สุวรรณภูมิในอาเซียน : ประวัติศาสตร์อยุธยา ไม่ลอยลงมาจากสวรรค์ ไม่ยกปัจจุบันครอบอดีต

ภาพประกอบในเล่ม โดย ตะวัน วัตุยา

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเป็นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” หรือประวัติศาสตร์ย้อนศรเวลา โดยยกปัจจุบันครอบอดีต ดูได้จากประวัติศาสตร์ไทยทุกวันนี้ยกเอาปัจจุบันเมื่อมีครบทั้งชาติไทย, ประเทศไทย ไป “ขี้ตู่” ว่ามีตั้งแต่อดีตสมัยอยุธยา หรือก่อนหน้านั้นไปอีก

ชาติไทย, ประเทศไทย รวมทั้งธงชาติไทย, เพลงชาติไทย เพิ่งมีในไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์หลังแผ่นดิน ร.4, ร.5 หรือราวหลัง พ.ศ. 2400 ดังนั้นสมัยอยุธยาไม่มีชาติไทย, ไม่มีประเทศไทย, ไม่มีธงชาติไทย, ไม่มีเพลงชาติไทย

ประวัติศาสตร์อยุธยา ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ตามลูกศรเวลา “ซึ่งวิ่งจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเสมอ ไม่เคยย้อนกลับ”

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย กลับตรงข้ามคือ “ย้อนศรเวลา” และ “คลั่งเชื้อชาติไทย” มีชนเชื้อชาติไทยสร้างอาณาจักรน่านเจ้า เมื่อถูกตีแตกก็ “อพยพถอนรากถอนโคน” ลงมาเป็นขี้ข้าขอม ต่อมาทำ “สงครามปลดแอก” ขับไล่ขอม แล้วสร้าง “กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย”

Advertisement

ครั้นหลังกรุงสุโขทัยล่มสลายทันใดนั้นก็สร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งที่สอง ราวกับ “ลอยลงมาจากสวรรค์”

ประวัติศาสตร์อยุธยาของ คริส-ผาสุก “ไม่ย้อนศรเวลา” ดังนั้นอยุธยามีพัฒนาการมานานนับพันปีก่อนจะเป็นบ้านเมืองบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมีอำนาจทางทะเลควบคุมพื้นที่คาบสมุทร

“อยุธยาเป็น 1 ใน 3 มหาอำนาจของเอเชีย เคียงคู่กับจีนและอินเดีย ประมาณการว่าตัวเมืองอยุธยาสมัยนั้นใหญ่พอๆ กับลอนดอนหรือปารีส” (ถ้อยแถลง หน้า 1)

Advertisement

“มีชื่อเสียงเป็นเมืองหลวง-เมืองท่าที่ทะเยอทะยานก้าวร้าวทีเดียว” และ “ส่งกองกำลังลงใต้ไปคาบสมุทรมลายู แล้วข้ามไปสุมาตรา เพื่อปล้นสะดมทรัพย์และหากำไรจากการค้าตามชายฝั่งทะเล” (หน้า 77)

“อยุธยาเป็นเมืองท่า มากกว่าเมืองหลวงแห่งพิธีกรรม” — “อยุธยาเป็นมหาอำนาจทางทะเล ชาวอยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชายฝั่งทะเลของอุษาคเนย์” (หน้า 120)

“ไทยรบพม่า” ไม่ใช่สงครามระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า แต่เป็นสงครามระหว่างพระราชากรุงศรีอยุธยากับพระราชากรุงหงสาวดี, หรือกรุงตองอู, กรุงอังวะ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระนิพนธ์บอกไว้เองนานแล้ว แต่ครูบาอาจารย์ในสถานศึกษาของรัฐราชการไทยไม่ยอมรับรู้)

กรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นเมืองเครือญาติ แต่คนละเมืองคนละรัฐ และไม่ใช่ประเทศเดียวกัน (เพราะยังไม่มีประเทศเหมือนปัจจุบัน) ไม่ใช่เชื้อชาติเดียวกัน (เพราะยังไม่มีสำนึกเรื่องชาติอย่างทุกวันนี้)
พระมหาธรรมราชาทรงมีกำเนิดเป็นเชื้อวงศ์เมืองสองแคว (พิษณุโลก) รัฐสุโขทัย (ไม่อยุธยา) แต่ถูกริบอำนาจ ถูกลดฐานะเป็นขุนนาง แล้วถูกกักเก็บตัวไว้ในอยุธยา เมื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีได้คืนเชื้อวงศ์เป็น “ธรรมราชา” ครองเมืองพิษณุโลก ถิ่นเดิมของพระองค์ ย่อมมีสิทธิ์คิด “เอาคืน” โดยพึ่งพาเครือญาติ ได้แก่ พระเจ้าบุเรงนอง แล้วร่วมกันยึดกรุงศรีอยุธยา


 

ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ โดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2563 ราคา 540 บาท

เราตามลูกศรของเวลา “time’s arrow” ซึ่งวิ่งจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเสมอ ไม่เคยย้อนกลับ

เราเห็นว่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมไม่ไปตามลูกศรของเวลา แต่เขียนกลับหัวกลับหาง เริ่มจากปัจจุบันเมื่อมีชาติและประเทศแล้ว โคจรกลับเข้าอดีตเพื่อแสวงหารากเหง้าของชาติ ประเทศชาติ และส่วนประกอบอื่นๆ ของโลกปัจจุบัน อะไรที่ไม่เกี่ยวกับการแสวงหารากเหง้านี้จะไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์แบบนี้

นอกจากนั้นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมย่อมผลักดันให้หลายสิ่ง เช่น เมือง รัฐ สถาบัน แนวคิด ย้อนกลับไปไกลในอดีต เพื่อให้ชาติและประเทศชาติมีรากเหง้าที่ลึกกว่า

ในทางตรงกันข้าม เราเริ่มจากอดีตเมื่อภูมิประเทศว่างเปล่า แล้วตามลูกศรของเวลา ดูว่ามนุษยชนใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากิน สร้างสังคม จัดตั้งสถาบันได้อย่างไร และเมื่อเราเดินทางจากอดีตตามลูกศรของเวลา ซึ่งวิ่งจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเสมอ เราไม่สันนิษฐานว่าสิ่งใดปรากฏอยู่ในอดีตจนกว่าจะเห็นได้ในหลักฐาน

[คัดจากบางตอนของ ถ้อยแถลง : อยุธยาในประวัติศาสตร์ โดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร]


กรุงแตกครั้งแรก
บุเรงนอง-ธรรมราชา ยึดอยุธยาร่วมกัน

ปรับปรุงจากบางตอนของหนังสือ
ประวัติศาสตร์อยุธยา ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

อยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2112 คำอธิบายเดิมๆ มุ่งไปที่ความขัดแย้งระหว่าง “สยาม” กับ “พม่า”—-แต่อีกเหตุหนึ่งของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ เป็นผลของการควบรวมระหว่างอยุธยากับหัวเมืองเหนือด้วย

กองทัพหงสาวดีโจมตีอยุธยา 3 ครั้งใน พ.ศ. 2091 2106 และ 2111-2112 ศึกครั้งแรก กองทัพหงสาวดีต้องถอยกลับเพราะเผชิญภาวะน้ำท่วมในช่วงลมมรสุม ครั้งที่ 2 อยุธยายอมจำนน แต่กษัตริย์หงสาวดีสวรรคตทันทีหลังจากนั้น ครั้งที่ 3 คือครั้งที่เสียกรุงฯ พระมหาธรรมราชาของพิษณุโลกหันไปเป็นพันธมิตรกับหงสาวดี

