ผนึกกำลัง ‘รัฐ-เอกชน’ บูม ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ พลิกฟื้นประเทศ

เวทีสัมมนา "รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล" วิทยากรโดย ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท , วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO, Sea (Thailand) ดำเนินรายการโดยบัญชา ชุมชัยเวทย์

ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ห้วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลจึงเน้นการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ทันสมัยมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ภายใต้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส และหน่วยงานในกำกับ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประสบความสำเร็จ

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 43 ของหนังสือพิมพ์มติชนจึงเล็งเห็นว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้าได้ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาหัวข้อ เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ เพื่อระดมความเห็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อช่วยกันหาทางออกของประเทศ โดยเฉพาะทางออกด้านเศรษฐกิจ

งานดังกล่าวจัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม โดยประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และยังเป็นอีกครั้งที่การจัดสัมมนาโดยหนังสือพิมพ์มติชนได้รับความสนใจจากผู้ฟังล้นหลาม ไม่ว่าจากทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป งานนี้จัดขึ้นที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) ภายใต้หลักความปลอดภัย เน้นป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน การติดตั้งจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ และการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

พร้อมไลฟ์สดต่อเนื่องกว่า 3 ชั่วโมง ทางเพจเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์ เพื่อไม่ให้ผู้ชมทางบ้านพลาดการติดตาม

Advertisement

‘สภาดิจิทัล’ แนะพัฒนา 3 ด้าน
ฉวยโอกาสโควิด สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล

หากจะกล่าวถึง “เศรษฐกิจดิจิทัล” แล้ว ผู้ที่จะชวนทบทวนประเด็น พร้อมเสนอแง่คิดสำคัญในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนคือ ดร.วีระ วีระกุล รองประธาน และประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก สภาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

ดร.วีระเปิดเผยว่า พันธกิจของสภาดิจิทัลฯคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากปัจจุบันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี โดย “โควิด-19” เป็นตัวเร่งดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แม้กระทั่งการช่วยเหลือของภาครัฐก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จุดแข็ง จุดอ่อน เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น หากรัฐบาลประกาศว่าวันที่ 1 มกราคม 2569 ธุรกรรมที่ทำกับภาครัฐจากกระดาษจะเป็นดิจิทัลทั้งหมด จะเป็นการปลุกทุกส่วนอย่างรุนแรงให้เข้าสู่ดิจิทัลทันที

ในมุมมองของรองประธานสภาดิจิทัลฯเห็นว่า ขณะนี้ภาพประเทศไทยมีพื้นที่ในการพัฒนาจำนวนมาก แต่มี 3 เรื่องที่ต้องพัฒนาคือ 1.เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่จะมาสนับสนุนภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาล 2.คน ไทยต้องติดอาวุธ สร้างประสบการณ์ที่จะพัฒนาประเทศไทยในโลกดิจิทัล และ 3.กระบวนการขับเคลื่อน

Advertisement
ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

“มองย้อนกลับไปยุคพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย มีการเชิญชวนบริษัทรถยนต์เข้ามาลงทุนไทย ซึ่งการผลิตรถยนต์ใช้ชิ้นส่วนหลักหมื่นหลักแสนชิ้น ตอนนี้บริษัทสอนเทคโนโลยีให้ไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อน เช่นเดียวกันหากไทยต้องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เหตุใดจึงไม่ชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านดิจิทัลเข้ามาลงทุนไทย เพราะบริษัทระดับโลกในปัจจุบันมีมูลค่าการตลาดเกือบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของไทย

“จะทำอย่างไรให้กูเกิลมาตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาด้านลงทุนเกี่ยวกับการบริหารสุขภาพในไทย เพราะแพทย์ไทยมีศักยภาพระดับโลก ยกตัวอย่างโรคในประเทศเขตร้อนมีมาก หากโฟกัสให้บิ๊กบอยเหล่านี้มาก กระบวนการธุรกิจที่เติบโตไปคู่กับบริษัทเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เหล่านี้คือกลยุทธ์ระดับชาติ โดยสภาดิจิทัลฯจะเสนอรัฐบาลหากไทยไม่ทำจะสายเกินไป”

ดร.วีระชี้แนวทางอย่างเฉียบแหลม ก่อนจะปิดท้ายในประเด็นสำคัญคือ การบูรณาการขับเคลื่อนประเทศ โดยภาครัฐ เอกชน ประชาชนต้องร่วมมือ ฉวยจังหวะโควิด-19 ทำให้ดิจิทัลยั่งยืนกลายเป็นโครงสร้างที่สำคัญ

