เปิดแล้ว! โครงการ’ปลูกผักไร้ดิน ที่ว่าง…กินได้’ ‘รฟม.’จัดให้ ทางเลือกอาชีพติดเทรนด์

อ.ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน

หลายคนอาจรู้จักการปลูกผักแบบที่ไม่ใช้ดิน หรือ ผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ส่วนมากจะเป็นผักสลัด แต่ที่จริงการปลูกผักลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ผักสลัดเท่านั้น แต่ยังสามารถปลูกพืชผักได้อีกหลากหลายชนิด รวมถึงผักสวนครัวที่เราใช้ประกอบอาหารไทยอันคุ้นเคยด้วย

ข้อดีของการปลูกผักไร้ดิน คือ ไม่ต้องใช้พื้นที่มากมาย มีอุปกรณ์ไม่กี่อย่าง อาทิ ขวดเหลือใช้ใบเล็กๆ ก็สามารถปลูกผักไว้กินเองในบ้านได้สบายๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในยามนี้ การพึ่งพาตัวเองได้นั้นถือเป็นเรื่องดีที่สุด

ยิ่งกระแสสุขภาพที่มาแรง ก็ทำให้คนหันมาบริโภคผักมากขึ้น และแน่นอนว่ากระแสผักไร้ดิน ก็ได้รับการขานรับมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ด้วยมองเห็นประโยชน์ตรงนี้ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ร่วมกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จัดโครงการอบรมการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินให้กับชุมชนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวม 10 พื้นที่ เพื่อเป็นการมอบสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยจัดทั้งหมด 10 ครั้ง ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563

Advertisement
ชาวบ้านจากชุมชนเขตห้วยขวางมารับการอบรมอย่างคึกคัก

เปิดฉากอบรมครั้งแรกกับเขตห้วยขวาง ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชนอย่างคึกคัก ได้รับความรู้ใหม่กันไปแบบเต็มอิ่ม และจากนี้ไปจะมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เขตจตุจักร วังทองหลาง บางกะปิ สวนหลวง บางนา ประเวศ และข้ามไปที่ จ.สมุทรปราการ ได้แก่ เทศบาลตำบลด่านสำโรง เทศบาลตำบลบางเมือง และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ

นอกจากการอบรมปลูกผักไร้ดินแล้ว เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความ รฟม.ยังติดอาวุธสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยการสอนใช้โซเชียลมีเดีย ในหัวข้อ “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง” โดย อ.ชีพธรรม คำวิเศษณ์ เพื่อต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากการอบรมปลูกผักไร้ดิน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถสร้างกลุ่มเฟซบุ๊ก และเข้าไปพูดคุยซักถามกันต่อไป อีกทั้งยังเป็นแหล่งค้าขายผลผลิตสำหรับผู้นำไปประกอบอาชีพจริงจังได้ด้วย

ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน อาจารย์ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กว่า 10 ปี รับหน้าที่เป็นวิทยากรในการอบรม กล่าวว่า การอบรมสัมมนาให้กับชุมชนต่างๆ ในครั้งนี้ เป็นการอบรมปลูกผักไฮโดรฯ หรือการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินเบื้องต้น เพื่อใช้ในครัวเรือน เรียกว่าระบบน้ำนิ่ง เป็นระบบพื้นฐานในการปลูกไว้สำหรับรับประทานเอง ที่สำคัญปลูกได้ง่ายในชีวิตจริง

Advertisement

“การปลูกผักสวนครัวแบบไร้ดินนั้นง่ายมาก ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ต้องมีเทคนิคการเรียนรู้เบื้องต้น สามารถปลูกได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้ง ผักคะน้า ต้นหอม หรือผักชี ล้วนเป็นผักที่เราจับต้องได้ ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 30 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้”

อ.ปกรณ์บอกว่า กิจกรรมเช่นนี้สามารถเป็นงานอดิเรก สร้างความเพลิดเพลินในครอบครัว ดึงความสนใจของเด็กๆ ไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับแต่โทรศัพท์มือถือ หันมาปลูกผักร่วมกัน สร้างคุณค่าทางครอบครัว ที่สำคัญได้ผักปลอดสารพิษมาบริโภค และเมื่อเราตัดมาใช้แล้ว ผักก็จะแตกต้นใหม่ขึ้นมา ตรงนี้ถือว่าเป็นกำไรแล้ว ส่วนใครที่จะทำจริงจังเป็นงานเสริมก็สามารถต่อยอดไปได้อีกในอนาคต

