ศึกชิงทำเนียบขาว 2020 ในสายตา วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ ‘มีอะไรอีกมากที่อาจเกิดขึ้น’

ผ่านไปอย่างดุเดือด สำหรับ การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2020 ที่หนนี้ชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมากสุดในรอบกว่าศตวรรษ ก่อนจะจดจ่อรอลุ้นผลหลังลงคะแนนวันสุดท้าย เมื่อ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐ

ขมวดคิ้วต่อเนื่อง กับคะแนนที่สูสีมากสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการนับคะแนนา

ไม่เพียงชาวดินแดนเสรีที่ติดตามผลแบบเรียลไทม์ ทว่า ฟากฝั่งเอเชีย หรือแม้แต่ไทย ก็ตั้งตาฟังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น แม้จะด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันก็ตาม

ในกรณีของไทยนั้น สหรัฐอเมริกา ไม่เพียงเป็น “แม่แบบ” ด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น สหรัฐอเมริกายังเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าออกของไทย โดย “ไทย” ส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 ในขณะที่ไทยยังเป็นประเทศที่นักธุรกิจอเมริกันเดินทางมาลงทุนอันดับต้นๆ ของสหรัฐ เมื่อสกุลเงินดอลลาร์ในกระเป๋าสำรองของไทยก็มีไม่น้อย ทั้งยังมีเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษี เหล่านี้้คือเหตุผลของ “โลกการค้า” ที่รัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลต่อนานาชาติ ผ่านทางนโยบายจากท่านผู้นำ ที่อาจเป็นคนใหม่

Advertisement

“เรายังคงรู้สึกดีมากและไม่มีข้อสงสัยว่าเมื่อการนับคะแนนแล้วเสร็จวุฒิสมาชิกแฮริสและผม จะประกาศชัยชนะ”

คือคำประกาศชัยอันหนักแน่น ของ “โจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดี ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งครั้งนี้ ในนาม “พรรคเดโมแครต” ที่ให้คำมั่น เยียวยาบาดแผลจากการแบ่งแยกภายในตลอดการครองอำนาจของ โดนัลด์ ทรัมป์ และยันว่า บัตรลงคะแนนทุกใบต้องถูกนับ

ขณะที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ทวีตข้อความ ประกาศชัยล่วงหน้า พร้อมขู่ว่าจะให้ศาลสูงเข้ามาแทรกแซงและยุติการนับคะแนนที่เหลืออยู่ เพราะหากมีการนับบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เขามั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งอย่างง่ายดาย แต่หากมีการนับคะแนนผิดแปลกไป นั่นคือการพยายามจะ ?ขโมย”

Advertisement

ก่อนจะแนบท้ายด้วยความเห็น “มีการทุจริตฉ้อโกงอย่างมโหฬารในการเลือกตั้งทางไปรษณีย์” ซึ่งล่าสุด 6 พฤศจิกายน มีแนวโน้มชัดเจนมากแล้วว่า “ไบเดน” จะชนะศึกครั้งนี้

ทว่า นี่ยังไม่ใช่จุดจบ.. เมื่อส่อเค้าว่าจะเกิดความวุ่นวาย จากการระดมมวลชน ฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐ ที่สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งการดำเนินการทางด้านกฎหมายเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งครั้งนี้

“หากทรัมป์แพ้ เขาก็อาจจะทำอะไรหลายๆ อย่างที่ดูเหมือนผิดกฎหมายได้ ถามว่าทำไม จึงกล้าทำ กลับไปที่ว่าเขายังเป็นประธานาธิบดี จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม ในช่วงนี้เขาคือผู้มีอำนาจสูงสุด แม้ว่า โจ ไบเดน จะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนก็ตาม เขาอาจจะกำหนดให้ทำอะไรที่ดูแล้วผิดกฎหมาย เหมือนกับว่าต้องโดนฟ้องแน่ๆ ทรัมป์จะกล้า เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานาธิบดี ที่จะให้อภัยโทษได้ (Pardon Power) หากเขาทำอะไรผิดกฎหมาย เขารู้ตัวว่าจะโดนฟ้อง หลังเป็นประธานาธิบดี เขาก็จะให้อภัยโทษแก่ตัวเองก่อนการลงจากตำแหน่ง นั่นหมายความว่า จะรอดพ้นจากการกระทำความผิดทั้งหลายไปได้โดยไม่ต้องติดคุก อำนาจอภัยโทษนี้ ประธานาธิบดีมอบให้แก่ใครก็ได้ในประเทศ ซึ่งยังไม่เคยมีใครให้อภัยโทษตัวเอง แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ คงทำได้ (หัวเราะ) ฉะนั้น ที่ว่าทรัมป์จะติดคุก ผมไม่แน่ใจ”