“ไม่อยากให้มีนโยบายแค่มีบิ๊กดาต้าในภาคราชการ เพราะต่างคนต่างทำ ต้องมีผู้นำเบอร์หนึ่ง แต่ละด้านร่วมมือกัน โครงสร้างนี้ขับเคลื่อนอย่างไร ต้องเอาโครงสร้างสมัยใหม่มาใช้ มีการชี้วัดผลคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ เหล่านี้จะทำให้ไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้แน่นอน”

‘หัวเว่ย’ ดันไทยดิจิทัลฮับอาเซียน

ขณะที่ วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ร่วมเวทีบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ดิจิทัลอีโคซิสเต็ม ยกระดับศักยภาพไทยสู่ศูนย์กลางภูมิภาค”

เขามองว่าการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ บริษัทมองเป้าหมายให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน ขณะเดียวกัน “เศรษฐกิจในยุคดิจิทัล” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่กำลังมีบทบาทและมีผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในยุคดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ

ทั้งนี้ จากการศึกษาของนักวิเคราะห์มองว่าการลงทุนด้านไอทีซี 16-20% จะช่วยจีดีพีประมาณ 1% หลายประเทศนำดิจิทัลอีโคโนมีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งไทยยังพึ่งพาค่อนข้างน้อย ไม่ถึง 20% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเริ่มเข้าสู่โครงข่ายเทคโนโลยี 5G มากขึ้น ทำให้ไทยสามารถผลักดันจีดีพีประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ดิจิทัลอีโคโนมีไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลังจากนี้จะมีความสำคัญมาก ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาโครงข่าย 4G และ 5G รวมถึงไทยซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่เริ่มขับเคลื่อน 5G เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ถือว่าไทยเลยขั้นแรกมาแล้ว อยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบคลาวด์ รวมถึงนำดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาใช้งาน และสุดท้ายจะนำเอไอเข้ามาใช้

“หัวเว่ยมองว่า การผลักดันให้ไทยเป็นฮับของภูมิภาคจะต้องมีความร่วมมือกันสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม การสร้างมาตรฐาน การสร้างอุตสาหกรรมและดึงเทคโนโลยีไปใช้ การสร้างบุคลากร การสร้างความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ เฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของทั่วโลกในปัจจุบัน”

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บจก.หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ดิจิทัลอีโคซิสเต็มยกระดับศักยภาพไทยสู่ศูนย์กลางภูมิภาค”
ผู้สนใจร่วมฟังการบรรยายแน่นห้องประชุม

‘ไปรษณีย์ไทย’ อาสาตัวกลางเชื่อมโลกสื่อสาร
ชี้รัฐสั่งทำ ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ทุกกระทรวง

ตัดภาพมาที่เวทีสัมมนาหัวข้อ รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีตัวแทนภาครัฐและเอกชนรวม 4 คน ร่วมแสดงทรรศนะ ดำเนินรายการโดย บัญชา ชุมชัยเวทย์ พิธีกรรายการและผู้ประกาศข่าว

เริ่มจาก 2 ตัวแทนของภาครัฐอย่าง ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่มากนัก วัดจากการส่งอีเมล์มีเพียง 15% เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ ปณท ได้เข้าเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกเก่า หรือการสื่อสารที่จับต้องได้ และโลกใหม่ หรืออิเล็กทรอนิกส์เมล์ ที่มีการยืนยันการส่งที่ชัดเจน

เขาบอกว่า เนื้อแท้ของ ปณท คือทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” เชื่อมต่อการสื่อสารทั้งแบบที่จับต้องได้ และการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน ปณท ได้ทำระบบจัดการเอกสารดิจิทัล (ทีดีเอช) ผ่านแพลตฟอร์ม “ตู้แดงแรงฤทธิ์” ด้วยการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทดแทนการจัดส่งแบบเดิม เพื่อบริการที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืนในอนาคต

“จากข้อมูลของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนกว่า 85% ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการส่งเมล์แบบอิเล็กทรอนิกส์เมล์ไม่ได้ ดังนั้น ปณท ยังต้องเป็นตัวเชื่อมในเรื่องของการสื่อสารของทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์อยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าการสื่อสารไม่ขาดตอน”

 

