‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กำลังใจผ่านตัวอักษร ถึงเหยื่อ ‘อยุติธรรม’

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวินาทีบนโลก มีผู้ถูกคุกคาม ไม่ว่าเรื่องเล็ก หรือใหญ่ ไม่ว่ากลั่นแกล้ง เย้ยหยัน หรือถึงขั้นอุ้มหาย

และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าข้อความเพียงสั้นๆ ก็เปลี่ยนชีวิตของคนหนึ่งคนได้

“Write For Rights” คือแคมเปญเพื่อการ “เขียน เปลี่ยน โลก” ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในรายการ ‘ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนออนไลน์’

Advertisement

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ “Write for Rights-เขียน เปลี่ยน โลก” ว่าต้องการให้คนจากทุกที่ทั่วโลกได้รับรู้ว่าในพื้นที่อื่นประเทศอื่นที่ไม่ใช่ที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นเกิดความไม่ยุติธรรม และเชิญชวนให้พวกเข้าร่วมส่งกำลังใจด้วยการเขียนข้อความลงในจดหมายหรือโปสการ์ดเพื่อส่งไปให้กับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากการออกมาเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ให้พวกเขาได้รับรู้ว่าเขาไม่ได้ถูกลืม และมีคนจำนวนมากจากทั่วโลกต้องการให้กำลังใจและสนับสนุน

“เราต้องการทำให้คนที่ต้องติดคุกจากความไม่ยุติธรรมรับรู้ว่าเขายังไม่ถูกลืม เป็นโครงการที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เราเห็นว่าความไม่ยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่กลับเป็นอะไรที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราอยากทำให้สังคมเห็นว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยการจัดทำรายงานวิจัย รณรงค์ให้มีการเขียนจดหมาย และ Write for Rights ก็เป็นหนึ่งในแคมเปญที่ใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้”

เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ที่น่าสนใจคือ โครงการนี้ ไม่ได้เชิญชวนผู้คนให้เขียนจดหมายถึงแต่เฉพาะผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้มีการเขียนจดหมายถึงผู้กระทำหรือผู้ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมไปพร้อมกันด้วย เพื่อกดดันให้ผู้มีอำนาจออกมาปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม และบอกให้เขารับรู้ว่ามีคนทั่วโลกจับตามองกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของพวกเขา เรียกร้อง ให้เขาปล่อยคนที่คิดต่างออกมาจากการคุมขัง และปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีความยุติธรรมมากขึ้น

Advertisement

“เราเชื่อว่าการเขียนมีพลังและถ้อยคำของคนก็มีพลังมาก ซึ่งแอมเนสตี้ก็เริ่มมาจากตรงนี้ เห็นคนที่โดนจับ มีความไม่ยุติธรรมในสังคม ออกมาเขียนออกมาพูดเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมต่างๆ กดดันรัฐบาล กดดันผู้ที่ถืออำนาจให้เขาได้รู้ตัวว่ามีคนจับตามองเขาอยู่นะ ขอให้ผู้มีอำนาจปล่อยบุคคลธรรมดาที่ถูกจับในเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ขอให้รัฐบาลหรือตำรวจปกป้องรักษาประชาชน”

โครงการที่ว่านี้เป็นหนึ่งในวิธีการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และของไทย เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 18 ปี ดำเนินงานใน 170 ประเทศทั่วโลก มีผู้ให้การสนับสนุนกว่า 10 ล้านคน มีจุดเริ่มต้นจากการเห็นความไม่ยุติธรรมที่ไม่ใช่แค่ในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่เป็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับสังคมโลก

ถามว่า แค่จดหมายจะเปลี่ยนทุกอย่างได้จริงหรือ คำตอบคือ แน่นอนว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่โดนจับ มีคนอีกมากมายที่ถูกจับ บุคคลที่เราเลือกเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนส่งจดหมายไปนั้น เพราะจะช่วยสร้างโดมิโนเอฟเฟกต์ (domino effect) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังผู้ถูกกระทำคนอื่นๆ ต่อไปได้

สำหรับความสำเร็จที่ผ่านมามีหลายกรณีทั้งในประเทศตะวันตก และซีกโลกตะวันออก ที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกนิดคือ กรณีของ เพียว เพียว อ่อง นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวเมียนมา ผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษา กระทั่งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ด้วยข้อหาชุมนุมยุยงปลุกปั่น แอมเนสตี้จึงออกมารณรงค์ว่าการกระทำของเขาเป็นเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐาน และการออกมาเคลื่อนไหวด้านการศึกษาควรได้รับการยอมรับ กระทั่งรัฐบาลเมียนมาตัดสินใจปล่อยตัว

