การเมืองเรื่อง(คน)บันเทิง จากท่อน้ำเลี้ยงถึงผู้ร่วมอุดมการณ์‘ราษฎร’

“อยากเป็น ส.ส. พูดตรงๆ ว่าเป็นความคิดของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง”

ไม่ใช่คำกล่าวของคนในแวดวงการเมืองในความหมายเดิม แต่เป็นคำกล่าวของคนรุ่นใหม่กับนิยามของคำว่าการเมืองในความรู้สึกใหม่ของสังคมไทยที่การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวชวนปวดหัวอีกต่อไป

โฟกัส จีระกุล คือเจ้าของคำกล่าวข้างต้น สื่อสารผ่านรายการ “ประชาชนทอล์ก” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเลือกข้างประชาธิปไตย เช่นเดียวกับคนในแวดวงบันเทิงอีกหลายรายที่ออกมาคัดค้านการใช้ความรุนแรงนับแต่การฉีดน้ำสลายชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 สิงหาคมเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นเหล่า BNK48 ที่ถูกยกเป็นไอดอลประชาธิปไตย จนมีหนุ่มแฟนคลับอัดภาพถ่ายไปแจกกลางม็อบต่างๆ, น้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์ นางงามที่เข้าไปตอบคอมเมนต์ด้วยการตั้งคำถามถึงกฎหมายไทย, รุ่นใหญ่อย่าง ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดีที่โพสต์ด้วยภาษาอังกฤษในความหมายว่า ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ, เก้า สุภัสสรา, ไมค์ พิรัชต์ คุณพ่อน้องแม็กซ์เวลล์, เจี๊ยบ วรรธนา, ขนมจีน กุลมาศ และอีกหลายต่อหลายราย ไม่เว้นแม้แต่ แตงโม นิดา ที่เคยขึ้นเวที กปปส. ยังไม่นับอีก 1 อดีต กปปส.เช่นกันอย่าง สุกัญญา มิเกล ที่เดินทางไปร่วมชุมนุมกับเหล่า “ราษฎร” อย่างเปิดเผย ส่วน วรรณสิงห์-มารีญา ชัดเจนในท่าทีตั้งแต่มีแฟลชม็อบใหม่ๆ

Advertisement

และในเมื่อประชาธิปไตยคือสิ่งที่โลกยอมรับ จึงไม่ได้มีเพียงศิลปินไทยเท่านั้น แต่ศิลปินต่างชาติก็มีส่วนร่วม อาทิ เจย์ ปาร์ค ศิลปินชาวเกาหลีและ CEO ค่าย AOMG รวมไปถึง “แฟนด้อม” หรือกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี จีน ญี่ปุ่น และไทย ที่พร้อมในระดมทุนช่วยม็อบได้หลักล้านบาท อาทิ อาร์มี่ (แฟนคลับ BTS) 173k โซแอล (แฟนคลับ EXO) 300k อากาเซ่ (แฟนคลับ GOT7) 166k โซวอน (แฟนคลับ Girls Generation) 442k ป๋อจ้าน (แฟนคลับ อี้ป๋อ+เซียวจ้าน) 227k วนบ (แฟนคลับ WANNAONE) 55k เป็นต้น

ภาพติ่งไร้สาระคงต้องถูกมองเสียใหม่ ส่วน “ทราย เจริญปุระ” แม่ยกแห่งชาติ ที่ส่งทั้งหม้อข้าว หม้อแกง และรถห้องน้ำ รวมถึง แอมมี่ เดอะ บอททอมบลูส์ ที่ขึ้นเวทีและร่วมม็อบจนต้องเข้าเรือนจำคงไม่ต้องกล่าวซ้ำถึงความแน่วแน่ในจุดยืน

Advertisement

ด้านนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ต่างผลัดกันปราศรัยในม็อบที่จัดขึ้นแทบไม่เว้นวัน เน้นถึงการเมืองที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์

การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของแค่ผู้ที่ต้องมาบริหารประเทศ แต่เป็นเรื่องของประชาชนผู้มีฐานะเป็นเจ้าของประเทศซึ่งมีทั้งสิทธิ หน้าที่

ทุกๆ อย่างที่อยู่รอบตัวล้วนเป็นเรื่องการเมือง แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย

ทำไมวันนี้รถติด ทำไมฟุตปาธไม่เท่ากัน ฝนตกทำไมน้ำต้องท่วมทุกทีที่ฝนตกหนัก

#whatshappeninginThailand และ #วันนี้ดาราCallOutหรือยัง เป็นแฮชแท็กที่สะท้อนความเป็นไปในสังคมการเมืองจนถึงมุมมองของคนไทยต่อคนบันเทิง

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้าน ยังมี อุ๊ หฤทัย อดีตนักร้องดังที่เคยหันเหสู่แวดวงการเมือง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อดีตพระเอกดังที่สร้างชื่ออีกครั้งในวงการกู้ภัย รวมถึงดาราอีกหลายรายที่ชัดเจนในอุดมการณ์ที่แตกต่าง

นี่คือวันที่เส้นแบ่งระหว่างข่าวการเมืองและข่าวบันเทิงทับซ้อน พร่าเลือนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หากไม่นับครั้งชุมนุม กปปส.ที่ดารามากมายออกมาเป่านกหวีดเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้มีความแตกต่างอย่างสำคัญในหลากหลายประเด็น

จาก กปปส.ถึงม็อบราษฎร

บทบาทคนบันเทิงในความเหมือนที่แตกต่าง

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มีมุมมองต่อบรรยากาศในเวลานี้ที่เหล่าดารา เซเลบ เน็ตไอดอล ที่ออกมาแสดงจุดยืนประชาธิปไตย โดยเฉพาะในประเด็นต่อต้านการจัดการกับผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงว่า ประเด็นนี้ต้องยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะการที่บรรดาเยาวชนทั้งหลายออกมาชุมนุมกัน มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอาวุธใดๆ ไม่ได้ทำลายข้าวของ ไม่ได้มีลักษณะของการใช้ความรุนแรงใดๆ

ถามว่าปรากฏการณ์คนบันเทิงในม็อบราษฎร พ.ศ.2563 กับคนบันเทิงในม็อบนกหวีด ปลายปี 2556-กลางปี 2557 มีความเหมือนและต่างกันอย่างไร

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส

“ถ้าเปรียบกันกลุ่มที่มาชุมนุมร่วมกับ กปปส.ค่อนข้างจะเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็มีลักษณะของข้อเรียกร้องที่แตกต่างจากกลุ่มเยาวชนเหล่านี้โดยสิ้นเชิง โดยลักษณะของคนที่มาชุมนุมเรียกร้องเป็นคนละวัยกัน เป้าหมายของการเรียกร้องอาจจะใกล้เคียงกัน แต่โดยลักษณะของกลุ่มที่เป็นเยาวชนมีหลักการที่ชัดเจนกว่า ว่าเขาเรียกร้องต้องการอะไร แล้วก็สมเหตุสมผล ซึ่งตรงนี้ทำให้ลักษณะของม็อบจะถูกต้องแตกต่างออกไปในสายตาของประชาชน

ตอนนั้นม็อบของ กปปส.คือต้องการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะที่กลุ่มเยาวชนที่ออกมาในครั้งนี้เขาต้องการให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แต่ชัดเจนตรงที่ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างไรบ้าง แล้วเขาต้องการที่จะเปลี่ยนกติกาก็คือการแก้รัฐธรรมนูญ มีการยืนยันในหลักการที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น ตอนที่เยาวชนออกมาชุมนุมมันจึงมีผู้ที่ให้การสนับสนุน ทั้งการสนับสนุนอย่างชัดเจน แสดงออกสื่อสารออกมา แล้วก็สนับสนุนโดยทางจิตวิญญาณก็คือเอาใจช่วยก็มี ซึ่งค่อนข้างจะเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มเยาวชนที่ออกมามีความชอบธรรม แล้วหลายคนก็พยายามออกมาเซฟเยาวชนเหล่านี้ โดยประกาศตัวว่าอย่าใช้ความรุนแรงกับเขานะ เขายังเด็ก เขาเป็นเด็กแต่เขามีข้อเสนอที่ดีที่เราควรรับฟัง

