‘อ่าน’ สังคมไทยผ่านปก ‘ปฐมฤกษ์’ ยุคเรียงพิมพ์ถึงดิจิทัล จากราชการสู่ราษฎร

เปิดตัวอย่างเงียบๆ และดำรงอยู่อย่างสงบในห้องกระจก ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ สำหรับนิทรรศการที่มีชื่อเรียบง่ายว่า “วารสารและนิตยสารฉบับแรก” ทว่า วัตถุจัดแสดงมีความหมายอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในแง่มุมของพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี วิธีคิด การเมือง การมุ้ง การเกษตร การศึกษา และอีกจิปาถะ แม้กระทั่งมุขตลกและเทรนด์การแต่งหน้า

การขนวารสารและนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ที่ถือกำเนิดในสยามจากอดีตถึงปัจจุบัน ฉายภาพสะท้อนที่ลึกซึ้งมากไปกว่าการเป็น “ฉบับปฐมฤกษ์” หากแต่เก็บรวบรวม “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่ไม่มีพงศาวดารหรือคำให้การฉบับใดบันทึกไว้

จากยุคแรกเริ่มเทคโนโลยีการพิมพ์ไทยที่รับจากตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 3 มาจนถึงยุคดิจิทัลในวันนี้

จากยุคโรงพิมพ์ในรั้ววังและหน่วยราชการสู่โรงพิมพ์ในตึกแถวของราษฎร

Advertisement

เริ่มจาก “บางกอกรีคอร์เดอร์” ซึ่งได้นิยามว่าเป็นวารสารฉบับแรกของไทย แต่ทำโดยชาวต่างชาติ คือ หมอบรัดเลย์ และคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน เพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ออกเป็นรายเดือน ตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2387 จนเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะขาดทุน

ตามด้วยสิ่งคุ้นหูอย่าง “ราชกิจจานุเบกษา” ที่บัดเดี๋ยวนี้ประชาชนไทยในโลกออนไลน์คลิกอ่านผ่านมือถือ หอสมุดแห่งชาติได้ นำฉบับแรกเริ่มมาประจักษ์แก่สายตา โดยเป็นสิ่งพิมพ์รัฐบาลฉบับแรกของไทย จัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง ชื่อว่า “โรงพิมพ์พิมพการ” ปัจจุบันคือบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ

Advertisement

ราชกิจจานุเบกษาแปลว่า “เป็นที่เพ่งดูราชกิจ” ออกเผยแพร่ฉบับแรกเมื่อ “วันจันทร์ เดือน 5 ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก” ตรงกับ 15 มีนาคม พ.ศ.2401 มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งข่าวราชการและกฎหมายแก่ประชาชน

ราชกิจจานุเบกษาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงประกาศข่าวที่ลงตีพิมพ์และพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง เช่น การแต่งตั้งข้าราชการตามหัวเมือง รายงานดินฟ้าอากาศ การเกิดจันทรุปราคา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มีการดำเนินการพิมพ์เพียง 1 ปี คือ พ.ศ.2401-2402

ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้พิมพ์ราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง “เมื่อวันอาทิตย์ เดือนเจ็ด ขึ้น 2 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236” ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2417

นิตยสาร “ดรุโณวาท”

ในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงเป็นช่วงเวลาที่สิ่งพิมพ์ไทยเริ่มเติบโต เกิดนิตยสารฉบับแรกโดยคนไทยคือ “ดรุโณวาท” ออกทุกวันอังคาร ฉบับแรกเผยแพร่ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2417 จัดพิมพ์ที่วัง พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ เนื้อหาเกี่ยวกับนิทาน สารคดี ร้อยแก้วหรือร้อยกรอง รองลงมาคือเรื่องทางราชการ ต่างประเทศ และโฆษณาสินค้า

วารสารชีวิต

นิทรรศการนี้ยังมีนิตยสาร วารสารน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “กสิกร” วารสารทางการเกษตรของสยามที่ก้าวหน้าที่สุดในยุค ก่อนอภิวัฒน์สยาม 2475 จัดทำโดย ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พร้อมเพื่อนนักเรียนนอก ฉบับปฐมฤกษ์วางแผงเมื่อเดือนเมษายน 2470 มี 68 หน้า

