‘ราษฎรสงฆ์’ศาสนา รัฐไทย ในวันที่ใครๆก็อยากให้ #การเมืองดี

คุกรุ่น ร้อนแรง อยู่ในแสงสปอตไลต์ไม่แพ้กลุ่ม “ราษฎร”

สำหรับประชากรภิกษุสงฆ์ ซึ่งออกมาร่วมขบวนชู 3 นิ้ว สนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน กระทั่งขึ้นเวทีปราศรัย วิพากษ์การเมืองไทยในหลายเวที โดยเฉพาะที่วงเวียนหอนาฬิกา ศาลายา ที่เหล่า “อาตมา” เปิดทั้งหน้า เปิดทั้งใจ ระบายความอัดอั้น ทั้งปัญหาภายในที่สั่งสมมานาน ไปจนถึงการถูกกดดันหลังออกมาร่วมม็อบ บ้างโดนหนังสือตักเตือน บ้างโดนไล่ออกจากวัด บ้างโดนสอบสวนอย่างละเอียดลออ ตั้งแต่สามเณร ภิกษุ ไปจนถึงพระผู้ใหญ่

แม้สุดท้าย มีการระบุว่า ชู 3 นิ้ว ไม่ถึงกับผิดธรรมวินัย แต่ “โลกวัชชะ” หรือ โลกติเตียน ส่วนการแต่งกลอนหรือบทกวีที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องการเมือง มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 24/2563 ขอให้มีการแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองเพิ่มความกวดขัน ขอให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎ มติ คำสั่ง ประกาศ ฯลฯ อย่างเคร่งครัด

ในขณะที่พระภิกษุหลายรูป ตั้งคำถามถึงวาทกรรม “พุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ว่าจริงหรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศที่สีของจีวรโดดเด่นอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมด้วย “ธงแครอต” ยั่วล้อธงธรรมจักร โดยปรับเปลี่ยนจากซี่ล้อ เป็นรูป “แครอต” คำเรียกภิกษุที่ฮอตฮิตติดม็อบจากการปราศรัยของ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที ที่เรียกกลุ่มภิกษุสงฆ์ว่า “แก๊งแครอต” ตามสีจีวร

Advertisement

ส่วนดุมวงล้อ เป็นภาพมือชู 3 นิ้ว เรียกเสียงวิพากษ์ทั้งจากวงการพระพุทธศาสนา และจากสังคมไทยที่มีพุทธศาสนิกชนบางส่วนติติงว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ปักหมุดที่แนวคิด “ศาสนาอยู่เหนือการเมือง” หรือการกระทำดังกล่าว “ไม่ใช่กิจของสงฆ์”

ทว่า ในทางปฏิบัติ เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?

อุดมการณ์ ‘การเมือง’ เปลี่ยน
กฎหมาย ‘สงฆ์’ ก็เปลี่ยน

“อมพระประธานมาพูดก็ไม่เชื่อ”

ประโยคสั้นๆ จาก ผศ.กริช ภูญียามา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เรียกเสียงหัวเราะในวงเสวนา “#ถ้าการเมืองดี โลกและธรรมจะสัมพันธ์กันอย่างไร” จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพียง 1 วันก่อนชุมนุมใหญ่ “ม็อบเฟสต์” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเดาได้
ไม่ยากว่า จะมีภิกษุสงฆ์ร่วมด้วยอีกหรือไม่

ผศ.กริช ผู้ศึกษาลุ่มลึกในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวงการสงฆ์ อธิบายว่า รัฐไทยกับพุทธศาสนาสัมพันธ์กันมาช้านาน กอดกันแน่นบ้าง หลวมบ้าง ตามยุคสมัย หน้าตาของกฎหมายปกครองสงฆ์แต่ละสมัยเปลี่ยนแปลงไปตามอุดมการณ์ทางการเมือง การจัดการปกครองสงฆ์ เกิดครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพยายามเป็นรัฐสมัยใหม่แบบตะวันตก โดยมีการรวมอำนาจทั้งฝ่ายอาณาจักร และพุทธจักร