แม้ว่ารายละเอียดที่บันทึกไว้จะแตกต่างกันไป แต่การศึกครั้งแรกนั้น พระมหาธรรมราชาไม่ได้นำทัพมาจากพิษณุโลกเพื่อช่วยอยุธยา จนกระทั่งการปิดล้อมสิ้นสุด อาจเป็นเพราะว่ารอดูสถานการณ์ พงศาวดารฉบับฟาน ฟลีต บันทึกว่ารพระมหาธรรมราชาทุบตีและทะเลาะกับพระมเหสี พระมหาจักรพรรดิผู้เป็นพระบิดาของพระมเหสีพิโรธและพยายามประหารชีวิต พระมหาธรรมราชาจึงหนีไปพม่าและ “เริ่มทูลรบเร้าพระเจ้าหงสาวดีให้กระทำสงครามกับสยาม” กษัตริย์หงสาวดี “ทรงตั้งให้ออกญาพิษณุโลก [พระมหาธรรมราชา] เป็นแม่ทัพกองทหารราบเดินเท้าทั้งสิ้น” และทัพหงสาวดีนี้เดินผ่านพิษณุโลกไปยังอยุธยา พงศาวดารพม่าบันทึกว่า หลังจากที่อยุธยายอมแพ้แล้ว พระมหาธรรมราชาไปที่เมืองหงสาวดี ยอมแก่บุเรงนองและได้รางวัลเป็นยศพม่าและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แต่ตามพงศาวดารไทยนั้น พระมหาธรรมราชาอยู่ฝ่ายอยุธยาแต่ทำตัวห่างเหิน

เมื่อพระมหาจักรพรรดิพยายามดึงให้ล้านช้างมาเข้ากับอยุธยา พระมหาธรรมราชาขัดขวางการเจรจา โดยลักพาเจ้าหญิงล้านช้างระหว่างเดินทางไปอยุธยา

การสงครามใน พ.ศ. 2111-2112 นั้น พงศาวดารฟาน ฟลีต กล่าวว่า พระมหาธรรมราชา “ได้ทูลแนะพระเจ้าหงสาวดีให้กระทำสงครามกับสยามอีกครั้งหนึ่ง” โดยเป็นผู้นำทัพหงสาวดีเสียเอง และใช้พิษณุโลกเป็นฐานทัพ

ตามพงศาวดารไทยนั้น พระมหาธรรมราชาเริ่มแรกเข้ากับอยุธยา ต่อมาแปรพักตร์ไปเข้ากับหงสาวดีด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนมาก ทั้งสองพงศาวดารสอดคล้องกันตรงที่ว่า พระมหาธรรมราชาทำให้อยุธยาเสียแก่หงสาวดี โดยในขณะที่หงสาวดีปิดล้อมอยุธยาอยู่ ได้ให้ญาติฝ่ายพระมเหสีและขุนนางที่เข้ากับตนเปิดประตูเมืองให้ทหารหงสาวดีและทหารพิษณุโลกเข้ายึดเมืองได้

ครั้งนั้นเองขุนนางหัวเมืองเหนือยึดกุมอำนาจในอยุธยาได้สำเร็จ สมเด็จพระมหิน ทราธิราช พระราชโอรสของพระมหาจักรพรรดิคงจะสวรรคตขณะพม่าปิดล้อมหรือพม่ากวาดต้อนไปพม่าแล้ว “พระเจ้าหงสาวดีก็อัญเชิญสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า เสด็จขึ้นเสวยสมบัติกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา”

ในพงศาวดารฉบับฟาน ฟลีต พระมหาธรรมราชายังเก็บพระอิสริยยศที่โยงกับพิษณุโลกในพระอิสริยยศกษัตริย์อยุธยา นั่นคือ “พระมหาธรรมราชาพระเจ้าสองแคว” โดยสองแควเป็นชื่อเดิมของพิษณุโลก และพระอิสริยยศนี้ได้ใช้เมื่อส่งสาส์นไปยังจักรพรรดิจีน

