ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ แต่มันคือชีวิต เข้าใจ ‘เจนใหม่’ ใต้เงาแห่งการแปรเปลี่ยน

ปรากฏการณ์เดินขบวนของมหา “ราษฎร” กลางกรุง ที่วางจุดยุทธศาสตร์ย่านเศรษฐกิจ รวมตัวห่มเสื้อกันฝน ยืนทน เรียกร้อง 3 จุดยืนอย่างไม่ลดละ

ก่อนฤดูฝนจะพ้นผ่าน… ท่ามกลาง ความเข้าใจเรื่องม็อบเป็นอีกอย่าง ในโมงยามที่ “แกนนำ” ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยถูกจับกุมทุกจังหวะ ในขณะที่รัฐบาลประกาศถอยคนละก้าว รับเอาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญมาผ่อนสู้ ก็ใช่ว่าจะบรรลุจุดประสงค์ของกลุ่มผู้ชุมนุม

พึงสังเกตเห็นได้จากการที่ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เยาวชน หนึ่งในกลุ่ม “ราษฎร” ที่ชี้ว่า การร่วมเวที “ถามตรงๆ กับ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์” ดีเบต กับ ส.ส.ราชบุรี พรรครัฐบาล ทำให้เห็นว่า ผู้แทนที่ไม่ได้ยึดโยง ไม่เข้าใจ “ราษฎร” อย่างแท้จริง

สะท้อนชัดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุม แถลงการณ์ และการตอบโต้ในสภา ยังมีส่วนที่ขาดหาย คือ การทำความเข้าใจม็อบในเชิงวิชาการ

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาฟังผลสำรวจการชุมนุมเบื้องต้น ผ่านเวทีเสวนา “ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ”

“ที่ออกมา ต้องการอะไรกันแน่” ? คือคำถามที่มวลชนอีกสีล้วนมีคำตอบยึดมั่นอยู่ในใจ จนไม่อาจละทิ้งแว่นเดิม และลองสวมของอีกฝ่าย เพื่อเปิดโลกทัศน์เดิมที่เคยคุ้นชิน

Advertisement

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอ “รายงานผลการสำรวจเบื้องต้นการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม 63”

เล่าประสบการณ์ที่พบเจอ จากการเก็บข้อมูล คุยกับเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี กว่า 200 คน ที่ร่วมชุมนุม จาก 8 จังหวัดทั่วประเทศ สรุปได้เบื้องต้น ว่า เป็นม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ แต่มันคือชีวิต

“มีพัฒนาการเคลื่อนไหว” ที่เห็นบนท้องถนน จนกระทั่งเดินไปถึงสถานทูตเยอรมัน ทั้งที่แกนนำถูกจับและคุกคาม หรือแม้จะชูประเด็นที่สังคมไทยคิดว่าน่าจะทำให้สูญเสียมวลชน ซึ่งอาจต้องการเพียงเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้นายกฯ ลาออก

เหตุใดขบวนการยังคงเคลื่อนไหวต่อไปได้ และขยายตัวมากขึ้น

เราเห็นอะไร จากภาพ “เหลือง-ดำ” ทั้ง 2 สี มีทางออกหรือไม่ เพื่อก้าวผ่าน วลี “วิกฤต” ที่ “อาจจะไม่ใช่วิกฤต” แต่คือการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ถูกลิดรอนไปทุกเมื่อเชื่อวัน

บ้าหลอม ของเจน ‘เกรี้ยวกราด’

อึดอัด-กดทับ สู่ ‘พลัง’ ที่ไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย

จากการคุยกับ 200 ชีวิต “ผศ.ดร.กนกรัตน์” เห็นภาพคนรุ่นนี้มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า ใน 6 มิติ มีความซับซ้อน และไม่อาจเลี่ยงจะพูดถึงเรื่อง “ช่องว่างระหว่างรุ่น”