อีกหนึ่งประเด็นที่ฉายให้เห็นภาพชัดว่าการ ‘กดดัน’ ระหว่างประเทศส่งผลจริง

“ถ้ามองในภาพรัฐบาลต่อรัฐบาล ความเป็นจริงแล้วไม่มีรัฐบาลใดอยู่เพียงลำพังได้ มีการติดต่อกันเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีเรื่องความมั่นคงต่างๆ การทำงานของรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องประสานความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลหนึ่งที่ส่งข้าวไปขายได้ตลอด แต่มาวันหนึ่งบอกว่าจะไม่รับซื้อข้าวด้วยอีก ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น ก็เป็นการกดดันในภาพใหญ่ เพราะสังคมยังต้องการการค้าขายระหว่างกันอยู่ มีการเมืองระหว่างประเทศที่ยังใช้อยู่” หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยอธิบายอย่างเข้าใจง่าย

มาถึงขั้นตอนปฏิบัติการ เพชรรัตน์ เริ่มต้นจากการอธิบายถึง ปฏิบัติการด่วน (urgent action) เช่น หากเห็นว่าคนโดนจับและถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การแสดงออก จะมีการออกเป็นจดหมายที่ออกมาแบบเร็วๆ ไปถึงสมาชิกทั่วโลกว่าตอนนี้คนนี้โดนจับ ช่วยกันเขียนจดหมายไปกดดัน จะมีเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ถ้าหลัง 6 สัปดาห์แล้วปัญหายังอยู่ก็จะกลายเป็น “ผู้เผชิญความเสี่ยง” (individual at risk) หากต้องการความเข้มข้นขึ้น จะดึงออกมาเป็น Write for Rights นั่นเอง

สำหรับในปี 2563 มี 3 กรณีสำคัญที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยชวนคนไทยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรม

ได้แก่ 1.นัซซีมา อัล-ซาดา หนึ่งในแกนนำผู้เรียกร้องสิทธิสตรีในซาอุดีอาระเบีย เพื่อที่จะได้ขับรถและสิทธิที่จะได้ออกไปทำธุระประจำวันโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชาย นับแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เธอถูกควบคุมตัวไว้ตลอด เธอได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรีและถูกขังเดี่ยว เพียงเพราะการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิสตรีของเธอ

2.ฆาลิด ดราเรนี ฆาลิด เป็นผู้สื่อข่าวอิสระชาวแอลจีเรียคนแรกๆ ที่รายงานข่าวการประท้วงที่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ในขบวนการฮีรัคถือกำเนิดขึ้นในครั้งแรก และบันทึกข้อมูลการใช้ความรุนแรงของตำรวจทุกครั้ง แต่เขาถูกทำให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับทางการ มีการควบคุมตัวเขาหลายครั้งในวันที่27 มีนาคม 2563 ฆาลิดถูกจับระหว่างทำข่าวการเดินขบวน เขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้มีการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แม้ว่าเขาเพียงแต่ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว เขาได้รับโทษจำคุกเพียงเพราะทำหน้าที่ของตนเอง

3.กลุ่มนักศึกษา METU กลุ่มเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัย METU ประเทศตุรกี เมื่อปี 2539 พวกเขาจัดกิจกรรมเดินขบวนเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทุกปีในบริเวณมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2554 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในปี 2562 ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแจ้งว่าจะไม่อนุญาตให้เดินขบวนบริเวณมหาวิทยาลัยในวันที่ 10 พฤษภาคม โดยทางกลุ่มไม่ยอมรับคำสั่งนี้ และได้นั่งชุมนุมประท้วงอย่างสงบแทนการเดินขบวน ทางมหาวิทยาลัยจึงเรียกตำรวจมา และมีการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุ รวมทั้งการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ตำรวจจับนักศึกษาไปอย่างน้อย 23 คน รวมทั้งเมลิกีและเอิร์ซกูร และนักวิชาการอีกหนึ่งคน

ทั้งหมดนี้ แม้เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ

เมื่อนักศึกษาพยายามออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้กับตัวเอง แต่กลับถูกละเมิดโดยครู อาจารย์ รัฐบาล และนี่คือเหตุผลที่ 3 กรณีข้างต้นถูกเลือกโดยแอมเนสตี้ ประเทศไทย

มาร่วมเขียนจดหมาย ส่งกำลังใจ บอกเล่าความรู้สึกถึงคนเหล่านี้ที่สู้เพื่อความยุติธรรม ด้วยความหวังว่าจะขับไล่ความอยุติธรรมให้พ้นไปจากสังคมของเรา ย้ำเตือนคำกล่าวของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ว่า

“ความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใด ก็เป็นภัยคุกคามความยุติธรรมทุกหนทุกแห่ง” (Injustice anywhere is a threat to justice everywhere.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image