พระมหาธรรมราชาแต่งตั้งชาวเมืองเหนืออื่นๆ ในตำแหน่งขุนนางใหญ่และปรับตำแหน่งเจ้าเมืองที่หัวเมืองชั้นนอกทั้งหมด

พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวร พระราชโอรสของพระมหาธรรมราชากวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองเหนือลงมาอยู่อยุธยาและบริเวณโดยรอบ เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พ.ศ. 2133 สมเด็จพระนเรศวรครองราชย์สืบมา พงศาวดารฟาน ฟลีต ตอนที่ว่าด้วยพิธีราชาภิเษก เน้นว่าสมเด็จพระนเรศวรนำเข้าความเป็นกษัตริย์ชาตินักรบสู่อยุธยา ทรงทำพิธีราชาภิเษกในเพนียดช้าง ฝีพาย 1,600 คน เป็นโทษเผาทั้งเป็นเมื่อพลาดพลั้งในพิธีกรรม และทรงสั่งสอนขุนนางอยุธยาว่า

“นี่แหละเป็นวิธีการที่จะใช้ปกครองพวกเจ้าชาวสยาม ทั้งนี้เพราะเจ้าเป็นคนมีนิสัยดื้อด้านอย่างน่าชิงขัง อยู่กันในภาวะที่ฟอนเฟะเหลวแหลก ข้าจะลงโทษอย่างนี้ต่อพวกเจ้า จนกว่าข้าจะดัดให้เจ้าเป็นชนชาติที่ได้รับความเคารพยกย่องนับถือ เจ้าเปรียบประดุจต้นหญ้าในท้องทุ่งอันอุดมสมบูรณ์ ยิ่งตัดให้มันสั้น เจ้าก็จะยิ่งขึ้นสวยงาม ข้าจะปรายทองคำไว้ตามท้องถนน ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละหลายๆ เดือน ถ้าใครจ้องจะเอาทองคำด้วยความละโมบแล้ว จะต้องถูกประหาร”

การใช้ทองล่อใจ สำแดงความเปรียบ ความตรงกันข้ามระหว่างจรรยาทหารและแรงจูงใจของพ่อค้า พม่ากวาดชนชั้นสูงของอยุธยาพร้อมทั้งเทวรูปทั้งหลายและช่างฝีมือไปหงสาวดีจนหมดสิ้น ขุนนางจากหัวเมืองเหนือเข้ามาแทนที่ อยุธยากลายเป็นเมืองหลวงหนึ่งเดียว แต่ราชวงศ์สุโขทัย-พิษณุโลกขึ้นสืบราชสมบัติ บรรดาหัวเมืองรอบนอกเข้ามาอยู่ที่ศูนย์กลาง


ประวัติศาสตร์อยุธยา

เซียน หรืออยุธยาในช่วง 200 ปีแรก เป็นมหาอำนาจทางทะเล มีตัวตน เป็นชุมชนมาก่อนเรื่องเล่าในตำนานว่ามีการสถาปนาอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893

อยุธยามุ่งที่จะเป็นใหญ่ในโลกการค้าชายฝั่งทะเลและคาบสมุทรมลายูในช่วงหลังยุคของอาณาจักรศรีวิชัย และเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของจีนในอุษาคเนย์ ไม่มีข้อมูลว่าชาวอยุธยาสมัยแรกเริ่มที่เดินเรือนี้เป็นใครและใช้เรือแบบไหนในการแผ่อำนาจทางทะเล แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชายฝั่งทะเลของอุษาคเนย์

หลายศตวรรษต่อมาบทบาทของชุมชนผู้โน้มเอียงสู่ทะเลเหล่านี้ต่อระบบเศรษฐกิจและวัฒนธรรมลดความสำคัญลง แต่ดังที่สุเมธ ชุมสาย แสดงให้เห็นสัญญะเกี่ยวกับน้ำแฝงฝังอยู่อย่างลึกซึ้งในสถาปัตยกรรม ในมโนทัศน์ว่าด้วยจักรวาลวิทยา พิธีกรรม ตำนาน และวรรณกรรมสยาม ขณะที่สัญญะนี้อยู่ยั่งยืน เพราะแม่น้ำและลำคลองเป็นหัวใจของการเดินทางขนส่งและที่อยู่อาศัย โดยมีจุดกำเนิดเริ่มแรกมาจากทะเล