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ด้าน วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นของตัวเอง มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือนำมาทำให้เกิดการเชื่อมต่อกระบวนการ และทำงานได้เร็วขึ้น มองว่าการเชื่อมต่อกระบวนการเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นเครื่องมือจะทำให้เกิดรายได้มหาศาลในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยอุตสาหกรรมอวกาศจะต้องขยายเพิ่มเติม นอกเหนือจากดาวเทียม แต่หมายถึงดาวเทียมระดับล่าง ที่ทำเรื่องวิเคราะห์และวิจัย เพื่อจัดเก็บข้อมูลได้ ในส่วนข้อมูล (ดาต้า) ซึ่งข้อมูลของภาครัฐมีความสำคัญมากที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทุกกระทรวงต้องจัดทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงจัดประเภทข้อมูล เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้

วรรณพรบอกอีกว่า ข้อมูลทั้งหมดต้องถูกจัดกลุ่มว่าสามารถเปิดเผยได้ หรือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งจะต้องแยกอีกว่าเป็นความลับขั้นใด เพื่อให้จัดกลุ่มข้อมูล และใช้งานร่วมกันได้ แต่การจัดเก็บข้อมูลจะต้องมีความปลอดภัยสูงที่สุด เพื่อนำไปสู่การทำศูนย์ข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) ขณะนี้มีต่างชาติหลายประเทศที่ต้องการเข้ามาทำดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย

“การจะทำอย่างนั้นได้ ต้องย้อนกลับไปที่คนว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้หรือไม่ เพราะหากมีเทคโนโลยี มีข้อมูลแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง ปัญหาของภาครัฐคือ ระยะเริ่มต้นต้องหาวิธีในการทำให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดใช้งานร่วมกันได้ให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้แหล่งการเก็บข้อมูลกลายเป็นสุสานข้อมูลในอนาคต”

“มติชน” จัดสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนร่วมบรรยายให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) โดยมี ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการมติชน และวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการมติชน ให้การต้อนรับ

เอกชนพร้อมหนุน กระตุ้นรัฐเร่งพัฒนา

สำหรับภาคเอกชนเอง มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea Group (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการการีน่า (Garena) แอร์เพย์ (Airpay) และช้อปปี้ (Shopee) มีมุมมองคล้ายกับรองประธานสภาดิจิทัลคือ เศรษฐกิจดิจิทัลอยู่กับเรามานานมากแล้ว ทว่าอาจไม่ได้มีความเข้าใจดีเท่าที่ควร กระทั่งการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ

มณีรัตน์เชื่อว่า หลายประเทศเห็นตรงกัน อาจแตกต่างในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และเทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนและผลักดันของรัฐบาล ตลอดจนจุดขายและจุดเด่นของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและท่องเที่ยว ทำให้ต้องมองว่าต้องหาวิธีในการนำเทคโนโลยีเข้ามาผูกกับอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์ในแง่ของภาพรวม

“การจะไปให้ถึงดิจิทัลเนชั่นได้ มีความท้าทายอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การหาวิธีทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเท่าเทียมกันในทุกบุคคล และ 2.การหาวิธีทำให้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด มองว่ากลุ่มคนต้องการเห็นความท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงระบบการศึกษาและตัวบุคคล ที่ต้องร่วมมือกันในการหาวิธี ทำให้ความท้าทายเหล่านี้กลายเป็นจริงให้ได้”

 

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

ปิดท้ายด้วยมุมมองจาก จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จรีพรยืนยันอีก 1 เสียงว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ และปัจจุบันได้หยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทางบริษัทมองว่าเรื่องของดิจิทัลกว้างมากเพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ หากมองการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีในประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาภาคเกษตรที่ไม่สามารถทิ้งได้ โดยสินค้าเกษตรของไทยถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปได้ทั่วโลก ต้องหันกลับมาดูว่าการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้จริงหรือไม่

ด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่สามารถช่วยเหลือได้มากนักนั้น จรีพรแนะนำว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องนำดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อน และภาพใหญ่ที่รัฐต้องหันมาดูแลคือเรื่องสุขภาพ อย่าให้เป็นเพียงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้และทุกเรื่องเอกชนพร้อมประสานความร่วมมือขับเคลื่อนพร้อมกับภาครัฐทั้งสิ้น

“ในอนาคตไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนประเทศ ต้องหันกลับมามองว่าเราจะทำให้จุดแข็งเป็นจุดแข็งตลอดกาลได้อย่างไร”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงทรรศนะส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนสำคัญ เพื่อย้ำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” จำเป็นต่อการพลิกฟื้นประเทศไทยเพียงใด

จรีพร จารุกรสกุล
ผู้สนใจร่วมฟังการบรรยายแน่นห้องประชุม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image