คือคำคาดการณ์ของ ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ที่ย้อนไปก่อนหน้านี้ ได้ร่วม “เจาะลึก โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง สหรัฐ 2020” กับ มติชนสุดสัปดาห์

ในสภาวะที่น่าจับตาว่า จะมีกลวิเศษหรืออะไรพิลึกพิลั่นขึ้นอีกหรือไม่ ?

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์

กระบวนการเลือกตั้งในสหรัฐเป็นอย่างไร มีการเลือกตั้งกี่แบบ แบบไหนที่สำคัญ และเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกด้วยเหตุอะไร ?

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ มีทุก 4 ปี วิธีการเลือกตั้งประหลาดกว่าใครในโลก ดูเหมือนเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เพราะเป็นการเลือกตั้ง “คณะผู้เลือกตั้ง” ไม่ได้เลือกตั้งประธานาธิบดี ความหมายคือ เมื่อประชาชนลงคะแนน คะแนนเหล่านั้นจะลงให้กับคณะเลือกตั้ง แต่บางครั้งจะใช้ชื่อผู้สมัครคนนั้นๆ โดยวัดที่เสียงข้างมาก สมมุติว่ามีผู้เลือกตั้ง 5 ล้านคน ใครได้เกิน 2.5 ล้านคน จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งคณะนี้มีจำนวนเท่ากับ ส.ส. และ ส.ว.ของรัฐนั้นๆ

การเลือกตั้งอเมริกา ไม่ใช่การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นการเลือกตั้งของ 50 รัฐ กล่าวคือ คนต้องมาลงคะแนน ทั้ง 50 รัฐ ซึ่งความจริงมี 51 ด้วยซ้ำ เพราะมีโคลัมเบีย เทียบกับรัฐขนาดเล็ก

วันที่ 3 พฤศจิกายน คือวันลงคะแนนให้คณะผู้เลือกตั้ง แต่คนรู้แล้วว่า เมื่อลงคะแนน คณะผู้เลือกตั้งของใครได้มาก ก็หมายความว่าคนที่เป็นตัวแทนคณะเลือกตั้งนั้นจะชนะแน่ๆ แต่ผลยังไม่เป็นทางการ วันที่เป็นทางการ หลังจากนั้น 41 วัน คือ 14 ธันวาคม คณะผู้เลือกตั้งที่รับเลือกเมื่อวันที่ 3 จะไปประชุมพร้อมกันที่เมืองหลวง ทั้ง 50 รัฐ ซึ่งจะลงคะแนนใส่ซองลับ โดยหลักแล้ว เมื่อเป็นคณะเลือกตั้งของทรัมป์ ก็จะเลือกทรัมป์ ของ โจ ไบเดน ก็จะเลือก โจ ไบเดน แต่กฎหมายบางรัฐไม่บังคับ เปลี่ยนได้ แต่ก็มีกฎหมายบางรัฐที่บังคับ ซึ่งยังไม่เปิดเผย จนถึง 6 มกราคมปีหน้า ในที่ประชุมสภาคองเกรสจะประกาศวันนั้นเลยว่าคนนี้เลือกใคร คนนั้นเลือกใคร จึงจะรู้แน่ชัดถึงผลการเลือกตั้ง

คนที่เป็นประธานาธิบดีอยู่แล้วก็จะยังเป็นอยู่ จนถึง 12.00 น. ของวันที่ 20 มกราคม จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง หลังกล่าวคำปฏิญาณอำนาจจึงเปลี่ยน

ส่วนที่สำคัญสำหรับต่างชาติ ว่าสหรัฐจะมีนโยบายอย่างไรนั้น ไม่ได้ดูจากประธานาธิบดีเพียงคนเดียว ต้องดูว่า ส.ส.หรือสภาล่างของพรรคเดโมแครต ได้เสียงข้างมากหรือไม่ และต้องดูว่าสภาสูง ของพรรคเดโมแครต ได้เสียงข้างมากหรือไม่ เช่นนี้ จะมีประสิทธิภาพมาก แต่หากไบเดนได้คนเดียว แต่ ส.ส.สูงยังเป็นของรีพลับลิกันอยู่ ก็จะเจอเดดล็อกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อเจอโควิด-19 กระบวนการเลือกตั้งสหรัฐเปลี่ยนไปหรือไม่ ?