ด้านผู้เข้ารับการอบรม สมพร อักษร อายุ 53 ปี เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ ได้ความรู้หลายอย่าง เช่น การปลูกแบบง่ายๆ ไม่ใช้อุปกรณ์มากมายก็สามารถปลูกผักได้

อ.ชีพธรรม คำวิเศษณ์

“ไม่เคยคิดจะปลูกผักไร้ดินเลย มาเรียนรู้วันนี้เข้าท่าดี ไม่ต้องใช้ดิน คิดว่าอันดับแรกจะไปปลูกผักบุ้ง ผักคะน้า เพราะชอบเป็นพิเศษ สะระแหน่ก็ง่าย ที่แฟลตจะมีหน้าบ้านผึ่งแดด แดดส่อง ปลูกเป็นกระบะ พื้นที่เล็กๆ ปกติซื้อทุกอย่าง แต่ต่อไปนี้จะลองปลูกเองดู”

พัชรินทร์ ทัศนภักดิ์ อายุ 61 ปี ข้าราชการเกษียณ กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ได้รับความรู้ใหม่เยอะมาก เช่น การปลูกผักไฮโดรฯ นั้น “ไม่มีโทษ” สามารถปลูกได้ในที่จำกัด แม้กระทั่งมะเขือเทศก็ปลูกได้ ซึ่งเป็นพืชที่ชอบมากๆ หรือผักมีหัวก็สามารถปลูกได้หมด ก็ต้องไปทดลองปลูกดู

“เดิมที่บ้านจะชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว แต่การปลูกผักใส่ดินต้องใช้ที่เยอะ พออบรมก็คิดว่าวิธีนี้ดี ใช้เมล็ดใส่ในฟองน้ำประหยัดเนื้อที่ แล้วเราทำตามคำแนะนำให้ถูกต้อง เช่น มีแสงแดดวันละ 4 ชั่วโมง ก็คิดว่าจะลองปลูกกินเองก่อน ถ้าทำได้มากๆ ก็อาจจะทำให้ญาติๆ กินด้วย ถ้าเหลือก็อาจจะมีอาชีพใหม่ คือ ทำขายได้ด้วย”

ขณะที่ มยุรีย์ มัชฌเศรษฐ์ อายุ 57 ปี ประธานหมู่บ้านประสิทธิ ซอยภาวนา 41 บอกว่า การอบรมได้ประโยชน์มาก เดิมเราชอบปลูกผัก ปลูกผักในดินอยู่แล้ว ได้มาเรียนรู้การปลูกผักแบบไม่ใช้ดินบ้าง อย่างน้อยนำไปปลูกผักสวนครัว เวลาขาดเหลือก็ไม่ต้องออกไปตลาดทุกครั้ง และที่เห็นประโยชน์อีกอย่างคือ จะเป็นกิจกรรมให้คนสูงอายุได้มีอะไรทำเวลาอยู่บ้าน จะช่วยลดความเครียดในช่วงโรคระบาดด้วย

บรรยากาศการอบรม

“เป็นการอบรมที่ดีมาก บางสิ่งที่เราไม่รู้ เช่น การใส่สารอาหารต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เราเพิ่งได้รู้ตอนมาอบรม ถ้าไม่ได้มาอบรมเราก็ไม่ทราบรายละเอียด หรือพอมาปลูกต้นอ่อนต้องไว้ในที่ร่มก่อน ไม่ใช่ตากแดดเลย อย่างน้อยก็ต้อง 4 วันไม่ให้โดดแดด รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถ้าเราไม่รู้ ต้นไม้ก็อาจจะไม่รอด ก็คิดว่าจะลองไปปลูกเองก่อน ถ้าเราชำนาญแล้วจะเอาไปแนะนำให้ลูกบ้านต่ออีกทอดหนึ่ง ต้องขอบคุณ รฟม. เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ”

ถือเป็นโครงการดีๆ จาก รฟม. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สู่ชุมชนทั้ง 10 เขต

เป็นการสร้างคุณค่าต่อสังคมควบคู่การพัฒนาอย่างแท้จริง


“เราเริ่มจากจุดเล็กๆ

เพื่อต่อยอดให้ไปได้มากขึ้นอีก”