ก่อนจะชี้ให้เห็นภาพ “เบ้าหลอม” ของคนรุ่นนี้ เริ่มจาก 1.ปัญหา ความอึดอัดทั้งหมดที่เผชิญ ทำให้คนรุ่นนี้กลายเป็น Angry Generation 2.รุ่นเกรี้ยวกราด ทั้งมุมบวกและลบ และเป็นรุ่นที่ 3.แสดงออกทุกเรื่อง แบบที่คนรุ่นก่อนหน้าไม่กล้าทำ จึงกลายเป็นรุ่นที่ 4.ถูกเบียดขับจากสังคมกระแสหลัก ถูกทำให้เป็นคนแปลกประหลาด ไม่มีค่า ไม่มีที่ยืนในสังคม ซึ่งแม้จะถูกเบียดขับ แต่มีความเป็นตัวของตัวเองมาก เชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นและจุดยืนของตัวเอง บวกกับ 5.ความสามารถ ที่เปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า จึง 6.ซับซ้อนมากขึ้น ทั้ง 3 มิติ คือ “สังคมที่ซับซ้อน” “มองโลกซับซ้อน” และ “ตัวเองที่ซับซ้อนขึ้น”

ผศ.ดร.กนกรัตน์ ยังบอกด้วยว่า ทุกคนที่สัมภาษณ์เคยมีประสบการณ์อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเหลือง-แดง ทั้งในครอบครัว สังคม และวงกว้าง ภาพที่เห็นไม่มีความจริงแท้หนึ่งเดียว แต่เป็นการปะทะกันตลอดเวลาของคนต่างสีที่มีความจริงคนละชุด ต่างหาข้อมูลสนับสนุนจุดยืนของตน

“โลกที่เขาอยู่ซับซ้อนกว่าโลกที่ “ทีวี” มีเพียง 5 ช่อง มีแต่สื่อบนกระดาษ ละครและข่าวจากวิทยุ หนังที่ดูตอนนี้ ใน “เน็ตฟลิกซ์” ประวัติศาสตร์การเมืองมีให้เปรียบเทียบทั่วโลก ทำให้มอง “การเมืองไทย” ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำอธิบาย สังคมปัจจุบันไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตพวกเขา สิ่งที่เผชิญต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า ขณะที่คุณค่ากระแสหลักที่ถูกสอนในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตใหม่

“Angry Generation ที่ตะวันตกนิยามถึง เจน Z ว่า เต็มไปด้วยความโกรธ ไม่มีความอดทน ไม่เคยมีความพอใจอะไรในสิ่งที่มีอยู่ คือภาพเชิงลบที่ถูกใช้อธิบาย แต่หากมองให้ลึกลงไป โลกทัศน์ของเขาต่อความคาดหวังในเชิง “ชีวิต” แตกต่างจากคนยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือ X Y Z โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ยุคสงครามเย็นที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น หมดไปแล้ว พวกเขาไม่เห็นอนาคต ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ได้สร้างอะไรให้ “การระเบิด” จึงไม่ได้เกิดจากการไม่มีความอดทน หรือถูกเลี้ยงแบบสปอยล์ อย่างที่ถูกคนรุ่นปู่ ย่า พ่อ แม่ อธิบายว่า เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” อ.กนกรัตน์เล่า

อีกปัจจัยสำคัญ คือ การถูกเลี้ยงในสังคมที่กระตุ้นให้ตั้งคำถามทุกเรื่อง การแสดงออก เป็นเรื่องที่คนรุ่นพ่อแม่เขาพยายามสร้าง ความรู้สึกรัก ชอบ พอใจ ไม่พอใจ ถูกแสดงออกผ่านคนรุ่นนี้มากกว่าคนรุ่นก่อน และแสดงออกถึงตัวตนอยู่ตลอดเวลา

ผลที่ตามมาทั้งหมด กลายเป็น รุ่นที่ไม่มีที่ยืนในสังคม (Alienated Generation) กลุ่มคนที่แสดงออก โกรธ ไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง ไม่เคยพอใจกับคำตอบที่ไม่มีเหตุผล จึงกลายเป็นบุคคลที่ถูกเบียดขับจากสังคม

