‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการ สมัยรัชกาลที่ 5

เวลา สิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เราเห็นการเคลื่อนตัวของเวลาได้จากนาฬิกา, ปฏิทิน, ฤดู ฯลฯ ที่สำคัญคือเวลาเป็นของมีค่ามีความหมาย จนมีคำพูดติดปากว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

ตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเวลาที่น่าสนใจ คือ ” ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5″ ชื่อบทความจากผลงานการค้นคว้าและเรียบเรียงของ วิภัส เลิศรัตนรังษี เขียนไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563

วิภัส เลิศรัตนรังษี เล่าที่มาของการใช้ “เวลาใหม่” ว่าเกิดจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาค โดยเฉพาะกรณีของอังวะที่กำลังจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 2427 ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าควรมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยในปี 2430 โปรดให้ยกเลิกระบบราชการแบบจตุสดมภ์ เปลี่ยนมาใช้ระบบราชการแบบใหม่แทน

สิ่งสำคัญหนึ่งในการสร้างระบบราชการในรัชกาลที่ 5 ก็คือ การใช้ “เวลาแบบใหม่” ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันแรม 14 ค่ำเดือน 4 พ.ศ.2432 มีสาระสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ

Advertisement
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (2401-2466)

1.ยกเลิกการใช้ปฏิทินจันทรคติในระบบราชการ ให้ใช้ปฏิทินสุริยคติระบบเกรกอเรียน (ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการสร้างขึ้น) แทน

2.ให้เรียกชื่อวันเดือนอย่างใหม่ที่บัญญัติขึ้นตามราศีของเดือนนั้น

3.กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5

Advertisement

การฝึกใช้ปฏิทินใหม่ของเจ้าพนักงานเมืองโกสุมพิสัยราวทศวรรษ 2440

4.กำหนดให้ใช้ศักราชใหม่ที่เรียกว่า “รัตนโกสินทรศก” (ร.ศ.) โดยนับจากปีที่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นปีที่ 1

ก่อนหน้านั้นการใช้ปฏิทินของชาติเป็นอย่างไร

“เทวะประติทิน พระพุทธศักราช 2462” สร้างตามปฏิทินปรับเทียบของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

สมัยรัชกาลที่ 3 มีการใช้ “ปฏิทินจีน” สำหรับดูวันเดือนเพื่อบอกฤดูลมข้างจีน ในการเคลื่อนกองทัพเรือจากกรุงเทพฯ ไปสงขลา, กรมมหาดไทย ใช้ “ปฏิทินเหนือ” สำหรับแปลงเวลาจากหัวเมืองล้านนาและล้านช้าง ขณะที่กรมพระกลาโหมก็ใช้ “ปฏิทินแขก” ด้วยเหตุผลเดียวกัน

สมัยรัชกาลที่ 4 มีการทดลองใช้ปฏิทินเกรกอเรียนที่แบ่งเดือนอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนที่ว่า “ปลายเดือนก็ไม่ได้กับวันดับ กลางเดือนก็ไม่ได้กับวันเพ็ญ”

หรือต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังใช้ปฏิทินจันทรคติ และมีการทำ “สมุดปฏิทิน” ที่กฎหมายเรียกว่า “ปฏิทิน สำหรับจดบาญชีตรางเดือนกำหนดเงิน ให้ทราบว่าจะต้องใช้ในการข้างน่า มีความว่าวันนั้นจะต้องใช้เงินให้แก่ผู้นั้นเท่านั้น”

การเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียนนั้น มีการเตรียมการมากกว่า 10 ปี

ผู้นำคนสำคัญที่ดำเนินการเรื่องนี้ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ที่มีผลงานเกี่ยวกับปฏิทินมาตั้งแต่พระชันษา 18 ปี พระองค์ทรงสร้างปฏิทินเทียบวันเดือนอย่างไทยและ “วันฝรั่งอย่างนิวสะไตล์” (ระบบเกรกอเรียน) ลงในหนังสือมิวเซียม, ทรงทำตารางเทียบปฏิทินไทยและยุโรปสำหรับใช้จดพระราชกิจรายวัน ฯลฯ

ตารางปรับเทียบปฏิทินร้อยปีที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ สร้งาขึ้นใมนปี พ.ศ.1425

