการ

แต่ถามว่าการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุหรือไม่ …ไม่ใช่… เพราะจนถึงวันนี้เสถียรภาพของประเทศสั่นคลอนมาจากวันนั้น ความขัดแย้งที่ร้าวลึกก็มีมาโดยตลอด จึงอธิบายไม่ได้ว่าเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง หรือแม้แต่ความขัดแย้งของชนชั้นนำ คงมีคนน้อยคนที่จะปฏิเสธว่าผลพวงจากการทำรัฐประหาร ถึงแม้กระทั่งเงื่อนไขในการทำรัฐประหารเอง มันหายไปจากสังคมไทย ฉะนั้น ผมจึงไม่ซื้อคำอธิบายที่ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นความขัดแย้งที่พ้นจากความขัดแย้งปี 49 ไปแล้ว อันนั้นเป็นวาทกรรมทางการเมืองของอนาคตใหม่ตอนหาเสียงอย่างเดียว เพราะวันนี้ถ้าไม่มีความขัดแย้งจะพูดถึงการล้มล้างผลพวงรัฐประหารทำแมวอะไร ชัดเจนอยู่แล้วว่าต่อเนื่องกัน”

ข้อสังเกตต่อมาคือ การทำรัฐประหารในรอบนั้นเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจดี ซึ่งพูดยาก เพราะการทำรัฐประหารหลายครั้งเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้นข้ออ้างการบริหารงานของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ใช่ นำไปสู่ข้อต่อมา ประเด็น “การต้านโกง” กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนภาวะที่เรียกว่าระบอบทักษิณมีผลกว้างขวางให้กับประเทศ มีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กับเหตุการณ์เหล่านั้น

การเมืองของคนดี รัฐประหารที่มี ‘บัตรเชิญ’

ผศ.ดร.พิชญ์ วิเคราะห์ต่อไปถึงประเด็น ‘การเมืองของคนดี’

“การเมืองของคนดี มีความชัดเจนมาก การรัฐประหารในปี 34 ไม่มีวาทกรรมเรื่องคนดี การทำรัฐประหารก่อนหน้านั้นในสังคมไทย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเคยมีวาทกรรมคนดีหรือไม่ แต่ตอนนี้นับเลขแทบไม่ไหว

ข้อต่อมา การทำรัฐประหารครั้งนั้นถูกถักทอและขับเคลื่อนปะติดปะต่อกัน แล้วมีลักษณะของการออกบัตรเชิญด้วย เกิดมวลชนขนาดใหญ่ขึ้นในสังคมไทย ซึ่งแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมือง กับมวลชนที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นแม่แบบการทำรัฐประหารที่ต้องมีบัตรเชิญโดยมวลชน เป็นเรื่องสำคัญในการทำรัฐประหารรอบนั้น”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์บอกว่า ก่อนหน้านี้ ความเข้าใจเรื่องการทำรัฐประหารในสังคมไทย หมายถึงทหารยึดอำนาจสำเร็จแล้วใช้อำนาจเด็ดขาด โดยมีจอมพลสฤษดิ์เป็นไอดอล ในทางกลับกัน หลัง 2549 จะเห็นบทบาทที่เกี่ยวข้องขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคณะทหารยึดครองอำนาจสำเร็จ จึงกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำว่า ‘ล้างผลพวงรัฐประหาร’ จึงเริ่มชัดเจนว่าหากจะต่อสู้ทางการเมือง ไม่ได้ต่อสู้เฉพาะการจัดตั้งระบอบประชาธิปไตย และการมีระบบเลือกตั้ง แต่หมายถึงการเข้าไปมีเงื่อนไขทางกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอด ปรากฏการณ์จริงคืออะไร อะไรคือโมเมนต์ที่ทำให้ทหารยึดครองอำนาจเป็นผลสำเร็จ และสถาปนาอำนาจตัวเองเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ซึ่งในช่วงต้นของปี 57 พล.อ.ประวิตรชอบใช้คำนี้ แล้วคำนี้เป็นอย่างไรในปรากฏการณ์จริง มีอะไรที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทหารเป็น รัฏฐาธิปัตย์ บ้าง

ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

จุดเริ่มต้นหายนะ มรดกแห่งปมปัญหาชุดใหญ่

มาถึงรุ่นใหญ่ที่ผ่านรัฐประหารมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อย่าง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ฟันธงบนเวทีว่า รัฐประหารปี 2549 คือจุดเริ่มต้นของความหายนะของสังคมการเมืองไทย เพราะทิ้งมรดกที่เป็นปัญหาชุดใหญ่ๆ ไว้ และเป็นผลพวงที่เป็นผลสืบเนื่องชุดใหญ่