เปลี่ยนไปเล็กน้อย ความจริงก็ยังให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์อยู่ และทำมานานแล้ว ใครที่ไม่มีโอกาสไปลงเลือกตั้งตามวัน ก็จะขอ Absentee ballot (บัตรลงคะแนนที่ขาด) เพื่อจะลงเลือกตั้งได้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนใหม่ บางรัฐ เช่น 6 รัฐ ให้ลงทางไปรษณีย์อย่างเดียวเพราะกลัวโควิด เหมือน 50 ประเทศเล็กๆ ในสหรัฐ ต่างคนต่างเข้ามามีอิสระในการเลือกตั้งของตนเอง บางรัฐให้ลงคะแนนได้จนถึงวันที่ 3 บางรัฐบอกหลังวันที่ 3 ก็ยังนับต่อได้อีก กรณีนี้ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประท้วง เพราะคิดว่าอาจมีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น

การเลือกตั้งครั้งนี้ ชี้ขาดด้วย electoral vote หรือ electoral college ว่า ใครถึง 270 เสียง ก่อน แต่จะชี้ขาดกันอย่างไร แพ้ชนะกันส่วนไหน ในการแข่งขันที่รุนแรง สูสี ?

ถ้าคณะผู้เลือกตั้งของใคร ได้ถึง 270 ก่อน ตามหลักการ 538 คือจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด คนหนึ่งได้ 270 อีกคนจะไม่ได้ 270 อย่างเก่งคือ 268 ใครได้ 270 คือคนนั้นได้ แต่ปัญหาคือ คณะผู้เลือกตั้งที่ได้ 270 ต้องมาลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีคนนั้นๆ ด้วย เพราะคะแนนเทียบเป็นประธานาธิบดี คือ คะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง โดยประเพณีปฏิบัติแล้วไม่มีคนที่ทรยศต่อสิ่งที่ตัวได้ปฏิญาณไว้เป็นผู้เลือกตั้งของใครก็ต้องไปเลือกคนนั้น ซึ่งบางรัฐบังคับให้เลือก แต่บางรัฐปล่อย คือระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นมาตั้งแต่ในอดีต

โดยหลักการก็จะไปลงให้ เพราะคุณคือตัวแทนประชาชน เช่น ประชาชนเลือกคุณ เพราะคุณจะไปเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ แต่สรุปคือ 6 มกราคม เป็นวันสำคัญ ที่จะประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ที่สำคัญจริงๆ คือ 14 ธันวาคม ตอนที่คณะผู้เลือกตั้ง ที่ชนะแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ไปประชุมกันเอง และลงคะแนนลับใซ่สองปิด เช่น แคลิฟอร์เนีย มีผู้เลือกตั้ง 55 คน ก็มี 55 ซอง แล้วส่งมาที่วอชิงตัน ดี.ซี. ตรงนั้นคือวันประกาศอย่างเป็รทางการ และรู้ว่าใครได้รับเลือกตั้ง

ในทางปฏิบัติ เคยมีการเปลี่ยนไปเลือกอีกข้างหรือไม่ ?

ในศตวรรษที่ 19 เคยมี 3 คน และเท่าที่เห็นมาในการเลือกตั้ง จะมีประมาณ 1-2 คนที่ทำอย่างนั้นเพื่อให้รู้ว่าเขายังสามารถทำได้ แต่ไม่เปลี่ยนผล เช่น ชนะ 290 เปลี่ยนไป 1-2 คน ไม่มีความหมาย คราวที่แล้วก็มีการทำกัน ทำในเชิงสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเขามีอำนาจอยู่ ไม่ได้มีผลอะไรในการเปลี่ยน