ปี 2432 เมื่อมีการประกาศการเปลี่ยนปฏิทินอย่างเป็นทางการ ปฏิทินใหม่ก็ถูกนำไปใช้งานจริงในทันที หลังจากประกาศใช้ปฏิทินใหม่ไปแล้วครึ่งปี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ก็ตีพิมพ์คำอธิบายการใช้ปฏิทินดังกล่าวลงในหนังสือ “ประติทินบัตร แล จดหมายเหตุ” โดยใช้คำอธิบายที่เข้าใจง่ายกว่าที่เคยมีการตีพิมพ์ในที่ใดๆ มาก่อน เพราะพระองค์ทรงต้องการจะเผยแพร่ให้ราษฎรนอกพระนครได้รับทราบภายหลังมีการเรียกปฏิทินใหม่นี้อย่างลำลองว่า “เทวะประติทิน” ตามพระนามของผู้สร้าง ส่วนตามหัวเมืองการเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินใหม่ใช้เวลาถึง 1 ปีเต็มจึงจะเปลี่ยนได้ทั่วถึง

“เทวะประติทิน พระพุทธศักราช 2462” สร้างตามปฏิทินปรับเทียบของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ผลจากการเปลี่ยนตามประกาศ “ให้ใช้วันอย่างใหม่” มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 4 ข้อ คือ

1.ทำให้ระบบราชการอยู่ร่วมเวลาเดียวกัน หัวเมืองประเทศราชที่เคยใช้ปฏิทินของตัวเองก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินของกรุงเทพฯ

2.ทำให้สยามอยู่ร่วมเวลาเดียวกับชาติอื่นในยุโรปเพราะใช้ระบบเกรกอเรียนเป็นพื้นฐานเหมือนกัน

3.แก้ปัญหาการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของรัฐบาล โดยแยกการสะสางภาษีและบัญชีตามปฏิทินเก่าออกไปจาก พ.รบ.วิธีงบประมาณแผ่นดินฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้ในปีต่อมา

4.แยกเวลาของรัฐออกจากสังคม เพราะปฏิทินใหม่จะบังคับใช้เฉพาะระบบราชการเท่านั้น ไม่ครอบคลุมเรื่องศาสนเช่นปฏิทินเก่า

ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากปฏิทินที่ใช้ในการดูวันจ่ายเงินเดือนและเขียนในหนังสือราชการแล้ว รัฐบาลยังนำเวลาจาก “นาฬิกากล” มากำกับการทำงานด้วย

โดยในปี 2435 รัฐบาลกำหนดเวลาทำงานวันละ 6 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ (วันเสาร์ทำงานครึ่งวัน) แต่การกำหนดเวลาเปิด-ปิดนั้นเป็นเรื่องภายในของแต่ละกระทรวง ภายหลังมีการเสนอให้กำหนดเวลาให้ทุกกระทรวงใช้เวลาเดียวกันคือ 11.00-17.00 น. และเปลี่ยนเป็น 10.00-16.00 น. ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะ 17.00 น.ต้องฝึกซ้อมเสือป่า

หากไม่นานนักหลายกระทรวงก็ได้ยกเลิกการบันทึกชั่วโมงทำงานของข้าราชการระดับสูงอย่างหลายตำแหน่ง เช่น เสนาบดี, ปลัดทูลฉลอง, อธิบดีกรม และเจ้ากรม คงบังคับใช้เพียงข้าราชการชั้นผู้น้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ยังกำหนด “วันหยุดใหม่” เป็นทุก “วันอาทิตย์” จากเดิมที่หยุด “วันพระ” โดยเริ่มใช้ปี 2441

วันพระที่มีความสำคัญกว่าวันอื่นๆ ในความรู้สึกของคนไทยมายาวนาน สมัยรัชกาลที่ 4 กรมนากำหนดให้ขุนนางที่ต้องออกไปประเมินที่นาต้องสาบานตัวในวันพระ แต่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนวันอาทิตย์เป็นวันหยุด เห็นจะเป็น “ผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรม” ที่รู้สึกไม่สบายใจที่บางครั้งต้องตัดสินลงโทษผู้ต้องหาในวันพระ

เรื่องราวของเวลาใหม่ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนของ “เวลาใหม่” ที่เกิดขึ้นและผลกระทบ ทั้งหมดที่มีการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ขอได้โปรดติดตามอ่านในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่าช้าเพราะเวลาและวารีไม่ยินดีจะคอยใคร

ประกาศสงกรานต์ที่ประตูพระบรมมหาราชวัง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image