‘ทำงานไม่ตรงสาย’ พรุ่งนี้ของคนรุ่น (จบ) ใหม่ โลกเปลี่ยน อาชีพหมดอายุ

“เราออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง”

คือประโยคประสานเสียงของทั้งนักเรียน นักศึกษาที่ก้าวขาออกจากโลกออนไลน์ลงสู่ท้องถนนในวันที่เยาวชนเป็นฝ่ายไฮด์ปาร์กด้วยวาทะ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” หาใช่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนประเทศประชาธิปไตย 99.99%

ความรู้สึกไม่มั่นใจในวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเอง หากแต่ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในการเปลี่ยนแปลงของโลก และเสถียรภาพทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่พากันตั้งคำถามดังๆ แต่ยังไม่ได้คำตอบ เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องทั้งที่สอดคล้องกับกลุ่ม ‘ราษฎร’ และข้อเรียกร้องเฉพาะทางอย่าง ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ยกเลิกการ ‘บังคับ’ แต่งเครื่องแบบนักเรียน และที่สำคัญคือ ‘หลักสูตร’ ซึ่งผู้ปราศรัยยืนยันว่า ‘ไม่คู่ควรกับสมองเยาวชน’ จึงวอนขอให้กลุ่ม ‘ไดโนเสาร์’ ตบเท้าเข้าพิพิธภัณฑ์ ‘แห่งชาติ’

หันมามองฝ่ายสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มักถูกคาดหวังดังวรรคทองในบทกวีของ นเรศ นโรปกรณ์ ว่า ‘รับใช้ประชา คือปลายทางที่เราเล่าเรียน’ แต่ก็โดนตั้งคำถามหลายครั้ง ล่าสุด หวยออกที่ป้ายคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มือดีพ่นสี ‘คณะเมินเฉยต่อความรุนแรง’ ใต้ป้ายชื่อคณะ ในช่วงการจัดงาน ‘โอเพ่นเฮาส์ 2020’ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากกรณีแชตหลุดอาจารย์ประเด็น ‘ไม่ส่ง (นักศึกษา) ฝึกงาน’ ด้วยเหตุผล ไม่มีวุฒิภาวะ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการจัดเสวนาหัวข้อ “โลกเปลี่ยน อาชีพเปลี่ยน เราต้องปรับตัว” ภายใต้กิจกรรม “เปิดบ้านธรรมศาสตร์มหกรรมวิชาการและความยั่งยืน” หรือ Thammasat Sustainability and Open House 2020 ผายมือเชิญภาคเอกชนเข้าพูดคุยในประเด็นหน้าที่การงานในวันพรุ่งนี้ เมื่อเทคโนโลยีทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ มีการทำนายอนาคต 10 ปีข้างหน้า ว่าคนจะไม่ทำงานตรงสายที่เรียนจบ เด็กยุคใหม่ต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยี และเชื่อว่า AI-Machine Learning ไม่สามารถแย่งงานมนุษย์ได้ แต่คนต้องปรับตัว อย่าล็อกตัวเองไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

วินิจ ศิลามงคล

“การทำงานในยุคนี้จะเป็นยุคของคนเจเนอเรชั่น Z จึงจะเห็นองค์กรต่างๆ พยายามปรับตัวและออกแบบองค์กรเพื่อนำคนเจเนอเรชั่น Z เข้ามาทำงาน ซึ่งจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาวิชาใดก็จะหนีไม่พ้นเรื่องการมีเทคโนโลยีเป็น skill set”

คือความเห็นของ วินิจ ศิลามงคล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและภาษีอากร ซึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จากผลการสำรวจพบว่ามีนักศึกษากว่า 50% ที่มีความชอบหรืออยากเรียนสาขาวิชานั้นๆ และสามารถเรียนจบจนออกไปทำงานตามความต้องการแรกเริ่มได้ แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าอีกไม่ต่ำกว่า 10 ข้างหน้าผู้ที่อยู่ในแต่ละวิชาชีพจริงๆ จะไม่ใช่ผู้ที่สำเร็จการศึกษามาตรงสาย ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น การเลือกเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จำเป็นต้องฟังและหาข้อมูลให้มาก