แต่คราวนี้มีการคิดกันตามทฤษฎี สมคบคิด มีการพูดว่า ถ้าสูสีมากบางคนอาจเปลี่ยนใจ เช่น ชนะกันแค่ 2-3 คะแนน แค่ 1-2 คนคะแนนเปลี่ยนทันที จึงไม่แน่ว่าจะมีกรณีนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นทางรัฐจะประท้วงหรือเปล่า ในรัฐที่ฟรีโหวต ซึ่งปัญหาคือ จะมีการต่อสู้ เช่น จากทาง โจ ไบเดน ออกมาว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญเป็นแบบนั้น ต้องโหวตให้คนนี้ ฝ่าย โดนัลด์ ทรัมป์ ก็อาจจะบอกว่าไม่ใช่ เพราะฟรีโหวต ต้องไปที่ศาลสูง ซึ่งตรงนี้ทรัมป์จะได้เปรียบ เพราะแต่งตั้ง เอมี่ โคนีย์ บาร์เรตต์ ไว้ หวังว่าอย่างน้อยๆ ถ้ามีอะไรพอจะเอียงไปทางรีพับลิกันได้บ้าง ก็ควรจะไปทางนั้น หรือเมื่อปี 2000 การเลือกตั้งระหว่าง อัล กอร์ กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งสูสีกันมาก แต่ที่รัฐฟลอริดามีปัญหา ปรากฏว่ามี 1 เขต คะแนนยังไม่ได้นับ ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวตัดสิน สมัยก่อนใช้เครื่องเจาะ แต่เจาะแล้วไม่ขาด เครื่องจึงไม่นับว่าเลือก แต่ความจริงถือว่าเลือกแล้ว มีปัญหาว่าจะนับใหม่ ปรากฏว่าศาลบอกไม่ต้องนับดีกว่า คือทิ้งคะแนนไปทั้งเขต จึงไม่รู้ว่าสูสีขนาดนี้ ถ้านับจริงใครชนะ

ฉะนั้น หากตัดสินเช่นนี้แล้ว เป็นไปได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะชนะ tradition knockout ก็เป็นไปได้

มีโพลหนึ่ง ที่สื่อ อิปซอส ทำร่วมกับรอยเตอร์ บอกว่า ในส่วนของเดโมแครต มีอยู่ 43% ที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าแพ้ และรีพลับลิกัน 41% จะไม่ยอมรับผลเลือกตั้งถ้าทรัมป์แพ้ สะท้อนอะไรหรือไม่ มีแนวโน้มจะเกิดการชุมนุมประท้วง รุนแรงขึ้นหรือเปล่า ?

คำถามมาเกิดครั้งนี้ แต่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนตัวคิดว่าการที่อเมริกาเป็นประเทศแม่แบบประชาธิปไตยอันดับหนึ่งของโลก ผ่านการพัฒนามาพอสมควรที่คนจะยอมรับผลการเลือกตั้ง คำถามที่ออกมาเช่นนี้ เพราะตัวประธานาธิบดี ทรัมป์ออกมาหนุนหลัง ตอนที่กลุ่มขวาจัดออกมาสแตนดบาย-สแตนแบ๊ก เขาให้ท้ายตลอดกลุ่ม KKK เขาบอกไม่รู้จัก แต่มีข่าวว่าเป็นเพื่อนสนิทกัน และมีกลุ่มมอเตอร์ไซค์เป็นผู้สนับสนุน เขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีกลุ่มตามมาข้างหลัง ทำให้คนของเดโมแครตมองว่าถ้าอย่างนี้ ไบเดนชนะก็อาจจะถูกมองว่าไม่ชนะด้วยเหมือนกัน ถึงได้มีโพลออกมา เพราะการประกาศอย่างนี้มาก่อน ไบเดนเองก็รู้ดีว่า “เรื่องนี้ไม่จบ” สังเกตตอนหาเสียง เขาจึงบอก “go go go, vote right now” ลงคะแนนได้แล้วเดี๋ยวนี้ ท้ายที่สุดคือวันที่ 3 พ.ย.อย่าไปลงเด็ดขาด เมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะนับได้ ถึงแม้รัฐจะบอกว่าทำได้ก็ตาม อย่าไปคอยถึงวันที่ 3 ไปซะเดี๋ยวนี้ จะได้นับพร้อมกัน ไบเดนรู้ดีว่าจะมีปัญหาตรงนี้

ถ้าจะออกมาในลักษณะเดโมแครตประท้วง น่าจะเป็นคะแนนที่ออกมาสูสีกันแล้วเขาคิดว่าโดนโกง ส่วนทรัมป์ ถ้าเมื่อใดแพ้แล้วเดือดขึ้นมา ส่งสัญญาณให้คนของเขารู้ ก็จะมีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะฝ่ายขวาก็ไม่ค่อยชอบอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ มีเรื่องผิว หรือชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เขาพูดเองว่า ที่มีเขาวันนี้เพราะมีโอบามา เป็นคนผิวขาว ผมทอง จะให้อเมริกัน ผิวดำ ผมหยิก มาปกครองได้อย่างไร เขาพูดตลอดเวลาที่โอบามาอยู่ 4 ปี ว่า โอบามาไม่ใช่ชาวอเมริกัน แต่มาจากเคนยา ถึงขนาดที่โอบามาต้องเอาใบเกิดมาโชว์ ว่าเกิดที่ฮาวาย ทรัมป์ยังบอกเลยว่า ใบเกิดปลอม