ผศ.กริช ภูญียามา

ต่อมา หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย 9 ปี มีการตราพระราชบัญญัติใหม่ใน พ.ศ.2484 ซึ่งหน้าตาของกฎหมายคณะสงฆ์ก็มีความเป็นประชาธิปไตย โดยแยกอำนาจบัญชาการเป็น 3 ส่วน แบบนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ให้ 3 ฝ่าย ตรวจสอบถ่วงดุลกัน นอกจากนี้ยังมีการรวมนิกายสงฆ์ อันสืบเนื่องมาจากข้อร้องเรียนของภิกษุฝ่ายมหานิกาย มี “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา” ร้องเรียนคณะราษฎร ว่าการปกครองคณะสงฆ์ ไม่เสมอภาค กล่าวคือ ธรรมยุตปกครองมหานิกายได้ แต่มหานิกายปกครองธรรมยุตไม่ได้

เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย มีความเสมอภาคเป็นคุณค่าสูงสุด รัฐควรต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีอายุอยู่ไม่นาน เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตย โดยในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี 2484 เกิด พ.ร.บ.ฉบับปี 2505 ซึ่งตราขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ย้อนเอาโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์แบบเก่ามาใช้

“พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 ยังใช้มาถึงปัจจุบัน รวม 50 กว่าปี ระหว่าง พ.ศ.2505-2563 ต้องยอมรับว่าบางช่วงที่ไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในปี 40 แต่กลับไม่มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับนี้เลย ราวกับว่าฉบับนี้เหมาะกับสังคมแล้วหรืออย่างไร”

ส่วนประเด็นการเคลื่อนไหวของภิกษุสงฆ์ นอกจากความพยายามเรียกร้องให้ปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย ผศ.กริช ตั้งคำถามว่า มีปัจจัยภายในของคณะสงฆ์เองด้วยหรือไม่ เช่น ในช่วงหลัง โครงสร้างการปกครองรวมศูนย์ กดทับพระสงฆ์มากกว่าอดีต จนทนไม่ได้หรือไม่ หรือว่าโดยวิธีคิดของพระเณรยุคหลัง กล้าตั้งคำถามกับอะไรที่ “ไม่ชอบธรรม” มากขึ้น

ผศ.กริช ย้ำว่า หน้าตาของกฎหมายคณะสงฆ์แต่ละสมัยแปรเปลี่ยนตามอุดมการณ์ทางการเมือง

เช่นนี้แล้ว ศาสนากับการเมืองจะแยกจากกันได้อย่างไร

การเมืองเรื่อง ‘อำนาจ’ นิยามสมัยใหม่
กับการ ‘ตีความแบบเก่าๆ’

อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องขอสอบถามความคิดเห็นในประเด็นร้อนแรงนี้ คือ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ซึ่งเจาะจงในรายละเอียดน่าสนใจว่า ในแง่หนึ่ง “มหาเถรสมาคม” เองก็เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่แล้ว เพราะหากตีความในความแบบกว้างว่า การเมือง
คือเรื่องของอำนาจในการนิยามแบบสมัยใหม่ เวลาคนบอกว่า พระหรือพระพุทธศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คงเป็นการตีความแบบเดิมๆ ว่าการเมืองคือการเลือกตั้ง คือเรื่องที่เกี่ยวกับนักการเมือง คือการประท้วงเท่านั้น

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน (ภาพจาก ข่าวสด)

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บอกด้วยว่า พุทธศาสนาถูกโยงเข้ากับโครงสร้างของรัฐโดยตัวเองอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังอาจมองในอีกประเด็นหนึ่งได้ คือ มหาเถรสมาคมเที่ยงธรรมหรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า เช่น กรณีพุทธะอิสระเมื่อหลายปีก่อน มหาเถรสมาคม ไม่ได้มติอะไรออกมา แต่พอภิกษุสามเณรยุคใหม่ออกมาประท้วงระบบคณะสงฆ์ กลับมีมติต่างๆ ออกมา

