คน สินค้า ชุมชน ต้นทุนท้องถิ่นเศรษฐกิจฐานราก สู่ท่องเที่ยวยั่งยืน พัฒนา ‘บ้านเกิด’

อีกไม่กี่วันถัดจากนี้ จะเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีสำคัญในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่

ยุคที่โรคระบาดใหญ่แพร่กระจายอย่างเท่าเทียมไม่เลือกชนชั้น

การเดินทางติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศหยุดชะงัก

ความคาดหวังเม็ดเงินจากต่างชาติที่จะเข้ามาจับจ่ายส่งท้ายปีเหมือนที่เคยต้องถูกพับเก็บแล้วหันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ พูดง่ายๆ ว่า ไทยเที่ยวไทย เพื่อให้ไทยช่วยไทย

Advertisement

นิยามของคำว่ายั่งยืนและความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชนทวีความสำคัญยิ่งขึ้นตามลำดับในห้วงเวลานี้

230 คือตัวเลขของ ‘หมู่บ้าน CIV ดีพร้อม’ หรือหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พร้อมสามารถรองรับนักท่องเที่ยวช่วงหยุดยาว ภายใต้การส่งเสริม

มีตัวอย่างที่โด่งดัง เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์ อาทิ ‘บ้านนาต้นจั่น’ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ‘ชุมชนบางคล้า’ จังหวัดฉะเชิงเทรา และชุมชน ‘บ้านคา’ จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

Advertisement

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เล่าว่า กสอ.มุ่งพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการดำเนินงานส่งเสริม หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีกระบวนการพัฒนาคนในชุมชนให้มีความพร้อม พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน และ พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพพร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยว ใช้จุดเด่นของแต่ละชุมชนเป็นจุดขาย ผ่านการดำเนินการที่ได้รับการปรับให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัด ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ การดำเนินการส่งเสริมที่ผ่านมาส่งเสริมไปแล้วกว่า 230 ชุมชน สามารถสร้างรายได้ในปี 2563 จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝาก ของที่ละลึก 187.7 ล้านบาท รายได้จากการบริการชุมชน 92 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งหมดกว่า 280.1 ล้านบาท

“มั่นใจในศักยภาพของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับการส่งเสริมว่ามีความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี อาทิ บ้านนาต้นจั่น เหมาะสำหรับการท่องเที่ยววิธีธรรมชาติ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้า ชุมชนบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ มีการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวที่สามารถเที่ยวได้หลากหลายภายในหนึ่งวัน

หรือ One Day Trip ทั้งนี้ เป็นเพราะแต่ละชุมชนได้รับการพัฒนาทั้ง 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย ด้านทุนทางวัฒนธรรม อันได้แก่ อัตลักษณ์ชุมชน เสน่ห์ของชุมชน วิธีชุมชน และภูมิปัญญาชุมชน ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย ทรัพยากรการท่องเที่ยว เส้นทางการท่องเที่ยว และข้อมูลการท่องเที่ยว และด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์บริการชุมชน ของฝาก ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนต่างๆ มีความพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

ที่ผ่านมา กสอ. ประสบความสำเร็จในการยกระดับชุมชนต่าง ๆ อาทิ ชุมชนห้วยยายจิ๋ว จังหวัดชัยภูมิ ขยายผลมายังชุมชนบ้านคา จังหวัดราชบุรี และเตรียมขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2564 ภายใต้เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จากการดำเนินงานอย่างเข้มข้นของ กสอ. พบว่า โดยแต่ละชุมชนมีความหลากหลายทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ และอัตลักษณ์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่น และทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน ชุมชนจึงควรค้นหาจุดแข็ง เพื่อพัฒนาต่อยอดให้มีศักยภาพ” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าว

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึง 7 หลักการสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ได้แก่ 1.ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม กล่าวคือ ใช้เทคโนโลยีที่มีราคาไม่แพง แต่ถูกหลักวิชาการ 2.มีขนาดการผลิตที่เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ 3.ไม่โลภ และไม่เน้นกำไรระยะสั้นเป็นหลัก 4.เน้นความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค 5.เน้นการกระจายความเสี่ยงด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนผลผลิตได้ 6.เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ (Downside risk management) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ก่อหนี้จนเกินขีดความสามารถในการจัดการ และ 7.เน้นการใช้เสน่ห์ในท้องถิ่นในการขับเคลื่อน

สุประวีณ์ รัศมีตรีเนตร

ส่วนชาวบ้านตัวจริงอย่าง สุประวีณ์ รัศมีตรีเนตร เจ้าของไร่มาลัยทรัพย์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักผลไม้ปลอดภัย บ้านคา ว่าเกิดจากการต่อยอดปรัชญาโครงการหลวง ในการทำการเกษตรอินทรีย์ สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีการรวมตัวกันของกลุ่มข้าราชการและครูที่เกษียณอายุราชการกว่า 50 คน ในนาม “คนบ้านคา” แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนรุ่นหลังกลับมาใช้ชีวิตสุขใจและพัฒนาบ้านเกิดร่วมกัน

“ไร่มาลัยทรัพย์ได้เพาะปลูกอินทผลัม นำเข้าเนื้อเยื่อมาจากประเทศทางตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์อินทผลัมในราคาต้นละ 300 บาท คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการแปรรูปมากกว่า 10 สายพันธุ์ และทดลองนำสายพันธุ์ที่ให้เหมาะกับการบริโภคสดมาปลูกด้วย เช่น บาฮี ฮายานี่ อะบูดาเบีย ใช้ปุ๋ยมาตรฐานที่ผลิตขึ้นเอง สร้างแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และเป็นการทำการเกษตรผสมผสาน โดยปลูกมะขามป้อมและไม้ผลชนิดอื่น ๆ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมบรรยากาศการเพาะปลูก เกิดการถ่ายภาพและแชร์ไปยังสื่อสังคมออนไลน์ นักท่องเที่ยวหลายรายยังสั่งจองผลผลิตอินทผลัมอินทรีย์ ที่ราคากิโลกรัมละ 400 บาท ปัจจุบันผลผลิตบางส่วนได้ส่งออกไปยังประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปีที่ผ่านมามีรายได้จากการจำหน่ายอินทผลัมมากกว่า 7 แสนบาท” เจ้าของไร่มาลัยทรัพย์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

จำนอง บุญเลิศฟ้า

ในขณะที่ จำนอง บุญเลิศฟ้า กลุ่มผู้ประกอบการปลูกผักผลไม้ปลอดภัยบ้านคา เสริมว่า ได้ริเริ่มโครงการปลูกผักกางมุ้ง และไร่องุ่นกำนันเมี้ยง เพราะต้องการปลูกผักปลอดสารพิษ และต้องการจูงใจให้คนในพื้นที่บ้านคา ที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ กลับมาใช้ชีวิตปลูกผักปลูกผลไม้และพัฒนาเกษตรที่บ้านเกิด โดยการดำเนินการได้แบ่งพื้นที่กว่า 3-4 ไร่จากทั้งหมด 20 ไร่เพื่อทำการเพาะปลูกผักสวนครัว อาทิ กวางตุ้งและคะน้าในรูปแบบแปลงปลูกกางมุ้ง นอกจากนั้น ยังมีองุ่นพันธุ์บิวตี้และเพอเรท เสาวรส พันธุ์หม่าเทียนซิง ในพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยใช้รูปแบบของเกษตรอินทรีย์ของโครงการหลวงมาประยุกต์ โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้จากการเพาะปลูกได้กว่า 5 แสนบาท

เป็นอีกหนึ่งโครงการน่าสนใจในสถานการณ์ที่ความมั่นคงยั่งยืน คือ สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image