คราวนี้มี โจ ไบเดน เป็นคนผิวขาว ดีทุกประการ แต่อายุ 68 ปี และมีปัญหาทางสมอง ซึ่งกฎหมายอเมริกาบอกว่า ถ้าเมื่อใดก็ตาม ประธานาธิบดีเป็นอะไรไป รองประธานาธิบดีจะขึ้นตำแหน่งทันที แม้เข้าโรงพยาบาล 24 ชม. 2 เดือน หรือ 2 ปี ก็ต้องแต่งตั้งอำนาจ ไม่ให้ว่างเด็ดขาด ซึ่งหมายความว่า นางคาบอรัล แฮริส ซึ่งเป็นคนอินเดียน-จาเมกัน จะมีสิทธิเป็นประธานาธิบดีสหรัฐชั่วคราว ซึ่งทรัมป์ยอมไม่ได้เด็ดขาด จึงค่อนข้างรับได้ยากมากสำหรับทรัมป์ ถ้า โจ ไบเดน และแฮริสขึ้นมา มีโอกาสเป็นไปได้ว่า สตรีผิวสีอาจจะได้ขึ้นมาเป็นนัมเบอร์วัน ชั่วขณะ

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์

สมมุติว่ามีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี จะมีนโยบายสำคัญๆ ที่น่าจะเปลี่ยนไปจากสมัยทรัมป์ เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง ?

ที่ทรัมป์เข้ามา 4 ปี เขาได้ทำลายหลักการทูต หลักวิชาที่เราเคยเรียนกันมามากมาย (หัวเราะ) จนคิดว่าตอนนี้อเมริกาแตกแยกอย่างมาก และมีนโยบายร่วม ที่ต้องสานต่อไม่ว่าใครขึ้นมา จึงอาจจะยาก เชื่อว่าตอนนี้พันธมิตรในยุโรปไม่ไว้ใจอเมริกาเลย เขามองว่าอเมริกาแยกตัวออกไปต่างหาก และไม่มั่นใจว่านโยบายจะเปลี่ยนแปลงไปได้ไกลหรือไม่

เมื่อตอนที่ทรัมป์เข้ามาใหม่ๆ กำหนดนโยบายของเขา ด้วยการออกจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสหประชาชาติ (UN) ไม่จ่ายเงิน เหล่านี้ คนก็มองว่าบ้าๆ บอๆ แต่กลับกลายเป็นว่าคนอเมริกันส่วนหนึ่งเห็นด้วย มองว่า ทำไมอเมริกันไปช่วยโลกมากมายนัก แต่ทรัมป์เอง ไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย ทำให้คนต่างประเทศอย่างเรามองว่า นโยบายแบบนี้ เดโมแครตไปตัดทันทีไม่ได้ อาจจะต้องสานต่อแบบซอฟต์กว่านี้ แต่จะเปลี่ยนใหม่ กลับไปเป็นอเมริกาต้องดีต่อโลก ช่วยประเทศด้อยพัฒนา ผมว่าเป็นอดีตไปแล้ว ไม่น่าจะเกิดขึ้น อเมริกาคงไม่ยอม เราคงต้องยอมรับความเป็นจริง

ในแง่องค์การระหว่างประเทศ ที่สำคัญๆ เช่น WTO หรือ WHO ก็เป็นปัญหาอยู่กับ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเปลี่ยนหรือไม่ ?