มุมมองต่อม็อบจึงต่างจากกลุ่ม กปปส.อย่างสิ้นเชิง แม้ว่าข้อเสนอบางข้ออย่างการขับไล่รัฐบาลอาจจะคล้ายคลึงกัน แต่ว่าด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกัน ความชัดเจนในเชิงของความต้องการในการแก้ไขกติกาทำให้คนจำนวนมากที่มองเห็นสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ค่อยจะเป็นไปในทิศทางของความเป็นประชาธิปไตยก็เห็นด้วย และสนับสนุนกลุ่มเยาวชนเหล่านี้”

คือความเห็นโดยละเอียดของ รศ.ดร.นันทนา

คนสาธารณะกับ‘ปริมณฑลทางการเมือง’

 

ส่วนประเด็นที่มี “ทัวร์ลง” หรือเรียกร้องให้คนดังออกมา Call out แสดงจุดยืน ซึ่งมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย แม้แต่ฝ่ายหนุนประชาธิปไตยด้วยกันเองก็ยังมองต่าง บ้างก็ว่า การเป็นคนของประชาชนควรออกมาแสดงตัวเพื่อประชาชน บ้างก็ว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่หนุนการนำทัวร์ไปลง เช่น Hockhacker วง R.A.D. หรือนางแบบชื่อดัง ติช่า กันติชา ชุมมะ ซึ่งให้สัมภาษณ์เปิดใจว่า เหตุผลที่ไม่ออกมา Call out เพราะเป็นเรื่องที่ตนเองไม่มีความรู้ 100%

ตรงนี้ รศ.ดร.นันทนามองว่า ด้านหนึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ที่บรรดาเหล่าเซเลบ นักแสดงจะกล้าเข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางการเมืองเขาต้องยอมรับผลบางอย่างที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่แสดงตัวตนว่าอยู่ข้างไหนก็จะเป็นที่รักของคนทุกฝ่าย แต่ถ้าก้าวข้ามเส้นตรงนั้นออกมาก็ต้องยอมรับผลว่า มีฝ่ายหนึ่งที่จะชอบ แล้วก็มีบางฝ่ายที่จะไม่ชอบ

“ถ้าเขามีจุดยืนอุดมการณ์ที่ชัดเจนเขาก็ออกมาได้ และเขาก็ยอมรับผลอันนั้น แต่ถ้าเผื่อเขาเองยังคิดว่าอาชีพของเขามันต้องการเป็นที่รักมากกว่าเป็นที่แสดงอุดมการณ์ทางการเมือง เขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาแสดงจุดยืนตรงนั้น ดารานักแสดงบางคนที่ออกมา call out เขาเรียกว่าออกตัวแรงก็จะเจอผลกระทบแรง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เขาต้องยอมรับสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ถ้ายังไม่พร้อมที่จะยอมรับตรงนั้นก็อาจจะ
ต้องอยู่เฉยๆ ไม่ออกมาแสดงตัว เพราะว่าถ้าก้าวข้ามตรงนั้นมา มันมีคนที่สนับสนุนแน่ๆ มีคนที่รักมากๆ และในขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่ชอบอยู่ด้วย ซึ่งคนที่เป็นดารา เซเลบทั้งหลายเขาคงไม่อยากที่จะถูกคนเกลียด

ตรงนี้คิดว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะออกมาแสดงตัวหรือไม่แสดงตัว แต่ถ้ามีความมั่นใจและเชื่อในอุดมการณ์ของตัวเอง การที่ออกมาก็มีความชัดเจนแล้วทำให้ผู้สนับสนุนในแนวทางนั้นๆ ยิ่งสนับสนุนมากขึ้น ตรงนี้ก็ต้องบอกว่ามีสองด้านสำหรับการที่ออกมา Call out ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้ายอมรับได้ก็ออกมา

