จากบางปะกงถึงกรุงเทพฯ ล่องประวัติศาสตร์‘แสนแสบ’ (ก่อน) 2380-2563

‘อกพี่กลัดหนอง พี่หมองดั่งคลองแสนแสบ
เจ็บจำดังหนามยอกแปลบ แปลบ แสบแสนจะทน
โอ้ว่ากังหัน ทุกวันมันพัดสะบัดวน
อยากจะรู้จิตคน จะหมุนกี่หนต่อวัน
…..
แสนแสบ แสบแสนเปรียบแม้นชื่อคลอง
นี่คือโลงทองของเรียม ขวัญ เขาฝากชีพจม
แต่คลองยังช้ำ เหลือไว้แต่น้ำขุ่นตม
พี่จึงช้ำจึงช้ำขื่นขม ขม ตรมเสียกว่าคลอง’

แสนแสบ เพลงคุ้นหูคนไทย ผลงาน ครูชาลี อินทรวิจิตร บาดลึกถึงอารมณ์ด้วยสุ้มเสียงไพเราะของ ชรินทร์ นันทนาคร ประกอบภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า เมื่อ พ.ศ.2503

มีที่มาจากชื่อคลองสำคัญในบางกอกแต่ครั้งอดีตกาลจวบจนปัจจุบัน

“คลองแสนแสบใช้สำหรับขนส่งสินค้าจากบางปะกงมากรุงเทพฯ มีการขนข้าวเปลือกลงเรือมาขึ้นที่ตลาดโบ๊เบ๊ หรือตลาดมหานาค ขนฟืนท่อนๆ เรียกว่า ฟืนหลา มาให้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ เรือมาหลายทิศทาง ตอนนี้ตลาดโบ๊เบ๊ขายผ้า แต่สมัยก่อนขายสารพัดอย่าง เป็นย่านชาวจาม มุสลิม คลองแสนแสบ บริเวณทุ่งบางกะปิยังเป็นฉากในเรื่องแผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม หรือก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระเอกนางเอกชื่อ ขวัญ-เรียม อย่างไรก็ตาม ทุ่งบางกะปิในฉากกับความเข้าใจของคนปัจจุบันไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกัน เพราะบางกะปิเดิมอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือย่านอาร์ซีเอ มีศูนย์กลางคือวัดอุทัยธาราม หรือวัดบางกะปิ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตห้วยขวาง”

Advertisement

คือบางช่วงบางตอนจากปากคำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์อาวุโสในเครือมติชน เจ้าของผลงาน ‘กรุงเทพมาจากไหน?’ ที่บรรจุเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับมหานครแห่งนี้ในแง่มุมลึกซึ้งที่อาจคาดไม่ถึงในหลายประเด็น

เช่นเดียวกับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ในตอน ‘ขวัญของเรียม คลองแสนแสบ เส้นทางยุทธศาสตร์และขนส่ง’ ซึ่งทีมงานทุ่มเทเดินทางไปถ่ายทำตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทรามาจนถึงกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร เข้าธีมวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ 20 กันยายนของทุกปี

Advertisement

‘วัดปากคลองบางขนาก’ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว คือพิกัดเช็กโลเกชั่นในจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วน ‘วัดบรมนิวาส’ คือพิกัดปักหมุดในเมืองกรุง เนื่องด้วยตั้งอยู่ในจุดเริ่มต้นของคลองแสนแสบซึ่งเริ่มจากโบ๊เบ๊ บริเวณที่คลองมหานาคชนกับคลองผดุงกรุงเกษม เดิมเป็นวัดชาวบ้าน ชื่อ วัดนอก ต่อมา พระวชิรญาณเถระโปรดให้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2377 ประกอบด้วยพระอุโบสถ พระเจดีย์ และกุฏิ 14 หลัง กระทั่งพระวชิรญาณเถระลาผนวชและขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า ‘บรมนิวาส’ คล้องกับนามวัดบวรนิเวศวิหาร

อารามแห่งนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยที่พระอุบาลี คุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นเจ้าอาวาส โดยเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 และพระราชโอรสธิดา เป็นผู้สนับสนุนทุนทรัพย์ โดยยังมีเสนาสนะสร้างเพิ่มเติมและได้รับปฏิสังขรณ์ในสมัยเจ้าอาวาสรุ่นต่อๆ มาจวบจนปัจจุบัน

ภายในพระอุโบสถ งดงามยิ่งด้วยจิตรกรรมฝีมือบรมครู ‘ขรัว อินโข่ง’

ริมคลองแสนแสบหน้าวัดบรมนิวาสในทุกวันนี้ เป็นเส้นทางสัญจรของคนกรุงเทพฯ หนีสงครามสาหัสบนท้องถนน