สหรัฐมีนโยบายหลัก เป็นนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเดโมแครตเปิดเผย แต่ทรัมป์ไม่เปิด เดโมแครตจะดึงอเมริกากลับมา NATO ไม่ออก จะดึงเรื่อง Climate Change เข้าไปใหม่ อิหร่านจะกลับมาดูเหมือนดี แต่น่าเชื่อถือแค่ไหนกับนโยบาบสหรัฐ เพราะตอนนี้คนยุโรปรู้แล้วว่า เชื่อถือไม่ได้ เมื่อรีพลับลิกันเปลี่ยนอย่าง เดโมแครตเข้ามาเปลี่ยนอย่าง แม้ไบเดนจะมีนโยบายที่ดี คือ กลับเข้าอาเซียนใหม่ แต่ไบเดนจะเป็นได้กี่ปี ต่อไปจะเป็นเดโมแครตหรือไม่ เพราะสิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่ในใจคนรีพลับลิกันพอสมควร และอเมริกามาถึงจุดแบ่งแยกนี้ ไม่แน่ใจว่าถาวร หรือชั่วคราวแค่ไหน อเมริกาเฟิร์สต์ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือโลก ดังนั้น เราต้องเปิดตารับความจริงว่า โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว สู่สมัยต่อไปแล้ว โลกที่เป็นมาตั้งแต่สมัยยุคสงครามเย็น สงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึง 2016 ในยุคทรัมป์ ไม่กลับมาแล้ว

“ไม่ว่า โจ ไบเดน หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นภาคต่อไป คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องยอมรับความจริง และปรับตัวต่อไป”


‘พันธมิตร’ ถดถอย เมื่อ ‘โควิด’ เป็นเหตุ เปลี่ยน ‘เทรนด์โลก’

อิสรา สุนทรวัฒน์

สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดการชุมนุมประท้วง จนเกิดความวุ่นวายรุนแรงขึ้น หลังผลเลือกตั้งสหรัฐชี้ว่า “โจ ไบเดน” อาจได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่

ในมุมมองของ อิสรา สุนทรวัฒน์ กรรมการสมาคมอเมริกันศึกษาแห่งประเทศไทย คิดเห็นว่า ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ โจ ไบเดน จะชนะ หัวใจของการเมืองอเมริกัน หรือศูนย์อำนาจอยู่ที่ สภา แตกต่างจากบ้านเรา และแตกต่างจากระบบรัฐสภาทั่วไปขึ้นอยู่กับประชากรว่า มีความเชื่อมั่นกับระบบมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นบ้านเรา ก็อาจจะไม่มั่นใจ

“ในที่สุดขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจอเมริกาไม่พัง ผมเชื่อว่าทรัมป์ชนะอยู่ดี ส่วนตัวเขาจะเป็นอย่าง ไม่เป็น รับได้ ขอแค่มีเงินในกระเป๋า แต่พอเงินหายในกระเป๋า ตัวใครตัวมัน ขึ้นอยู่กับว่าคนอเมริกันมั่นใจ รู้สึกอย่างไรตอนนี้ อยากมีเงินเพิ่มในกระเป๋า หรือรู้สึกปลอดภัยที่ออกไปสู้โลกภายนอกได้”

ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล

ถามว่า มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่ผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาปีนี้ จะเป็นเดโมแครตที่ครองทั้งทำเนียบขาว สภาล่าง และสภาสูง ?

ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ อุปนายกอเมริกันศึกษาในประเทศไทย มองว่า มี 2 ทางที่คิดกัน ความจริงอาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยก็ได้ อย่างกรณีจีน หรือการต่างประเทศ คิดว่ามีจุดยืนร่วมกันมานานในการสกัดกั้นจีน แม้แต่สมัยโอบามา ก็มีนโยบายปักหมุดเอเชีย ทรัมป์ก็สกัดกั้นจีนอยู่แล้ว เพียงแต่ยุทธศาสตร์อาจเปลี่ยนไป แต่ก็ยังเชื่อว่าจะเป็นเหมือนเดิม เผลอๆ อาจจะเป็นการสานต่อนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปอีก เท่าที่สังเกต จีนน่าจะเป็นประเด็นสำคัญ ของนโยบายต่างประเทศ

“เหตุการณ์โควิดยิ่งทำให้เห็นชัดว่าทุกคนหันกลับไปที่บ้านตัวเอง เหมือนกับไปช่วย มองผลประโยชน์ของบ้าน มากกว่าไปร่วมมือในแง่พันธมิตร คือเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว การย้อนกลับไปร่วมมือแบบเดิมอีก ก็มีความเป็นไปได้ แต่อาจไม่แนบแน่นใกล้ชิด”

“สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนไป ดังนั้น การเจรจากับทวิภาคี ในกลุ่ม หรือระดับภูมิภาค น่าจะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าบทบาทขององค์การ ระดับมหภาค ค่อนข้างลดน้อยลงไปมาก โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่ร่ำเรียนมาว่าจะต้องมีความร่วมมือเกิดขึ้น” ดร.ประพีร์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image