จากเสนาธิปัตย์สู่เผด็จการผสมประชาธิปไตย อ่านพม่า มองไทย ใน ‘เมียนมา ระยะเปลี่ยนผ่าน’

เลือกตั้งไปหมาดๆ เมื่อ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับ ‘เมียนมา’ เพื่อนบ้านเคียงใกล้ที่มักถูกหยิบยกมาเทียบเคียงการเมืองไทยในยุค คสช.

จากห้วงเวลาที่กองทัพครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ถึงวันที่ทหาร ‘กดปุ่ม’ ไฟเขียวให้จัดการเลือกตั้ง

2011 คือศักราชในจุด ‘เปลี่ยนผ่าน’ นับเป็นเวลาราว 1 ทศวรรษเมื่อเปิดปฏิทินในวันนี้

“แน่นอน เมื่อโลกเปลี่ยน พม่าก็ต้องเปลี่ยน แต่ผู้นำทหารเห็นว่า ขอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในแนวทางที่ทหารสามารถควบคุมได้ นี่คือสิ่งที่พลเอกตาน ฉ่วย เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย นั่นคือ เผด็จการผสมประชาธิปไตย”

Advertisement

คือคำกล่าวในตอนหนึ่งของ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช เจ้าของผลงาน ‘เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน’ ซึ่งวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่งจัดงานเสวนาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพียง 1 วันหลังพม่าจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ และกูรูด้านพม่าร่วมวงสนทนาอันเข้มข้นด้วยเนื้อหาที่ชวนให้ฉุกคิดและจินตนาการถึงสถานการณ์ในการบ้านการเมืองไทยอย่างน่าสนใจยิ่ง

‘ยอมถอย ไม่ยอมทิ้ง’

พม่า-ไทย ในการเมืองแบบ ‘ไฮบริด’

Advertisement

ก่อนอื่น เริ่มที่เหตุการณ์ปัจจุบัน อย่างการเลือกตั้งในเมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างนับคะแนน ผศ.ดร.ดุลยภาค บอกว่า หากอยากรู้ว่ารูปร่างหน้าตาของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร ขอสรุปสั้นๆ ว่า รอไปอีกหลายเดือน เพราะหลังจากนับคะแนน จะมีการเปิดประชุมสภา กว่าจะโหวตเลือกประธานาธิบดีแล้วตั้ง ครม.ใหม่ ก็ยาวไกลไปถึงราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน

ย้อนไปในห้วงเวลาก่อนถึงวันนี้ ทหารพม่าครองรัฐมานานหลาย 10 ปี ในช่วงที่มีทหารปกครอง เมียนมามีลักษณะเป็น ‘รัฐเสนาธิปัตย์’ ประเทศตกอยู่ใต้อำนาจกองทัพที่ปกครองประเทศโดยตรง ต่อเนื่องและยาวนาน จนถึงการเปลี่ยนผ่าน เมื่อมีการเลือกตั้ง ทำให้น่าคิดต่อว่าหลังการเปลี่ยนผ่าน ทหารพม่ายังมีบทบาทเหมือนเดิมหรือไม่

“ก่อนการเปลี่ยนผ่าน ถ้านำจุดเปลี่ยนคือปี 2011 โดยประมาณเป็นตัวตั้ง พม่าเป็นรัฐเสนาธิปัตย์ แต่วันนี้ไม่ใช่อีกแล้ว ทหารพม่ากลายเป็นเพียงกลุ่มอำนาจหลักกลุ่มหนึ่งในระเบียบการเมืองใหม่ ดังเช่นที่อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ใช้คำว่า ในทางการเมืองทหารพม่ายอมถอย แต่ไม่ยอมทิ้ง คือ ยอมลดบทบาทจากผู้ปกครองโดยตรง เปิดพื้นที่ให้พลเรือนมีสถาบันแบบประชาธิปไตยมากขึ้น มีบทบาทเป็นผู้ถ่วงดุลไกล่เกลี่ยในโครงสร้างรัฐสภา ซึ่งร้อยละ 25 เป็นทหารลากตั้งเข้าไปอย่างเหนียวแน่น เสียงไม่แตก อีกร้อยละ 75 เป็น ส.ส.พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ราว 10 ปีมานี้ พม่ามีระบอบการปกครองที่เปลี่ยนไป จากรัฐเผด็จการเอกรัฐรวมศูนย์ กลายเป็นรัฐกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเอกรัฐกึ่งสหพันธรัฐ นี่คือลักษณะที่น่าสนใจมากในการเมืองพม่ายุคปัจจุบัน เพราะเป็นระบอบที่มีทั้งเผด็จการ ทั้งประชาธิปไตยดำรงอยู่ร่วมกัน ผสมผสานกัน แต่มีการกระทบกระแทก ทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง ประจันหน้าและชนกันบ้าง” ผศ.ดร.ดุลยภาคอธิบาย ก่อนกล่าวต่อไปโดยเปรียบเทียบกับการเมืองไทยในวันนี้