จากหลักฐานประวัติศาสตร์ ชื่อคลองแสนแสบซึ่งขุดขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้อธิบายเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1.มาจากภาษาเขมร ว่า เซสาป แปลว่า น้ำจืด 2.มาจากภาษามลายู ว่า เซนแญป แปลว่า เงียบสงบ ส่วนคำอธิบายว่า มาจากการที่ ‘ยุงเยอะ’ กัดจนแสบผิวนั้น ดูจะเป็นเพียงการลากเข้าความ ไม่น่าเชื่อถือ

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ย้อนเล่าว่า เคยมาวัดบรมนิวาสตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น เคยคิดจะบวชที่วัดนี้เพราะเลื่อมใสในพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) อย่างไรก็ตาม สุดท้ายบวชที่วัดราชโอรสารามฯ บางขุนเทียน ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ในอดีตเคยมีรถรางมาถึงเชิงสะพานกษัตริย์ศึก วันนี้วัดบรมนิวาสยังคงสวยงาม ดูแลได้อย่างดี

สำหรับคลองแสนแสบ รวมถึงแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศ หัวเรือใหญ่ค่ายมติชนย้ำว่า ควรมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำคือชีวิต

ย้อนกลับมายังเรื่องราวเปี่ยมสีสันจาก ‘แผลเก่า’ ที่ไม่เพียงเป็นบทประพันธ์อมตะ หากแต่ยังบันทึกประวัติศาสตร์สังคมและความทรงจำของผู้คนในยุคเก่าก่อน ผ่านปลายปากกา ‘ไม้ เมืองเดิม’ หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผลงานที่ออกสู่สาธารณะเมื่อ พ.ศ.2478

‘วันหนึ่ง ผมกับเขา (ไม้ เมืองเดิม) เดินเกร่ออกจากหลังวัดมักกะสันสู่ท้องนา ไปนั่งเล่นกันที่สะพานรถไฟข้ามคลองแสนแสบ

ผมขอร้องให้เขาลองวางแนวการเขียนเรื่องใหม่ ลองดูตลาดว่าแนวไหนคนอ่านจะต้อนรับ เปลี่ยนนามปากกาเสียใหม่ ลองเขียนเรื่องฝากสถานที่ดูบ้าง

ผมเปรียบเทียบขุนช้างขุนแผนที่เขียนโดยมีสถานที่จริงรับรอง

พอดีเวลานั้นจวนค่ำแล้ว ตาของผมเหลือบไปเห็นชายทุ่งไกลโน้น มีกระต๊อบเล็กๆ และมีตะเกียงจุดมีแสงริบหรี่ ผมจึงชี้ให้เขาดู และพูดว่าเอ็งลองคิดดูซิว่ากระต๊อบเล็กๆ ไฟริบหรี่นั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

นายก้าน (ไม้ เมืองเดิม) เหมือนจะสะกิดใจ มองดูภาพนั้นอย่างใช้ความคิด ครู่นั้นเองเขาตบขาฉาดใหญ่ แล้วร้องขึ้นเฉยๆ พร้อมพูดว่ากูไม่อดตายแล้วมึงเอ๋ย กูพบทางแล้ว กูมองเห็นเป็นแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งจุดตะเกียงแล้วให้ลูกดูดนมคอยผัวอยู่ ไอ้ผัวคงจะไปเล่นเบี้ยเสียถั่ว’

ปากคำของ ครูเหม เวชกร ศิลปินระดับตำนาน ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ฉบับปฐมฤกษ์ กุมภาพันธ์ 2512 บอกเล่าที่มาแห่งแรงบันดาลใจก่อนก่อเกิดนวนิยายที่กลายเป็นผลงานอมตะของวงวรรณกรรมไทย จากท้องนา สู่หน้ากระดาษ แผ่นฟิล์ม และจอแก้ว

เข้มข้น สะเทือนใจ อิ่มเอม และโศกสลด ไม่ต่างจากชีวิตจริงของผู้แต่ง

ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เกิดที่กรุงเทพฯ ในตระกูลผู้ดี เมื่อ พ.ศ.2448 ที่ย่านวัดศิริอำมาตย์ หลังโรงแรมรอยัล (รัตนโกสินทร์) ริมคลองคูเมือง ใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา เคยรับราชการกระทรวงวังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนตัดสินใจลาออกมาทำอาชีพส่วนตัว คือสร้างงานเขียน ผ่านความผิดหวัง กระทั่งมีชื่อเสียง ทว่า ชีวิตแสนสั้น ต้องจากไปด้วยโรคพิษสุรา เมื่ออายุเพียง 37 ปี

เรื่องราวเหล่านี้ พร้อมเผยแพร่ให้รับชมผ่านเพจมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ในวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน เวลา 20.00 น.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image