ขยับลงมาอีกนิด ย้อนไปใน พ.ศ.2494 มี “นักเรียนไทย” วารสารรายเดือนสำหรับนักเรียน ภายใต้สโลแกน “ชาติเจริญได้ด้วยปัญญา” ราคา 1.50 บาท วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาของชาติ วัฒนธรรม และ “ศีลธรรม” ของเยาวชนผ่านตัวอักษรบนกระดาษ ตัดฉากมาใน พ.ศ.2563 มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” ที่มุ่งหวังปฏิรูปการศึกษา บอกลาไดโนเสาร์ในระบบล้าหลัง ป่าวประกาศแนวคิดผ่านตัวอักษรบนแพลตฟอร์ม “ทวิตเตอร์” และลำโพงไฮด์ปาร์ก

หันมาฝ่ายรั้วของชาติ ก็มี “กลาโหม” นิตยสารราย 2 เดือน เผยแพร่วิทยาการทางการทหาร เพื่อความตระหนักซาบซึ้งในรั้วของชาติ ฉบับปฐมฤกษ์ 25 มกราคม 2497

“นิติศาสตร์ปริทัศน์” ของชมรมนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง สะดุดตาด้วยการนำอักษรและอักษรวิธีบนศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมาพิมพ์ชื่อวารสาร ประกอบด้วย บทความ ประเด็นกฎหมาย และแนวคำถาม คำตอบ ฉบับแรกเผยแพร่เมื่อปี 2516 ที่น่าสนใจคือหลายหัวข้อถกเถียงและเนื้อหาในวันนั้นยังคงเป็นปมปัญหาอมตะมาจนถึงวันนี้

“ชนวน” วารสารขบวนการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ออกเป็นรายปักษ์ โดยฉบับแรกแฉกลโกงในกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุตสาหกรรม 64 หน้าแน่นๆ ในเดือนกรกฎาคม 2517 เป็นฉบับแรก

“ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับปฐมฤกษ์ 1 พฤศจิกายน 2522 หวือหวาตามสไตล์ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการยุคนั้น ซึ่งเปิดปม ชำแหละประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับนางนพมาศและศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงในตำนานมาถึงทุกวันนี้ และยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบันภายใต้หลังคาค่าย “มติชน”

ในขณะที่ “ศิลปากร” นิตยสารของกรมศิลปากรซึ่งออกฉบับปฐมฤกษ์มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2500 ด้วยปกรูป “แบบพัด” สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า ก็อยู่บนชั้นวางนิตยสารตั้งแต่บัดนั้นจวบจนบัดนี้เช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวารสารฉบับปฐมฤกษ์หลากหลายแนวที่ชวนสะดุดตา คือ มุม “นิตยสารชื่อสะดุดใจ” อาทิ “กิน” นิตยสารรายเดือน ฉบับแรกตุลาคม 2521 นำทีมโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, “ภรรยา” ควบคุมโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี เช่นกัน และออกในปีเดียวกัน ภาพบนปกคือนางเอกสาว มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช พร้อมคำโปรยว่า “ท้อง”, “แซว” รายปักษ์ โปรยปกว่า “ฉบับอนุบาล 1 ก. แม้แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังชอบแซวสะอารมณ์ตลอดเล่มเจียวล่ะ”

เป็นอีกนิทรรศการที่ชวนให้ละสายตาจากอักษรบนสมาร์ทโฟนแวะมาอ่านอักขระจากหมึกบนกระดาษที่สะท้อนสังคมแต่ละยุคสมัยได้อย่างมีสีสันยิ่ง


นิทรรศการ

วารสารและนิตยสารฉบับแรก

จัดโดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 ชั้น 1 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันนี้ถึง 30 ธันวาคม 2563

นิทรรศการวารสาร และนิตยสารฉบับแรก เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยนำวารสาร และนิตยสารฉบับแรก หรือฉบับปฐมฤกษ์ ที่จัดเก็บและให้บริการที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ มาจัดแสดงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ประวัติความเป็นมาของวารสารในประเทศไทย จัดแสดงวารสาร นิตยสารหายาก ที่เผยแพร่ก่อนปี พ.ศ.2500

ส่วนที่ 2 วารสารและนิตยสาร จัดแสดงตามช่วงระยะเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500-2559

ส่วนที่ 3 วารสารและนิตยสาร แบ่งตามประเภทเนื้อหา เช่น ด้านศาสนา ด้านวิศวกรรมศาสตร์

ส่วนที่ 4 วารสารของหน่วยงานภาครัฐ เช่น นิตยสารศิลปากร วารสารวิชาการหอสมุดแห่งชาติ

ส่วนที่ 5 วารสาร นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ และผลงานของอาจารย์ศุภชัย ราชพิตร ผู้ที่มอบวารสาร และนิตยสารฉบับปฐมฤกษ์ที่สะสมไว้ให้กับสำนักหอสมุดแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image