พม่าเป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ นับแต่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เวลามองพม่าด้านนี้ เราสามารถหันกลับมาอ่านการเมืองไทย ซึ่งทุกวันนี้เป็นแบบไฮบริด (ลูกผสม) เหมือนกัน ตั้งต้นจาก คสช.กดปุ่มให้เลือกตั้งสู่ประชาธิปไตย เราไม่ใช่เผด็จการทหารเต็มๆ แต่เป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยไม่ค่อยมีเสถียรภาพ มีการแยกขั้วทางการเมือง มีการพุ่งชนโดยไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือหมุนกลับสู่เผด็จการ มีการรัฐประหาร เรายังตอบตรงนี้ไม่ได้ แต่พม่ามีความชัดเจน นี่คือจุดที่น่าเปรียบเทียบ”

อีกหนึ่งกรณีน่าสนใจคือ วันนี้พม่ามีรัฐบาล 2 ระดับขึ้นไป มีรัฐบาลประจำรัฐต่างๆ ในขณะที่ไทยมีรัฐบาลเดียว ไม่มีรัฐบาลประจำมลรัฐ หนังสือเล่มนี้จะฉายภาพให้เห็นว่า ทำไมทหารพม่าตัดสินใจเปลี่ยนผ่านการเมือง ทำไมถึงยอมถอนตัวในบางมิติจากระเบียบการเมืองใหม่ เกิดอะไรขึ้นในระบบคิดของกองทัพพม่า

(รัฐ) ทหาร ไม่ยอมตาย ‘I will Survive’

ในวันที่ ‘ซูจี’ สอบไม่ผ่าน

ด้าน สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ซึ่งมาในฐานะผู้ฟัง จับไมค์ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าฟัง ว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีการประเมินกันว่า ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ไม่น่าจะ ‘ผ่าน’ ในแง่การบริหาร ควรมองคนต่อไปของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในขณะที่ซูจีเองถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง อย่าเกรี้ยวกราด หากผลไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์

อาจารย์สมฤทธิ์ มองว่า 3 ประเด็นใหญ่ที่ซูจี แก้ไม่ได้คือ 1.เศรษฐกิจ 2.ปัญหาชาติพันธุ์ แม้มีการประชุมปางโหลง ศตวรรษที่ 21 เชื่อไหมว่า แค่เปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามเจรจาบนโต๊ะแค่นั้นเอง นอกนั้นไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลย ประชุมกันที่เนปิดอว์ไม่รู้กี่รอบ 3.โรฮีนจา ทั้งหมดนี้ซูจีสอบไม่ผ่าน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมทหารพม่าจึงสามารถ ‘How to Survive’ ได้ ฉลาดด้วยการถอย เหมือนเลาะกิ่งไม้ เพื่อปรับแต่งตัวเอง แต่ไม่ตัดต้น นอกจากนี้ ยังเล่นเกมการเมืองเป็น ‘ศาสนูปถัมภก’ ดังที่ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์กล่าวไว้ ซึ่งเดิมบทบาทนี้เป็นของสถาบันกษัตริย์พม่า แต่ทหารพม่ามา ‘ยกฉัตร’ เจดีย์สำคัญของประเทศ

“ทหารพม่าฉลาด ไม่ได้เล่นเฉพาะเกมการเมืองอย่างเดียว แต่เข้าไปควบคุมในด้านความศรัทธาในศาสนาด้วย โดยการสร้างตัวตนเป็นศาสนูปถัมภก ผมว่าอันนี้โคตรเจ๋งเลย นี่คือประเด็นหนึ่งที่ทำให้เขาอยู่ได้ และคิดว่าคงอยู่อีกนาน เพราะซูจีก็ไม่สามารถเล่นเกมนี้ได้”

 

ศาสนา การเมือง เรื่อง ‘(อ้าง) ชอบธรรม’