“รัฐประหาร 2549 จริงๆ คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับของความพ่ายแพ้ของกลุ่มอนุรักษนิยม หรือพลังเก่า เนื่องจากตอนทำรัฐธรรมนูญ 2540 หากไปดูคำสัมภาษณ์ของ ส.ส.ร. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้จะไม่คิดว่าระบบ 2 พรรคการเมืองจะเกิดเร็ว คิดว่าอย่างน้อยการเมืองไทยก็อยู่ในระบบที่เป็นรัฐบาลผสม แบบรัฐบาลเบี้ยหัวแตกเหมือนในอดีต แต่พอพรรคไทยรักไทยเกิด มันกลายเป็นชัยชนะของการเมืองอีกชุดหนึ่ง การเข้าสู่อำนาจของไทยรักไทยมากับนโยบายใหม่ มากับยุทธศาสตร์ใหม่ ใหญ่ที่สุดคือเป็นครั้งแรกที่เห็นพรรคการเมืองชนะด้วยเสียงข้างมากในสภา สำหรับปีกที่รับไม่ได้กลายเป็นวาทกรรม เผด็จการรัฐสภา คำนี้เป็นเฟคนิวส์ที่สุดคำหนึ่งในทางรัฐศาสตร์ เพราะมันไม่สามารถอธิบายได้ เพราะรัฐสภาต้องการเสียงข้างมาก

ดังนั้น ปฏิกิริยาในมุมอย่างนี้ตอบได้อย่างหนึ่งคือรัฐประหาร 2549 ด้านหนึ่งเป็นชัยชนะของปีกอนุรักษนิยมที่ต้องการควบคุมการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงของการขึ้นสู่อำนาจของไทยรักไทย ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าในชัยชนะของกลุ่มอนุรักษนิยมชุดนี้สะท้อนความพ่ายแพ้ที่กลุ่มอนุรักษนิยมไม่สามารถสู้กับเกมการเมืองระบบรัฐสภาได้ หากการเลือกตั้งปี 2554 พรรคในสายอนุรักษนิยมชนะ เป็นเจ้าของอำนาจต่อ พรรคทหารไม่เกิดในปี 2549 เพราะเขายังคุมอำนาจได้ แต่หากเป็นอย่างนี้ก็สามารถตอบในสมมุติฐานที่ผมตั้งคือ การเมืองไทยสู้กันด้วยภาษาหยาบๆ คือพลังใหม่-พลังเก่า และพลัง 2 ชุดนี้สู้กันด้วยเงื่อนไขที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

การรัฐประหาร 2549 หากใช้สำนวนไทยเก่าๆ ก็บอกว่ามันเหมือนไม่สะเด็ดน้ำ เพราะพอถึง 2554 ใครจะคิดว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็ชนะด้วยเสียงข้างมากอีก เมื่อเกิดสภาวะอย่างนี้ก็เริ่มมีความรู้สึกว่ารัฐประหาร 2549 เสียของ แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านรายละเอียด คิดว่ามันมีเงื่อนไขของต่างประเทศพอสมควร ข่าวต่างประเทศช่วงนั้นจะเห็นความกดดันที่รัฐบาลตะวันตกพยายามตีกรอบไม่ให้รัฐประหารไทยกลายเป็นอะไรที่อยู่กับการเมืองไทยยาวนาน พยายามผลักดันให้ไทยออกจากรัฐประหาร เพราะตอนนั้นตะวันตกเตรียมกดดันรัฐบาลทหารในเมียนมาชุดใหญ่ แต่กลับเกิดการรัฐประหารในกรุงเทพฯ ดังนั้น สิ่งที่เราย้อนกลับไปดูคือตะวันตกคาดหวังด้วยเหมือนกัน ขอให้ 2549 เป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในกรุงเทพฯ เพื่อที่รัฐบาลตะวันตกจะได้ไม่ต้องแบกภาระผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร

กระแสคนรุ่นใหม่

กระแสโลกประชาธิปไตยที่ ‘ไม่เอาทหาร’

จากประวัติศาสตร์รัฐประหาร มาถึงปรากฏการณ์ ‘ม็อบขาสั้นคอซอง’ ที่เกิดขึ้นในช่วงแฟลชม็อบครั้งที่ 2 จากแฟลชม็อบครั้งแรกที่เกิดความเคลื่อนไหวของ ‘ขายาวกระโปรงบาน’

ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองไทย ซึ่งอันที่จริงแล้วภูมิทัศน์การเมืองไทยถูกเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขระหว่างประเทศ และมันถูกเปลี่ยนโดยเงื่อนไขภายในอยู่พอสมควร แต่การกำเนิดของม็อบขาสั้นคอซอง และม็อบขายาวกระโปรงบานครั้งนี้ เกิดในบริบทที่การเมืองไทยกำลังถูกท้าทายใหญ่ ด้านหนึ่งคือมาจากกรณีระบาดของโควิด-19

“คิดว่าในมุมหนึ่งโควิดเหมือนเป็นระฆังช่วยให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อได้ โดยข้ออ้างพิเศษคือโรคระบาด อีกมุมหนึ่งคือ ใครที่บริหารประเทศในยุคโควิด ผมว่าพวกเราตอบได้ดีว่าเป็นทุขลาภ ยังมีเวลาตัดสินใจลาออกได้ ใครก็ไม่รู้ (ยิ้ม)

ปี 2019 ม็อบที่เป็นการเมืองมากๆ คือที่ฮ่องกง แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ชัดเจนขึ้น แต่ในบริบทอย่างนี้เรากำลังเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ถูกขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่

หากผมทดลองตอบคนรุ่นหลังผมเปิดประเด็นว่ามันเป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังใหม่-เก่า แต่ขออนุญาตเปรียบเทียบใหม่ว่า พลังใหม่-เก่า เมื่อเทียบแล้ว สำหรับผมด้วยคลื่นนักศึกษาสมัยใหม่มันคือการสู้ระหว่าง 2จี กับ 5จี พลังเก่าคือ 2จี ตอบรับฝ่ายทหาาร แต่ 5จี ของคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนคือเราเห็นการนำของคนที่เป็นนิวเจน และคนที่เข้าร่วมก็มีลักษณะที่มองเห็นชัดเจน กรณี 16 สิงหาฯ ชัดเลยว่าเป็นคนหลายรุ่นเข้ามารวม และคิดว่าหากสังเกตม็อบ 16 สิงหา เปิดเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยต้องคิดต่อคือเรื่องเจนเดอร์ หรือปัญหาเรื่องเพศสภาพของคนในโลกที่เปลี่ยนแปลง และเราเห็นชัดว่ากระแสของคนรุ่นใหม่ บวกกับกระแสโลกที่เป็นประชาธิปไตยไม่เอาทหาร”

ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า การสู้กันระหว่าง 2จี และ 5จี เป็นสิ่งที่เรากำลังจะเห็นในบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน และในการต่อสู้นั้น มันทิ้งคำถามใหญ่ๆ คือ ทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยจะไม่มีความรุนแรง

“ผมคิดว่าโจทย์อย่างนี้จะเกิดเสมอ ในอนาคต ถ้าการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญและกติกาการเมืองใหม่อย่างไร จะออกแบบสถาบันการเมืองใหม่อย่างไร เพราะเราไม่สามารถใช้สถาบันการเมืองเก่ารองรับความเปลี่ยนแปลงชุดใหม่ได้ รวมถึงจะทำอย่างไรถึงจะล้างอิทธิพลระบอบเผด็จการในการเมืองไทย ถ้าไม่ล้างอิทธิพลของระบอบเดิม การสร้างกติกาใหม่และการเมืองใหม่จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย เพราะจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในการเมืองชุดใหม่ สุดท้ายจะทำอย่างไรให้กลไกการเมืองในอนาคตตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนในเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างผลกระทบขนาดใหญ่”

รุ่นใหญ่วงการรัฐศาสตร์ยังระบุข้อเสนอ ว่า ถึงเวลาแล้วที่วันนี้พวกเราในสังคมไทยต้องผลักดันขบวนประชาธิปไตยไทย ต้องเดินไปข้างหน้า โดยหวังว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างการเมืองใหม่ ซึ่งในการผลักดันอย่างนี้ต้องการการปฏิรูป 4 อย่างคือ ทหาร ตำรวจ สถาบันยุติธรรม และองค์กร (ไม่) อิสระ

รัฐบาลจะไปอย่างไรไม่ใช่คำตอบแล้ว ประเด็นเช่นนี้ท้าทายให้คิดต่อว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดถึงอนาคตของสังคมไทย ไม่ใช่อนาคตของการเมืองไทย แต่เป็นอนาคตของสังคมไทยที่เราต้องอยู่ด้วยกัน และต้องกล้าตัดสินใจออกแบบระบบการเมืองที่เอื้อให้พวกเราอยู่ด้วยกันในสังคม และเดินไปด้วยกันสู่อนาคตที่ดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image