‘แขวน’ 6 ตุลา หลักฐาน พื้นที่ เวลา ณ ที่แห่งนี้

“หากลูกไม่ตาย ลูกต้องกลับบ้าน”

ข้อความตัวหนาในมุมหนึ่งของนิทรรศการที่มีคำสำคัญเพียง 1 พยางค์

“แขวน”

เนื่องในงานรำลึก 44 ปี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Advertisement

ในทุกๆ ปีที่ผ่านพ้นไป แม้หลายคำถาม ได้รับคำตอบ แต่ยังมีอีกหลายคำถาม ที่อาจยังห่างไกลจากการค้นพบ

เช่นเดียวกับความสูญเสียที่หลายครอบครัวต้องเผชิญ บ้างไม่ได้เห็นแม้ร่างไร้วิญญาณของบุคคลอันเป็นที่รัก

ท่ามกลางสถานการณ์โหดร้ายรุนแรงที่คำว่า “สูญสิ้นความเป็นคน” ถูกนำมานิยามความป่าเถื่อนของสิ่งที่มนุษย์จะกระทำต่อกันได้

Advertisement

การ “แขวน” คอ คือหนึ่งในภาพจำที่ลืมไม่ลงของเหตุการณ์ 6 ตุลา จากเดิมที่เชื่อว่า มีเหยื่อ 2 ราย ทว่า ต่อมาพบข้อมูลเพิ่มเติม ยอดรวม 5 ราย

on site museum

หลักฐาน+ข้อเท็จจริง

พื้นที่+เทคโนโลยี

ข้อความต่อท้ายชื่อนิทรรศการซึ่งบอกถึงสิ่งที่อยู่ภายใน กับความหมายในอีกหลายนัยยะของคำว่า “แขวน” ตามแต่การตีความ

ร่างที่ถูกแขวนคอ

ความยุติธรรมที่ถูกแขวน

ผู้กระทำผิดที่ได้รับการแขวนไว้ภายใต้วัฒนธรรมลอยนวลจวบจนวันนี้

ฯลฯ

ณ ที่ตรงนี้ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ ทั้งในและนอกรั้วธรรมศาสตร์ เกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่น่าจดจำแม้เพียงตารางนิ้ว แต่ไม่อาจให้ถูกหลงลืม นับแต่บันไดทางขึ้นหอประชุมใหญ่ ภาพอันน่าสลดใจของ กมล แก้วไกรไทย ถูกติดตั้งพร้อมให้ข้อมูลที่เรียบง่าย แต่สะเทือนใจด้วยเรื่องราว

ถูกยิงเสียชีวิต กระสุนทะลุช่องปอด ร่างของกมลถูกนำไปแขวนที่ต้นไม้บริเวณสนามหลวง ศพของกมลถูกทำร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า

ย้อนไปก่อนวันที่ 6 ตุลา ยังมีพนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 ราย ถูกทำร้ายและแขวนคอบนประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง “ประตูแดง” คือ ชื่อเรียกคุ้นหูของสถานที่แขวนร่าง วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย เหยื่อที่ต้องสิ้นลมหายใจด้วยความทุกข์ทรมานเพียงเพราะติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม (กิตติขจร)

หลักฐานสำคัญนี้ ถูกขนย้ายมาติดตั้งไว้หน้าประตูหอประชุมธรรมศาสตร์ พร้อมเทคโนโลยี “เออาร์” ฉายภาพจำลองเสมือนจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ปรากฏขึ้นตรงหน้า

เช่นเดียวกับก้าวต่อไปในพื้นที่จัดแสดงซึ่งภาพบรรยากาศของต้นไม้ใหญ่ใน “สนามหลวง” ถูกนำมาตั้งตระหง่าน พร้อมให้ลองเปิดภาพซ้อนทับของอดีตและปัจจุบัน กับร่างถูก “แขวน” อย่างโหดร้าย

หลังฉากเขียวขจี นำเสนอผลงานนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในโปรเจ็กต์ “พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” ซึ่งนำเสนอการพัฒนาโครงการและสถาปัตยกรรมใน 2 แนวทาง คือ พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถาน (Museum and Memorial) และพิพิธภัณฑ์บนสถานที่เกิดเหตุการณ์ (On-Site Museum)

ยังมีโรงหนัง 6 ตุลา ฉายสารคดีสั้น หนังสือพิมพ์และภาพถ่ายในห้วงเวลาโกลาหล

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดๆ ของบุคคลทุกคนในภาพนี้ คือบรรทัดสุดท้ายของข้อความบนบอร์ดจัดแสดงภาพถ่ายของ นีล อุลเลวิช บนชั้น 2 ของหอประชุมใกล้หน้าต่างกระจกที่มองเห็นทิวทัศน์สนามหลวงในวันนี้ โดยเทคโนโลยีเออาร์พร้อมให้มองภาพทับซ้อนออกไปเบื้องหน้า ใน พ.ศ.2563 สู่ 2519 พร้อมคิวอาร์โค้ดให้สแกนเข้าชมข้อมูลในเว็บไซต์ “โครงการบันทึก 6 ตุลา” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2559 คราวครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา

ภาพนั้น คือรูปขาวดำคุ้นตา ที่ชายคนหนึ่งถือ “เก้าอี้” ง้างฟาดร่างไร้ลมหายใจที่ถูกแขวนบนต้นไม้ในสนามหลวง

เป็นภาพสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ใครหลายคนรอคอยให้ได้รู้ว่าคนในภาพคือใคร เพื่อปะติดปะต่อข้อมูล เติมเต็มความทรงจำที่ลืมไม่ลง

ไม่เพียงผู้คนในสังคมไทย แน่นความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมจากความทรงจำได้ ไม่อาจลบจากใจที่แตกสลายเมื่อได้รู้ข่าว คือคนในครอบครัว

“แด่ลูกอ้อย ด้วยดวงใจ

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่พ่อต้องเสียลูกที่พ่อรักและหมายมั่นใจไว้หลายอย่าง…”

คือเนื้อความช่วงต้นของสมุดบันทึกที่ถูกเขียนด้วยลายมือของ อ่อง เอี่ยมคง พ่อ ผู้เสียลูกชาย


ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง
อายุ 21 ปี เมื่อต้องจากครอบครัวโดยไม่ได้ร่ำลาขณะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม

กางเกงยีนส์ที่ดนัยศักดิ์สวมใส่ในวันที่กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่บริเวณต้นขาเป็นหลักฐานสำคัญที่เหลืออยู่ เป็นประจักษ์พยานการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์จวบจนลมหายใจสุดท้าย

เช่นเดียวกับ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้สูญหายในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ครอบครัวเก็บข้าวของของเขากลับบ้านที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยความหวังว่า

“หากลูกไม่ตาย

ลูกต้องกลับบ้าน”

เสื้อนักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ชุดนักศึกษาวิชาทหาร บัตรกรมการรักษาดินแดนที่ลายมือชื่อเซ็นด้วยหมึกสีน้ำเงิน ยังคงแจ่มชัด

วัตถุเหล่านี้ ถูกนำมาจัดแสดงอย่างเรียบง่าย ทว่า สะเทือนใจด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เป็นเจ้าของ


“ลำโพง”
ที่ใช้บนเวทีปราศรัยต้านจอมพลถนอมในวันที่กระสุนสาดเข้าสู่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คืออีกหนึ่งวัตถุพยานให้มองภาพเหตุการณ์ผ่านช่องหน้าต่างไปยังสนามฟุตบอลในวันนี้ที่กลายเป็นสนามรบหลังระเบิด เอ็ม 79 ลูกแรก ถูกยิงมาจากฝั่ง “ตำรวจ” นอกรั้วมหาวิทยาลัย ตกกลางผู้ชุมนุมในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 6 ตุลาคม คร่า 4 ชีวิต โดยมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ก่อนทวีความรุนแรงขึ้นทุกทีด้วยห่ากระสุนที่สาดไม่ยั้งมายังผู้ชุมนุมนับพัน

ลำแสงที่ลอดจากลำโพงอย่างสะเปะสะปะ มาจากรูพรุนอันมีที่มาจากกระสุนปืนซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าผู้ยิงเหนี่ยวไกด้วยปืนลูกซองยาวจากเบื้องล่างจากซ้ายไปขวา และกรวยลำโพงหวังทำลายตัวกระจายเสียง

ยังมีไทม์ไลน์ ย้อนเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 ที่ตอกย้ำว่าความต่างทางความคิด กลายเป็นความผิดถึงขั้นต้องสังหาร

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “แขวน” 6 ตุลา ที่เปิดประตู (แดง) แห่งกาลเวลา พื้นที่ เทคโนโลยี พร้อมให้เข้าชมวันนี้ ถึง 11 ตุลาคม ระหว่าง 10.00-20.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และอาจขยายเวลาต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ที่เพจ “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา”

ล้อมกรอบ

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

เป็นความพยายามสร้างแหล่งเรียนรู้และแหล่งข้อมูลปรากฏการณ์ความรุนแรงในสังคมไทย และเป็นความพยายามที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ผู้คนจะได้เห็นวัตถุพยาน เอกสารหลักฐานจริง มีการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม มีบทสนทนาใหม่ๆ สะท้อนสิ่งที่ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลง

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ต้องการสื่อสารและขยายพื้นที่ความเข้าใจไปยังคนที่ไม่เห็นด้วยและไม่สนใจเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อนำไปสู่การ “ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและอำนาจนิยม”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ได้ด้วยการสมทบทุนโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ธนาคารกรุงไทย ซอยอารีย์ 172-0-31365-2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image