ทว่า นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรในสังคมโลก อ.กนกรัตน์บอกว่า โลกตะวันตก ในทศวรรษที่ 1960 หรือต้นศตวรรษที่ 20 ก็มีคนรุ่นใหม่ ที่ถูกทำให้เป็นคนอื่นในสังคมประวัติศาสตร์โลก แม้แต่เด็กมหาวิทยาลัย ฮาร์เวิร์ด, เคมบริจด์

ในยุค 1960 ซึ่งเรียนเก่งและมีความสามารถในการท้าทายโครงสร้างทางการศึกษา และสังคม

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ สิ่งที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างสังคมโลก พวกเขาไม่พอใจ เพราะขาดการเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางการเมือง และครอบครัวที่พวกเขารู้จัก”

อีกปัจจัย ภายหลังแกนนำถูกจับ จะเห็นภาพการเติบโตของม็อบที่มีระเบียบ เคลื่อนไหวอย่างที่ผู้ใหญ่ตกใจ จินตนาการไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

“มีคำพูดผู้เข้าร่วมที่น่าสนใจ เขามองว่า แกนนำเป็นแค่ ‘คนแรกเริ่ม’ ที่กล้าพูดในที่สาธารณะ เป็นแค่ผู้ปราศรัยหลัก แต่ไม่ใช่ผู้นำ เขาไม่รู้จักชื่อของแกนนำส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ทำให้รู้สึกว่า จริงๆ แล้ว เขาเป็นพวกที่จัดการชุมนุมด้วยตัวเอง มากกว่าการเคลื่อนไหวแบบที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งเขารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น เมื่อแกนนำอยู่ในที่ที่ปลอดภัย การเคลื่อนไหวของเขาเกิดขึ้น และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนที่เข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น เพราะเป็นขบวนการที่เติบโต ท่ามกลางตัวตน และความเป็นปัจเจกที่มากขึ้น

เพราะเขามี ความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้

“คนยุคนี้มีความสามารถในการสรุปเนื้อหามาอยู่ในพื้นที่จำกัดได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้คนยุคก่อนหน้าเข้าใจไม่ได้ ไปจนถึงการจัดการม็อบที่ไม่มีแกนนำ

วันที่ 16 ตุลาคม ที่มีการสลายการชุมนุม มีกลุ่มแกนนำหลายคนเข้ามาที่คณะ แกนนำคนหนึ่งแบตเตอรี่โทรศัพท์หมด เขาขอยืมโทรศัพท์ดิฉันไปตัดโปสเตอร์ ซึ่งเป็นโปสเตอร์ที่ไวรัลมากบนโลกออนไลน์ จำได้ว่ายืมไปประมาณ 10 กว่านาที แล้วโปสเตอร์นั้นก็ทำเสร็จ ท่ามกลางความวุ่นวาย ตกใจมาก แค่มือถือ 1 เครื่อง ในเวลาไม่ถึง 10 นาที และเป็นโปสเตอร์อยู่ในรายการช่องหนึ่ง ที่บอก ต้องเป็นมืออาชีพทำการตลาดให้ เราต้องยกระดับการทำความเข้าใจคนรุ่นนี้จริงๆ”

“3 ทักษะ ที่มี คือ 1.การจัดการกับข้อมูล คนรุ่นนี้โตมากับข้อมูลมหาศาล ความไวของการไถทวิตเตอร์ ลองหันไปดูลูกหลาน ลองถามเรื่องยากๆ เช่น เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา ใครเป็นคนสั่งทำร้ายนักศึกษา เด็กอธิบาย 3-4 ข้อสรุป ที่มีชุดข้อมูลที่ตรงกันข้ามทั้งหมด ถามว่ารู้ได้อย่างไร บอกไถทวิตเตอร์แป๊บเดียวก็รู้แล้ว ส่วนตัวตกใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่ต้องสอนในห้องเรียนถึง 16 คาบ กว่าจะเข้าใจ