บันทึกของหม่าฮวนและเฟย ซิน อันเป็นบันทึกครั้งแรกสุดเกี่ยวกับเมืองอยุธยานั้น แสดงความโน้มเอียงสู่ทะเลนี้ คืออยุธยายังเป็นเมืองท่ามากกว่าเมืองหลวงเมืองแห่งพิธีกรรม ตรงนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมประวัติศาสตร์อยุธยาเริ่มแรกมืดมน ทำไมขาดศิลาจารึก ทำไมปูชนียสถานใหญ่ๆ มีไม่กี่แห่ง ทำไมพัวพันกับชาวจีน ทำไมตำนานผู้สร้างเมืองมีหลายเรื่องที่คงจะแต่งขึ้นมาในภายหลัง และทำไมการลำดับราชวงศ์ไม่แน่นอน

ต่างจากเมืองท่าอื่นๆ หลายแห่งในอุษาคเนย์ อยุธยามีแผ่นดินกว้างขวางด้านในที่เข้าถึงได้ตามเส้นทางน้ำ อยุธยาจึงมีโอกาสควบคุมเส้นทางการค้าและแหล่งอุปทานสินค้าอันเป็นที่ต้องการในการค้าทางทะเลโดยเฉพาะในจีน อยุธยาค่อยๆ พัฒนาความพัวพันกับหัวเมืองเหนือลึกเข้าไปบนผืนแผ่นดินใหญ่ อยุธยาไม่ได้เข้ายึดและกลืนเมืองเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ดังที่บางคนจินตนาการ

สุโขทัยดำรงความเป็นศูนย์กลางด้านพิธีกรรม พิษณุโลกธำรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และเป็นเมืองหลวงตัวจริงเป็นเวลาเนิ่นนาน

กองทัพของหัวเมืองเหนือสำคัญยิ่งต่อการกำกับควบคุมอาณาจักรล้านนาที่มักใหญ่ใฝ่สูง เจ้าเมืองเหนือธำรงสถานะของตนไว้ได้ และเมืองหลวงของพวกยิ่งรุ่งและอลังการมากขึ้น

แรงที่ผลักให้อยุธยาควบรวมกับเมืองเหนือนั้น ไม่ได้มาจากอำนาจทางการทหารเป็นหลัก แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างราชวงศ์สุพรรณบุรีกับราชวงศ์สุโขทัย และจากที่อยุธยาค่อยๆ ซึมซับโอบรับผู้คน วัฒนธรรม ภาษา ศิลปะ และวิถีการปกครองจากหัวเมืองเหนือนั่นเอง

ครั้นถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ขุนนางหัวเมืองเหนือสถาปนากษัตริย์ที่อยุธยา พ.ศ. 2112 พวกเขาร่วมมือกับกษัตริย์หงสาวดี ขับชนชั้นนำเดิมของอยุธยาออกไปแล้วเข้าครองเมืองแทน ระบบการบริหาร ศิลปะ การศาสนา วรรณกรรม และภาษาไทย ก่อรูปขึ้นมาจากการควบรวมดังว่านี้

นับจากต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนในบริเวณทางน้ำโค้งตวัดเป็นรูปแอกแห่งแม่น้ำลพบุรี รุ่งเรืองเป็นเมืองท่าเมืองหลวง ต่อมาพัฒนเป็นศูนย์กลางของศาสนา ราชวงศ์ และวัฒนธรรม จากช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 การสงครามมีบทบาทหลักในการพัฒนาสังคมของเมืองและภูมิภาคนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image