(อ่าน) 14 ตุลา 2563 กว่าจะถึงวันนี้ ก่อนจะถึงพรุ่งนี้ ระหว่างบรรทัด ‘การเมืองไทย’

“ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์ที่เรารู้จักกันในนามของ 14 ตุลา ไม่ว่าจะเรียกว่าการปฏิวัติ หรือนามใดๆ เช่น วันมหาวิปโยค หรือวันมหาปีติก็ตามนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ความยิ่งใหญ่และความสำคัญ
กับผลกระทบอันกว้างไกล”

-ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-

คัดจากบรรทัดแรกของบทนำหนังสือ ‘จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา : ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดาร
ของสยามสมัยใหม่’ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิ 14 ตุลา

จาก 14 ตุลาคม 2516 กว่าจะถึงวันนี้ 14 ตุลาคม 2563

Advertisement

วันที่เยาวชนและประชาชนนัดหมาย “ลงถนน” ณ ราชดำเนิน บนฉากหลังที่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และภูมิทัศน์อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บนเลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนินนอก

เป็นเวลา 47 ปี ที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นอีกมากมาย ประกอบด้วยความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ และจะส่งผลต่อไปจนถึง “พรุ่งนี้” ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันนี้

เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ชวนให้ย้อน “อ่าน” การเมืองไทยร่วมสมัยจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้น ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ค้นหาคำตอบของอนาคตที่อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จบนทางแพร่ง ณ ห้วงเวลานี้

Advertisement

เริ่มที่ “ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” โดย ณัฐพล ใจจริง ซึ่งมาจากผลงานวิจัย “ตามรอยอาทิตย์อุทัย : การแสวงหาตัวแบบสร้างชาติ ของกลุ่มผู้นำการเมืองใหม่ ข้าราชการ และปัญญาชนไทย พ.ศ.2475-2484” เขียน 6 เดือน เก็บข้อมูล 10 ปี ชี้ช่องให้เข้าใจบริบทสังคมไทยในห้วงก่อนและหลัง พ.ศ.2475

แนวคิดเรื่องการ “สร้างชาติ” และโมเดลแบบ “ญี่ปุ่น” ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดนายทหารในกองทัพไทยมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อคณะราษฎรก่อการ 2475 สำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและญี่ปุ่นก็แนบแน่น โดยเฉพาะหลังปราบ “กบฏบวรเดช” พ.ศ.2476 สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศก็ยิ่งหนุนนำให้ทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา และ หลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. ขยับแนบชิดอาทิตย์อุทัยยิ่งขึ้น

ในวันนี้ ที่คำว่า “ชาติ” ถูกช่วงชิงความเป็นเจ้าของ ที่คำว่า “ชังชาติ” ถูกจับใส่มือคนคิดต่าง นี่คือผลงานต้องอ่านไม่แพ้เล่มอื่นๆ ของนักวิชาการท่านนี้ที่ฮิตหนักมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ไม่ให้อารมณ์คณะราษฎรขาดตอน ต่อด้วย “ศิลปะ สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” โดย ชาตรี ประกิตนนทการ ศาสตราจารย์หมาดๆ ที่กลายเป็นโลโก้ของมรดกคณะราษฎร 2475 ก่อนก่อเกิดคณะราษฎรใหม่ในพุทธศักราช 2563 รวมถึงหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ณ ท้องสนามหลวง

เป็นเล่มที่อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วศิลปากรท่านนี้บอกว่า “ขายดีเกินคาด” จนประหลาดใจ

“หนังสือเล่มนี้อาจเป็นชุดข้อมูลที่สำคัญและมีประโยชน์ ที่ให้ข้อเท็จจริง ที่จะทำให้ทุกฝ่ายรู้ว่าประวัติศาสตร์ในตอนนั้นเป็นอย่างไร และคิดว่าจะช่วย ลดเฟคนิวส์ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย” คือส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่กี่สัปดาห์หลังกรมศิลปากรถูกนักศึกษาโบราณคดี 2 ราย หิ้วพวงหรีดทวงถามการหายไปของหมุดคณะราษฎร 2475 และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เพียง “ศิลปะนอกขนบ” ที่อยู่คนละฝั่งของ “ความเป็นไทย” หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนผ่านศิลปะและสถาปัตกรรมในทศวรรษ 2475-2490