2.ทักษะในการทำสื่อ และแคมเปญการเมือง พวกเขาถูกเทรนให้เป็น “นักจัดกิจกรรมตั้งแต่มัธยม” จากกีฬาสี มีการจัดกิจกรรมหารายได้เข้าโรงเรียน ผ่านประสบการณ์จัดคอนเสิร์ต-กีฬาสี ที่ซ้อมยาวนาน 2-3 เดือน เป็นเรื่องปกติ

3.การจัดม็อบเป็นสกิลพื้นฐาน เป็นชีวิตของเขา

“ถามว่า ทำไมคนเหล่านี้ไปม็อบได้ทุกวันอย่างไม่รู้จักเหน็ดหนื่อย เด็กที่เรียน 8 คาบ แล้วยังต้องซ้อมเชียร์ต่อจนถึง 2 ทุ่มกว่า เป็นเวลา 3 เดือน เหนื่อยกว่านี้มาก

หากจะเรียกว่าม็อบ ต้องบอกว่า นี่คือการแสดงออกถึงตัวตน เพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ” อาจารย์รั้วจุฬา อธิบาย ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“เมื่อเห็นภาพการออกมาของคนรุ่นใหม่ ที่สถานทูตเยอรมัน คิดว่าคนรุ่นตนคงต้องตั้งหลัก และถามตัวเองแล้วว่า สิ่งที่เราเคยทำอยู่ จะเดินต่อไปอย่างไร”

การท้าทายสังคมไทย ท่ามกลางสายตาผู้ใหญ่ที่มองว่า ความแตกต่าง และการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่น่ากลัว

เช่นนี้แล้ว คำกล่าวที่ว่า You F*ck with Wrong Generation เห็นจะไม่ไกลความจริง

‘ออร์แกนิคม็อบ’ ผุดจาก ‘การปราบ’

หนีไม่พ้น ‘จัดสัมพันธ์เชิงอำนาจ’

ด้าน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากภาควิชาการปกครอง ผู้สอนในรายวิชา “ขบวนการทางสังคมและการเมือง” สะท้อนภาพรวมปรากฏการณ์เคลื่อนไหวออนไลน์ของ “ราษฎร” หนแรกที่เกิด “แกนนอน” และขบวนการแบบ “ออร์แกนิคม็อบ” ที่ไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบ แต่เกิดท่ามกลางการเผชิญการปราบปรามแกนนำ และ “บทบาทของสื่อ” ซึ่งคือส่วนที่นำมาสู่การเปลี่ยนฉากขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน อันเกิดจากการถูกกดทับจากโครงสร้าง ระบบการเมือง อำนาจนิยม ระบบการศึกษา ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยแบบจารีต”

ส่งผลให้ผู้คนตั้งคำถามกับสิ่งที่กดทับตัวตนบนวัฒนธรรมแบบ “สอพลอ” เพื่อหวังจะเห็นชีวิต เห็นโลกที่สอดคล้องกับตน โดยสื่อสมัยใหม่เข้ามาช่วยทำให้ผู้คนสร้างขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนเกิดชุดความคิดบางอย่างร่วมกัน คือ อยากเห็นการเมืองที่ดีกว่าเดิม ด้วยการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ในขณะที่คนรุ่นเก่าอยู่ในความกลัว

“ผู้คนมีอิสระที่จะสื่อสารแลกเปลี่ยน ทำให้ความกลัวที่จะถูกปราบ เปลี่ยนมาเป็นความโกรธ และเปลี่ยนมาเป็นความหวังร่วมกัน ความหวังที่จะมีชีวิตที่มีโลกชีวิตสำหรับคนรุ่นนี้” รศ.ดร.ประภาสย้ำ ก่อนจะกล่าวต่อว่า

“ผมไม่มีอะไรสั่งสอนพวกเด็กๆ เพราะว่าเขาไปไกลกว่าเรามาก คนรุ่นเรามีต้นทุนชีวิตเยอะ แต่อยู่ในโลกของความกลัว ระบอบประชาธิปไตยแบบจารีตนำมาสู่ปัญหามากมาย โดยที่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนไป หนีไม่พ้นที่เราจะต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ แก้รัฐธรรมนูญ จัดวางอำนาจที่ให้พออยู่กันได้ระหว่างเจเนอเรชั่น”