และความไม่สะเด็ดน้ำที่ต้องอ่านต่อ

อีกหนึ่งนักวิชาการที่ขาดไม่ได้สำหรับเวทีนี้ คือ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่าอันดับต้นๆ ของไทย เริ่มต้นด้วยการ ‘รีวิว’ หนังสือ ‘เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน’ ว่า เป็นงานเขียนสำคัญที่เป็นภาษาไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่านับตั้งแต่ได้รับเอกสารมาถึงปัจจุบัน ซึ่งหายากมากที่จะมีงานที่ครอบคลุมกรอบเวลา มิติทางประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองในลักษณะนี้ในตลาดหนังสือไทย

“อาจารย์ดุลยภาคได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งถึงการเมืองพม่า สถาบันการเมือง ประเด็นการเมืองโดยเฉพาะหลัง ค.ศ.2011 ผู้เขียนกล้าหาญและลุ่มลึก เพราะมันยาก ทำไมยาก เพราะมันมีพลวัตสูง การเมืองพม่า มีพลวัตอยู่แล้วอย่างน้อยที่สุดนับจากปี 1988 แต่หลัง 2011 มีพลวัตมาก ทำให้เกิดอาการไม่สะเด็ดน้ำ เลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.กว่าจะสะเด็ดน้ำก็ต้นปีหน้า แล้วหลังจากนั้นจะไปกันอย่างไร ปัญหาบางอย่างที่ตกค้างแล้วไม่รู้จะไปทางไหนกัน เช่น ประเด็นโรฮีนจา ปัญหาคนกลุ่มน้อย เคยคิดถึง NLD หลังออง ซาน ซูจีไหม? นี่คืออาการที่ไม่สะเด็ดน้ำ เพราะเอ็นแอลดี เป็นพรรคที่หยัดยืนอยู่บนบารมีส่วนบุคคล ในขณะที่ USDP (พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา) เป็นสถาบัน มันเป็นการต่อสู้ที่ต่างกัน สุดท้ายแล้วถ้าเอ็นแอลดีไม่ปรับขึ้นมาให้เป็นพรรคที่เป็นสถาบันมากขึ้น จุดจบจะประมาณไหน แต่ความไม่สะเด็ดน้ำเหล่านี้ อาจารย์ดุลยภาคก็ปลุกปั้นกับมันจนได้เนื้อได้หนัง” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ย้อนหลังไปในอดีต ว่าปัญหาอย่างหนึ่งของกองทัพพม่า โดยเฉพาะหลังปี 1990 คือ ‘ความชอบธรรม’ ในการขึ้นมาครองอำนาจรัฐ มีการจัดการเลือกตั้งเอง ควบคุมการเลือกตั้งเอง เมื่อพรรคเอ็นแอลดี แลนด์สไลด์ชนะ กองทัพกลับล้มกระดานการเลือกตั้งไปเสียเฉยๆ และปกครองต่อมาอีก 21 ปี

ถามว่าใน 21 ปีนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้างในการเมืองพม่า ศ.ดร.สุเนตร แนะว่า ในความเข้าใจจิตวิญญาณของการเมืองพม่า ต้องเข้าใจเบื้องลึกถึงศาสนา คติความเชื่อ วัฒนธรรม ทางการเมืองและอีกหลายอย่างที่ฝังลึกอยู่ในประเทศนี้ ซึ่งปิดประเทศอยู่ตั้งนาน

จากนั้น ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่กองทัพดำเนินยุทธศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการอ้างถึงความชอบธรรมทางอำนาจ โดยเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ซึ่งทหารพม่าเข้าไปมีบทบาท โดยเฉพาะการยกฉัตรเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

“การยกฉัตรชเวดากอง คุณรู้ไหมว่าเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ทำ ถ้าจำไม่ผิดคือ พระเจ้ามินดง คนยกได้ต้องยิ่งใหญ่ มีบุญญาบารมี ผลจากการกระทำนั้น พม่าเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ทหารส่วนหนึ่ง ว่าด้วยการยกฉัตรเชวดากองและทั้งแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังไปรีโนเวตเมืองพุกามทั้งเมือง ซ่อมหมด และยังสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าอโนรธา พระเจ้าอลองพญา สร้างวัง แล้วยังหาช้างเผือก สร้างพระพุทธรูปหยกที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีมาในประวัติศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน 21 ปี”

ศ.ดร.สุเนตร กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้ เลิกไปหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เพราะมีข้ออ้างทางอำนาจใหม่นั่นเอง

“หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเลิกเลย เพราะมีข้ออ้างทางอำนาจใหม่ หมายความว่าฟังก์ชั่นของรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้กองทัพสามารถใช้ในการหยัดยืน อ้างที่มา และความชอบธรรมทางอำนาจได้ ไม่ใช่เฉพาะกองทัพ แต่ต่อมาก็เกิดผลกับเอ็นแอลดีด้วย”

