เรา รอด โลก กำไร ใน ‘โซลาร์ แลนด์’ ล่า ท้า แสง สู้อนาคต เพราะพลังงานสะอาดคือคำตอบของวันพรุ่งนี้

“Solvatten” เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพา คิดค้นเพื่อชุมชนที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดและน้ำอุ่น จากสถิติน่าตกใจที่ว่า ในพื้นที่ห่างไกลมีเด็กเสียชีวิตทุกๆ 15 นาที เนื่องจากสารพิษหรือสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนในน้ำ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “พลังแสงอาทิตย์” อาจถูกนำมาใช้เป็น “พลังงานในอนาคต” เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดและเป็นพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน หากมีโอกาสอ่านบทความหรือข่าวสารต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์จะพบว่าเริ่มมีการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานทดแทนผ่านอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

เพื่อให้การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยงวข้อง ได้ออกสู่สาธารณะมากขึ้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Enocomy Agency (Public Organization) : CEA และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ร่วมด้วย Thailand Creative & Design Center ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) จึงเนรมิต “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” นิทรรศการที่ไม่ได้มีแค่เนื้อหาความรู้จนน่าเบื่อ แต่นำเสนออย่างน่าสนใจ ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน ผ่านรูปแบบ “เกมล่าเพื่ออนาคต” ด้วยการเล่นเกมเศรษฐีขนาดเท่าคนจริง

“Solvatten” เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพา คิดค้นเพื่อชุมชนที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดและน้ำอุ่น จากสถิติน่าตกใจที่ว่า ในพื้นที่ห่างไกลมีเด็กเสียชีวิตทุกๆ 15 นาที เนื่องจากสารพิษหรือสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนในน้ำ

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2562 จัดทำโครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Vengers ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต้นแบบแสงอาทิตย์ และสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชนโดยการนำเสนอนิทรรศการ “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการผ่านการเล่นเกมเศรษฐีขนาดเท่าคนจริง ซึ่งจะมีการสุ่มว่าคุณคือ “ผู้ล่าแสง” ประเภทใด ประกอบด้วย เรา-รอด-โลก-กำไร พร้อมเดินเกมผ่านการทอยลูกเต๋าจากแอพพลิเคชั่น โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้น

นิทรรศการดังกล่าว มีการรวบรวมผลงานนวัตกรรมจากทั่วโลกมากกว่า 30 ชิ้น รวมถึงผลงานของ Olafur Eliasson ศิลปินชื่อดังผู้สร้างสรรค์ผลงาน Little Sun สำหรับพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าโดยงานนิทรรศการนี้จะจัดแสดงใน 2 พื้นที่ คือ ห้องแกลเลอรี ชั้น 1 และพื้นที่สวนบนชั้น 5 เพื่อให้เห็นการใช้งานจริง ณ TCDC กรุงเทพฯ

Advertisement
ถังขยะพลังงานแสงอาทิตย์ จุได้มากกว่าถึง 8 เท่า พร้อมระบบเชื่อมต่อและส่งสัญญาณผ่านจีพีเอส อีเมล์อัตโนมัติ หรือข้อความเตือนเมื่อถังขยะเต็ม ช่วยลดรอบการจัดเก็บที่ไม่จำเป็น

ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีเป้าหมายในการสร้างกระแสความตื่นตัวและการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” โดยเปิดรับการขอสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) เพื่อจัดทำโครงการที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ไฟฟ้าทุกช่วงอายุ ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีเครือข่ายในโครงการของ กกพ. และได้ขยายผลของโครงการผ่านนิทรรศการ “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต” เพื่อจะสร้างกระแสความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ

สำหรับเนื้อหานิทรรศการที่มาในรูปแบบ ‘เกม’ โดยเปิดตัวด้วยประโยคชวนตื่นใจว่า

“ขณะนี้คือเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ยินดีต้อนรับเข้าสู่เกมล่าเพื่ออนาคต”

Advertisement

และ “เรา รอด โลก กำไร” คือกฎของการอยู่ต่อไป มนุษย์ต้องช่วยกันเปลี่ยนสิ่งที่คุ้นเคยไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่ดีกว่าเดิม ความหวังเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน ตราบที่ยังมีวันพรุ่งนี้ ตราบที่ดวงอาทิตย์ยังให้แสงสว่างกับโลก มาล่าแสง มาเลือกไอเทมเทคโนโลยีจากพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้พลังงาน จุดหมายปลายทางที่เรามีร่วมกัน คือ “โซลาร์โทเปีย” เมืองแห่งอนาคตที่ทุกคนเข้าถึงน้ำ แสงสว่าง อากาศบริสุทธิ์ และผลกำไรจากพลังงานสะอาด

โคมไฟดอกทานตะวัน (Little Sun) ของ โอลาเฟอร์ อิเลียสสัน (Olafur Eliasson) ซึ่งผสานศิลปะกับเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดไว้ด้วยกัน ตากแดด 5 ชั่วโมง มีไฟใช้ไปอีกหลายชั่วโมง

เนื้อหาและรูปแบบประสบการณ์ของนิทรรศการแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่หนึ่ง Sun & Solar : Power of the sun and solar choices

นำเสนอเรื่องราวและผลกระทบเชิงบวกจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ดินแดนโซลาร์ ซึ่งผู้เข้าชมนิทรรศการจะถูกเลือกว่าเป็น “ผู้ล่าแสง” ประเภทใด แล้วเข้าไปลุ้นว่าจะประสบความสำเร็จในสายนั้นๆ หรือไม่ โดยมีนักล่าแสงทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ “เรา” : ล่าแสงเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากพลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน, “รอด” : ล่าแสงเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการเข้าถึงพลังงานสะอาดในพื้นที่ห่างไกล, “โลก” : ล่าแสงเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ “กำไร” : ล่าแสงเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในพลังงานจากแสงอาทิตย์

ส่วนที่สอง Solar Monopoly : Interactive Life-Size Monopoly Game & solar Application Showcases

นวัตกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากทั่วโลกกว่า 30 ชิ้นถูกรวบรวมมาจัดแสดงในนิทรรศการ “Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต”

ร่วมกันล่าแสงในเกมเศรษฐีขนาดเท่าคนจริง ที่ผู้เข้าร่วมนิทรรศการจะได้อยู่เรียนรู้และสัมผัสนวัตกรรมการออกแบบโซลาร์เซลล์ที่หลากหลายในปัจจุบันและโครงการในอนาคต พร้อมกับใช้เทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือสแกนเก็บ “ไอเทมจากแสงอาทิตย์” เพื่อไปสร้าง “โซลาร์โทเปีย” เมืองในอนาคต

ส่วนที่สาม Solartopia & Sunlight Graffiti : Co-creation Spaces for the Future of Solar City

นักล่าแสงทุกคนจะได้เห็นความเป็นไปได้ใน “โซลาร์โทเปีย” ที่การบอกเล่าความสำคัญและให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งพลังงานสะอาดในอนาคต พร้อมร่วมกันวาดภาพความทรงจำหรือจินตนาการในอนาคตเกี่ยวกับแสงอาทิตย์ด้วย Little Sun ในแบบฉบับนักล่าท้าแสง

ส่วนที่สี่ Solar Rooftop Garden : Sun Exposure Experiences

เปลี่ยนบริเวณชั้น 5 ชั้นดาดฟ้าของอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ที่เป็นสวนให้เต็มไปด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะเป็นการทดลองใช้นวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรียลไทม์ก่อนใคร อาทิ จุดชาร์จแบตจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Window Charger Solar, เครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านระบบ Thermosiphon System, ระบบจัดการขยะและถังขยะพลังงานแสงอาทิตย์ BigBelly-Solar Powered Trash Compactor และโคมไฟดอกทานตะวัน Little Sun ของศิลปินระดับโลก Olafur Eliasson

วาดภาพความทรงจำหรือจินตนาการในอนาคตเกี่ยวกับแสงอาทิตย์ กับความเป็นไปได้ใน “โซลาร์โทเปีย”

ในแต่ละโซนจะมีการนำเอาชิ้นงานต่างๆ มาเป็นตัวอย่างในการเล่าเรื่องราวด้วย ซึ่งจะขอหยิบยกตัวอย่างนวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่พลาดไม่ได้ เมื่อได้มา ล่า ท้า แสง ใน Solar Land อาทิ

“Solvatten” สร้างน้ำสะอาดด้วยแสงอาทิตย์ ในนิทรรศการเล่าว่า ในพื้นที่ห่างไกลมีเด็กเสียชีวิตทุกๆ 15 นาที เนื่องจากสารพิษหรือสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนในน้ำ เครื่องกรอกน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพาตัวนี้จึงถูกคิดค้นให้กับชุมชนที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดและน้ำอุ่น “Solvatten” ถูกออกแบบให้เป็นทั้งเครื่องกรองน้ำเพียงแค่เติมน้ำเข้าไป 11 ลิตร แล้ววางไว้ตากแดดประมาณ 2-6 ชั่วโมง แผงโซลาร์เซลล์จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานความร้อนทำให้น้ำอุ่น จากนั้นจะมีสัญญาณไฟเตือนให้รู้ว่าน้ำสะอาดพร้อมใช้งานได้ทั้งเป็นน้ำดื่มหรือปรุงอาหาร

ดาดฟ้าของอาคารไปรษณีย์กลางบางรักถูกเปลี่ยนเป็นสวนสำหรับทดลองใช้นวัตกรรมแสงอาทิตย์แบบเรียลไทม์

“Little Sun” โคมไฟรูปดอกทานตะวันขนาดพกพาจากพลังงานโซลาร์ ผลงานของ Olafur Eliasson ศิลปินผู้สร้างสรรค์ประสบการณ์ในงานศิลปะจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ Little Sun ยังเป็นโครงการที่มุ่งเน้นแบ่งปันแสงสว่างให้กับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงในประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งในนิทรรศการบอกว่าโคมไฟตัวนี้หากตั้งไว้กลางแดดเพียงแค่ 5 ชั่วโมง จะสามารถให้แสงสว่างได้ยาวนานหลายชั่วโมง

“BigBelly-Solar Power Trash Compactor” ถังขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ถูกออกแบบมาให้จุได้มากกว่าถึง 8 เท่า และทนทานต่อการใช้งานพื้นที่สาธารณะ มาพร้อมระบบจัดการขยะที่สามารถเชื่อมต่อและส่งสัญญาณผ่านจีพีเอส อีเมล์อัตโนมัติ หรือข้อความเตือนเมื่อถังขยะเต็มไปยังสถานีเพื่อให้มาจัดเก็บ ระบบนี้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาขยะล้นและลดรอบการจัดเก็บที่ไม่จำเป็น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าพลังงานแสงอาทิตย์อาจถูกนำมาใช้เป็นพลังงานในอนาคต ตามที่นิทรรศการพยายามจะบอกเราตามแนวคิด “พลังงานสะอาด” เรา รอด โลก กำไร ว่าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ยังเกี่ยวโยงกับมิติด้านต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างพลังงานที่ยั่งยืนไปจนถึงมิติด้านโอกาสทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นการเข้าชมนิทรรศการอาจช่วยให้ผู้สนใจได้เข้าใจการเข้ามาของพลังงานแสงอาทิตย์ในบริบทปัจจุบันมากขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image