คนยุคใหม่ ไม่ได้อยู่ในระนาบ ‘รัฐชาติ’

หวัง ตกลง บนฐาน ‘ยุติธรรม-เท่าเทียม’

“สำหรับผม ‘ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ’ นี้ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนไม่เข้าใจว่า นี่คือม็อบในแบบฉบับคนรุ่นใหม่ เพราะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปมากจากตอนแรก เราจะเห็นว่ามีการเรียกร้องให้ประยุทธ์ออก แล้วก็มีการยุบสภา จากนั้นมีพัฒนาการทางข้อเสนอ

จากสองกลุ่มหลัก คือ ประชาชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ก็กลายเป็นผสมปนเปกันไปหมด สิ่งสำคัญคือ ม็อบนี้อาจจะก้าวข้ามในหลายๆ สิ่ง ตั้งคำถามจนหลายคนช็อก เพราะไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ จึงคิดว่าน่าจะมีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะนำเสนอในสิ่งที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้ เนื่องด้วยตกอยู่ภายใต้แนวคิดบางอย่างมายาวนาน”

คือคำกล่าว ของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ร่วมแจงลักษณะของ “ม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ” โดยมองว่า เป็นการที่เยาวชนรุ่นใหม่นำสิ่งที่พวกเขาถูกกดทับมาตลอดชีวิต และการที่จะต้องหลบซ่อนความเห็นทางการเมืองขณะใช้ชีวิตภายใต้รั้วมหาวิทยาลัย หยิบมาแสดงออก นำสิ่งที่เรียนรู้ เช่น การรับน้อง การร้องเชียร์ มาสร้างสรรค์ในม็อบ จนผู้ใหญ่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ

“ที่น่าสนใจอีกประการ คือ การยึดโยงกับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงในลักษณะมีเบื้องหลัง แต่เชื่อมโยงในลักษณะประเด็นต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่มอง ไม่ได้อยู่ในระนาบ “รัฐชาติแบบเดิม” เขาอยู่ในโลกเสมือน พอๆ กับอยู่ในโลกจริง ซึ่งไม่ได้ปิดกั้น จนกลายเป็นพื้นที่ความจริง พื้นที่ทดลองที่พวกเขานำมาแสดงออก ผู้ใหญ่หลายคนที่เห็นว่าม็อบจะต้องอยู่ในกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ ก็จะไม่สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ของเจเนอเรชั่นใหม่ได้”

เนติวิทย์ มองว่า สิ่งหนึ่งที่สังคมกำลังเผชิญหน้าอยู่ คือ สิ่งที่ม็อบท้าทายสิ่งที่มีอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งความจริงมีกระบวนการนี้มานานพอสมควร มีคนที่ต่อสู้ในยุคก่อนหน้านี้จำนวนมาก มีเรื่องราวต่างๆ เล่าออกมา ความไม่พอใจทางสังคม อยุติธรรมทางกระบวนการที่มีตลอดเวลา ทำให้เกิดความไม่พอใจ เมื่อเข้าสู่ช่วง โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของสังคม เยาวชนและใครหลายคนเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น พูดคุยกัน จนเป็นกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจความทุกข์ของคนในสังคม จึงต้องการ “เปลี่ยน” เกิดการประท้วงที่สามารถลุกฮือแบบแทบไม่มีวันหยุดนิ่งได้ ซึ่งสิ่งที่ชนชั้นนำตอบโต้ยังเป็นการเล่นละครแบบเดิมอยู่ นี่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่และคนจำนวนมากที่รู้สึกไม่พอใจ

คือวิกฤตเราจะต้องเผชิญ คือ สิ่งที่สังคมเราจะเป็นจนกว่าจะได้ข้อตกลงร่วมกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

หวังว่าเราจะมีข้อตกลงร่วมกันใหม่อีกครั้ง ในสังคมที่อยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม ความเท่าเทียม เนติวิทย์ ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image