ปรับตัว ขยับเครือข่าย โมเดล ‘เกาหลีใต้’

อำนาจเดิมอุ่นใจในช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’

ด้าน รศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ที่มาในมุมกว้าง วิเคราะห์เปรียบเทียบประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยมองว่า การเข้าสู่ประชาธิปไตยของพม่าที่ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านการต่อสู้อย่างยาวนานยืดเยื้อ ไม่ได้เป็นกรณีเฉพาะ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในหลายประเทศ แต่แน่นอนว่ารายละเอียดต่างกันออกไป เพราะการต่อสู้ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการไม่เหมือนสวิตช์ไฟที่เปิดก็ติด ปิดก็ดับในทันที แต่ระยะ ‘เปลี่ยนผ่าน’ คือช่วงสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง ถ้าระยะเปลี่ยนผ่านมีอุปสรรค บางทีความเปลี่ยนแปลงอาจย้อนกลับ

“จะเห็นว่าในเกาหลีใต้ จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย มีช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญภายใต้การนำของ โร แต วู หรือเรียกตามสำเนียงเกาหลีคือ โน แท อู ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเป็นครั้งแรก แต่เป็นทหาร ดังนั้น โดยกรอบและรูปแบบ แม้เป็นประชาธิปไตย แต่ตัวตนเชื่อมกับกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งทำให้กลุ่มอำนาจเดิมอุ่นใจในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้สามารถปรับตัว ขยับเครือข่ายต่างๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต่อไป ทหารนายนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง หรือเปลี่ยนแปลงฉับพลันเกินไป ในขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายเป็นเสรีมากขึ้น ด้วยการปล่อยนักโทษการเมือง ให้เสรีภาพสื่อ ทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้น กรณีพม่า ช่วงเปลี่ยนผ่านก็เป็นโจทย์สำคัญ น่าสนใจว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านจะยาวแค่ไหน สำหรับประเทศที่มีรากฐานการปกครองแบบเผด็จการมาอย่างยาวนาน ช่วงเปลี่ยนผ่าน 10 ปีถือว่าไม่ยาว และมีพัฒนาการ”

รัชนี-วัลยา ในม็อบราษฎร ‘ปีศาจ’ ที่ต้องอ่าน

หันไมค์ไปที่ ปูชนียบุคคลอย่าง ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่า คำว่า เปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่แค่พม่า แต่ไทยก็กำลังเปลี่ยนผ่าน ตนกำลังสงสัยว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในพม่า กับไทย ใครจะเปลี่ยนผ่านก่อนกัน วันนี้ได้เห็น รัชนี และวัลยา ตัวละครใน และ ‘ความรักของวัลยา’ นวนิยายของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เดินอยู่เต็มม็อบต่างๆ ของราษฎร

“ปีศาจ เป็นหนังสือที่ต้องอ่านในชีวิตนี้ ไม่งั้นต้องรอชีวิตหน้า อีกเล่มคือ ความรักของวัลยา ซึ่งทุกวันนี้ วัลยากับรัชนี เต็มการชุมนุม เมื่อคืนวันที่ 8 พ.ย. แว่บไปดูม็อบเดินขบวนก่อนตำรวจฉีดน้ำ เคยไปดูการชุมนุม 2-3 ครั้ง คิดว่าเผลอๆ การเปลี่ยนผ่านในไทยอาจจะมาก่อนพม่า ผมสนใจพม่ามากๆ กรณีไฮบริดทางการเมืองที่พม่า ผมมองว่าไม่ลงตัว ช่วง พ.ศ.2520-2540 พม่าน่าสงสารมาก เป็นฤๅษีแห่งเอเชีย นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่า การเมืองพม่าตีบตัน ไปต่อไม่ได้ เราเคยสงสารเขา แต่ตอนนี้มาคิดดู ว่าใครตีบตันกันแน่ระหว่างพม่ากับไทย หากพิจารณาเปรียบเทียบ รู้สึกว่าเราหรือเปล่าที่ตัน (หัวเราะ) พม่าเลือกตั้งเมื่อวานนี้ ถึงจะทำท่าเหมือนไม่ไปไหน แต่ก็ไป ในขณะที่เรากำลังบอกว่า เอ๊ะ! จะไปทางไหน

ระหว่างรัฐประหาร กับสมานฉันท์ หรือจะไปทางตัน เพราะทำท่าเหมือนจะไปไหนไม่ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image