Advertisement

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่าการทำงานในอนาคตจะทำงานนอกสำนักงาน หรือ work from anywhere ด้วยการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกัน ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนสาขาใดก็ตามจำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย” อดีตซีอีโอบริษัทที่ปรึกษากฎหมายกล่าว
ส่วนอีกประเด็นสำคัญที่ว่าสักวันหนึ่ง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘เอไอ’ จะเข้ามาทดแทนมนุษย์ วินิจ มองว่า ที่สุดแล้วไม่ว่าอย่างไรทุกอย่างก็ยังจำเป็นต้องใช้คน จึงคิดว่าโอกาสในการสูญเสียงานจะไม่มาก เพียงแต่จะเกิดตำแหน่งใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น

วีรพล วีระโชติวศิน

ในขณะที่ วีรพล วีระโชติวศิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ดไวซอรี่ จำกัด ฝากไว้ให้คิด ว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปไวมาก ฉะนั้นทักษะที่อยากฝากไว้คือต้องรู้จัก dynamic หรือการเคลื่อนที่-ยืดหยุ่น-เปิดกว้าง โดยไม่ใส่แม่กุญแจหรือล็อกตัวเองไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น คืออย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าตัวเองต้องเป็นอะไร แต่ต้องเข้าใจว่าตัวเองให้ความสำคัญหรือสนใจอะไรบ้าง เพราะโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และอาชีพในอนาคตก็มีอีกมากมาย

“ผลการสำรวจจำนวนมากชี้ชัดว่า วิชาหลักตามที่เรียนอยู่ในคณะต่างๆ นั้นจะได้ใช้เพียงแค่ 1-2 ปีแรกของการทำงานในสถานที่แรกเท่านั้น ส่วนงานที่สอง สาม สี่ ห้า จะอาศัย Soft skill ทั้งนั้น อยากให้เด็กรุ่นใหม่มองอาชีพใน 2 ภาพ ภาพแรกคือเราอยากทำอะไร ต้องเก่งอะไรบ้างก็ให้ฝึกฝนไว้ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอาชีพเหล่านั้นย่อมมีวันหมดอายุ จึงอยากให้มองอีกภาพด้วย นั่นคือตัวเรามีทักษะอะไร มีความสามารถ มีต้นทุนหรือเครือข่ายอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยรองรับกับการทำงานในอนาคตด้วย” วีรพลสรุป

นอกจากมุมมองของบริษัทใหญ่ๆ ยังมีกลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ อันโด่งดัง ช่วยคนปลดหนี้ กยศ.และเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้หลายอาชีพผงาดอย่างงามสง่าผ่านโลกออนไลน์ ผ่านปลายนิ้วของผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์

ภาวรินทร์ รามัญวงศ์

 

“กลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้านเกิดขึ้นมาจากการเห็นว่าเมื่อมีวิกฤต ไม่ว่าใครจะประกอบอาชีพอะไรอยู่ก็ล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น การตั้งกลุ่มทำให้เพื่อนๆ หรือพี่น้องชาวธรรมศาสตร์ที่ทำงานหรือเป็นเจ้าของกิจการที่หลากหลายมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตรงนี้สะท้อนว่า connection เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอนาคตจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเกิดปัญหาเมื่อใด ต่อให้เราเก่งแค่ไหนแต่เมื่อเกิดปัญหาหรือวิกฤต มนุษย์ไม่อาจอยู่รอดด้วยตัวคนเดียวได้ ฉะนั้นการทุ่มเทให้ตัวเองเข้ามาอยู่ในสังคมหรือดีๆ จะมีส่วนหนุนเสริมอนาคต” ภาวรินทร์เล่า

เป็นอีกมุมมองต้องรับฟังในวันที่อนาคตไม่แน่นอนยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ในช่วงเวลาแห่งมรสุมเศรษฐกิจการเมืองที่เรื่องของพรุ่งนี้ถูกนำมาตั้งคำถามตั้งแต่เมื่อวาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image