ส่วนกรณี “โลกวัชชะ” จากการชู 3 นิ้ว นั้น โลกติเตียน ความหมายคือชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็มี 2 ฝ่าย ถ้าดูในแง่ที่ว่า กลุ่มที่ออกมาต้องการโลกใหม่ วิถีใหม่ ก็มองว่าทำได้

“ตอนนี้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือ พระที่พยายามบอกว่าตัวเองอยู่เหนือการเมือง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วไม่เคยมี มีแต่เข้าข้างรัฐ ราวกับว่า อย่างไรรัฐก็ถูกหมด แต่เข้าใจได้ว่า เขาอยู่มุมเดียวกับรัฐตลอด” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ยังย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่า พระสงฆ์ในอดีต ต่อสู้ ประท้วง และเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างดุเดือด ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเหตุบานปลายมากกว่าปัจจุบันหลายขุม

คำตอบในใจพระ
#ถ้าการเมืองดี

ปิดท้ายด้วยประเด็นธงแครอต ซึ่ง ผศ.ดร.ชาญณรงค์ มองว่า จริงๆ แล้ว คำอธิบายก็เหมือนธงธรรมจักร แต่เปลี่ยนเป็นรูปแครอต จึงไม่ได้ถือเป็นจริงเป็นจังว่าเป็นความผิดอะไร หากแต่สะท้อนมิติบางอย่างที่น่าสนใจยิ่ง

“พูดง่ายๆ สาระพยายามให้เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนรูปแบบจากกงล้อ เป็นแครอต สัญลักษณ์เดิม คือ ล้อเกวียน หรือล้อรถศึก พอทำเป็นแครอต ก็ไม่ได้ทำให้ต่างจากล้อเกวียน ผมไม่ได้ถือเป็นจริงเป็นจัง ว่าผิด แต่เป็นลักษณะของการยั่วล้อ เรียกพระสงฆ์ว่าแครอต ในแง่หนึ่ง แต่การใช้ศัพท์พวกนี้กับพระสงฆ์สะท้อนว่า ชาวโลกมองพระสงฆ์ในมิติที่เป็นคนธรรมดาสามัญมากขึ้น ที่สามารถล้อเลียน ไม่น่ามีปัญหาอะไร” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

เมื่อพูดถึงพระ ไม่มีพระคงไม่ได้ ย้อนไปในการปราศรัยที่เวทีวงเวียนหอนาฬิกาอันลือลั่น “หลวงพี่เอิร์ธ” ขึ้นเวที โดยกล่าวว่า ภิกษุสงฆ์ได้รับการตักเตือนจากมหาเถรสมาคมว่า พระไม่ควรพูดเรื่องการเมือง เพราะจะทำวงการสงฆ์เสื่อมเสีย แต่ล่าสุดมีมติให้แต่ง
บทธรรมเทศนาส่งเสริมความรักชาติ หากเป็นเช่นนี้จะกล้าพูดได้อย่างไรว่าพระแยกจากการเมือง

“วันนี้หลายคนจะไม่นับถือกราบไหว้ ก็ไม่เป็นไร แค่ขอให้เห็นใจเราเหมือนมนุษย์คนหนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญไทย แต่มหาเถรสมาคม กำลังทำให้พระสงฆ์ไม่มีเสียงออกความเห็นต่าง มีการออกจดหมายเตือนสามเณรที่ออกมาบอกว่า ถ้าการเมืองดี คงไม่ต้องมาบวช เพราะเศรษฐกิจไทยบังคับให้บวชเรียนเพื่อสร้างตัว ให้เป็น someone ในสังคม ถ้ารัฐสวัสดิการดี คงไม่ต้องมาบวชเพื่อให้ได้สิทธิเท่าคนอื่น” คือหนึ่งความในใจของภิกษุที่ยืนชู 3 นิ้วบนเวที

เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นที่ต้องรับฟัง ในวันที่วงการไหนๆ ก็อยากให้#การเมืองดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image