ขยับมาถึงทศวรรษที่ 2500-2510 ซึ่งสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มอำนาจทหาร นำโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการปกครองแบบเผด็จการระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ ชูคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” นำบ้านเมืองสู่ยุคพัฒนา ตัดถนนหนทางจากเมืองสู่ชนบท พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกทุกด้าน กำเนิด ประเทศไทย ภายใต้เผด็จการผลงานของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ที่เปิดเผยถึง “นัยซ่อนเร้น” ด้านการเมืองการปกครองที่การพัฒนาข้างต้นต้อง “แลก” มาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนยากที่ใครจะรู้ถึงการแทรกซึมโดยเจตนานี้

ไม่เพียงฉายภาพประวัติศาสตร์หากแต่ยังเชื่อมโยงข้อมูลอีกหลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ สร้างความเข้าใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นต่อการเกิดขึ้นของพื้นที่ประเทศไทยใน “ยุคพัฒนา”

จากนั้นเปิดพรมแดนออกนอกราชอาณาจักรสยาม สู่ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง The Comic” ปลายปากกา ภาณุ ตรัยเวช ที่ได้ Tale Glory เป็นผู้ถ่ายทอดลายเส้นเป็นการ์ตูนอ่านง่าย เล่าเรื่องราวหลังสงครามโลกครั้งหนึ่ง 1 ของสาธารณรัฐไวมาร์เมื่อจักรวรรดิอ่อนแอลง ผู้ขึ้นครองอำนาจต่อมาจึงเป็นชนชั้นนำจากกองทัพบกและพรรคการเมืองต่างๆ แม้ยังมีสิทธิเสรีภาพตามสมควร มีการเลือกตั้ง โดยกลุ่มชนชั้นในสาธารณรัฐ มีทั้งทหารบกฝ่ายขวา สังคมนิยมฝ่ายซ้าย และเกษตรกร ทว่า พวกเขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ปรับตัวกับสังคมใหม่ ในช่วงระยะเวลานั้น พรรค “นาซี” เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นพรรคเล็กๆ ในต่างจังหวัด และนี่คือเรื่องราวการก่อกำเนิดและการเถลิงอำนาจของพรรคนาซีที่เข้มข้นชวนอ่านอย่างยิ่ง โดยเพิ่งเปิดตัวหมาดๆ สำหรับฉบับการ์ตูนในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ไม่กี่วันที่ผ่านมาโดยมีแฟนๆ ต่อคิวแน่นขนัด

ปรับเข็มทิศกลับสู่การเมืองไทยใน 6 ตุลา 2519 ที่สังคมไทยร่วมรำลึกครบ 44 ปี โดยได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ “บ้านเมืองของเราลงแดง” โดย เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน หรืออาจารย์เบนผู้ล่วงลับ ตีพิมพ์ในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา เมื่อ 4 ปีก่อน แปลโดยนักวิชาการระดับปรมาจารย์ ทั้ง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ เกษียร เตชะพีระ

เหตุการณ์ที่หลายคำตอบยังไม่ชัดเจนแม้เป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ เพียง 4 ทศวรรษ ยังอยู่ในความทรงจำอันเจ็บปวด เช่นเดียวกับหนึ่งในผู้แปล อย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ซึ่งเพิ่งขึ้นเวที 44 ปี 6 ตุลา ที่หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ โดยเปิดเผยว่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงขนาดเคยคิดไม่กลับประเทศ คิดเลิกพูดภาษาไทย ต้องใช้เวลาทำใจถึง 20 ปี จึงเขียนบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นี้ครั้งแรกเมื่อปี 2539

ขยับลงมาอีกนิดในประเด็นที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ในวันนี้อย่างลึกซึ้ง โดยเป็น 1 ใน 2 จุดยืน ที่คณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มเยาวชนยืนยันตรงกัน นั่นคือ “ไม่เอารัฐประหาร” (และไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ)
“เสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย” โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง นำเสนอการปฏิรูปกองทัพ และความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองพลเรือนกับทหาร โดยยกทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มาอธิบายประกอบ ทั้งยังเสนอทางออกในความเป็นทหารอาชีพ