จิรฐา วัฒนประดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการด้านประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ รฟม. เล่าว่า …การอบรมตามโครงการ ปลูกผักไร้ดิน ที่ว่าง กินได้ แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ นอกเหนือจากเรื่องของการปลูกผักไร้ดินแล้ว ยังเป็นการอบรม แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง เป็นการให้ความรู้เรื่องของโซเชียลมีเดีย เนื่องจาก รฟม.เล็งเห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญมากในปัจจุบัน หากสามารถนำความรู้ตรงนี้มาใช้ร่วมกับการปลูกผักโดยการสร้างกลุ่มขึ้นมา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ผลผลิตในอนาคต หากใครคิดจะสร้างให้เป็นรายได้ เป็นแหล่งค้าขายก็ได้ด้วยทั้งในครอบครัวหรือชุมชน ที่สำคัญการจัดโครงการนี้เป็นการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ผลักดันให้เกิดวิถีการพัฒนาชุมชน ให้มีคุณภาพทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของ รฟม. จึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา เพราะเราตระหนักดีว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ค่อนข้างจะมีพื้นที่จำกัด การดำเนินชีวิตก็ค่อนข้างจะเร่งรีบ มีเวลาน้อย เพราะฉะนั้นจึงนำเสนอโครงการปลูกผักแบบไม่ต้องใช้ดินเลย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับประชาชน จะได้มีแนวทางในการปลูกผักไว้ใช้กินเองในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อหาเช่น ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักบุ้ง คะน้า พวกนี้สามารถปลูกในภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขวดน้ำดื่มกระป๋อง ขวดชาเขียว ฯลฯ ใช้เวลาปลูกไม่นานมากก็สามารถตัดหรือเด็ดมาทำเป็นอาหารได้เลย ไม่ต้องวิ่งไปซื้อที่ตลาดทุกครั้งไป ช่วยให้ประหยัด มีอาหารที่มีคุณภาพกินอีกด้วย และยังสามารถนำไปประกอบอาชีพก็ได้ด้วย หากต้องการจะทำจำนวนมากขึ้น เป็นการเสริมรายได้ให้กับครอบครัว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนไปในตัว…

จิรฐา วัฒนประดิษฐ์

“…การทำโครงการต่างๆ ของ รฟม. ไม่ได้หมายความว่าเรานึกอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่เราต้องจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนซึ่งจะเป็นชุมชนที่อยู่ตามรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในช่วงเวลาหนึ่งที่เราก่อสร้างโครงการ ในแต่ละพื้นที่จะมีโครงการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของชุมชน เราจึงอยากมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือดูแลชาวบ้านเหล่านั้น ก็มีการเข้าไปสำรวจชุมชนตามแนวสายทางระยะ 500 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร ว่ามีชุมชนอะไรบ้าง เป็นอยู่อย่างไร ต้องการอะไร

ไม่ได้มีแค่ชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีวัด โรงเรียนต่างๆ ด้วย ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งของชุมชนบริเวณเหล่านั้นก็คือผู้ใช้บริการเราในอนาคตด้วย โครงการปลูกผักไร้ดิน ที่ว่าง กินได้ จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่เราคิดขึ้นมาในช่วงสภาวะแบบนี้ …”

“อย่างที่บอกว่าโครงการปลูกผักไร้ดิน ที่ว่าง…กินได้ เราเปิดอบรมทั้งหมด 10 เขต ในแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เราเปิดตัวกิจกรรม แล้วเราจะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนที่เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 10 เขต รวม 500 คน ซึ่ง 500 คนนี้จะได้มีการเอาไปสอนต่อ บอกต่อ เพราะฉะนั้นสุดท้ายที่ได้จะไม่ใช่แค่ 500 คน แต่จะได้เยอะมากกว่านี้แล้วจะเกิดเป็นสังคม ชุมชนย่อย เพราะเรามีการสอนการใช้โซเชียลมีเดียด้วย จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน คิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ จะสามารถต่อยอดต่อไปได้อีกมากๆ ยิ่งขึ้น

เราจะมีการติดตามผลหลังการอบรมไปแล้ว และยังมีการตั้งกลุ่ม ‘ปลูกผักไร้ดินที่ว่าง กินได้’ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ผ่านทางกลุ่มในเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เฉพาะผู้เข้ารับการอบรมเท่านั้น แต่ผู้ที่สนใจก็เข้ามาร่วมได้เหมือนกัน เรายินดี อยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาในกลุ่มนี้ด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image