อย่างไรก็ตาม ความเห็นข้างต้น รศ.ดร.นันทนาบอกว่า เว้นแต่ในบางกรณี เช่น ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ดารา นักแสดง แต่ยังมีตำแหน่งคือเป็นทูตของ UNHCR

“คุณปูเป็นทูตของ UNHCR แล้วคุณปูไม่ออกมา Call out อันนี้น่าจะไม่ใช่ ถ้าคุณปูยังเป็นเซเลบ เป็นดาราธรรมดาไม่ออกมา Call out ไม่เป็นไร แต่คุณปูเป็นทูตสันถวไมตรีของ UN การที่ไม่ออกมา Call out ในเรื่องของการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อเยาวชน อันนี้จะบอกว่าไม่เกี่ยวไม่ได้ เพราะเขามีสถานะอยู่ตรงที่เป็นตัวแทนของสหประชาชาติในการที่จะมาทำให้โลกนั้นมีสันติภาพ คนที่มีสถานะแบบนี้ต้องออกมา แต่ถ้าเป็นดารานักแสดงทั่วๆ ไปก็แล้วแต่เขาที่เขาจะออกมาหรือไม่ออกมา”

อย่าตีตรา #ลูกชุบ เหรียญสองด้านในสถานการณ์ขัดแย้ง

อีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนบันเทิงจนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #ลูกชุบ นั่นคือดาราบางคนที่เคยร่วมม็อบ กปปส. หรือเชียร์รัฐบาลอย่างชัดเจน แต่เมื่อเทรนด์แฟลชม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยมาแรงก็เปลี่ยนข้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางส่วนมองว่าเป็นเรื่องดีที่รู้ถึงความผิดพลาดในอดีต ในขณะที่บางส่วนตั้งคำถามว่าเป็นเพียงการเซฟตัวเองมากกว่าเซฟประชาธิปไตย

รศ.ดร.นันทนาบอกว่า เรื่องนี้แล้วแต่คนมอง

“เราไม่อาจจะไปจำกัดความได้ว่า มันเป็นสิ่งที่เขาทำเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง หรือการสร้างชื่อเสียงของเขา การเกาะกระแสของเขา คนที่เป็นดาราคนมีชื่อเสียงทำอะไรมันมีสองด้านอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์ของความขัดแย้งในขณะนี้ต้องมีสองด้าน ต้องชั่งน้ำหนัก

ดูอย่างคนที่เขามั่นใจแล้วเขาทำไปเลย อย่าง คุณทราย เจริญปุระ แน่นอน ก็มีสรรเสริญเยินยอ แล้วก็มีคนที่ออกมาด่าทอ แต่ก็ยืนยันในอุดมการณ์ อันนี้ชัดเจน แต่เขาก็ก้าวข้ามความเป็นดาราเข้าสู่อุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่คนจะมองเขาแตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับว่าดารานักแสดง เซเลบคนไหนที่อยากจะก้าวข้ามตรงนี้ออกไป อย่าง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่ออกมาแสดงจุดยืนอยู่ข้างอีกฝั่ง ฝั่งนั้นก็สรรเสริญ อีกฝั่งก็รู้สึกผิดหวังกับที่ชื่นชอบเพราะช่วยเหลือคนมา แล้วก็นักร้องที่ไปอยู่กับพวกเด็กอย่าง แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ ก็ทางนู้นก็รักมาก อีกฝ่ายก็เกลียดมาก มันก็มีสองด้าน ถ้าเขาสามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งตรงนี้ไปแล้ว ด้วยความมั่นใจและอุดมการณ์ชัดเจน

ฉะนั้น คนก็จะมองบทบาทเขาเป็นอีกอย่างหนึ่ง มากกว่าการเป็นดารา นักแสดง เซเลบ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image