อีกเล่มน่าอ่านที่สะท้อนประวัติศาสตร์ความคิด และปฏิบัติการของนักต่อสู้ทางการเมืองนับจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จนถึงปรากฏการณ์สนธิ ก่อนศัพท์แสง “สลิ่ม” และ “กะลาแลนด์” จะก่อเกิด “การเมืองภาคประชาชน” โดย อุเชนทร์ เชียงเสน นำเสนอรากเหง้าของปัญหาบ้านเมืองภายหลังเหตุการณ์ทางการเมือง เชื่อมโยงไปยังจุดเริ่มต้นของกระบวนการประชาชนที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล และคัดค้านแนวนโยบายของรัฐที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ นับแต่การรณรงค์ให้โหวตรับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง การรวมตัวของขบวนการ “สมัชชาคนจน” รวมถึงการถือกำเนิดของ “คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย” ที่เริ่มมีบทบาทเทียบเคียงเวทีการเมืองมากขึ้นตามลำดับ ล้วนมาจากรากเหง้าทางความคิดเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชน โดยจุดหักเหสำคัญของขบวนการภาคประชาชนในช่วงเวลาต่อมาก็คือ การถือกำเนิดของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ด้วยเป้าหมายขับไล่ “ระบอบทักษิณ”

เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตรงจุดนี้ย่อมสังเกตได้ชัดเจนว่าการต่อสู้เรียกร้องในฐานะ “การเมืองภาคประชาชน” เริ่มจะแตกต่างจากในอดีตอย่างไร ใช้รูปแบบการต่อสู้อย่างสันติอหิงสาเหมือนในอดีตหรือไม่ เชิดชูการกระจายอำนาจตามปณิธานประชาธิปไตยหรือเปล่า ใครคือผู้กำหนดกลเกมการเรียกร้อง จนถึงคำถามสำคัญ นั่นคือจริงหรือไม่ที่การต่อสู้กับระบอบทักษิณคือการเมืองภาคประชาชนตามเจตนารมณ์เดิม

อีกเล่มต้องอ่าน คือ “ประชาธิปไตยคนไทยไม่เท่ากัน” ซึ่ง ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ชวนเปิดมุมมองประชาธิปไตยแบบไทยๆ ตั้งแต่โครงสร้างทางการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไปจนถึงยุคของการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ในสังคมสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ขวัญใจ “เสื้อแดง” ซึ่งยังมีบทบาททางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการชุมนุมในวันนี้ จากโครงสร้างอำนาจของสังคมที่เหลื่อมล้ำ ความเชื่อและความจริงทางประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมให้บางคนฝังใจว่า “1 คน 1 เสียง ไม่เหมาะกับสังคมไทย” ในขณะที่เสื้อยืดสกรีนข้อความ “คนเท่ากัน” ยังปรากฏในเห็นใน “แฟลชม็อบ” นักศึกษาที่คนเสื้อแดงเข้าร่วมอย่างคึกคัก

ตัดฉากมาถึงปัจจุบัน 88 ปีประชาธิปไตยไทยที่แม้มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 24 มีนา 2562 แต่เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ ยังคงอยู่ในสังคมไทย “When We Vote : พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน” โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ พาไปสำรวจและศึกษาพลวัตทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2010 ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์แล้วย้อนกลับมาเปรียบเทียบและทบทวนสถานการณ์การเมืองไทยที่เลือกตั้งมาแล้ว กว่า 8 ทศวรรษประชาธิปไตยที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะตั้งมั่น หลังชะงักงันแถมก้าวถอยหลังเพราะการครองอำนาจของเผด็จการ

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของวันพรุ่งนี้ที่หลายคนใฝ่ฝันถึง นั่นคือความเท่าเทียม ซึ่ง ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ราชบัณฑิต ตีแผ่ข้อมูลที่บ่งบอกถึงโครงสร้างความมั่งที่กระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยของประเทศ ข้าราชการก็ยังมีอำนาจสูง และแม้ว่าประเทศของไทยมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมายังถูกครอบงำโดยผู้มั่งมีจำนวนหยิบมือหนึ่ง และประกอบกันเป็นส่วนยอดของผู้มีสินทรัพย์และผู้มีอิทธิพลสูงในประเทศ บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและอำนาจแบบคณาธิปไตยที่พบเห็นได้ในทุกสถาบันการเมือง “สู่สังคมไทยเสมอหน้า” คือชื่อหนังสือเล่มนี้ที่มาจากผลงาน “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” งานวิจัยในโครงการทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นี่คือส่วนหนึ่งของหน้ากระดาษแห่งประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองไทยตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา 2516 จวบจนวันนี้บนจุดมุ่งหมายเพื่อพรุ่งนี้ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image